เทคนิคการถ่ายภาพ


การถ่ายภาพ

เทคนิคการถ่ายภาพ 
     
การถ่ายภาพทิวทัศน์
(Land and Sea Scape) นักถ่ายภาพสมัครเช่นนิยมถ่ายภาพประเภทนี้มาก เพราะสามารถถ่ายได้ง่าย สะดวก ถ่ายได้ทุกหนทุกแห่งที่มีโอกาสผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพร น้ำตก หรือท้องทะเลก็ตาม อย่างน้อยผู้ถ่ายภาพก็สามารถเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกถึงความหลักการถ่ายภาพทิวทัศน์ ควรถ่ายขณะที่ท้องฟ้าแจ่มใส จะได้ภาพสวยงาม ชัดเจน ถ้าอากาศมืดครึ้มหรือฝนตก ภาพที่ได้จะมีสีทึบ ขาดรายละเอียด การบันทึกความสวยงามของลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติดังกล่าว จะมีคุณค่าและความ สวยงามนั้น ควรต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบที่ช่วยสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นพยายามเลือกมุมกล้องที่แปลกตา คอยจังหวะให้มีลักษณะแสงสีที่สวยงาม สามารถสร้าง บรรยากาศให้ผู้ดูเกิดอารมณ์คล้อยตาม เช่น ภาพที่มีหมอกในฤดูหนาว ควัน ฝนตก หรือพายุ ฯลฯ บรรยากาศ แสงสีในเวลาเข้ามืดก่อนจะสว่าง หรือในตอนเย็น พระอาทิตย์กำลังจะตกจะมีแสงสีที่ให้ความรุนแรงมีสีน้ำเงิน ม่วง เหลือง แสดและแดงสลับกับก้อนเมฆรูปร่างต่าง ๆ ดูสวยงาม การถ่ายภาพทิวทัศน์นิยมเปิด ช่องรับแสงให้แคบเพื่อช่วยให้ภาพมีความคมและชัดลึกตลอด แม้บางครั้งจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ สำหรับเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ นอกจากเลนส์ ธรรมดาติดกล้องแล้ว ควรมีเลนส์มุมกว้างและเลนส์ถ่ายภาพไกลที่มีขนาดความยาวโฟกัสประมาณ 105 มม. หรือ 250 มม. เพื่อช่วยให้ได้ภาพที่มีมุมแปลกตา ดีขึ้น ถ้าเป็นการถ่ายภาพขาว – ดำ ควรมีแผ่นกรองแสงสีเหลือ สีส้ม หรือสีแดงติดไปด้วย เพราะฟิลเตอร์สีดังกล่าวจะช่วยให้ภาพขาว – ดำ มองเห็นก้อนเมฆขาว ตัดกับท้องฟ้า ส่วนการถ่ายภาพสีก็ควรมีแผ่นกรองแสงตัดหมอกหรือแผ่นกรองแสงโพลาไรซ์เป็นอย่างน้อย นอกจากนั้นอาจใช้แผ่นกรองแสงสำหรับเปลี่ยนแปลง สีของภาพเพื่อให้ได้ภาพทิวทัศน์ที่มีสีสันสวยงามแปลกตายิ่งขึ้น

การถ่ายภาพระยะใกล้ (Close up) การถ่ายภาพระยะใกล้เป็นการถ่ายภาพวัตถุสิ่งของที่มีขนาดเล็กหรือเลือกถ่ายภาพเฉพาะบางส่วนของวัตถุ ในระยะใกล้ให้มองเห็นส่วนละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ถ่ายภาพเหรียญ แมลง ลายไม้ ดอกไม้ หรือวัตถุสิ่งของที่มีขนาดเล็กต่าง ๆ การถ่ายภาพระยะใกล้ต้องมีอุปกรณ์ดังนี้ 1. กล้องถ่ายภาพ นิยมใช้กล้องแบบสะท้อนเลนส์เดี่ยว ซึ่งจะไม่เกิดความเหลื่อมขณะมองภาพที่ช่องเล็งภาพ 2. เลนส์ที่ใช้ควรเป็นเลนส์แมโคร (Macro) แต่ถ้าสีเลนส์มาตรฐานก็สามารถใช้เลนส์ถ่ายใกล้ (Close – up lens) ชนิดสวมใส่หน้าเลนส์แบบแผ่นกรองแสง (Filter) ทั่วไป หรืออาจใช้กระบอกต่อ (Extension tube) หรือใช้ส่วนพับยืด (Bellow) ต่อคั่นระหว่างเลนส์กับตัวกล้อง 3. ขาตั้งกล้อง 4. สายไกชัตเตอร์ การปรับหาระยะความคมชัดของการถ่ายภาพแบบนี้ค่อนข้างยาก เพราะเลนส์มีช่วงความชัดสั้นมาก ระยะหน้า และระยะหลังของวัตถุจะพร่ามัว ดังนั้น ควระปิดรูรับแสงให้แคบเพื่อให้ภาพที่ได้มีความชัดลึก การถ่ายภาพดอกไม้ ภาพดอกไม้จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะ รูปทรง รูปร่าง และสีสันที่สวยงาม สามารถเน้นให้เห็นลวดลายของกลีบดอก ตลอดจนแนวเส้นของกิ่งก้านช่วยให้ภาพมีความงดงาม โดยเฉพาะการถ่ายภาพดอกไม้ในระยะใกล้จะให้สีตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ป่าหรือดอกไม้ที่ปลูกไว้ตามบ้านเรือน เวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพดอกไม้ ้ควรเป็นเวลาเช้า เพราะดอกไม้จะให้ความรู้สึกสดชื่น หากมีหยดน้ำค้างเกาะอยู่ตามกลีบดอกหรือหาน้ำหวานหรือน้ำผึ้งหยอดลงบนดอกไม้เพื่อล่อให้ผึ้งหรือแมลงมาตอม ก็จะได้ภาพที่สวยงามเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพดอกไม้ควรเป็นแสงธรรมชาติโดยจัดให้แสงเข้าทางด้านข้าง ถ้าเป็นดอกไม้ชนิดที่ควรเน้นให้เห็น ลักษณะความบางและโครงสร้างของกลีบดอก ควรให้แสงส่องจากด้านหลังของดอกไม้และจัดให้พื้นหลังมีสีค่อนข้างเข้ม และต้องระวังอย่าให้แสงทวนเข้าที่หน้าเลนส์ของกล้อง

การถ่ายภาพดอกไม้ ควรต้องใช้ขาตั้งกล่าวเพื่อช่วยในการปรับประยะความคมชัดที่แน่นอน พยายามจัดมุมกล้อง เพื่อหลีกเลี่ยงฉากหลังที่รกรุงรัง หรือแก้ไขโดยใช้กระดาษสีเทา หรือสีดำไปวางไว้ทางด้านหลังของดอกไม้ โดยใช้สีของกระดาษให้ตัดกับสีของดอกไม้ เพื่อความเด่นชัดหรืออาจใช้วิธีเปิดช่องรับแสงให้กว้างเพื่อจะได้ฉากหลังที่พร่ามัว อาจใช้ เลนส์ถ่ายไกลหรือเลนส์ซูมก็จะช่วยให้ได้ภาพดอกไม้ที่มีลักษณะเด่นชัดเฉพาะ สวยงามอีกแบบหนึ่ง การถ่ายภาพเวลากลางคืน (Night Picture) การถ่ายภาพเวลากลางคืน ได้แก่ การถ่ายภาพที่อาศัยแสงสว่างจากไฟฟ้าตามท้องถนน ป้ายนีออนโฆษณา น้ำพุ การยิงพลุ ห้องโชว์สินค้า ไฟประดับในวันเฉลิมฉลองต่าง ๆ แสงไฟจากรถยนต์ แสงเทียน สายฟ้าแลบ ดวงจันทร์ และดวงดาวบนท้องฟ้า ความสวยงามต่าง ๆ ที่เราสามารถมองเห็นได้ในเวลาค่ำคืนดังกล่าว เราสามารถบันทึกภาพที่งดงามเหล่านั้นด้วยกล้องถ่ายภาพ ได้เช่นเดียวกับการถ่ายภาพในเวลากลางวัน การถ่ายภาพในเวลากลางคืนนั้นต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นดังนี้ 1. กล้องถ่ายภาพชนิดที่มีความเร็วชัตเตอร์ B หรือ T 2. ขาตั้งกล้อง 3. สายไกชัตเตอร์ 4. นาฬิกาจับเวลา 5. ไฟฉายดวงเล็ก ๆ 6. สมุดบันทึกสำหรับจดรายละเอียด เช่น เวลาในการเปิดหน้ากล้อง แสงสว่างจากหลอดไฟต่าง ๆ ในเวลากลางคืนนั้น เราจะวัดแสงลำบากและไม่แน่นอนจึงควรใช้ประสบการณ์ที่ได้ทดลอง ถ่ายและจดบันทึกรายละเอียดไว้ในแต่ละครั้งมาพิจารณา ปกติจะถ่ายภาพด้วยการตั้งความเร็วไว้ที่ B หรือ T แล้วนับเวลา (Time exposure) ใช้เวลาในการเปิดม่านชัตเตอร์ เป็นวินาทีหรือนาทีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะและปริมาณของแสง ในขณะที่ถ่ายภาพ เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการเปิดม่านชัตเตอร์ จึงจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อป้องกันกล้องเคลื่อนที่ และสั่นไหว ขาตั้งกล้องควรเป็นชนิดที่แข็งแรงมีที่สำหรับปรับมุมยกหน้ากล่องขึ้นและลงได้ และสามารถหมุนกล้องไปทางซ้าย และขวาที่เรียกว่า Pan กล้องได้ ซึ่งเราจะได้ถ่ายภาพออกมามีลักษณะและสีสันที่แปลกออกไปอีกแบบหนึ่งส่วนเลนส์ที่ใช้ หากเป็นเลนส์ที่สามารถซูมภาพได้ ก็ยิ่งจะได้ภาพที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกนอกจากใช้ฟิล์มขาว–ดำ ถ่ายภาพไฟในเวลากลางคืน ได้แล้ว อาจใช้ฟิล์มเนกาทิฟสีหรือสไลด์สีก็ได้ ซึ่งจะได้ภาพที่มีสีสวยงามยิ่งขึ้น การเลือกใช้ฟิล์มสไลด์สีขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราจะถ่าย เช่น การถ่ายภาพไฟตามถนน ป้ายนีออนโฆษณา ไฟประดับ ก็ควรใช้ฟิล์มแสงแดด (Day Light) ภาพที่ได้จะมีสีค่อนข้างเหลือง อาจใช้ฟิลเตอร์สีฟ้าสวมหน้าเลนส์เพื่อแก้สีก็ได้ ถ้าเป็นภาพการแสดงบนเวที งานประเพณีต่าง ๆ ควรใช้ฟิล์มที่มีควาไวแสงสูง เช่น 200 ISO, 400 ISO เพื่อให้สามารถจับภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนภาพดวงจันทร์หรือดวงดาวควรใช้ฟิล์มที่ใช้กับแสง ไฟทังสเตน จะได้สีที่ถูกต้องยิ่งขึ้น สำหรับการเลือกใช้ความไวแสงฟิล์ม การเปิดหน้ากล้องและเวลาในการถ่ายภาพ ลักษณะของแสงไฟจากแหล่งต่าง ๆ ในเวลากลางคืนนั้นได้มีบันทึกไว้เป็นแนวทางดังนี้ การถ่ายภาพสัตว์ (Pets & Animals) การถ่ายภาพสัตว์อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท 1. การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงในบ้าน สัตว์ที่เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก ปลา แต่ละชนิดก็มีรูปร่างลักษณะ สีสัน กิริยาท่าทาง และนิสัยที่แตกต่างกันออกไป เป็นสัตว์ที่น่ารักทั้งสิ้น สามารถเลือกมุมถ่ายภาพให้มีความสวยงามและน่ารักได้ พยายามใช้ความรวดเร็วในการจับภาพในจังหวะที่น่าประทับใจต่าง ๆ 2. การถ่ายภาพในสวนสัตว์ ในสวนสัตว์จะเป็นที่รวมของสัตว์หลายชนิด ซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลก การถ่ายภาพสัตว์ในส่วนสัตว์ควรไปถ่ายภาพในตอนเช้า ที่อากาศไม่ร้อน สัตว์จะมีอารมณ์ดี โดยเฉพาะเวลาให้อาหารสัตว์เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดในการถ่ายภาพ เพราะสัตว์จะแสดงกิริยาต่าง ๆ ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพ ผ่านลูกกรงเหล็ก หรือรั้วกัน ควรเปิดช่องรับแสงของเลนส์ให้กว้าง ให้กล้องหากจากลูกกรงประมาณครึ่งเมตร ลูกกรงหรือรั้วกั้น จะพ้นระยะชัดเกิดความพร่ามัว ทำให้มองเห็นเฉพาะภาพสัตว์และยังช่วยหลบฉากหลังที่รกรุงรังให้หายไปได้อีกด้วย กล้องที่ใช้ถ่ายภาพสัตว์ ควรใช้กล้องแบบ 35 มม. สะท้อนเลนส์เดี่ยว โดยใช้เลนส์ซูมหรือเลนส์ถ่ายระยะไกล้ 135 มม. – 250 มม. เพื่อให้สามารถดึงภาพให้มีขนาดใหญ่ได้ ส่วนฟิล์มควรใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงสูง 250 ISO หรือ 400 ISO 3. การถ่ายภาพสัตว์ป่า เป็นการออกไปถ่ายภาพสัตว์ในป่าเขาตามธรรมชาติ ซึ่งในบ้านเมืองเราคงหาโอกาสได้ยาก เพราะไม่ค่อยมีสัตว์ป่าให้ได้เห็นกัน จะมีบ้างก็พวกเก้ง กวาง ในป่าสงวนบ้างแห่งเท่านั้น การรอบถ่ายภาพสัตว์ป่า จำเป็นต้องถ่ายจากบังไพร หรือซุ้มไม้มิดชิดเพื่อไม่ให้สัตว์มองเห็นและกลัว ควรต้องศึกษาแหล่งที่พักหลับนอน แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำของสัตว์อย่างน้อยจะทำให้มีโอกาสการถ่ายภาพได้ง่ายเข้า อุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดในการถ่ายภาพสัตว์ป่าคือเลนส์ระยะไกล มีความยาวโฟกัสสูง ไม่ต่ำกว่า 400 มม. – 1200 มม. หรือใช้ Teleconverter 2X เพื่อช่วยให้สามารถถ่ายภาพในระยะไกล ๆ ได้ กล้องควรตั้งบนข้างตั้งใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงสูง จะได้ภาพที่มีความคมชัด แน่นอน การถ่ายภาพย้อนแสง (Silhouete) การถ่ายภาพย้อนแสงหรือภาพเงาดำ ภาพประเภทนี้นักถ่ายภาพสมัครเล่นไม่ค่อย ให้ความสนใจ เพราะจะได้ภาพที่ไม่ชัด ไม่เห็นรายละเอียดของวัตถุ ถ้าถ่ายภาพ คนจะมองดูแล้วมืด แต่ที่จริงแล้วภาพย้อนแสงไม่ว่าจะเป็นภาพสี หรือขาว–ดำ ก็ตามจะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องรูปร่าง (Shape) ของวัตถุที่บังแสงอยู่ นักถ่ายภาพ อาชีพมักจะเสาะแสวงหาภาพประเภทนี้อยู่เสมอ เพราะภาพย้อนแสงจะให้ทั้งความงาม ให้อารมณ์ ให้สีสันรุนแรง ให้ความแปลกตาไปอีกลักษณะหนึ่งการถ่ายภาพย้อนแสง ควรถ่ายให้ภาพมีช่วงความชัดลึก โดยเปิดช่องรับแสงให้แคบกว่าปกติเล็กน้อย พยายามเลือกวัตถุที่มีโครงร่างที่สวยงามหามุมย้อนแสง โดยวางจังหวะของดวงอาทิตย์ ให้พอดี การเขียนภาพด้วยแสงไฟ การถ่ายภาพแบบให้แสงไฟสีต่าง ๆ ต้องใช้ห้องที่มืดสนิทโดยมีฉากผ้าหรือกระดาษสีดำ แสงไฟสีทำได้โดยใช้ไฟฉายธรรมดาขนาดเล็ก หุ้มกระดาษแก้วสีต่าง ๆ ตามความต้องการ จัดตั้งไฟแฟลชให้ส่องตรงไปยังแบบ แบะอาจใช้แฟลชอีก 1 ดวง ติดสนูท (Snoot) เป็นกรวยบีบแสง ให้ส่องตรงไปเฉพาะจุดที่ผมเพื่อมิให้ตัวแบบกลืนไปกับความมืดของฉากหลัง เมื่อจัดฉากเรียบร้อยแล้วให้แบบยืนแสดงท่าตามต้องการ ให้ผู้วาดเส้น แสง สี คลุมพาดดำถือไฟฉายหุ้มกระดาษแก้วสี ยืนด้านหลังของแบบกล้องถ่ายภาพต้องตั้งบนขาตั้งกล้อง เปิดความเร็วชัตเตอร์ที่ B ส่วนช่องรับแสงตั้งไว้ที่ f11 เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ให้กด ชัตเตอร์ ผู้วาดเส้นจะเริ่มเปิดไฟฉายวาดแสงสีต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น ใช้กระดาษแก้วสีแดงวาด 15 วินาที แล้วเปลี่ยนกระดาษแก้วเป็นสีฟ้า 10 วินาที กระดาษแก้วสีเหลืองอีก 5 วินาที หลังจากนั้นผู้วาดแบบจะออกมาจากฉากเปิดไฟแฟลช 1 ครั้ง แล้วปิดชัตเตอร์จะได้ภาพตามต้องการ ส่วนภาพแสงเทียนประกอบกับดอกไม้ไฟนั้น ก็จัดฉากให้เป็นสีดำ จัดแบบเทียนไขสีต่าง ๆ ให้ได้ขนาดตามต้องการ ตั้งบนแผ่นไม้รองเทียนที่มีขาตั้งสีดำกลมกลืนกับความมืด กล้องถ่ายภาพตั้งบนขาตั้งกล้อง เปิดความเร็วชัตเตอร์ที่ B ช่องรับแสงเปิดที่ f11 เมื่อเรียบร้อยแล้ว จุดเทียนไขกดชัตเตอร์ใช้เวลาประมาณ 5 วินาที จากนั้นให้ผู้ช่วยที่คลุมผ้าดำ จุดดอกไม้ไฟวนไปมารอบเทียนไขอีกประมาณ 3 – 5 วินาที แล้วปิดชัตเตอร์ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (Action) การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หมายถึง การถ่ายภาพของวัตถุที่เคลื่อนไหว เช่น คนวิ่ง กระโดดโลดเต้น เล่นชิงช้ากระโดดสูง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน รถกำลังแล่น หรือการแข่งขันกีฬาด้านความเร็วประเภทต่าง ๆ การถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหว ดังกล่าวอาจจะทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ 1. การจับภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง (Stop – action) การถ่ายภาพในลักษณะนี้ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สูง เช่น 1/250, 1/500 หรือ 1/1000 วินาที ตามความเหมาะสมกับความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ เมื่อตั้งความเร็วชัตเตอร์ สูง ๆ จำเป็นต้องเปิดช่องรับแสงให้กว้างขึ้น เพื่อชดเชยให้แสงผ่านเข้าไปทำปฏิกิริยากับฟิล์มให้มากพอ การถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้นั้น จะตั้งความเร็วชัตเตอร์เท่าใดย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1) ความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว 2) ทิศทางการเคลื่อนไหวของวัตถุ 3) ระยะทางจากกล้องถึงวัตถุ 4) ความยาวโฟกัสของเลนส์ 2. การถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวดูแล้วให้รู้สึกว่าเหมือนกำลังเคลื่อนไหว การถ่ายภาพในลักษณะนี้ ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ ให้ช้า ๆ เช่น 1/30 วินาที, 1/15 วินาที หรือ 1/8 วินาที เป็นต้น เมื่อตั้งความเร็วชัตเตอร์ช้า ก็ต้องเปิดช่องรับแสงให้เล็กลง ภาพที่ได้จะปรากฏว่าสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวจะดูพร่า ทำให้เห็นว่าวัตถุนั้นกำลังเคลื่อนที่ส่วนวัตถุหรือสิ่งที่อยู่นิ่งจะคมชัด และการถ่ายภาพลักษณะนี้ควรจับถือกล้องให้นิ่งและมั่นคง หรือควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย เพื่อไม่ให้กล้องสั่นไหว 3. การถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวให้เห็นวัตถุชัด ส่วนฉากหลังพร่ามัวเป็นทางยาว การถ่ายภาพในลักษณะนี้ จะต้อง แพนกล้อง (Paning) ตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว พร้อม ๆ กับการกดไกชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์ความตั้งให้ช้า เช่น 1/60วินาที,1/30วินาทีหรือช้ากว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยการปรับระยะชัดให้ปรับไปตรงจุดที่วัตถุ เคลื่อนที่ผ่าน การถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (Still life) การถ่ายภาพหุ่นนิ่ง หมายถึง การถ่ายภาพวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เช่น แจกันดอกไม้ ถ้วยจานช้อนซ้อม ขวดเหล้า เบียร์ แก้ว บุหรี่ น้ำหอม เสื่อผ้า รองเท้า ผัก ผลไม้ อาหาร ฯลฯ จุดมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็เพื่อนำภาพไปจัดทำเป็นสื่อในการโฆษณา เช่น ทำปกหนังสือ วารสาร โปสเตอร์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ การฝึกถ่ายภาพหุ่นนิ่ง จะช่วยให้เราได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆในการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะวัตถุสิ่งของต่าง ๆที่นำมาถ่ายภาพจะอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวเราสามารถทดลองจัดภาพได้หลาย ๆแบบตามต้องการ ส่วนการใช้แสงก็ทำได้หลายลักษณะ อาจใช้แสงธรรมชาติ แต่ส่วนมากมักใช้แสงไฟประดิษฐ์ เพราะสามารถควบคุมทิศทางตลอดจนปริมาณของแสงสว่างได้ตามความเหมาะสม ขั้นตอนการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง 1. จัดสถานที่ได้แก่ โต๊ะชุดสำหรับถ่ายภาพหุ่นนิ่งประกอบด้วยขาตั้งเหล็ก หรืออลูมิเนียมมีแผ่นพลาสติกสีต่าง ๆ เช่นสีขาว ดำ น้ำเงิน และม่วง เป็นที่วางวัตถุที่จะถ่ายภาพ ผิวหน้าของแผ่นพลาสติกมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งผิวด้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งผิวจะมัน คุณสมบัติของแผ่นพลาสติก คือถ้าใช้ไฟส่องด้านบนจะได้แสงตกกระทบธรรมดา แต่ถ้าใช้ไฟส่องจากด้านล้าง แสงจะสามารถทะลุพื้นพลาสติกขึ้นด้านบนสามารถใช้เป็นแสงสำหรับลดเงา หรือใช้เป็นแสงส่องจากพื้นล้างและด้านหลังของวัตถุ 2. ออกแบบ สเก็ตภาพ (lay – out) การจัดวางองค์ประกอบของวัตถุ ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมงานเข้าใจรูปแบบและแนวคิด สามารถจัดหาวัตถุประกอบฉาก ตลอดจนการจัดภาพได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น 3. จัดหาวัตถุ สิ่งของ ที่จะถ่ายภาพ ถ้าเป็นประเภทผัก ผลไม้ ควรเตรียมไว้ให้มากพอ คอยฉีดน้ำดูแลให้สดอยู่เสมอ 4. นำวัตถุสิ่งของที่จะถ่าย วางบนโต๊ะถ่ายภาพ โดยจัดวางตามแบบที่สเกตภาพไว้ 5. ทดลองจัดแสง ซึ่งอาจใช้หลอดไฟทังสเตน ถ้าเป็นการถ่ายภาพชิ้นเล็ก ๆ ก็ใช้สปอตไลท์ 500 วัตต์ 2-3 ดวงแต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้ไฟที่มีกำลังวัตต์สูง ๆ เช่น 2000 วัตต์ถึง 5000 วัตต์ โดยใช้ผ่านแผ่นกรองแสงเพื่อให้ได้แสงที่นุ่มนวล ใช้แผ่นสะท้อนแสงลดเงาและอาจใช้ไฟส่องฉากหลัง เพื่อเน้นวัตถุให้เห็นเด่นชัดในปัจจุบันนิยมใช้แฟลชอิเลคทรอนิคส์ มีอุปกรณ์ เช่น ร่มสะท้อนแสง จานสะท้อนแสง ประตูโคม (Barn doors) กรวยแสง (Snoot) ซึ่งจะให้ความสะดวก สามารถบังคับทิศทางและปริมาณของแสงได้ตามต้องการ 6. กล้องสำหรับถ่ายภาพหุ่นนิ่ง ถ้าไม่จำเป็นต้องนำภาพไปขยายให้ใหญ่มาก ก็อาจใช้กล้อง ขนาด 35 มม.แต่ถ้าต้องการขยายภาพให้มีขนาดใหญ่ ก็ควรใช้กล้องขนาดกลางที่ใช้ฟิล์มขนาด 4” x 5” กล้องถ่ายภาพต้องตั้งบนขาตั้งกล้องให้มั่นคง เพราะการถ่ายภาพหุ่นนิ่งต้องการภาพที่ละเอียดชัดเจน และชัดลึกจึงต้องเปิดช่องรับแสงให้แคบมาก ๆ เช่น f16 ฉะนั้นความเร็วชัตเตอร์ จะต้องช้ามากเพื่อให้สัมพันธ์กับขนาดช่องรับแสง การถ่ายภาพบุคคล (Portraits) การถ่ายภาพบุคคล เป็นการบันทึกโครงสร้างลักษณะ และความนึกคิดของ ผู้ถ่ายภาพ และผู้ถูกถ่ายภาพฉะนั้นภาพถ่ายบุคคลจึงเปรียบเสมือนตัวแทนบุคคลที่ถูกถ่าย และ ผู้ถูกถ่ายภาพ ฉะนั้น ภาพถ่ายบุคคลจึงเปรียบเสมือนตัวแทนบุคคลที่ถูกถ่าย ทั้งในด้าน ความนึกคิดและลักษณะท่าทาง ภาพถ่ายบุคคลที่ดีควรแสดงออกใน 2 ประการ คือ 1. ความนึกและการสร้างสรรค์ของผู้ถ่ายภาพ 2. สามารถแสดงบุคลิกของผู้ถูกถ่ายได้เป็นอย่างดี ภาพถ่ายบุคคลที่แสดงออกได้ทั้ง 2 ประการดังกล่าว จำเป็นต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบต่าง ๆดังนี้คือ 1. การจัดเสื่อผ้าให้เหมาะสมกับบุคลิกและอาชีพ 2. การจัดฉาก อาจจัดในสตูดิโอ หรือฉากธรรมชาติ 3. การจัดภาพ จัดท่าทาง ของผู้เป็นแบบ 4. การจัดแสง อาจใช้แสงธรรมชาติ หรือแสงไฟประดิษฐ์ 5. การเลือกใช้กล้อง ฟิล์ม แผ่นกลองแสงและเลนส์ในการถ่ายภาพให้เหมาะสม เลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพบุคคลควรเป็นเลนส์ถ่ายภาพระยะไกล ความยาวโฟกัสประมาณ 105 มม. หรือ 135 มม. 6. การเลือกมุมกล้องในการถ่ายภาพ การถ่ายภาพเด็ก การถ่ายภาพเด็กเป็นการบันทึกภาพความไร้เดียงสา ความน่ารัก ความบริสุทธิ์ตลอดจนความสนุกสนานร่าเริง ไว้ในแผ่นภาพ ลักษณะธรรมชาติของเด็กนั้นมักไม่ชอบอยู่นิ่งและ ชอบซุกซนตลอดเวลา ฉะนั้นก่อนถ่ายภาพควรให้เด็กได้เล่นอยู่กับของเล่น ที่ถูกใจเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือทำความสนิทสนมกับเด็ก เล่าเรื่องสนุกสนาน ทำท่าทางตลกและชักชวนให้เด็กทำสิ่งที่เขาชอบ ผู้ถ่ายภาพต้องคอยกดไกชัตเตอร์ในจังหวะที่เด็กกำลังอยู่ในท่าทางและอารมณ์ที่เป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติมากที่สุด การถ่ายภาพเด็กไม่ควรบังคับเด็กของตัวเองให้ตั้งทางต่าง ๆ ซึ่งจะได้ภาพที่แข็งไม่เป็นชีวิตจริง เสียลักษณะความเป็นธรรมชาติ แต่ควรบันทึกพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเขาไว้ เช่น การเรียนการเล่นหรือแม้แต่กำลังร้องไห้น้ำตาไหลภาพต่าง ๆ เหล่านี้ อาจแสดงให้เห็นถึงความซุกซน ความดื้อรั้น และอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะให้ความน่ารักความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ภาพ ถ่ายที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ควรใช้การถ่ายภาพทีเผลอ (Candid photography) หมายถึง การแอบถ่ายโดยใช้แสงธรรมชาติ ไม่ควรใช้ไฟแฟลช เพราะแสงไฟจะทำให้เด็กรู้สึกตัว อาจทำให้พลาดโอกาสที่ดีไปได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4219เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท