เครือข่ายสื่อภาคสังคม เครือข่ายสังคมเพื่อการปฏิรูปสื่อ


เครือข่าย “เท่าทันสื่อ” ภาคสังคมที่มีชีวิต มีพลังสร้างการปฏิรูปเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ได้ ถือเป็นภาพสะท้อนของการปฏิรูปสื่อ ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทั้งเนื้อหา ปฏิรูปความเป็นเจ้าของ และปฏิรูปการจัดการ กำกับดูแล โดย ต้องมีการพัฒนาความรู้จากฐานราก “สืบค้นปัญหา และแสวงหาปัญญา” จากชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายด้วยกระบวนการที่ให้ความเคารพในสิทธิชุมชน

เครือข่ายสื่อภาคสังคม เครือข่ายสังคมเพื่อการปฏิรูปสื่อ 

: การพัฒนาเครือข่ายกลไกและองค์ความรู้เพื่อการเท่าทันสื่อภาคสังคม[1] 

 

วิสุทธิ์  เหล็กสมบูรณ์[2]

เครือข่ายสื่อภาคประชาชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

 

“เครือข่ายสื่อภาคสังคม” โดยนัยยะก็คือเครือข่ายสื่อที่เป็นกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคม (Social worker) ในที่นี้ ผู้เขียนขอใช้ประสบการณ์การทำงานวิจัยและพัฒนาภาคสนามสิบกว่าปีในด้านมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และเด็ก เยาวชน มาเรียบเรียงเป็นบันทึกเสนอความเห็นเพื่อใช้ประกอบการประชุม ในหัวข้อ  “ยุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายและกลไกเท่าทันสื่อภาคสังคม” ซึ่งมีบางส่วนพาดพิงไปถึงเรื่องของบทบาทองค์กร และสถาบันการศึกษาในการสร้างสังคมเท่าทันสื่อ ตัวผู้เขียนมีภารกิจไม่ได้ไปร่วมอภิปรายในงาน จึงได้จัดทำเอกสาร เพื่อนำเสนอแก่ที่ประชุม หากมีข้อความใดที่กระทบกระเทือนทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดไม่สบายใจ ต้องเรียนว่าผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจ และขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อภาคสังคมบ้าง ไม่มากก็น้อย

 

  • เครือข่ายกับประชาธิปไตยแบบผู้แทน 

เป็นที่รู้กันในหมู่นักพัฒนาทั้งหลายว่า เครือข่ายที่มาจากการ “จัดตั้ง” ส่วนใหญ่ จะเป็นเครือข่าย “ฟาสต์ฟู้ด” ไม่ได้มาจากการสะสมทุนทางสังคมวัฒนธรรม ทุนทรัพยากรมนุษย์ ทุนเงิน ทุนทางจิตวิญญาณที่เพียงพอ พองบหมด หรือเจอการกระทบกระทั่งกันไม่ว่าจะจากภายในสมาชิก หรือจากการกดดันภายนอก ก็เป็น “ฟองสบู่แตก” การพัฒนาเครือข่าย จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ

 

เครือข่ายสื่อภาคสังคม ก็คือเครือข่ายทางสังคม (social network) รูปแบบหนึ่ง ที่มีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพื่อพัฒนากันอย่างจริงจัง รอบคอบ รอบด้าน ตรงไปตรงมา ซึ่งผู้เขียนอยากทบทวนให้เห็นภาพสักเล็กน้อย

 

ในแง่จุดแข็ง เครือข่ายสื่อภาคสังคม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งมีไฟ มีฝันอันแรงกล้า มีกำลัง สามารถสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีวิทยาการที่รวดเร็ว มีความเข้าใจในเรื่องที่เป็นกลไกซับซ้อน เช่น กฎหมาย นโยบาย และอยู่ใกล้อำนาจรัฐและแหล่งทุนส่วนกลาง ทำให้มีความสัมพันธ์ทั้งในแง่การผลักดันขับเคลื่อน และในแง่การตรวจสอบติดตามโครงการ ผลกระทบ นโยบายต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง

 

แต่การก้าวไปข้างหน้าของกลุ่มพลังใหม่นี้ ในภาพรวมของประเทศไทยที่มีประชากรอีกจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงและตามไม่ทันเครือข่ายแกนกลางนี้ ได้เปิดให้เห็นจุดอ่อน เครือข่ายสื่อภาคสังคมที่มีอยู่ นั่นก็คือ เครือข่ายเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แวดล้อมกับสื่อและสังคมสมัยใหม่ ทำให้เกิดช่องว่างในการรับรู้ เข้าใจถึงบริบทสังคมชนบท และสังคมอื่นๆที่มีความแตกต่างหลากหลาย แม้จะมีความพยายามอุดช่องว่าง ด้วยการเชิญนักวิชาการ และสถาบันวิชาการมาร่วมงาน แต่ก็มักเป็นวิชาการที่มาจากฐานคิดแบบตะวันตก ที่ยังต้องการการปรับแต่ง โต้แย้ง ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์อีกมาก และยังขาดวิชาการที่มาจากองค์ความรู้ของชุมชน เหล่านี้ ส่งผลให้เครือข่ายสื่อภาคสังคมมักจะมองชนบทเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ มากกว่าพื้นที่ของความรู้ ไม่ต่างอะไรจากที่รัฐมักจะมองชาวเขาเป็นผู้ที่ต้องถูกพัฒนา มากกว่าจะมองว่าพวกเขาเป็นปราชญ์ชุมชน

 

 

 มุมมองดังกล่าว ส่งผลต่อการกำหนดโครงสร้าง กลไกคณะทำงาน คณะกรรมการ ของเครือข่ายซึ่งจะเห็นเป็นภาพสะท้อน  “ประชาธิปไตยแบบผู้แทน” ที่มักจะขาดมุมมองของชนชั้นล่าง เลยเป็น “มวยแทน” ให้สังคมภายนอกโจมตีเรื่อยมา หากจะสร้างการมีส่วนรวม เครือข่ายต้องมียุทธศาสตร์สร้าง “ประชาธิปไตยทางตรง” มากขึ้น สร้างยุทธศาสตร์เชิงรุกเดินหน้าเข้าหาคนด้อยโอกาส เช่น กลุ่มชาวเขา กลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มคนพลัดถิ่น เร่ร่อน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้พิการและผู้ติดเชื้อ HIV ฯลฯ ตลอดจนมีการรับฟัง เคารพความคิดเห็น สกัดองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรที่มาจากกลุ่มคนด้อยโอกาสผู้ยากไร้เหล่านี้อย่างเป็นระบบ มียุทธศาสตร์แผนงานรองรับ สร้างหลักประกันการมีส่วนร่วม

 

ด้วยเหตุนี้ ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นแกนกลาง ผู้ประสานงาน หรือผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ จำต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะการจะเชิญคนมาร่วมงานสู้ศึกใหญ่ด้วยกันต้องเริ่มที่การสร้างศรัทธา ต้องได้คน /กลุ่มคน / ที่เป็นทีมกลาง หรือเป็นกระดูกสันหลังที่มาจากการยอมรับจากสาธารณะชนจริงๆ จะมาจากการคัดเลือก เสนอชื่อ หรือแต่งตั้งก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหญ่โต เพราะบางทีคนใหญ่คนโตก็ทำอะไรลำบาก ติดระบบ หรือถูกพันธนาการโดยโครงสร้างอำนาจอะไรต่างๆมากมาย ดังนั้น จึงควรพยายามให้คณะทำงานมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย มีความกล้าหาญ ทำงานได้จริง มีศรัทธาและมีประสบการณ์ในการสร้างระบบประชาธิปไตยทางตรง เป็นการปฏิรูประบบประชาธิปไตย นี่เป็นงานใหญ่ ซึ่งต้องใช้ “คุณธรรมนำความรู้ สู่การปฏิบัติ พัฒนาอย่างยั่งยืน”  

 

นอกจากโครงสร้างแล้ว มุมมองดังกล่าว ส่งผลต่อการกำหนดระบบการทำงานของเครือข่ายสื่อ ที่ผ่านมามักจะผูกติดอยู่กับระบบระเบียบ ไม่ต่างอะไรจากระบบราชการ ที่วางอยู่บนสมติฐาน ควบคุม ตรวจสอบ เพื่อปกครอง ชี้นำ แม้จะเป็นภาคประชาชนมาทำงาน แต่ภายใต้การสังกัดอำนาจรัฐ ก็หลีกเลี่ยงยากที่จะต้องสวมหมวกราชการที่ยึดระเบียบอยู่ แต่เป็นระบบเครื่องจักร กลไกแบบอุตสาหกรรม นี่เป็นระบบที่ไม่มีชีวิต ไม่มีสุขภาวะ

 

  • สื่อกับความคิดเชิงเดี่ยว 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ที่ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วง คือ การคำนึงถึงสื่อในเชิงเดี่ยว คือ มองว่า เรื่องสื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นเรื่องของคนทำงานเฉพาะวงการสื่อสารมวลชน หรือเป็นเรื่องของนักนิเทศศาสตร์

 

วิธีคิดอย่างนี้ เป็นมรดกมาจากการศึกษาแผนใหม่ที่พวกเรารับมาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แม้พยายามจะสลัดออก แต่ก็ยังฝังแน่นอยู่

 

วิธีคิดถึงสื่อแบบแยกส่วนเช่นนี้ ทำให้ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสื่อกับเรื่องอื่นๆ เช่น โลกร้อน , การจัดการทรัพยากร, พิธีกรรมทางศาสนา , ภูมิปัญญาพื้นบ้าน , การย้ายถิ่น , เกษตรอินทรีย์ หรือแม้จะเห็นความเชื่อมโยง แต่ก็เชื่อมแต่เรื่อง เชื่อมแค่ระดับพื้นผิว ระดับเทคนิคการสร้าง-นำเสนอ ครั้นพอจะเชื่อมเครือข่ายงาน เชื่อมระดับแนวคิด อุดมการณ์ วิธีวิทยา หรือระดับการสังเคราะห์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ กลับทำได้ยาก เพราะไปติดกับดักของความเป็น “ศาสตร์” ที่แยกเป็นส่วนๆ แต่พอจะจับมาประกอบรวมกันกลับทำได้ยาก ดังจะพบว่าแม้จะมีรายงานการศึกษาพบว่า มีกรณีศึกษาหลายกรณีในประเทศไทย ที่การเรียนรู้ผ่านโครงการ /กิจกรรมอื่นๆ เช่น ทักษะชีวิต นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อ[3] แต่กิจกรรมเหล่านี้ กลับไม่ถูกยกระดับความสำคัญให้เป็นยุทธศาสตร์เท่าทันสื่อเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านสื่อที่เห็นภาพตรงไปตรงมา เช่น การรณรงค์เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ร้านเกม เป็นต้น

 

เครือข่ายสื่อภาคสังคม จึงต้องก้าวผ่านวิธีคิดถึงสื่อเชิงเดี่ยว โดยบูรณาการองค์ความรู้ กระบวนการ และภาคีทุกภาคส่วนที่ไม่จำกัดเฉพาะแวดวงสื่อสารมวลชน หรือนิเทศศาสตร์ , ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มี “สื่อ” หรือ คนทำสื่อ ที่ผูกขาดการนิยามความหมายและวาทกรรม (discourses) เรื่องสื่ออย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

โดยนัยยะนี้ หากจะปฏิรูปสื่อ ก็ต้องปฏิรูปวิธีคิด ปฏิรูปโครงสร้าง วิธีการทำงานของเครือข่ายสื่อด้วยและระบบความสัมพันธ์ของเครือข่ายสื่อด้วย 

 

  • เครือข่ายคือชุมชนและพื้นที่สาธารณะ

ในแง่ระบบความสัมพันธ์ของเครือข่ายสื่อ หากจะวิเคราะห์ตามหลักสังคมวิทยา เครือข่ายก็คือสังคม เป็นชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่ง เครือข่ายในมิติความเป็นชุมชนก็คือ กลุ่มคนที่มารวมกัน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบหรือมีระบบความสัมพันธ์ มีวิธีคิด หรืออุดมการณ์ร่วมที่สอดประสานกัน มีกิจกรรม มีความผูกพัน (การสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วม)  ถึงแม้จะมีความแตกต่าง และขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็มีกระบวนการจัดการความขัดแย้งที่เป็นธรรม มีผู้นำ และการมีส่วนร่วมของสมาชิก จึงจะอยู่ร่วมกันเป็นเครือข่ายจริงๆได้

 

เครือข่ายจำนวนมากที่ล้มเหลวไปเพราะไปเน้นสร้าง/ ผลิตซ้ำความสัมพันธ์แนวดิ่ง (vertical society) ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่สังคมข้างบนมีอำนาจครอบงำสังคมชั้นล่าง[4] และควรจะเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธแนวราบ คือ ความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน เคารพความเห็นกันและกัน

 

เครือข่ายจะยั่งยืนได้ ต้องมีการปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การจะปรับตัวได้ดี เครือข่ายต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว สื่อสารฉับไว เข้าใจ เข้าถึงกันเร็ว ดังนั้น คำถามที่ท้าทายก็คือ เราจะการสร้าง/ออกแบบเครือข่ายขนาดใหญ่ให้มีลักษณะอย่างนี้ได้อย่างไร

 

ตัวอย่างรูปธรรมที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นสารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia ก็ดี และเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook ก็ดี เป็นภาพของเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีการสร้างวัฒนธรรมวิถีในการจัดการตนเอง แม้ผู้ริเริ่มจะเป็นปัจเจกชน แต่ความง่ายในการเข้าถึง อิสรภาพในการสื่อสาร และการควบคุมจัดการกันเองในหมู่ผู้ใช้ ทำให้เครือข่ายเหล่านี้กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ และสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง[5]

 

สิ่งที่เป็นรูปธรรมสำคัญของเครือข่ายในยุคนี้ ก็คือการสร้าง “เครือข่ายแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นฐานสัมพันธไมตรี”  เพื่อให้เกิดการปรับตัว การจูนความคิด การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี การสร้างความภาคภูมิใจแก่สมาชิกในการเข้าร่วมเครือข่าย อันเป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดโลกทัศน์และเป้าหมายร่วม[6] การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงถือเป็นพันธกิจและยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ควรต้องต้องถูกออกแบบไว้ในเครือข่ายรู้เท่าทันสื่อตั้งแต่แรก

 

 

 

“ความสัมพันธ์ที่ดี นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีก็ย่อมนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี” สองอย่างนี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างเครือข่ายที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายขนาดใดๆก็ตาม

 

  • เครือข่ายสื่อภาคสังคม เครือข่ายสังคมเพื่อการปฏิรูปสื่อ 

โดยสรุป เครือข่ายที่มีชีวิต มีพลังสร้างการปฏิรูปเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ได้ ถือเป็นภาพสะท้อนของการปฏิรูปสื่อ ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทั้งเนื้อหา ปฏิรูปความเป็นเจ้าของ และปฏิรูปการจัดการ กำกับดูแล โดย ต้องมีการพัฒนาความรู้จากฐานราก “สืบค้นปัญหา และแสวงหาปัญญา” จากชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายด้วยกระบวนการที่ให้ความเคารพในสิทธิชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงซ้อนระหว่างประเด็นสื่อกับประเด็นสังคมวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่กำลังขับเคลื่อนอยู่  

 

 

เครือข่ายสื่อภาคสังคมต้องเป็นเครือข่ายที่สร้างระบบสื่อสารสาธารณะและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เป็น open access คือทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนเห็นคุณค่า (ถือเป็นสมบัติสาธารณะ หรือ “ของหน้าหมู่”) มีผู้นำที่เปี่ยมคุณธรรม เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมทางตรง หรือถ้าจะมีผู้แทนต้องมีผู้แทนจากสังคมกลุ่มย่อยๆที่หลากหลายให้มากๆ ลงไปที่ผู้แทนระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านได้เลยได้ยิ่งดี  และต้องลดการใช้วัฒนธรรมและระเบียบวิถีพิธีปฏิบัติการใช้อำนาจควบคุมแบบราชการ ลดความสัมพันธ์ “แนวดิ่ง” ลดวิธีปฏิบัติแบบ “แพ้คัดออก” ลงให้เป็นการหนุนเสริมกันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และควรจะเน้นการสร้างคุณค่าเครือข่ายจากการเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบมากขึ้น

 

 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสร้างการปฏิรูป ซึ่งในเบื้องต้นเราไม่ต้องอาศัยงบประมาณหรือใบรับรองคุณวุฒิจากที่ไหน หากต้องอาศัยความกล้าหาญ ความอดทนต่อแรงกดดันตลอดจนการจัดการความเห็นและผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันโดยสันติวิธีเป็นใบเบิกทางสำคัญ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


[1] บทความประกอบการอภิปรายในห้องย่อย งานสัมมนาวิชาการ เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 “ไทย-ทัน-สื่อ” 27-28 มกราคม 2554 ณ ห้องประชุม เจ เจ มอลล์ ชั้น 7 ห้างสรรพสินค้า เจ เจ มอลล์ จตุจักร กรุงเทพ จัดโดย เครือข่ายเท่าทันสื่อประเทศไทย.

[2] นายกสโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) /ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน /นักวิจัยอิสระด้านสังคมวัฒนธรรม

 

[3] ดูเพิ่มเติมใน อรศรี งามวิทยาพงศ์ (2551) รายงานผลการศึกษา กระบวนการเรียนรู้สู่การเท่าทันสื่อ : บทสำรวจสถานภาพและก้าวต่อไป. กรุงเทพ : แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) หน้า 101.

[4] ดูพิ่มเติมใน ประเวศ วะสี (2553) ปฏิรูปประเทศไทย รายการเรื่องที่ควรปฏิรูป. สำนักงานปฏิรูป (สปร.). นนทบุรี : หน้า 8

[5] ดูเพิ่มเติมใน ออริ บราฟแมน และ รอด เอ. เบคสตอร์ม (2550) องค์กรไร้หัว. พจนา เลิศไกร (แปล) กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ยูเรก้า

[6] พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น) (2547) เครือข่าย : ธรรมชาติ ความรู้ และการจัดการ. กรุงเทพ : โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) หน้า 197.

หมายเลขบันทึก: 422166เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การนำเสนอข่าวสารของสื่อ มีอิทธิพลต่อสังคมมากๆ

ปัญหาของสังคมไทยทุกวันนี้...

ส่วนใหญ่มาจากความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง..

แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ มาจากความไร้จรรยาบรรณ และความเห็นแก่ตัวของสื่อมวลชน...

ข่าวสารที่นำเสนอ..

มักมีการบิดเบือน หรือปรุงแต่ง เพื่อชี้นำสังคม เพื่อผลประโยชน์แอบแฝง

มักนำเสนอบางประด็น ไม่ครบถ้วน เบี่ยงเบน เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่สนับสนุนการเงิน

มักนำเสนอด้วยอคติ ไม่เป็นธรรม สอดแทรก และไม่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด

เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการปฏิรูปสื่อเพื่อสังคมครับ

ขอบคุณครับ...

ขอบคุณ อ.นุ มากๆครับที่มาโพสต์เป็นรายแรก

ประเทศของเรา จริงๆมีสื่อดีๆเยอะ ประเทศของเรามีคนดีเยอะกว่าคนไม่ดีครับ ไม่งั้นบ้านเมืองคงไปไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่เราปล่อยให้คนไม่ดี สื่อไม่ดี นักการเมืองไม่ดีเป็นผู้มีอำนาจ

ผมคิดว่า สื่อดีๆมีอีกมาก โดยเฉพาะสื่อที่มาจากชาวบ้าน จากประชาชนที่มีจิตอาสา ไม่มีผลกำไร ไม่ได้หวังลาภ ยศ สรรเสริญ

เราทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเป็นสื่อภาคสังคมเช่นนั้น

เริ่มจากตัวเรา และคนใกล้ตัว เริ่มจากจุดเล็กๆก็ได้

ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีคนดีอีกเยอะที่อยากเห็น อยากสร้าง อยากส่งเสริมสื่อดีๆครับ

เครือข่ายยิ่งเข้มแข็ง พลังยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ขอบคุณครูหยุยมาก

ไม่ว่าจะต่างเพศ ต่างวัย ต่างชนชั้น ต่างเชื่อชาติ ต่างศาสนา ต่างสถานะกันอย่างไร

ขอเพียงมีศรัทธา

ทุกคนล้วนเป็นเครือข่ายที่สามารถช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้ครับ

การพัฒนาในภาพกว้างนั้นเหนื่อยเห็นผลช้า

ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงนาน

ทำให้คนท้อมาก็เยอะ

แต่หากไม่มีคนกลุ่มนี้..การพัฒนาคงไม่เกิด

เป็นกำลังใจให้ครูยอดครับ

คุณค่าของงานเป็นมรดกทางสังคมที่ผมอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานภูมิใจ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท