เอกสารความรู้เรื่อง โครงสร้างนามวลีและกริยาวลี ชั้น ม. 2 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม


การวิเคราะห์โครงสร้างนามวลีและกริยาวลีตามหลักสากล

เอกสารประกอบการเรียนรู้: โครงสร้างของนามวลีและกริยาวลี

รายวิชา  ท 32101   ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม 

อาจารยเฉลิมลาภ  ทองอาจ, ค.ม. การสอนภาษาไทย, ค.บ. (เกียรตินิยมอันดับ 1) ภาษาไทย (จุฬาฯ)

 

          วลีหรือกลุ่มคำ (groups of words) ที่มีนัยสำคัญสำหรับนำมาประกอบเป็นประโยคคือ “นามวลี” และ “กริยาวลี” สำหรับการพิจารณาโครงสร้างนามวลีนั้น  นักเรียนจะต้องวิเคราะห์คำที่มาประกอบกันเป็นนามวลีว่าประกอบด้วยคำชนิดใด  David  Smyth (2002: 33-38) ได้แบ่งโครงสร้างของนามวลี (Noun Phrases) ในภาษาไทยไว้  12  โครงสร้าง สรุปได้ดังตารางต่อไปนี้ 

ลำดับที่

โครงสร้างของนามวลี

1

นาม + ปริมาณวิเศษณ์ (ตัวเลข) +  ลักษณนาม

แมวสี่ตัว

บ้านหลายหลัง

โทรทัศน์สิบเครื่อง

2

นาม + ปริมาณวิเศษณ์ (ตัวเลข) + ลักษณนาม + นิยมสรรพนาม

แมวสี่ตัวนั้น

บ้านหลายหลังโน่น

โทรทัศน์สิบเครื่องนั่น

3

นาม + ปริมาณวิเศษณ์ (บอกความทั้งหมดหรือบางส่วน) + ลักษณนาม

(ทุก, แต่ละ, บาง, หลาย, ไม่กี่, น้อย, มาก)

เด็กบางคน

สัตว์ทุกตัว

โทรทัศน์แต่ละเครื่อง

4

นาม + ลักษณนาม + ปริมาณวิเศษณ์ (บอกลำดับ)

รถคันแรก

หนังสือเล่มที่สอง

ขลุ่ยเลาที่สาม

5

นาม + ลักษณนาม + นิยมสรรพนาม

เด็กคนนี้

สุนัขตัวนั้น

ช้อนคันโน้น

ลำดับที่

โครงสร้างของนามวลี

6

นาม + ลักษณวิเศษณ์

บ้านใหม่

หนังสือเก่า

หมีสีน้ำตาล

7

นาม + ลักษณวิเศษณ์ + ลักษณนาม + นิยมสรรพนาม

บ้านใหม่หลังโน้น

หนังสือเก่าเล่มนี้

หมีสีน้ำตาลตัวนั้น

8

นาม + ลักษณวิเศษณ์ + ปริมาณวิเศษณ์  (ตัวเลข) + ลักษณนาม + นิยมสรรพนาม

บ้านใหม่สามหลังนั้น

หนังสือเก่าสี่เล่มนี้

หมีสีน้ำตาลทุกตัวนั้น

9

นาม + ลักษณวิเศษณ์ + ลักษณนาม + ปริมาณวิเศษณ์ (บอกลำดับ)

บ้านใหม่หลังที่สาม

หนังสือเก่าเล่มที่สอง

หมีสีน้ำตาลตัวแรก

10

นาม + ลักษณนาม + ลักษณวิเศษณ์

บ้านหลังใหญ่

หนังสือเล่มบาง

หมีตัวสีน้ำตาล

11

นาม + นาม

ผู้พิพากษาแผนกเยาวชน

ผู้ต้องหาคดีอาญา

เจ้าหน้าที่เทคนิค

12

นาม + บุพบท + นาม/สรรพนาม

บ้านของฉัน

รายการโทรทัศน์แห่งชาติ

สายลมแห่งความหวังดี

การเดินทางโดยเรือ

                 ส่วนกริยาวลีนั้น มีโครงสร้างคล้ายกับนามวลี กล่าวคือ นำคำชนิดต่างๆ มาวางไว้หน้าหรือหลังคำกริยาเพื่อขยายความหมายของกริยานั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  นักภาษาศาสตร์ อาทิ วิจินตน์  ภานุพงศ์  (2530: 91-93) และ นววรรณ พันธุเมธา (100-104)  ได้จำแนกโครงสร้างของกริยาวลีไว้หลายโครงสร้างต่างๆ กัน   ซึ่งสรุปโครงสร้างที่นักเรียนสามารถทำความเข้าใจง่ายๆ ได้ประมาณ  8 โครงสร้าง แสดงในตารางต่อไปนี้

ลำดับที่

โครงสร้างของกริยาวลี

1

กริยา + กริยาช่วย  (ช่วยหน้าหรือช่วยหลัง)

 

กริยาช่วยหน้า

กำลัง, คง, จะ, เพิ่ง, อาจ, เคย, อยาก, ต้อง, ไม่, ไม่เคย, ไม่ต้อง, อาจจะไม่

น่า, น่าจะ,

กริยาช่วยหลัง

อยู่, แล้ว, อยู่แล้ว

อาจเห็น

คงดู

จะพูด

นอนอยู่

กำลังรับประทานอยู่

ไม่ชอบ

มิได้ร้อง

อาจจะกวาด

เพิ่งพบ

คงจะไม่จับ

2

กริยา +  ลักษณวิเศษณ์

พูดเก่ง

วิ่งเร็ว

กินจุ

3

กริยา + ปริมาณวิเศษณ์  (บอกจำนวน)

อ่านสามครั้ง

ตีสิบที

ดูทุกครั้ง

ไปบ่อยมาก

4

กริยา + ปริมาณวิเศษณ์   (บอกลำดับ)

เขียนครั้งแรก

เห็นครั้งสุดท้าย

เล่นครั้งที่สาม

 

 

ลำดับที่

โครงสร้างของกริยาวลี

5

กริยา +  (คำคั่น) + นิยมวิเศษณ์

พูดอย่างนี้

บอกแบบนั้น

คิดแบบนั้น

6

กริยา + วิภาคสรรพนาม

คุยกัน

ดื่มบ้าง

ต่างวิ่ง

7

กริยา + วลีชนิดอื่นๆ

เล่นนอกบ้าน

เห็นในครัวเมื่อเช้า

คุยเมื่อวาน

อยู่บนหลังตู้กับข้าว

8

กริยา + วลีชนิดอื่น + กริยาช่วย  (ช่วยหน้าหรือช่วยหลัง)

น่าจะเดินนอกบ้านอยู่

คงจะเกิดในอีกไม่นานนี้

กำลังอาบน้ำอย่างสบายแล้ว

 

          ทั้งนี้ทุกโครงสร้างของนามวลีและกริยาวลีข้างต้น ถือเป็นโครงสร้างหลักที่สำคัญ  ซึ่งยังมีรายละเอียดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  นักเรียนจึงควรทำความเข้าใจมากกว่าท่องจำ  นอกจากนี้  แนวทางเบื้องต้นในการศึกษาเรื่องวลีเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นคือ นักเรียนจะต้องทบทวนความรู้ความเข้าใจเรื่องชนิดของคำในภาษาทั้ง 7 ชนิด  เพื่อให้สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของวลีได้อย่างถูกต้อง 

 

รายการอ้างอิง

นววรรณ  พันธุเมธา. 2527.  ไวยากรณ์ไทย. กรุงเทพฯ: มปท.

วิจินตน์  ภาณุพงศ์.  2530.  โครงสร้างของภาษาไทย.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

David Smyth.  2002. Thai: An essential  grammar.  London: Routledge.

หมายเลขบันทึก: 422134เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับ อาจารย์เฉลิมลาภ
  • แวะมาเยี่ยม และชื่นชมคุณครูคนเก่ง
  • ได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาไทย และการเป็นครูที่ดี
  • จะแนะนำให้เด็กที่ ร.ร. เข้ามาศึกษาครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท