จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๑. สมดุลระหว่างความง่ายกับความยาก


 

          หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย ทำให้ผมคิดถึงครูเพื่อศิษย์    เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงการเรียนรู้ของเด็ก ในสภาพของห้องเรียนหรือโรงเรียน   หรือเขียนแบบคำนึงถึงสภาพจริงที่นักเรียนต้องประสบ   ไม่ใช่เขียนแนะวิธีจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กแบบลอยๆ

          หลังจากอ่านบทแรกในตัวอย่างหนังสือที่เขาอนุญาตให้ ดาวน์โหลด มาอ่าน ผมก็ยอมเสียเงินซื้อหนังสือเล่มนี้มาไว้ใน Kindle ของผม สำหรับอ่านเพื่อเอาประเด็นสำคัญมาฝากเพื่อนครูเพื่อศิษย์

          ความรู้ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่ มันช่วยให้เราแก้ความเข้าใจผิดเก่าๆ ที่ยึดถือกันมานาน เช่นความรู้เรื่องการคิดของมนุษย์   เดิมเราเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อคิด   นี่คือความเข้าใจผิด จริงๆ แล้วมนุษย์เกิดมาพร้อมกับ "กลไกประหยัดการคิด"   คือถ้าไม่จำเป็นจริงๆ มนุษย์จะไม่คิด   เพราะหากมัวคิดก่อนทำในหลายเรื่อง มนุษย์ก็จะไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนบัดนี้ คงจะสูญพันธุ์ไปต้ังแต่สมัยโบราณ เพราะหนีสัตว์ร้ายหรือศัตรูไม่ทัน เนื่องจากมัวคิดอยู่

          ความจริงเกี่ยวกับการคิด ๓ ประการ ที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อเดิม ได้แก่

               ๑.   การคิดทำได้ช้า
               ๒.   การคิดนั้นยาก ต้องใช้ความพยายามมาก
               ๓.   ผลของการคิดนั้นไม่แน่ว่าจะถูกต้อง 

 

          แม้มนุษย์จะมีธรรมชาติชอบคิด หรือมีความขี้สงสัย (curious)  แต่ก็ต้องมีธรรมชาติประหยัดการคิด เป็นธรรมชาติคู่กันด้วย   เมื่อไรที่การคิดนั้นเผชิญโจทย์ที่ยากเกิน   ความฉลาดจะทำให้มนุษย์หลีกเลี่ยงการคิด หรือรู้สึกไม่สนุกที่จะคิด

          นี่คือเคล็ดลับสำหรับครูเพื่อศิษย์ สำหรับออกแบบการเรียนรู้ หรือตั้งโจทย์ ให้พอดี ระหว่างความยากหรือท้าทาย กับความง่ายพอสมควรที่นักเรียนจะทำได้สำเร็จและเกิดปิติ ความภูมิใจที่ทำได้สำเร็จ

          มนุษย์จะคิด หากโจทย์นั้นง่ายพอสมควรที่จะคิดได้สำเร็จ   ความสำเร็จคือรางวัลทางใจ เป็นแรงจูงใจที่จะคิดโจทย์ต่อไป   ครูจะต้องใช้จิตวิทยาข้อนี้ต่อศิษย์อยู่ตลอดเวลา   ซึ่งจะทำให้ศิษย์เกิดความสนุกในการเรียน   ถ้าโจทย์ยากเกินไป ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์จะกระตุ้นให้เขาเลิกคิด หนีการคิด หลีกหนีการเรียน

          แต่ถ้าโจทย์ง่ายเกินไป ก็ไม่ท้าทาย น่าเบื่อ หรือไม่เกิดการเรียนรู้ 

          ความพอดีอยู่ที่ไหน นี่คือข้อเรียนรู้ที่ครูเพื่อศิษย์จะต้องฝึกฝนตนเอง 

          ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องคือ “ความจำสำหรับใช้งาน” (working memory)  กับความจำระยะยาว (longterm memory)

          ในชีวิตประจำวัน มนุษย์เราใช้ความจำมากกว่าใช้การคิด   นี่คือธรรมชาติของมนุษย์  และที่สำคัญ ความจำ ๒ ชนิดนี้ช่วยการคิด ช่วยให้การคิดง่ายขึ้น   คนเราใช้ความจำช่วยการคิด  หรือบางครั้งแทนการคิดด้วยซ้ำไป  

          วิธีการฝึกคิดคือการฝึกแก้โจทย์   ศิลปะของการเป็นครูเพื่อศิษย์คือการทำให้นักเรียนเรียนสนุก และมีโจทย์ที่น่าสนใจ   สิ่งที่ช่วยกระตุ้นความสนุกและน่าสนใจคือความสำเร็จ หรือการที่สมองได้รับรางวัลจากความสำเร็จในการแก้โจทย์หรือตอบโจทย์   ดังนั้นโจทย์ต้องมีความยากง่ายพอดีกับความจำสำหรับใช้งาน และความจำระยะยาวของเด็ก

          การฝึกคิด โดยการแก้โจทย์ ต้องมีโจทย์เป็นชุด จากง่ายไปยาก เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด ได้คำตอบที่ถูกต้อง ได้รับรางวัลคือปิติจากการตอบถูกหรือมีวิธีคิดที่ดี กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปอีก   นอกจากศิษย์จะได้ “ความรู้” เก็บไว้ใน “ความจำระยะยาว” แล้ว   ศิษย์จะได้ฝึกฝนการคิด และได้นิสัยการเป็นนักคิด ติดตัวไปภายหน้า

          ครูเพื่อศิษย์คือ “ครูนักให้รางวัล” โดยที่ศิษย์ไม่รู้ตัว ว่าตนได้รับรางวัล   เพราะรางวัลนั้นคือความรู้สึกพอใจ มีความสุข ความภูมิใจ ที่เกิดขึ้นในสมอง โดยการหลั่งสารเคมี โดปามีน (dopamine) ออกมาจากสมอง   กระตุ้นความรู้สึกพึงพอใจ หรือความสุข

          นอกจาก dopamine จะหลั่งจากความรู้สึกว่ามีความสำเร็จแล้ว ยังหลั่งเมื่อได้รับคำชม   ดังนั้น ครูเพื่อศิษย์ต้องเป็นนักให้คำชม หรือให้กำลังใจ   ไม่ใช่นักตำหนิติเตียนหรือดุด่าว่ากล่าว   ซึ่งเป็นกระบวนการสนองอารมณ์รุนแรงของตนเอง  

          ครูเพื่อศิษย์คือนักออกแบบโจทย์การเรียนรู้ ให้ศิษย์ฝึกคิดจากง่ายไปหายาก   ให้ศิษย์ได้มีความสุข ความพึงพอใจ จากการทำโจทย์สำเร็จ   จากง่ายไปหายาก   ทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัยของการเป็นคนช่างคิด หรือคิดเป็น คิดอย่างมีวิจารณญาณ   ค่อยๆ พัฒนา 21st Century Skills

          นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ครูเพื่อศิษย์จะต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต   เรียนรู้โดยการรวมตัวกันในกลุ่มครูเพื่อศิษย์ในโรงเรียนเดียวกัน   ลปรร. วิธีการและประสบการณ์  เรียนรู้โดยการ ลปรร. กับเพื่อนครูที่อยู่ต่างโรงเรียน  และที่อยู่ห่างไกลกันคนละภาค  ผ่านบันทึกใน Gotoknow

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ม.ค. ๕๔
   
           
                 

หมายเลขบันทึก: 421280เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้รับความรู้อีกแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะ แล้วจะบอกเล่าต่อทั้งครูและนักเรียนเป็นการต่อยอดความรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ..เป็นคนชอบเรียนลัด..เพื่อ short cut ..ประหยัดเวลา..จนบางทีถูกคนรอบข้างต่อว่า .."รู้จักคิดเองบ้างสิ" ..^0^..

               ภาพน่ารักจาก internet

ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณา "อ่านเพื่อเอาประเด็นสำคัญมาฝากเพื่อนครูเพื่อศิษย์" อยู่เสมอค่ะ

จะขอนำประเด็นสำคัญที่อาจารย์ตั้งไว้ไปทดลองปฏิบัติต่อนะคะ โดยเฉพาะที่อาจารย์ชี้แนะมาในเรื่องของ 21st Century Skills และ การรวมตัวกันเรียนรู้

ตอนนี้ที่เพลินพัฒนากำลังเริ่มทดลองทำตามแนวทางของ Lesson Study และได้ทำการบันทึกไว้บ้างแล้วค่ะ ที่http://gotoknow.org/blog/krumaimai/421283 และ http://gotoknow.org/blog/krumaimai/421332

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท