เบี้ยกุดชุม


จากแท๊กซี่ สู่ข้าวหอมมะลิ และแหลมผีบ้า อรหันต์ชาวนา ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งข่าวดังของยโสธร นั่นคือเบี้ยกุดชุม ขอขอบคุณนิตยสารผู้จัดการ ที่มีข้อมูล จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อครับ

จากนิตยสารผู้จัดการ (มิถุนายน 2543) และ http://www.gotomanager.com/new/details.aspx?id=698

"เบี้ยกุดชุม"

               "เบี้ยกุดชุม" ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นในกระแส"เศรษฐกิจพอเพียง" แต่เป็นผลพวงความพยายามใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพึ่งตนเองมายาวนาน

               ชุมชนตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ปัจจุบันกลายเป็นกรณีศึกษาธุรกิจชุมชน เพื่อการพึ่งตนเอง ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะใน 5 หมู่บ้านนำร่องการใช้ "เบี้ยกุดชุม" เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนในชุมชน โดยมีองค์กร ที่ชื่อ "ชมรมรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มเกษตรกร ทำนา นาโส่" เป็นแกนกลางของการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ และมีพระสงฆ์เป็นแกนกลางการรวมตัว พร้อมกับองค์กรพัฒนาเอกชนจากใน และต่างประเทศ เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้การจัดการสมัยใหม่

รากเหง้าชาวนาโส่

               มั่น สามสี ผู้ใหญ่บ้านโสกขุมปูน และกรรมการบริหาร ชมรมรักษ์ธรรมชาติฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การรวมตัวของ ชาวบ้าน เพื่อทำธุรกิจแบบพึ่งตนเอง มีจุดเริ่มเมื่อ 20 กว่าปี ก่อน ครั้งตำบลโสกขุมปูนยังไม่มีถนนตัดจากอำเภอเข้าหมู่บ้าน มีเพียงทางเกวียน ซึ่งรถยนต์เข้าออกไม่ได้ ภายในตำบลมีร้านขายสินค้าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่ 3 ร้าน ของคนไทย เชื้อสายจีน ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ร้านเจ๊ก" ซึ่งผูกขาดการขายข้าวองเครื่องใช้ทุกอย่าง

               ชาวบ้านจึงเริ่มคิดหารือ ที่จะรวมตัวกันทำร้านค้าของตนเองขึ้นมา จนปลายปี 2523 จึงได้มีการร่วมก่อตั้ง "ร้านค้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่" โดยมีพระครูสุภาจารวัฒน์ (หลวงพ่อสีหา สุภาจาโร) เจ้าอาวาสวัดบ้านท่าลาด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เป็นที่ปรึกษา เริ่มต้นจากการระดมหุ้นจากสมาชิก 57 คน ได้ 3,800 บาท ใช้จักรยานปั่นเข้าไปในเมืองซื้อน้ำปลา ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟันมาขายเหมือนร้านเถ้าแก่ โดยกั้นห้องเล็กๆ ใต้ถุนบ้านเป็นร้านค้า พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาดูแลร้าน ทำบัญชี และผลัดเวียนกันเข้าเวรขายสินค้าวันละ 2 คน ได้ตอบแทน ในช่วงสิ้นปีเป็นรางวัล คือ ผงซักฟอกกล่องละ 5-7 บาท คน ละกล่อง หรือบางปีก็ได้สบู่ก้อนละ 5 บาท คนละก้อน เป็นต้น

               ร้านค้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ไม่มุ่งกำไรแต่เน้นการขายองราคาต่ำกว่าร้านเจ๊ก เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ร้านค้ากองทุนฯ จึงยืนยงอยู่ได้มาจนปัจจุบัน สมาชิกมีทั้งหมด 200 กว่าราย จำนวน 1.3 หมื่นหุ้นเป็นเงิน 3 แสนบาท มีคณะกรรมการบริหาร 15 คน และฝ่ายตรวจสอบจำนวน 3 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 2 ปี ผลการดำเนินงานปี 2542 ได้กำไรทั้งหมด 1.3 แสนบาท

               คณะกรรมการบริหารมีส่วนแบ่งปันผลกำไรของแต่ละปี โดยปี 2542 หักเป็นค่าตอบแทน 45% ของกำไร นอกจากนี้ยังได้หักกำไรไว้เข้าเป็นส่วนสวัสดิการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น ซ่อมถนน วางท่อน้ำประปา เป็นต้น ร้านสหกรณ์จึงได้รับความ นิยมใช้บริการจากชาวบ้านจำนวนมาก ทำให้มีเงินหมุนเวียนในรอบปีประมาณ 2.3 ล้านบาท สินค้าของร้านค้า แบ่งเป็นสินค้าทั่วไป ปัจจัยพื้นฐานการผลิตทางด้านการเกษตร และน้ำมัน ที่ขายผ่านปั๊มหลอด เน้นขายราคาถูกกว่าท้องตลาด ไม่หวังกำไรมาก

ชมรมหมอยาพื้นบ้าน

               ความสำเร็จของร้านค้าชุมชน นำไปสู่การพึ่งตัวเองในด้านอื่นๆ เริ่มจาก ที่ชาวตำบลนาโส่ สามารถตั้ง "ชมรมหมอยาพื้นบ้าน และผู้สนใจสมุนไพรอำเภอกุดชุม" ได้ในปี 2526 จากความคิดริเริ่มของชาวบ้าน ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค ด้วยการหันมาพึ่งยาสมุนไพรพื้นบ้าน ที่ยังมีการใช้สืบทอดกันมานาน

               การตั้งชมรมหมอยาฯ มีคณะแพทย์พยาบาลประจำโรงพยาบาลอำเภอกุดชุม และพระครูสุภาจารวัฒน์ ที่สนใจเรื่องสมุนไพร และพยายามจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรในหมู่บ้านมา ระยะหนึ่งแล้วเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตี พร้อมกับได้ชักชวน โครงการ สมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง องค์กรพัฒนาเอกชนในสังกัดมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งทำงานรณรงค์การใช้สมุนไพรผ่านสื่อต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เข้าร่วมรณรงค์อีกแรง

               จาก ที่ช่วงแรกมีสมาชิก และผู้ร่วมก่อตั้ง 7-8 คน มีทั้งกลุ่มข้าราชการครู ข้าราชการ เกษตร และกลุ่มแกนนำชาวบ้าน กลายเป็นเพิ่มขึ้น 30 คน และภายใน 1 ปี ก็ขยายสมาชิกในอำเภอกุดชุมได้เกือบ 100 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200 คน

               วิจิตร บุญสูง ประธานกรรมการบริหารชมรมฯ กล่าว ว่า ชมรมหมอยาพื้นบ้านอำเภอกุดชุม เป็นการรวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับหมอยาพื้นบ้าน และตำรับยาสมุนไพร ขึ้นเป็น ครั้งแรกของจังหวัดยโสธร และเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปสื่อ ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการส่งเสริม ฝึกอบรมความรู้ และแลก เปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิก และชาวบ้าน จัดหาหมอพื้นบ้าน ผู้เชี่ยวชาญในท้อง ที่เป็นที่รู้จักมาให้ความรู้แก่สมาชิกถึงลักษณะ ตัวยาสมุนไพร, สรรพคุณ, การจัดเก็บ, การต้ม, การอบ พร้อมวิธีการรักษาตามแผนโบราณ รวมทั้งมีกิจกรรม "ขึ้นภูเขา" เป็น คณะ เพื่อศึกษาสมุนไพรโดยตรง และเก็บตัวอย่างสมุนไพร ที่หายากมาขยายพันธุ์

               ชมรมฯ ซึ่งตั้งอยู่ ที่โรงพยาบาลกุดชุม ทำหน้าที่เป็น ศูนย์รวมพันธุ์สมุนไพร หรือ ที่เรียกว่า "สวนกลาง" ขยายพันธุ์สมุนไพร กระจายสู่ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ จึงเกิดการใช้ในชุมชน อย่างจริงจัง จนกลายเป็นสวนสมุนไพรสู่ครัวเรือนได้สำเร็จ และมีการตั้งชมรมหมอยาสมุนไพรขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดยโสธร

               ในปี 2533 ชาวบ้านตำบลนาโส่ ได้พัฒนายกระดับชมรม หมอยาสมุนไพรขึ้นเป็น "ศูนย์สุขภาพวัดท่าลาด" ตั้งอยู่ ที่วัดบ้านท่าลาด ตำบลนาโส่ จัดเป็นองค์กรศูนย์กลาง เพื่อซื้อ และจัดจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพร รวมทั้งแปรรูปสมุนไพรเป็นตำรับ ยาบางชนิดเป็นตัวอย่าง จ่ายแจก และจำหน่ายบ้างสู่ชุมชนอื่นๆ ควบคู่กับการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์

               การบริหารศูนย์สุขภาพวัดท่าลาด จัดเป็นองค์กรรูปแบบ ธุรกิจชุมชน ระดมหุ้นจากสมาชิกบริหารองค์กรในรูปของคณะ กรรมการบริหาร และคณะกรรมการดำเนินงาน ที่เลือกตั้งจาก สมาชิก ซึ่งมีประมาณ 155 คน มีการจัดสรรกำไรสู่หหสมาชิกทุกปี

               ในปี 2539 ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 11 หมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ได้รับงบประมาณจากสถาบันแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จำนวนปีละ 5 แสนบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาวัตถุดิบ สมุนไพรวัดท่าลาด" และยังดำเนินถึงปัจจุบัน โดยมีหลวงพ่อสีหา เป็นที่ปรึกษา และเป็นศูนย์กลางของสมาชิก

               มีกิจกรรมการรักษาสุขภาพตามวิธีพื้นบ้าน ทั้งการอบ การประคบ การนวด และอบไอน้ำสมุนไพรทุกวันพระ ภายใน ศูนย์ฯ ยังมีร้านจำหน่ายยาสมุนไพร ตู้อบสมุนไพร พันธุ์พืชสมุนไพรทั้งสำหรับจำหน่าย และแจก

               "จากความสำเร็จของชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ ในพื้นที่ตำบลนาโส่ ได้ขยายออกไปยังหมู่บ้านต่างๆ ทั้งใน และนอกเขต อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร อาจเป็นจังหวัดเดียว ที่มีเรื่องสมุนไพรเข้าไปมากมาย และมีสถานบริการเกี่ยวกับสมุนไพรหลายแห่ง ในจังหวัดยโสธรมีโรงพยาบาลระดับอำเภอ 8 แห่ง มีการใช้สมุนไพรในการรักษาถึง 5 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลจังหวัด" ชุจิรา มิทราวงศ์ อดีตพยาบาลโรงพยาบาลกุดชุม ผู้ มีส่วนก่อตั้งชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ กล่าวในตอนหนึ่งในการเป็นวิทยากร ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2542 หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้างานพัฒนากุดชุม" ณ โรงละครเล็ก โรงละครแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 419953เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดมากครับ  บ้านผมเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท