เรียนรู้จากผู้ป่วยเบาหวาน


ผมก็คิดว่ากับคนวัยขนาดนี้ เขาก็ได้มีความสุขในชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาแบบไม่ต้องถูกบังคับมากนัก เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข เขาพอใจเราซึ่งเป็นแพทย์ก็น่าจะพอใจกับเขาด้วย ถ้าจะให้ลดน้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์ทางการแพทย์เป๊ะ แล้วเขาไม่มีความสุขก็ไม่น่าจะใช่วิธีที่เหมาะสม

เรื่องผู้ป่วยเบาหวานก็คงเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่โรงพยาบาลต่างๆจะต้องให้บริการอยู่เป็นประจำ คนไข้เบาหวานที่ผมรู้จักเป็นคนแรกในชีวิตผมก็คือคุณย่าของผมเอง คุณย่าเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 40 ต้นๆจนเสียชีวิตตอนอายุ 75 ปี หลังจากที่ผมเป็นหมอได้ประมาณ 5-6 ปี แต่เป็นคนไข้ที่ผมไม่ได้ให้การรักษาเลยเพราะท่านมีหมอประจำตัวอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยและท่านดูแลตนเองดีมาก ควบคุมเบาหวานได้อย่างดีตลอด ตอนผมยังเด็กผมก็สงสัยเหมือนกันเวลาคุณอาทำกับข้าวให้คุณย่าต้องแยกต่างหากเพราะจะไม่ใส่น้ำตาล และถ้าคุณย่ารู้ว่ามีการใส่น้ำตาลท่านก็จะไม่ยอมทานและการคุมเบาหวานนอกจากท่านจะไม่ทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือมีรสหวานแล้ว ท่านก็ต้องฉีดอินสุลินทุกวันโดยคนที่ฉีดก็คือคุณปู่ของผมเอง ท่านจะคอยดูแลการเก็บยาอย่างดี คอยดูแลการฉีดยาอย่างตรงเวลา แม้ท่านจะดื่มเหล้าบ้างแต่ก็ไม่เคยลืมเวลาที่จะต้องฉีดยาให้คุณย่าด้วยความรักความเป็นห่วง จนเป็นที่รู้กันทั่วในแวดวงบ้านใกล้เรือนเคียงและคุณปู่ดูแลคุณย่าจนวันสุดท้ายของชีวิตที่ท่านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กระจายไปที่ตับ(ไม่ทราบต้นตอที่แท้จริงแต่ผมวินิจฉัยเอาเองและผมได้บอกให้ญาติๆว่าไม่ควรจะต้องกู้ชีวิตหากท่านหยุดหายใจเพราะเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดทรมานแก่ท่านเพราะแพทย์เจ้าของไข้ได้บอกการพยากรณ์โรคแก่เราแล้ว) หลังจากคุณย่าสิ้นได้ประมาณ 1 ปีคุณปู่ก็เสียชีวิต ผมประมาณในใจว่าท่านตรอมใจจากการจากไปของคุณย่า แม้ลูกหลานจะดูแลใกล้ชิดอย่างไรก็ตามเนื่องจากท่านผูกพันกันมากนั่นเอง ผมจึงได้เรียนรู้ว่าถ้าจะควบคุมเบาหวานให้ดีต้องไม่กินอาหารที่มีน้ำตาลและกินตรงเวลา ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

           พอผมมาเป็นหมอที่รักษาคนไข้เบาหวาน สิ่งที่พบบ่อยๆก็คือคนไข้เบาหวานถูกสอนว่าอย่ากินข้าวเยอะเดี๋ยวเบาหวานจะขึ้นหรือให้อดอาหาร ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพอคนไข้กินข้าวน้อยหรืออดอาหารในขณะที่ต้องได้ยาลดน้ำตาลก็จะทำให้น้ำตาลลดลงจนต่ำและมีอาการหน้ามืดใจสั่นคนไข้ก็จะถูกสอนว่าให้กินน้ำหวาน พอกินน้ำหวานก็จะดีขึ้น จนฝังใจว่าเมื่อใจไม่ดีต้องกินน้ำหวาน พบว่าบางคนกินทุกวันเลย แต่พยายามอดข้าว พอไปตรวจน้ำตาลในเลือดก็พบว่าน้ำตาลสูง(จะไม่สูงได้อย่างไรก็กินน้ำหวานเกือบทุกวัน) ทั้งๆที่กินน้อยแล้ว หมอก็ให้ยาเพิ่มขึ้นอีกจะเอาระดับน้ำตาลลงให้ได้ คนไข้ก็ยิ่งใจสั่นกินน้ำหวานอีก วนเวียนกันไปอย่างนี้ และปัญหาที่พบอีกก็คือกินอาหารไม่ตรงเวลา บางคนกินยาเป็นชั่วโมงๆจึงจะกินข้าว ก็มีใจสั่น บางคนกินข้าวมากบางวัน น้อยบางวัน ไม่กินบางวัน บางคนกินยาเบาหวานหลังอาหาร(Metformin)จะเบื่ออาหารมาก กินข้าวไม่ได้ต้องไปกินน้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว ก็มีน้ำตาลสูง บางคนอดอาหารเกือบทุกอย่างจนดูเป็นการบำเพ็ญทุกริยามากกว่าชีวิตคนปกติ บางคนให้อดของหวานก็คิดว่าเป็นการอดขนมหวาน แต่ไม่ได้ห้ามผลไม้หวานๆหรือนมเปรี้ยว เพราะคิดว่าเปรี้ยวคงไม่เป็นไร บางคนอดหวานยังไงก็ไม่ได้เพราะอาชีพทำขนมขาย ต้องชิมขนมทุกวัน ไม่ชิมแล้วใครจะชิมให้ และก็ยังมีอีกสารพัดตัวอย่างเหล่านี้ หากแพทย์ไม่ได้คุยกับผู้ป่วยอย่างแท้จริงถึงชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ของคนไข้แล้วก็จะมาสนใจแค่ระดับน้ำตาลในเลือดและประสิทธิภาพของยาแค่นั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คนไข้ได้อย่างแท้จริง ยิ่งถ้าหมอต่อว่าคนไข้ คนไข้ก็จะไม่บอกความจริง กินหวานก็บอกว่าไม่กิน กินยาไม่ครบก็บอกว่ากินครบ (ที่พบว่าลืมบ่อยๆคือมื้อกลางวันหรือยาก่อนอาหาร) แพทย์ก็จะได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ปรับยาไปตามข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็เกิดผลให้เกิดน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไปได้ จากประสบการณ์ของผม ผมมักจะแนะนำคนไข้ว่าให้รับประทานอาหารตามปกติเพียงแต่ไม่ต้องใส่น้ำตาลลงไป กินให้อิ่มไม่ต้องอด ของหวานรวมทุกอย่างที่มีรสหวานหรือใส่น้ำตาล กินให้ตรงมื้อตรงเวลาทุกวันและพยายามกินให้ได้ปริมาณเท่าๆกันทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามมักจะได้ผล สรุปคือผมแนะให้กินถูกชนิด ถูกปริมาณและถูกเวลา ครับ ไม่ต้องอดอาหารแต่ให้อดของที่มีรสหวานหรือมีน้ำตาลเพราะเราไม่ได้กำลังลดความอ้วนหรือบำเพ็ญทุกริยา แต่ก็พบว่ามีคนไข้หลายคนที่จะเป็นจะตายขอเถอะหมอขอตามใจปาก ชาตินี้อดหวานไม่ได้ ส่วนใหญ่คนไข้จะไม่พูดอย่างนี้โดยตรง ถ้าไม่ได้สนิทกันจริงแต่จะแสดงออกโดยการกระทำแล้วเกิดผลแทรกซ้อนจากน้ำตาลต่ำหรือสูงมาหาเรา มีคุณป้าอยู่คนหนึ่งแกอายุ 75 ปีแล้ว มีปัญหาคุมน้ำตาลไม่ได้ มานอนโรงพยาบาลหลายรอบ ตอนหลังลูกชายที่ดูแลอยู่คุมเข้มเรื่องของหวาน ปรากฎว่าคุณป้าแกประท้วงโดยการไม่กินอาหารเลย ก็ช็อคมา 2-3 รอบ จนมาเจอผมเราก็เปิดใจคุยกันทั้งตัวคุณป้า ลูกชาย ลูกสาว จึงได้ข้อมูลว่าคุณป้าขาดของหวานไม่ได้เพราะชอบมากมาตั้งแต่เป็นสาวแล้ว ถ้าห้ามกินป้าก็จะไม่กินอะไรเลย ผมก็เลยมาทำการเจรจากันกับคุณป้าว่าจะกินได้แค่ไหน ตกลงปริมาณกันให้ชัดเรียกว่าพบกันคนละครึ่งทาง พอรู้ปริมาณที่กินหวานชัด เราก็ค่อยๆปรับยาตามระดับน้ำตาลในเลือด พอคุยจบวันรุ่งขึ้นคุณป้าหน้าตาสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เหมือนได้อิสระในชีวิตกลับคืนมา หลังจากปรับระดับน้ำตาลในเลือดกันอยู่ 4-5 วันก็เหลือประมาณ 150 มก.% ผมก็ให้กลับบ้าน ก็พอคุมได้ประมาณ 140-160 และหลังจากนั้นประมาณเกือบ 5 เดือนแล้วคุณป้าก็ไม่ได้มาเป็นคนไข้ในอีกเลยและก็มารับยา 2 เดือนครั้ง ผมก็คิดว่ากับคนวัยขนาดนี้ เขาก็ได้มีความสุขในชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาแบบไม่ต้องถูกบังคับมากนัก เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข เขาพอใจเราซึ่งเป็นแพทย์ก็น่าจะพอใจกับเขาด้วย ถ้าจะให้ลดน้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์ทางการแพทย์เป๊ะ แล้วเขาไม่มีความสุขก็ไม่น่าจะใช่วิธีที่เหมาะสม คนไข้ทำนองนี้มีอีกหลายตัวอย่างหากมีเวลาก็จะทะยอยเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ ผิดถูกอย่างไรหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรก็ร่วมแสดงมาได้ ยินดีรับฟังครับ

 

หมายเลขบันทึก: 4215เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2005 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท