พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ศึกษาข้อกฎหมาย สำหรับคนตาม ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551


ข้อกฎหมาย และขั้นตอนปฏิบัติการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม. 23 พรบ.สัญชาติ (ฉบับ 4) 2551

ศึกษาข้อกฎหมาย สำหรับคนตาม ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

          พรุ่งนี้มีภารกิจสำคัญ จะต้องพา น้องชายคนหนึ่งไปยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 แต่ด้วยความรู้อันน้อยนิดก็เลยต้องซักซ้อมข้อกฎหมายก่อนไป เพื่อเสริมความมั่นใจด้วยว่าพรุ่งนี้จะไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนได้รู้เรื่อง ไม่ต้องทำให้ฝันของน้องเขาสลาย

          มาเริ่มกันที่...

          ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 วางหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับสัญชาติไทยตามบทกฎหมายนี้ ได้แก่บุคคล 3 ประเภท คือ

          1. ผู้เกิดในประเทศไทยและเคยมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (ปว 337)

          2. ผู้ที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเพราะประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (ปว 337)

          3. บุตรของบุคคลตามข้อ 1. และ 2. ที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งก็คือบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยตาม ม. 7ทวิ วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

          >>>โดยบุคคลทั้ง 3 ประเภทต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันจริง คือ มีเอกสารทางทะเบียนราษฏร  และต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์แก่สังคม

          >>>ทั้งนี้การยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรานี้นั้น ให้ยื่นได้ที่สำนักทะเบียนราษฎรท้องที่ที่ผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน

         

อย่างไรก็ตามนอกจากศึกษา ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งวางหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยแล้ว ยังต้องศึกษาถึงวิธีการยื่นคำร้อง  ขั้นตอนปฏิบัติ และเอกสารซึ่งผู้ยื่นคำร้องจะต้องเตรียมไป เป็นส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้ สามารถค้นคว้าได้จาก

 

          หนังสือสั่งการ มท 0309.1/ว 1587 และหนังสือสั่งการ มท 0309.1/ว 9489

          และจากหนังสือสั่งการทั้งสองฉบับดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ผู้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม. 23 นั้น ต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้เพื่อประกอบการยื่นคำร้องกับทางสำนักทะเบียนท้องที่ที่ผู้ยื่นคำร้องมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน

          “พยานเอกสาร”

1.เอกสารการทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) ทะเบียนประวัติ (ทร.38ก) เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ยื่นคำร้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยจริง

2. หลักฐานที่แสดงว่าผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยจริง เช่น สูติบัตร หนังสือรับรอง หนังสือรับรองการเกิด ทร. 20/1 หนังสือรับรองสถานที่เกิด

3. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว ของผู้ขอ จำนวน 2 รูป

4. หลักฐานอื่น ๆ เช่น บัตรประจำตัวของผู้ยื่นคำร้อง หลักฐานทางการศึกษา (ใช้เป็นหลักฐานได้ว่าเป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยจริง) หลักฐานการทำคุณประโยชน์ซึ่งออกโดยหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่รัฐรับรอง

>>>โดยการยื่นคำขอนี้หากผู้ยื่นคำร้อง เป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์จะต้องให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่นคำขอแทน

“พยานบุคคล”

การยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตาม ม. 23 นี้ จะต้องมีพยานบุคคลที่จะรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้อง โดยหนังสือสั่งการได้กำหนดลักษณะหรือคุณสมบัติของพยาน คือ จะต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ  คือ

1)    เป็นผู้มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน

2)    มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งในท้องที่ที่ผู้นั้นอาศัยอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

3)    เป็นบุคคลที่ชุมชนให้การยอมรับนับถือ

4)    มีความประพฤติดี

5)    รู้จักคุ้นเคยกับผู้ขอลงรายการสัญชาติไทย

ทั้งนี้อาจจะเป็นพระภิกษุ เกษตรกร ก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ขอให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถนำข้าราชการหรือพนักงานรัฐมาเป็นพยานรับรอง

         

โดยคร่าว ๆ เพียงเท่านี้ก่อน พรุ่งนี้จะมาเล่าต่อถึงการยื่นคำร้อง และ เรื่องราวของน้องชายคนนี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 421002เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 01:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท