จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๒. ความคิดกับความรู้เป็นสองสิ่งเดียวกัน



          หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย บททึ่ ๒ ชื่อ How Can I Teach Students the Skills They Need When the Standardized Tests Require Only Facts?   เป็นบทที่ใช้จิตวิทยาการเรียนรู้ หรือศาสตร์ด้านการเรียนรู้แก้ความเข้าใจผิดว่าความจำไม่สำคัญ สาระความรู้ (facts) ไม่สำคัญ

          ในความเป็นจริงแล้ว คนเราจะคิดได้ลึกซึ้งหรือมีวิจารณญาณ ต้องมีความรู้มาก ที่เขาเรียกว่า background knowledge  ซึ่งที่จริงในบ้านเราก็คิดเช่นนั้น เราจึงยกย่องคนที่เป็นพหูสูต ซึ่งแปลว่าได้ยินได้ฟังมามาก คือมีความรู้มากนั่นเอง   และเป็นที่รู้กันว่าต้องส่งเสริมให้ลูกและศิษย์อ่านหนังสือ และรักการอ่านตั้งแต่เด็ก จนเป็นนิสัย ไทยเรามีวลี “คิดอ่าน” ซึ่งน่าจะสะท้อนแนวคิดว่าเราเชื่อว่าความคิดกับความรู้เป็นสิ่งที่เสริมส่งเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

          ศ. Willingham ถึงกับโต้แย้งคำของไอน์สไตน์ ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (Imagination is more important than knowledge)   คือแย้งว่าความรู้มีความสำคัญต่อความคิด

          ทำให้ผมหวนระลึกถึง “หลุมดำ” ความคิด หรือกระบวนทัศน์ที่ทำให้เราเป็นคนแคบ คือความคิดแบบ either - or คือคิดแยกขั้ว ถูก – ผิด, ดำ – ขาว, ใช่ - ไม่ใช่   สู้ความคิดแบบ both - and ไม่ได้ เพราะมันทำให้เราใจกว้าง และรู้จักคิดพิจารณาเชื่อมโยงหรือลึกซึ้ง  เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง

          ผมมีคำตอบมาตรฐานต่อคำถามแบบ “ใช่หรือไม่” ว่า “yes and no”  คือทั้งใช่และไม่ใช่ เพื่อจะได้อธิบายว่าในสถานการณ์ใดที่คำตอบคือใช่ ในสถานการณ์ใดคำตอบคือไม่ใช่  เป็นการชี้ให้เห็นว่าความจริงมันมีความลึก เป็นสิ่งที่มีหลายมิติ   เวลาตีความความจริงต้องคำนึงถึงบริบทหรือสภาพแวดล้อมประกอบด้วย   นี่คือลักษณะการคิดแบบมีวิจารณญาณ (critical thiking) ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของ 21st Century Skills

          บทที่ ๒ นี้ เป็นตัวอย่างและคำอธิบายว่า ความคิดกับความจำเชื่อมโยงกัน   หากมีความจำดี มีความรู้อยู่ในสมองมาก ก็จะคิดได้ดีกว่า คือคิดเชื่อมโยงกว้างขวางกว่า คิดลึกซึ้งกว่า

          ดังนั้น ครูเพื่อศิษย์จึงต้องฝึกนักเรียน ให้รู้จักวิธีจำ ฝึกทักษะการจำ เพื่อให้มีทั้ง working memory และ longterm memory ที่ดี   เคล็ดลับคือ เด็กที่มีความจำทั้งสองแบบนี้ดี จะไม่เบื่อเรียน ไม่เบื่อคิด   การเรียนการคิดจะเป็นของสนุกไม่ใช่น่าเบื่อหน่าย   โปรดอ่านหนังสือของครู Rafe Esquith ว่ามีเคล็ดลับทำให้เด็กสนุกกับการท่องจำเรื่องสำคัญๆ อย่างไร

          อย่าลืมว่าสมองของมนุษย์เราเป็นโรคบ้ายอ คือชอบรางวัลที่ได้รับเมื่อประสบความสำเร็จ เมื่อพบว่าสิ่งที่จำได้หมายรู้มีประโยชน์ต่อสถานการณ์ที่พานพบ ก็จะเกิดความปิติพึงพอใจ เป็นตัวกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปอีก   นี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ หรือทำให้เด็กสนใจใคร่เรียนรู้ นั่นเอง

          หน้าที่สำคัญที่สุดของครูคือการสร้างแรงบันดาลใจใคร่เรียนรู้ หรือจุดไฟของความใคร่เรียนรู้ ขึ้นในใจหรือในสมองเด็ก   แต่การจุดไฟใคร่เรียนรู้ในสมองเด็กไม่เหมือนการจุดไฟในเตา ที่ทำครั้งเดียวไฟติด   การจุดไฟในสมองเด็กต้องทำซ้ำๆ จนเป็นนิสัย  จนกลายเป็นบุคลิกประจำตัว   และจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องเกิดวงจรรางวัลขึ้นในสมองของเด็กซ้ำๆ   ต้องอ่านหนังสือ Teach Likes Your Hair's On Fire ของครู Rafe นะครับ จะเห็นว่าการจุดไฟในสมองเด็กนั้นไม่ยาก หากรู้วิธี   และที่สำคัญคือ จะทำให้ชีวิตครูเป็นชีวิตที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา 

          ความจำหรือความรู้ ช่วยให้คิดไม่ยาก และช่วยให้คิดแล้วสำเร็จ เกิดวงจรรางวัลเล็กๆ ขึ้นในสมอง กระตุ้นให้อยากคิดอีก เมื่อเกิดซ้ำๆ ก็คิดเก่งขึ้น ชอบคิด และมีองค์ความรู้สะสมในสมองมากขึ้น

          ครูเพื่อศิษย์ต้องออกแบบการเรียน ให้เด็กได้ฝึกการคิดกับการจำไปพร้อมๆ กัน   คือสั่งสมความรู้ที่เรียกว่า background knowledge ไปพร้อมกับฝึก critical thinking  เป็นการฝึกที่ให้ความสนุก และสมองได้รับรางวัล

          ถ้าไม่ระวัง การจดจำ ความรู้ จะเป็นการจำแบบท่องจำ แบบนกแก้วนกขุนทอง ได้ความรู้ที่ตื้น   ครูเพื่อศิษย์ต้องหาทางทำให้นักเรียนเข้าใจความหมายหรือคุณค่าของความรู้นั้น (meaningful)  เพื่อให้ได้ความรู้ที่ลึก   โดยมีวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจความหมายต่อชีวิตของเขา วิธีการหนึ่งคือจัดกลุ่มความรู้เหล่านั้นเป็นกลุ่มๆ ดังกรณีครู Rafe เอามาทำเป็นเกมให้เด็ก ป. ๕ เล่น  เช่นเกมต่อคำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  พืชใบเลี้ยงเดี่ยว   เกมดูภาพแล้วจัดกลุ่มสัตว์ เป็นต้น

          บทที่ ๒ นี้น่าจะตีความได้ว่า เป็นเรื่องทักษะของครูเพื่อศิษย์ในการป้องกันโรคเบื่อเรียน   และทักษะในการจุดไฟในสมองให้สนุกกับการเรียนรู้   ด้วยการออกแบบการเรียนรู้ให้สมองของเด็กได้รับรางวัลจากการเรียนรู้ทีละนิดทีละนิดต่อเนื่องสม่ำเสมอ   ทำให้เด็กมี “ต้นทุนความรู้” สำหรับใช้ในการเรียนแบบคิด อย่างสนุกและได้รางวัล   ทำให้เด็กมีอิทธิบาท ๔ และเพิ่มพูนทักษะในการเรียนรู้พร้อมๆ กันกับการเรียนรู้สาระวิชา

          กระบวนการทั้งหมดในย่อหน้าบน ที่เกิดขึ้นในสมอง และในหัวใจเด็ก ต้องเกิดขึ้นในครูเพื่อศิษย์ด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ม.ค. ๕๔
        
          
                        


 

หมายเลขบันทึก: 422588เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท