ราชทัณฑ์ กับการพัฒนาองค์ความรู้ และบุคลากรที่พึงประสงค์


ราชทัณฑ์ กับการพัฒนาองค์ความรู้ และบุคลากรที่พึงประสงค์

นัทธี จิตสว่าง

งานราชทัณฑ์ เป็นงานป้องกันสังคมให้ปลอดภัย โดยการควบคุมผู้ต้องขังไว้เพื่อให้การอบรมแก้ไขให้กลับเข้าสู่สังคมได้ โดยไม่กลับไปกระทำผิดขึ้นอีก งานราชทัณฑ์ จึงเป็นงานที่มีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนในการแก้ไขคน อีกทั้งต้องอาศัยประสบการณ์ในการควบคุมผู้ต้องขัง ดังนั้น งานราชทัณฑ์จึงเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติงาน

เมื่องานราชทัณฑ์เป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องอาศัยความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานดังกล่าวนี้ การปฏิบัติงานราชทัณฑ์ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้หากผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รับการฝึกฝนและศึกษางานราชทัณฑ์มาอย่างถ่องแท้ ในทางกลับกัน หากมีการพัฒนาองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์ให้เป็นปึกแผ่น และมีกรอบแบบแผนความประพฤติในการปฏิบัติงานก็จะทำให้งานราชทัณฑ์มีลักษณะของความเป็นวิชาชีพที่เด่นชัด

ปัญหาอยู่ที่ว่า องค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์ คืออะไร และมีแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรราชทัณฑ์ไปในทิศทางใด ด้วยวิธีการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษหน้า เพื่อที่จะทำให้งานราชทัณฑ์ตอบสนองต่อสังคม และสอดประสานในกระบวนการยุติธรรม ในการที่จะอำนวยความยุติธรรมในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์

งานราชทัณฑ์เป็นระบบในการจัดการกับผู้ที่กระทำผิดกฏเกณฑ์ของสังคม ทุกสังคมจึงต้องมีระบบ การราชทัณฑ์ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในการที่จะจัดการกับผู้กระทำผิด งานราชทัณฑ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เป็นงานในการบริหารโทษ เป็นการจัดการลงโทษหรือปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ภายหลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองหาความจริงและตัดสินโทษแล้ว

งานราชทัณฑ์ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายหรือการตีความกฎหมายโดยตรง แต่งานราชทัณฑ์เป็นงานในการประยุกต์ใข้กฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคคล ทั้งผู้กระทำผิด ญาติ ตลอดจนผู้เสียหายและสังคม โดยเฉพาะผู้กระทำผิดที่จะต้องปกครองดูแลและอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดเหล่านี้ให้กลับเข้าสู่สังคมโดยไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

งานราชทัณฑ์จึงเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปกครองควบคุมดูแลผู้ต้องโทษที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จนมักจะมีการกล่าวอยู่เสมอว่า นักการราชทัณฑ์ที่ดีต้องเป็นนักวิชาการที่ไม่ทิ้งหลักปฏิบัติ และเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ทิ้งหลักวิชาการ

ที่ว่างานราชทัณฑ์ เป็นงานที่ต้องใช้ ศิลป์ เพราะเป็นการทำงานกับมนุษย์ จึงต้องใช้ประสบการณ์ ความชำนาญงาน ในการที่จะปกครองดูแลผู้ต้องขังซึ่งมีพฤติกรรมหลากหลาย จึงต้องใช้ทักษะ ไหวพริบปฏิภาณ ในการที่จะแยกแยะผู้ต้องขังและที่จะควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ การทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้นับเป็นงานที่เหนื่อยยากและเสี่ยงภัย ซึ่งจะไม่สามารถอาศัยแต่ตำราเพียงประการเดียว

แต่งานราชทัณฑ์เป็นงานที่ต้องใช้ ศาสตร์ เช่นเดียวกับ ศิลป์ จะต้องอาศัยหลักวิชาการ และหลักปฏิบัติที่จะเป็นเครื่องชี้นำทางในการทำงาน กล่าวคือ จะต้องอาศัยหลักอาชญาวิทยา ทัณฑวิทยา หลักนิติศาสตร์ หลักการบริหาร และหลักรัฐศาสตร์ในการปกครองดูแลผู้ต้องขัง

แต่ศาสตร์ที่ถือว่าเป็นองค์ความรู้หลักของงานราชทัณฑ์ก็คือ หลักทัณฑวิทยา เพราะหลักทัณฑวิทยาเป็นหลักทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุการกระทำผิดและการจัดการกับคนที่ทำผิดทั้งในส่วนของวัตถุประสงค์และวิธีการในการจัดการกับคนที่ทำผิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยต่างๆ หลักทัณฑวิทยาเป็นสหวิทยาการที่นำเอาศาสตร์จากแขนงต่างๆ มาอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับการกระทำผิด และการจัดการกับคนที่ทำผิด นอกจากนี้ หลักทัณฑวิทยายังเป็นการศึกษากึ่งวิชาชีพที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ และเป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ที่มุ่งนำความรู้ทางสังคมศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ

ดังนั้น การพัฒนางานราชทัณฑ์ในศตวรรษหน้า จึงต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ ในงานราชทัณฑ์ให้มีความเป็นปึกแผ่น และองค์ความรู้ที่ว่านี้ก็คือ หลักทัณฑวิทยา จะต้องมีการพัฒนาศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับหลักทัณฑวิทยา ที่มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและหลักการของต่างประเทศที่เป็นสากล ผนวกกับหลักและองค์ความรู้เกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ของไทย การที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านการราชทัณฑ์ของไทยขึ้นได้ ต้องมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ของไทยอย่างลึกซึ้ง อันจะนำมาซึ่ง หลัก และความรู้ที่จะมาเป็นกรอบและแกนนำในการปฏิบัติงานราชทัณฑ์ได้ ซึ่งหมายความว่า จะต้องทำให้การปฏิบัติงานราชทัณฑ์ของไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์และวิจัยตรวจสอบมาแล้วอย่างเป็นระบบ ผสมผสานกับหลักการราชทัณฑ์สากลจะนำมาซึ่ง หลักทัณฑวิทยา ที่เป็นรากฐานของงานราชทัณฑ์ไทย ที่ผู้ที่จะปฏิบัติงานด้านนี้จะต้องผ่านการศึกษาอย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาบุคลากรในงานราชทัณฑ์และงานในกระบวนการยุติธรรม

การพัฒนาบุคลากรในงานราชทัณฑ์นั้น ไม่อาจดำเนินไปอย่างเอกเทศ แยกส่วนจากการพัฒนาบุคลากรในงานกระบวนการยุติธรรมอื่นๆได้ คนราชทัณฑ์จำเป็นต้องมีความรู้และเข้าใจในภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมทั้ง กระบวนการ นอกเหนือจากงานในวิชาชีพของตนเอง ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรในงานราชทัณฑ์ จึงต้องแยกพิจารณา 2 ส่วน

การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

บุคลากรในงานราชทัณฑ์เช่นเดียวกับบุคลากรในงานราชการอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจในงานของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นภาพรวม เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายและงานกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ดังน้น การพัฒนาบุคลากรของแผนงานในกระบวนการยุติธรรมต้องพัฒนาในภาพรวม อาจดำเนินการได้โดย

1)    จัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับกลางและระดับสูง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในงานกระบวนการยุติธรรม โดยการจัดตั้งสถาบันอาชญาวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับหรือ สถาบันพัฒนาข้าราชการในระดับกระทรวง (ยุติธรรม) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการฝึกอบรมดังกล่าวโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักสูตรจะต้องเป็นหลักสูตรในลักษณะของสหวิทยาการที่ไม่เอนเอียงไปเชิงนิติศาสตร์ หรือสังคมวิทยา การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมกลางในระดับกระทรวงจะทำหน้าที่ในการวางหลักสูตรในภาพรวมได้ดีกว่าการจัดฝึกอบรมโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นฝ่ายดำเนินการ เพราะจะเกิดการเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น หลักสูตรจะเน้นไปเชิงนิติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือหน่วยงานต้นสังกัดจะได้รับการพิจารณาในเรื่องจำนวนผู้เข้ารับการอบรมมากเป็นพิเศษ

ใน ขณะเดียวกัน การจัดการฝึกอบรมโดยหน่วยงานกลางในระดับกระทรวงจะทำได้เหมาะสมกว่ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะเน้นไปในเขิงวิชาการ ในขณะที่ผู้รับการอบรมควรได้รับการเน้นย้ำในการอบรมเชิงประยุกต์ทางปฏิบัติมากกว่าทางทฤษฎี

การจัดอบรมบุคลากรร่วมกันจะทำให้เข้าใจ แก้ปัญหาร่วมกัน และแก้ปัญหาในระบบมากกว่าส่วนย่อย การศึกษาปัญหาในลักษณะเป็นระบบเปิดปัญหา พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางการบริหาร

2)    การจัดให้บุคลากรในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจในงานของกระบวนการยุติธรรมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมในลักษณะเช่นนี้แล้ว แต่ยังไม่กว้างขวาง

3)    การจัดให้มีการสอดแทรกวิชาอาชญาวิทยาหรืองานกระบวนการยุติธรรมในการฝึกอบรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้บุคลากรหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับทราบปัญหาและการทำงานของหน่วยงานอื่น ตลอดจนได้เห็นภาพรวมของการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนปัญหาอาชญากรรมของประเทศ

4)    จัดให้มีการวิจัยพื้นฐานในปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ในงานกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ในงานกระบวนการยุติธรรมของไทยให้สูงขึ้น เพราะทฤษฎีและองค์ความรู้ในงานของกระบวนการยุติธรรมของไทยทุกวันนี้ต้องอาศัยทฤษฎีและองค์ความรู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมการศึกษาวิจัยปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ในงานกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

การพัฒนาบุคลากรในงานราขทัณฑ์

ในส่วนขององค์ความรู้และการพัฒนาในเนื้องานของราชทัณฑ์เอง ต้องมีการพัฒนาที่มุ่งไปสู่ความเป็นวิชาชีพมากกว่าการเป็นข้าราชการ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ คือ

1)    จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์คือ หลักทัณฑวิทยาอย่างจริงจัง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

2)    จะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านทัณฑวิทยาให้กับคนในองค์กรอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งองค์กร คนในองค์กรมีความรู้ใกล้เคียงกัน และเป็นองค์กรที่มีการเรียนรู้ การถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และเป็นองค์กรที่คนในองค์กรจะมีกรอบแนวคิดในการมองปัญหาที่คล้ายคลึงกัน พื้นฐานความรู้ในงานเท่าเทียมกัน ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างประสานกลมกลืนกันในลักษณะขององค์กรวิชาชีพที่คนในองค์กรจะมีพื้นฐานความรู้และแนวคิดในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกัน

โดยนัยนี้ การฝึกอบรมและการให้การศึกษาด้านทัณฑวิทยาจึงเป้นสิ่งจำเป็นสำหรับข้าราชการแรกเข้าทำงาน และข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ข้าราชการทุกคนที่ปฏิบัติงานในสายหลักหรือสายวิชาชีพราชทัณฑ์ จะต้องผ่านการศึกษาหรือการฝึกอบรมด้านทัณฑวิทยามาอย่างโชกโชน จนสามารถเข้าใจและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ โดยในด้านการศึกษาจะต้องประสานกับมหาวิทยาลัยในการเปิดการเรียนการสอนด้านทัณฑวิทยาให้มากขึ้น ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทั้งมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยปิด และในด้านการฝึกอบรมจะต้องเปิดหลักสูตรระยะยาวสำหรับการผลิตบุคลากรในสายวิชาชีพราชทัณฑ์โดยเฉพาะนั่นคือ การเปิดหลักสูตรนักทัณฑวิทยาให้แพร่หลายและทั่วถึง ทั้งนี้จะต้องให้การฝึกอบรมเป็นเงื่อนไขของการแต่งตั้งด้วย และโดยเหตุที่ข้าราชการส่วนใหญ่ (ในสายวิชาชีพ) จะมีพื้นฐานการศึกษาที่เท่าเทียมกัน มีการผ่านการอบรมในหลักสูตรเดียวกัน และมีมาตรฐานการคัดเลือกในการดำรงตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การแต่งตั้งเลื่อนระดับของข้าราชการในสายวิชาชีพจะเป็นระบบมากขึ้นเช่นเดียวกับในสายวิชาชีพอื่นๆ

3)    จะต้องมีการปรับเปลี่ยนสายงานตำแหน่งต่างๆ ในกรมราชทัณฑ์ให้เหลือสายงานหลักที่สำคัญ เพียง 3 กลุ่ม คือ สายงานนักทัณฑวิทยา สายงานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และสายงานวิชาขีพอื่นๆ โดยสายงานนักทัณฑวิทยาจะเป็นสายงานหลัก ผู้ที่จะเข้าสู่สายงานนี้ได้ต้องมีพื้นฐานความรู้ในระดับปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์ และต่อไปในอนาคตจะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรนักทัณฑวิทยาอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง สายงานนักทัณฑวิทยาจะครอบคลุมผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมงานทัณฑปฏิบัติ และงานด้านการอบรมแก้ไขผู้ต้องขัง ตลอดจนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในชุมชน เพราะถือว่างานเหล่านี้เกี่ยวข้องและต้องใช้ความรู้ด้านทัณฑวิทยาทั้งสิ้น

4)    จะต้องมีการวางกรอบจรรยาบรรณของผู้ประกอบอาชีพในงานราชทัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ที่ประกอบวิชาชีพนี้ นอกเหนือไปจากการรักษาวินัยและจรรยาบรรณของข้าราชการโดยเคร่งครัด

จรรยาบรรณดังกล่าวเป็นจรรยาบรรณในวิชาชีพ ซึ่งเป็นกรอบและเครื่องเตือนสติในการปฏิบัติงานการเป็นวิชาชีพ มีองค์ความรู้ มีจรรยาบรรณคอยควบคุม ผิดจะไม่ทำ มีการคุมกันเอง แต่ความเป็นข้าราชการถึงผิดก็อาจทำเพื่อความก้าวหน้า นอกจากนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพราชทัณฑ์ จะต้องมีค่านิยมที่สอดคล้องกับวิชาชีพ เช่น ค่านิยมในความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์สามารถแก้ไขได้ เป็นต้น ค่านิยมเหล่านี้จะต้องมีการพัฒนาขึ้นมา ดังเช่น ค่านิยมของวิชาชีพอื่นๆ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์

5)    จะต้องผลักดันให้มีการรวมกลุ่มกันของสมาคมราชทัณฑ์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย และแปซิฟิค ในการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของงานราชทัณฑ์ขึ้นโดยมีสมาคมรับรองมาตรฐานความเป็นวิชาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้สถาบันอาชญาวิทยาของออสเตรเลียได้มีบทบาทอย่างสูง ในการผลักดันให้มีการรับรองมาตรฐานและพัฒนา ความเป็นวิชาชีพของงานราชทัณฑ์ขึ้น โดยเฉพาะการที่ประเทศต่างๆในเอเชียและแปซิฟิค ได้จัดให้มีการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ในเอเชียและแปซิฟิคขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ มีการหยิบยกประเด็นการบริหารงานราชทัณฑ์ในเรื่องต่างๆ มาพิจารณา เปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาขึ้นมาเป็นสมาคมวิชาชีพราชทัณฑ์ในอนาคต

ศตวรรษหน้าจึงเป็นศตวรรษของการท้าทายในการที่จะพัฒนางานราชทัณฑ์ไปสู่ความเป็นวิชาชีพดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานในการพัฒนาไปสู่จุดหมายของความเป็นวิชาชีพในงานราชทัณฑ์ได้ แต่การเดินทางไกลต้องเริ่มต้นจากก้าวแรกเสมอ ขอให้เดินทางในทิศทางที่ถูกต้องและแน่วแน่ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะทำให้งานราชทัณฑ์มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และได้รับการยอมรับในสังคมโดยทั่วไปในฐานะของ นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีองค์ความรู้ ทักษะ จรรยาบรรณ ค่านิยม และสมาคมวิชาชีพเฉพาะของตนเอง

สรุป

การพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในงานราชทัณฑ์ในศตวรรษหน้า จะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์ ให้งานราชทัณฑ์มีหลักมีทฤษฎี เป็นเครื่องชี้นำทาง จากนั้น ในการพัฒนาบุคลากรจะต้องเน้นการพัฒนาบุคลากรราชทัณฑ์ให้ไปสู่ความเป็นวิชาชีพ ซึ่งจะมีองค์ความรู้ มีกรอบจรรยาบรรณ มีการฝึกอบรม ถ่ายทอดไปยังบุคลากรทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรราชทัณฑ์เป็น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงผู้กระทำผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างสมภาคภูมิ

 

บรรณานุกรม

นัทธี จิตสว่าง (2541) หลักทัณฑวิทยา, กรุงเทพ: บพิธการพิมพ์

Dean Champion (1990) Corrections in the United States, New Jersey: Prentice – Hall Inc.

นัทธี จิตสว่าง (2540) การพัฒนางานราชทัณฑ์ไปสู่ความเป็นวิชาชีพ, วารสารราชทัณฑ์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 2

หมายเลขบันทึก: 420489เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2011 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท