อนาคตครัวไทยสู่ครัวโลกดับวูบ


ปัญหาการตรวจพบสารตกค้างและศัตรูกักกันในพืชผักของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายที่อียู เป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว

 

‘อียู’ สั่งระงับนำเข้าพืชไทย

เป็นข่าวพาดหัวอยู่ในขณะนี้

    สาเหตุของเรื่อง คือ สินค้าเหล่านี้ถูกตรวจพบปัญหาศัตรูพืชกักกันปะปนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา และทางอียูได้ออกมาตรการควบคุมดูแลเรื่องนี้มาตลอด อาทิ กำหนดให้ผักชี ใบกะเพรา และใบโหระพา ต้องถูกตรวจเข้มที่ระดับ 20% เพื่อตรวจหาสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง และให้ตรวจหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อ Salmonella 10% โดยให้เพิ่มใบสะระแหน่เข้าไปด้วย และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา รวมถึงการคงมาตรการตรวจเข้มสารตกค้างในผักไทยในระดับ 50% ณ ด่านนำเข้าของประเทศสมาชิกอียู จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ถั่วฝักยาวผักในตระกูลมะเขือ และผักในตระกูลกะหล่ำเป็นต้น

       ปัญหาการตรวจพบสารตกค้างและศัตรูกักกันในพืชผักของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายที่อียู เป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบปัญหาหลายครั้ง ทำให้อียูต้องใช้มาตรการสุ่มตรวจสินค้า 50% ของสินค้าที่ส่งออกไปทั้งหมด จึงทำให้โอกาสของสินค้าที่ส่งออกไปแล้วซึ่งมีปัญหาจะถูกตรวจพบเกิดขึ้นได้ง่าย   การสั่งระงับการส่งออกสินค้าพืชและสมุนไพร โดยเฉพาะในส่วนของกะเพรา โหระพา มะเขือ ไปยังอียู ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ได้มีผลกระทบแค่เกษตรกรผู้เพาะปลูกที่มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในอียูจำนวนหลายร้อยแห่งจะได้รับผลกระทบไปด้วย จากการขาดแคลนวัตถุดิบในการทำอาหารเนื่องจากร้านค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสั่งนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยเป็นหลัก

     สำหรับสินค้าพืชผักและสมุนไพรไทย ที่ถูกตรวจพบศัตรูพืชกักกันปะปนอยู่มีหลายชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา มะเขือมะระ สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังอียูคิดเป็นวงเงินสูงถึง700 ล้านบาทต่อปี

        สำหรับ พืชผัก 5 ชนิดที่ สหภาพยุโรป (อียู)สั่งระงับ ได้แก่ กะเพรา-โหระพา, ผักชีฝรั่ง, มะระ, มะเขือเปราะ, พริกหยวก ที่พบสารปนเปื้อนถึง 70% ซึ่งทางอียู ประกาศว่า หากทางประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น ก็จะระงับพืชผักในส่วนที่เหลือด้วยเช่นกัน

        จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารพบว่า ก่อนหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะเปิดแถลงข่าวระงับการส่งออกพืชและผัก 16 ชนิดไปอียูในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ไปเจรจากับนายอีริค พูเดเลต ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค หรือดีจี-แซนโก้ (DG-SANCO) ในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำอียูว่า อียูเตรียมที่จะออกมาตรการระงับการนำเข้าพืชผักไทย สืบเนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารตกค้าง และศัตรูพืชปนเปื้อน

          ทั้งนี้เหตุผลสำคัญในการระงับพืชดังกล่าว เนื่องจากทางไทยมีปัญหาด้าน ฟู้ดเซฟตี้ Food safety เป็นอย่างมาก หลังจากมีการตรวจพบสารปนเปื้อนและสารตกค้าง ปัญหาเรื่องศัตรูพืช อีกทั้งยังพบประวัติไม่ดีในการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการบางรายอีกด้วย

        แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้กรมวิชาการเกษตรตัดสินใจประกาศระงับการส่งออกสินค้าพืชผักไปอียูดังกล่าว นอกจากจะเป็นการซื้อใจทางอียูแล้ว อาจมาจากสาเหตุความกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการตรวจพบปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีเท่านั้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีประวัติดีก็ถูกตรวจพบปัญหาเรื่องศัตรูพืชเช่นกัน

        กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมออกประกาศห้ามผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าพืชผักและสมุนไพร ไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู)เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2554 เป็นต้นไป เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้จะทำให้ในที่สุดแล้วอียูอาจออกกฎหมายสั่งห้ามนำเข้าพืชผักสมุนไพรจากไทยโดยเด็ดขาด

          หากไทยถูกระงับการส่งออก จะทำให้เกิดความเสียหายทางการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่จะขาดแคลนวัตถุดิบในการทำอาหาร  และประเทศคู่ค้าอื่นอาจจะหยิบยกเรื่องนี้ไปใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มเติมอีก

          หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการจะฝ่าฝืนส่งสินค้าออกไปอีกไม่ได้ทั้งนี้ เนื่องจากตามขั้นตอนการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปต่างประเทศผู้ประกอบการจะต้องได้รับใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรก่อน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป กรมวิชาการเกษตรจะระงับการออกใบรับรองส่วนนี้ดังนั้น สินค้าที่ส่งออกไปหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้จะถือเป็นการลักลอบส่งออกทั้งหมด และจะถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย

          กรมวิชาการเกษตรจะเชิญตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชน มาหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการเพาะปลูกและส่งออกสินค้าเหล่านี้อีกครั้ง

      นางเสาวณีย์ บุญเปี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของกรมวิชาการเกษตร ที่จะระงับการส่งออกสินค้าทั้งหมดเพราะจะส่งผลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ สูญเสียรายได้จากการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารในต่างประเทศก็จะได้รับผลกระทบ ขาดวัตถุดิบในการปรุงอาหารไทย เนื่องจากวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่

         เกษตรกรและผู้ประกอบการควรนำหลักการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAPs) สำหรับพืช และหลักเกณฑ์วิธีที่ดีใน การผลิต (Good Manufacturing Practices : GMPs) ไปใช้ เพื่อให้รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงการปนเปื้อน รวมทั้งจัดการต้นตอสำคัญที่ทำให้เชื้อปนเปื้อน ได้แก่ การปลูก  ดินและน้ำที่ใช้ปลูก สถานที่เก็บ  

       ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ประกอบการบางราย ลักลอบส่งสินค้าที่ไม่มีคุณภาพออกไปจำหน่ายทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมก็เคยมีการตรวจพบว่าผู้ประกอบการบางรายแอบอ้างใช้ชื่อสมาคมส่งสินค้าออกไปจำหน่ายด้วย

        สาเหตุทั้งหมด โดยสรุปคือ จากการขาดความเข้าใจในระบบการผลิตของเกษตรกรและความมักง่ายของผู้ประกอบการ .....ฮึๆอนาคตครัวไทยสู่ครัวโลกดับวูบ....

 

 

หมายเลขบันทึก: 420225เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม ครับ

ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อสังคม ต่อผู้บริโภค เป็นสิ่งที่มีความหมายมาก ในระบบการผลิต

 

เป็นข้ออ้างทางอียูหรือเปล่าครับ กีดกันทางการค้า ดูจากผักที่ระบุเช่น กะเพรา-โหระพา, ผักชีฝรั่ง, มะระ, มะเขือเปราะ, พริกหยวก อย่างเช่น กระเพรา-โหระพา ผักชีฝรั่ง กินสดๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวสารเคมี ผมปลูกผักแต่ไม่เคยใช้สารเคมีกับผัก 3 อย่างนี้เลยก็งอกงามดี

ไม่แน่ใจว่าสารเคมีที่ตรวจพบมากถึง 70% นั้นมาจากไหนผู้ประกอบการหรือเกษตรกร

ทำไมเราไม่ทำผักให้มีคุณค่าประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ล่ะ เดี๋ยวเขาก็สั่งผักเราเองล่ะ และลดการนำเข้าสารเคมีที่ใช้ทำปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ใช้พืชผักภูมิปัญหาไทยนี่จะดีกว่า

แต่อย่างไรก็สู้ต่อไปครับ ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ถ้าผ่านไปได้ก็จะแข็งแกร่งขึ้นอีก

ฮุๆ....บันทึกของพี่ช่วยเตือนสติ....คนที่กำลังคิดมักง่ายค่ะ...เหมือนสุภาษิตเค้าบอกว่า ....ซื่อกินไม่หมด คดกินน๊านนาน..เอ้ย ไม่นานค่ะ..อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท