การวิจัยเชิงนโยบาย (policy research)


การวิจัยเชิงนโยบายสำหรับการสอนภาษาไทย

มาช่วยกันสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

                                                                              เฉลิมลาภ ทองอาจ[*] 

          การขับเคลื่อนการบริหารประเทศเป็นหน้าที่สำคัญของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ      ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  แต่เดิมการจัดการและการควบคุมการบริหารใดๆ ก็ตาม มักจะมาจากแนวคิดหรือประสบการณ์ของผู้บริหารเป็นสำคัญ แต่เมื่อศาสตร์ด้านการวิจัยมีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น  ผู้บริหารงานในระดับต่างๆ จึงให้ความสนใจกับการนำข้อมูลจากการวิจัยมาใช้ในการออกนโยบายหรือดำเนินงานต่างๆ  ซึ่งก่อให้เกิดการวิจัยประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “การวิจัยเชิงนโยบาย” (policy  research) ซึ่งได้มีการให้ความหมายและแนวทางการจัดทำดังจะได้เสนอต่อไป

1.  ความหมายของการวิจัยเชิงนโยบาย   

          “นโยบาย” คือแนวทางที่กำหนดขึ้นอย่างกว้าง ๆ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ รูปแบบของนโยบายก็คือ ข้อความที่ใช้เป็นเครื่องชี้นำสำหรับการบริหารงานต่าง ๆ นอกจากนั้น ดังนั้น นโยบายจึงเป็นสิ่งที่กำหนดยุทธศาสตร์ (strategy) และสิ่งที่จะทำต่อไปเพื่อให้นโยบายนั้นประสบความสำเร็จ  องค์ประกอบสำคัญของนโยบายคือ มีเป้าหมายที่จะกระทำ มีการกำหนดแนวทางและกฎเกณฑ์ วิธีการ กลยุทธ์หรือกลวิธี ที่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เห็นถึงแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุผลงานภายในเวลาที่กำหนด การกำหนดนโยบายจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและนักนโยบาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการนำผลจากการวิจัยมาใช้เกี่ยวกับการตัดสินใจด้านนโยบายมากขึ้น  การวิจัยเชิงนโยบายจึงมีความแพร่หลายและนิยมจัดทำมากขึ้นในปัจจุบัน

          การวิจัยเชิงนโยบายมีผู้ให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย แต่โดยทั่วไปยอมรับกันว่า การวิจัยเชิงนโยบาย  หมายถึง  กระบวนการศึกษารวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  และข้อเสนอแนะต่างๆ  (recommendations) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่อาจจะเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในระดับนโยบาย  ที่ผู้วิจัยจะสื่อสารแก่บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ (decision-makers) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน หรือปรับปรุงแก้ไขนโยบาย กลยุทธ์หรือโครงการต่างๆ ต่อไป  (Dukeshire และ Thurlow, 2002: 3-4) นอกจากนี้ยังมีผู้กำหนดความหมายของการวิจัยนโยบายจากบทบาทด้วย กล่าวคือ การวิจัยเชิงนโยบาย หมายถึง  การวิจัยที่มีบทบาทหลักในการ 1)  วิเคราะห์          ตัวนโยบาย 2)  วิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามนโยบาย และ  3)  วิจัยเพื่อพัฒนานโยบาย     (สุคนธา คงศีล และ สุขุม เจียมตน, 2550: 60)  จากนิยามต่างๆ ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า  การวิจัยเชิงนโยบาย มิใช่แต่เฉพาะการศึกษาสภาพปัจจุบันที่เป็นก่อนการใช้นโยบายหรือ     หลังการใช้นโยบายเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญของการวิจัยเชิงนโยบายก็คือ ผู้วิจัยจะต้องให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ (action-oriented recommendations)  อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติแก่ผู้ใช้ผลการวิจัยด้วย เพราะผู้ใช้ผลการวิจัยจะนำมาใช้ในการตัดสินใจต่อไปว่า จะผลักดันหรือขับเคลื่อนนโยบาย ปรับปรุงหรือล้มเลิกเสีย  สำหรับคำว่าผู้ใช้ผลการวิจัยในที่นี้ เช่น ผู้สร้างนโยบาย (policy-makers)  รัฐบาลหรือภาครัฐ  (government) องค์กรในสังคม  (community organizations)  หรืออาจจะเป็นหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับผลจากการใช้นโยบาย เป็นต้น 

2.  แหล่งข้อมูลสำหรับการวิจัยเชิงนโยบาย

            การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มีความสำคัญมากสำหรับนักวิจัยเชิงนโยบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการวิจัยขนาดใหญ่ ที่อาจจะต้องใช้แหล่งข้อมูลจำนวนมาก หรือค่อนข้างจะอยู่ในกระแสหรือแนวโน้ม ซึ่งจะต้องเป็นปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้แหล่งข้อมูลสำหรับการวิจัยเชิงนโยบายจึงมีหลากหลาย อาทิเช่น 

                    2.1  สื่อ  (media)

                   การวิจัยเชิงโยบาย ผู้วิจัยสามารถที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากสื่อสารมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง รายการโทรทัศน์  เพราะโดยส่วนใหญ่สื่อสารมวลชนเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญที่จะกำหนด ค้นคว้าหรือเสนอประเด็นต่างๆ ในสังคม    ที่คนส่วนใหญ่ควรจะกลับมาพิจารณาหรือให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่น การเสนอเกี่ยวกับภาวการณ์การอ่านของคนไทย  การเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล เป็นต้น  การเสนอประเด็นเหล่านี้จะทำให้เกิดกระแสสังคม ที่นักนโยบายและผู้มีอำนาจต้องให้ความสนใจ และนำข้อมูลจากการนำเสนอมาใช้กำหนดนโยบายหรือการปฏิบัติงานได้  ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวการค้นพบซากทารกที่วัดแห่งหนึ่ง ทำให้กระทรวงสาธารณาสุขต้องสร้างนโยบายเรื่องของการผลักดันกฎหมายเรื่องทำแท้ง และทำให้เกิดกระแสเรื่องการกำหนดบทบัญญัติเพื่อลงโทษผู้ชายที่ทำให้หญิงเกิดการตั้งครรภ์ และต้องไปทำแท้ง เป็นต้น  จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจและสร้างนโยบายในที่นี้มาจากการนำเสนอข้อมูลของสื่อสารมวลชน

                   2.2  สถิติของหน่วยงานรัฐ  (official statistics) 

                   โดยทั่วไปหน่วยงานภาครัฐจะเก็บข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ ไว้อยู่แล้ว นักนโยบายจะต้องไปศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้  ตัวอย่าเช่น การกำหนดโยบายและโครงการของภาครัฐ นโยบาย “เมาไม่ขับ” ก็มาจากข้อมูลสาเหตุเกี่ยวกับการได้รับอุบัติเหตุของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ขับขี่พาหนะดื่มสุราจนเมา และไม่สามารถควบคุมพาหนะได้ นอกจากนี้ จากสถิติเกี่ยวกับการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกันผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิต เป็นต้น 

                   2.3  โพล (polls)

                   โพลเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นหรือความรู้สึกของสังคม ในประเด็นหรือหัวเรื่องที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจ ณ ขณะนั้น  หน่วยงานภาครัฐมักจะใช้สำนักโพลหรือนักเก็บข้อมูล  ในการที่จะพิจารณาความคิดเห็นของประชากรโดยทั่วไปอย่างฉับพลันทันที หลังจากที่มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งเสนอขึ้นในสังคม แนวคิดเกี่ยวกับการทำโพลหรือการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนนั้น อาจจะมีการยกระดับเป็นการออกเสียงประชามติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้กับเรื่องราวที่เป็นประเด็นขนาดใหญ่ เช่น การทำประชามติเกี่ยวกับการจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือการจัดสร้างเขื่อน เนื่องจากประเด็นเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง  การทำโพลจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ของสังคม 

                   2.4 ชุมชนวิชาการ  (academic community)

                   การวิจัยเชิงนโยบายอาจจะได้ข้อมูลการวิจัยจากผลงานการวิจัยในศาสตร์สาขาต่างๆ ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว  ผลงานวิจัยของนักวิชาการซึ่งอยู่ในชุมชนวิชาการมีคุณค่าอย่างมากต่อนักนโยบาย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย  ซึ่งจะเป็นการนำผลการวิจัยซึ่งเดิมเคยอยู่ในที่ที่ไม่    เผยแพร่นักออกมาสู่สังคมมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้  บางมหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำวิจัยและเสนอนโยบายอยู่แล้ว เช่น สถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งทำให้ศาสตร์หรือความรู้ด้านต่างๆ พัฒนาขึ้นมาก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิจัยเชิงนโยบาย  ตัวอย่างเช่น  ในประเทศแคนาดา ได้มีการก่อตั้งศูนย์วิจัยด้านการสนับสนุนสุขภาพแห่งแอตแลนติก (Atlantic Health Promotion Research Centre) โดยมีพันธกิจสำคัญเพื่อที่จะผลิตงานวิจัยและพัฒนาแนวทางการสนับสนุนสุขภาพ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมารกต่อการจัดทำและกำหนดนโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศแคนาดา เป็นต้น 

                   2.5  ความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิม (traditional knowledge)

                   ข้อมูลที่นักวิจัยเชิงนโยบายได้รับมาในบางกรณี อาจจะมิใช่ข้อมูลที่ได้จากประชากรในกลุ่มอื่นๆ หรือเป็นข้อมูลจากภาคสาธารณะก็ได้  แต่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในชุมชนหรือในกลุ่มประชากรเฉพาะ คำว่าความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิม หมายถึง ความรู้ที่ชุมชนต่างๆ  คิดค้นขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตและสภาพท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยมีการส่งผ่านจากประชากรรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นเช่นนี้จึงมีความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ และนักวิจัยด้านนโยบายสามารถที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายได้  ตัวอย่างเช่น ในบางท้องถิ่นมีการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ นักนโยบายสามารถจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในท้องถิ่น ได้ด้วยการสนับสนุนหรือจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการผลิตและใช้ยาสมุนไพร ตลอดจนการต่อยอดการพัฒนายาสมุนไพรเหล่านี้ให้กลายเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับหรือจดสิทธิบัตรได้ เป็นต้น

3.  กระบวนการจัดทำการวิจัยเชิงนโยบาย

          การจัดทำการวิจัยเชิงนโยบายนั้น ค่อนข้างมีรูปแบบในการจัดทำที่หลากหลาย  อย่างไรก็ตาม  สามารถสรุปขั้นตอนของกระบวนการจัดทำได้  6  ขั้นตอน ดังนี้  (สุคนธา      คงศีล และ สุขุม เจียมตน, 2550: 62)

                   1. การระบุปัญหา เป็นการศึกษาว่าในขณะนี้  ประชาชนประสบปัญหามีความเดือดร้อนเรื่องอะไร การระบุปัญหาอาจทำได้โดย การศึกษาภาคสนามหรือการลงพื้นที่เพื่อดูว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง หรือมีประเด็นใดที่สังคมต้องการพัฒนาอีกบ้าง ซึ่งนักวิจัยจะต้องพิจารณาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อาทิ สื่อมวลผล หรือผลการวิจัยจากศาสตร์สาขาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น 

                   2. การกำหนดเป็นวาระสำหรับการตัดสินใจ  เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือประเด็นต่างๆ ในสังคมนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก  หากปัญหาหนึ่งได้รับการแก้ไขปัญหาหนึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นตามมา นักวิจัยจึงต้องกลั่นกรองหรือบางครั้งอาจจะต้องเลือกปัญหาเพื่อศึกษา แต่เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งของความต้องการเฉพาะของเจ้าของทุนวิจัย ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจำเป็นจะต้องกำหนดปัญหาให้ชัดเจน ตรงกับความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ผลการวิจัย  ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและกำหนดโจทย์วิจัยสำหรับค้นหาคำตอบให้ถูกต้อง

                   3. การกำหนดข้อเสนอนโยบาย เมื่อปัญหาได้รับการยอมรับจากผู้วิจัยหรือจากผู้ที่จะใช้ผลการวิจัย  ก็จะถูกนำมาพิจารณาว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาได้กี่แนวทาง          ซึ่งเรียกว่าข้อเสนอหรือทางเลือกนโยบายที่มีอยู่หลายทางเลือก โดยหลักการแล้วจะต้องวิเคราะห์แต่ละทางเลือกว่ามีประโยชน์อย่างไร

                   4. การอนุมัตินโยบาย ทางเลือก/ข้อเสนอนโยบายที่ให้ประโยชน์สูงสุดจะถูกอนุมัติออกมาเป็นนโยบาย

                   5. การดำเนินนโยบาย นโยบายที่ได้รับการอนุมัติจะถูกนำไปปฏิบัติ มีส่วนราชการและข้าราชการประจำเป็นผู้รับผิดชอบ

                   6. การประเมินผลนโยบาย เมื่อดำเนินนโยบายแล้วเสร็จต้องประเมินผลนโยบายเพื่อจะรับทราบว่าการดำ เนินนโยบายดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจต่อไปว่านโยบายนั้น ๆ    ควรได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร หรือควรยุติ           แล้วกำหนดนโยบายอื่นออกมาทดแทน

          โดยทั่วไปการวิจัยเชิงนโยบายจะเริ่มจากการสำรวจข้อมูลทุติยภูมิก่อน เพื่อพิจารณาว่าได้ข้อมูลที่ครบหรือเพียงพอต่อการทำวิจัยหรือไม่ ถ้ายังไม่เพียงพอก็จะต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมโดยการสำรวจ  ลงพื้นที่เป้าหมาย  ซึ่งก็เป็นการเก็บข้อมูลปฐมภูมิ เช่น การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น 

          นอกจากนี้  Dukeshire และ Thurlow (2002: 11-12)  ได้กล่าวถึงบทบาทของการวิจัยเชิงนโยบายที่ได้เข้าไปในกระบวนการต่างๆ ของการขับเคลื่อนนโยบายสรุปได้ดังนี้ 

                    1.  การวิจัยเชิงนโยบายช่วยในการระบุปัญหาและระบุประเด็นสำคัญ  (recognizing problems and identifying issues)  ซึ่งการวิจัยสามารถที่จะทำให้เห็นประเด็นอันเป็นปัญหาที่ควรจะได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไข โดยทั่วไปข้อมูลที่จะนำมาใช้มักถูกนำเสนอโดยองค์กรภายนอกชุมชนที่ประสบปัญหา เช่น จากสื่อ ผู้แทนของภาครัฐ การศึกษาของนักวิชาการ  โพล ฯลฯ ซึ่งนักวิจัยและนักนโยบายจะต้องร่วมกันพิจารณาเลือกประเด็นปัญหาที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน  และเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา   

                   2.  การวิจัยเชิงนโยบายจะช่วยสร้างความเข้าใจประเด็นสำคัญให้เกิดความกระจ่างชัดยิ่งขึ้น  เมื่อนักนโยบายหรือผู้บริหารได้เลือกประเด็นปัญหาที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขแล้ว นักนโยบายจะต้องทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการใช้วิธีการวิจัยในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น เพื่อให้สามารถอธิบายปัญหานั้นในมิติที่ลุ่มลึกขึ้น 

                    3.  การวิจัยเชิงนโยบายจะช่วยสนับสนุนและเลือกแผนการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด  (supporting a selected plan of action) เมื่อได้มีการระบุประเด็นปัญหาและตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตัดสินใจแล้ว  จำเป็นอย่างยิ่งที่ในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ จะต้องมีแผนสำหรับปฏิบัติการ (action plan) เพื่อที่กำหนดยุทธศาสตร์ เทคนิคหรือวิธีการต่างๆ ต่อไป  ซึ่งในการเลือกหรือกำหนดแผนนั้น สามารถใช้การวิจัยเข้ามามีบทบาทได้ โดยผู้บริหารหรือ   นักนโยบายจะนำผลการวิจัยมาประกอบเพื่อพิจารณาคัดเลือกวิธี และนำเสนอเป็นโครงร่างของแผนปฏิบัติการหรือแผนงาน  ซึ่งจะช่วยให้แผนงานนั้นได้รับความเชื่อถือและยอมรับจากสังคมมากยิ่งขึ้น  ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสที่แผนงานนั้นจะได้รับการคัดเลือกให้นำไป   ปฏิบัติจริง 

                    4.  การวิจัยเชิงนโยบายจะช่วยควบคุมกระบวนการและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบาย (monitoring process and evaluating impact)  นักวิจัยเชิงนโยบายจะเข้ามามีบทบาทในการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำแผนปฏิบัติการหรือแผนงาน    ไปใช้  การวิจัยอาจจะดำเนินการในลักษณะการเก็บข้อมูลจากผู้ได้รับผลจากนโยบายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย  เช่น  สิ่งใดที่มีประสิทธิภาพ หรือสิ่งใดที่เป็นประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจจะทำให้เกิดโทษจากการดำเนินนโยบายนั้น  โดยหากมีการวิจัยต่อไป ก็อาจจะทำให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายประสบปัญหา หรือมีอุปสรรค  การวิจัยเพื่อตรวจสอบและประเมินนโยบายนั้น จะทำให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจปรับปรุงนโยบาย แก้ไขหรือยุตินโยบาย หากพบว่า นโยบายดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลดังที่กำหนดไว้ 

          การวิจัยเชิงนโยบาย นักวิจัยอาจจะมีบทบาทรองในการนำผลวิจัยไปใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โอกาสที่จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายในวงกว้างย่อมมีอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจะต้องศึกษาข้อมูลที่ปรากฏตามข้อเท็จจริง สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ทำวิจัย และเสนอข้อเสนอแนะในลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยเชิงนโยบายจะต้องมีความสามารถในการสื่อสาร  ซึ่งจะช่วยให้สิ่งที่ศึกษาวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง 

รายการอ้างอิง

สุคนธา  คงศีล และ สุขุม เจียมตน.  2550.  การวิจัยเชิงนโยบายคืออะไรและทำอย่างไร.    วารสารบริหารงานสาธารณสุข.  13 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 56-71.

Dukeshire, S. and Thurlow, J.  2002.  Understanding the link between research and     policy. Halifax, NS:  Rural communities impacting policy project.  Atlantic Health    Promotion Research Centre  at Dalhousie University.

 

 

 


[*]อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

 

หมายเลขบันทึก: 422125เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท