ทะเบียนมะเร็งปัตตานี ครั้งที่ 1


เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ได้ไปปัตตานีอีกครั้ง เรื่องการทำทะเบียนมะเร็งจังหวัดปัตตานี ก่อนหน้าที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนได้ เคยไปปัตตานีหลายครั้ง เที่ยวพักผ่อนที่หาดแฆแฆบ้าง เที่ยวมัสยิดกรือเซะบ้าง แต่หลังจากเกิดความไม่สงบแล้ว แทบไม่ได้ไปเลย นอกจากเมื่อมีธุระต้องไปติดต่อเรื่องงานที่ มอ.​ปัตตานี

คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ไปโรงพยาบาลปัตตานี น่าสนใจที่เห็นว่ามีพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาลน้อยมาก และเฉพาะบุคลากรระดับผู้บริหารเท่านั้น แต่ครั้งนี้ได้จอดรถในโรงพยาบาล เนื่องจากลูกน้องโทรศัพท์ประสานงาน ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงได้ขอที่จอดสำหรับแขกของโรงพยาบาลให้ โดยออกมารับเองที่หน้าโรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปจอดข้างนอก ซึ่งต้องเดินไกล

ที่จริงเรื่องที่จอดรถก็เป็นปัญหาไปทุกแห่ง ในคณะแพทย์ มอ. ก็ต้องสร้างอาคารจอดรถสำหรับบุคลากร ผู้บริหารก็มีที่จอดรถอยู่ข้างอาคารบริหาร ส่วนผู้ป่วยและญาติก็มีที่จอดอยู่รอบๆ โรงพยาบาล ยังดีที่ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ เนื่องจากยังพอจะมีที่ทางเหลืออยู่บ้าง แต่หากในอนาคตมีการสร้างอาคารมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คงถึงจุดที่เป็นปัญหาเข้าสักวัน

กลับมาเรื่องโรงพยาบาลปัตตานี ได้พบหมอรุสตา ศิษย์รุ่นแรกๆ ที่ได้สอน รุ่นแรกๆ นี่บางรุ่นจะจำได้หลายคน ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นรุ่นแรกๆ และไม่ใช่เพราะอายุยังใกล้ๆ กัน เนื่องจากเพิ่งกลับมาสอนหลังจากจบไม่นาน แต่เพราะมีหลายคนที่มีความโดดเด่นในตัวเอง ที่จริงก็เป็นเรื่องทั่วไป อย่างหมอรุสตา ก็เห็นเล่นบอล เล่นบาสด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่จำได้ว่าเห็นเล่นอยู่แถวหอพักเป็นประจำ ซึ่งแต่ก่อนก็ไปอาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ที่หอพักนักศึกษา ก็ได้ทักทายกันบ่อยๆ เมื่อวานเข้าไปนั่งในห้องประชุมก่อน หมอรุสตาเข้ามาทีหลัง เห็นก็จำกันได้ หมอรุสตาเข้ามาไหว้ทักทายด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใน ช่างพูดคุยเหมือนเดิม ผมยังทักว่าเคยขาหักหรือเปล่านะ จำไม่ได้แน่ รุ่นแรกๆ ที่สอนนี่มีขาหักแขนหักจากการเล่นกีฬาอยู่ประจำ ยังนึกว่าทำไมเล่นกันรุนแรงขนาดนั้น หมอรุสตาบอกว่าเคยเอ็นขาด เลยนึกขึ้นได้ว่าจำภาพเข้าเฝือกได้ ก็เลยเป็นภาพที่ติดตา เห็นหน้าแล้วก็เลยนึกถึงเฝือก แต่จำไม่ได้ว่าเข้าเฝือกเพราะอะไร

ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัด ก็ปลื้มใจที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ คงเพราะในตัวเมืองไม่มีความรุนแรงมานานแล้ว ถ้ามีความรุนแรงใกล้ๆ ตัว คงยิ้มไม่ออกเหมือนกัน แต่ก็ต้องชื่นชมน้ำใจของบุคคลเหล่านั้น ถ้าย้ายออกจากพื้นที่เสียแล้ว ชาวบ้านก็จะยิ่งเสียขวัญมากขึ้น

ก็ด้วยความคิดที่ว่าเมื่อเพื่อนสามจังหวัดเดือดร้อน เราก็ต้องเข้าไปช่วย แต่เนื่องจากทำงานทางด้านข้อมูลมะเร็งอยู่ ยังไม่มีโอกาสไปช่วยเสียที จนได้โอกาสจึงขอไปทำทะเบียนมะเร็งที่จังหวัดปัตตานี หวังว่าเมื่อรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงแล้ว ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายก็จะวางแผนรับมือปัญหาได้อย่างถูกต้อง และทำให้เห็นว่าส่วนกลางไม่ได้เพิกเฉยละเลยคนในสามจังหวัด ส่วนกลางเองก็ได้ประโยชน์ ที่มีข้อมูลว่าในสามจังหวัดเป็นอย่างไรกันบ้าง จะได้ไม่คิดว่ามันก็เหมือนกับสงขลา สำหรับในเมืองคงไม่ต่างกันมาก แต่ระดับชาวบ้านแล้ว ต่างกันมาก ทั้งภาษา วัฒนธรรม และอื่นๆ ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารกับคนในส่วนอื่นของประเทศ หมอรุสตาบอกว่าสำหรับคนไข้แล้ว การไปรักษาต่อที่สงขลา เหมือนไปต่างประเทศ

โครงการนี้ยังเป็นโครงการวิจัย ขอทุนไว้สามปี หวังว่าหลังจากนั้นส่วนกลางจะรับภาระค่าใช้จ่ายต่อ ส่วนกลางในที่นี้ยังไม่รู้ว่าเป็นหน่วยงานไหน ที่จริงอยากให้เป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นเจ้าภาพและเจ้ามือ แต่การตั้งงบประมาณจะทำอย่างไร เพราะงานทะเบียนมะเร็งไม่ได้เป็นงานประจำของ สสจ. ที่จะมีงบประมาณมาให้ แต่ที่อยากจะให้อยู่ภายใต้ สสจ. ก็เพื่อคนในพื้นที่เป็นคนทำงาน และใช้งานข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่อยากให้คนจากส่วนกลางลงมาทำ แล้วคนในพื้นที่ต้องไปขอข้อมูลของตัวเองมาใช้งาน บางคนอาจจะไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่ความรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลมีผลทางจิตใจมาก เท่าที่สัมผัสมา ยังผู้บริหารหลายคนในกรุงเทพที่ละเลยความรู้สึกของคนทำงานในพื้นที่ ขนาดว่าผมอยู่สงขลา ยังรู้สึกว่าถูกทิ้ง แล้วคนในสามจังหวัดยิ่งไม่รู้สึกมากกว่าหรือ

นักวิชาการหลายคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดคงรู้สึกไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือรู้สึกว่าถูกละเลยจากคนกรุงเทพ เอาแค่เรื่องเดียวคือค่าเดินทาง การทำงานของเครือข่ายข้อมูลข่าวสารโรคมะเร็งต้องมีการประชุมระหว่างกัน สำหรับพวกเราที่อยู่ในจังหวัดต่างในแต่ละภาค ต้นทุนของการประชุมคือค่าเดินทางและที่พัก ความคิดแวบแรกของแหล่งทุนที่จะสนับสนุนเครือข่ายนี้คือ ทำไมงบประมาณส่วนนี้มันสูงจัง แน่นอนว่าคนกรุงเทพประชุมกันเองย่อมใช้งบประมาณถูกกว่าอยู่แล้ว หากคิดเช่นนั้น ก็จะนำไปสู่ความคิดที่จะให้คนกรุงเทพทำงานดีกว่า เพราะต้นทุนถูกกว่ามาก ตราบใดที่แหล่งทุนคิดแบบนี้ นักวิชาการที่มีความสามารถ และอยากจะทำงานระดับประเทศ ก็ต้องย้ายเข้ากรุงเทพ และมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็จะไม่สามารถพัฒนาเพื่อแบ่งเบาภาระของส่วนกลางได้เต็มที่

พวกเราที่ยังอยู่ในต่างจังหวัด ต้องยอมสูญเสียโอกาสมากมายที่จะทำงานระดับประเทศ โดยหวังว่าจะช่วยพัฒนาทั้งประเทศให้โตไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าถูกจำกัดด้วยงบประมาณ ที่คิดว่างานแบบเดียวกัน ก็ควรจะใช้งบประมาณเท่าๆ กัน คนที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะหมดโอกาส ถ้าอยากได้โอกาสนั้น ก็ต้องย้ายไปอยู่กรุงเทพ พอย้ายไปอยู่กรุงเทพ บางคนก็คิดแบบคนกรุงเทพ สุดท้าย ช่องว่างระหว่างกรุงเทพและต่างจังหวัดก็ยิ่งกว้างมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 422554เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท