การตั้งคำถามผู้เขียน: เทคนิคการสอนอ่านวรรณคดีเพื่อความเข้าใจ


การสอนวรรณคดี

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

          ครูภาษาไทยทุกท่านอาจจะคุ้นชินกับการเรียนการสอนวรรณคดีไทยที่เราเคยมีประสบการณ์มาแต่ครั้งยังเป็นนิสิตหรือนักศึกษาฝึกหัดครู  จะเห็นได้ว่า  ในอดีตปรมาจารย์ด้านวรรณคดีท่านจะทำหน้าที่หลักของท่านคือ  แปลความและอธิบายความให้พวกเราเข้าใจ ผมเพิ่งเข้าใจว่าการศึกษาคือ   “การถ่ายทอด” ก็คราวนี้  แต่สิ่งที่พิเศษว่าคือ ในฐานะที่เป็นครูภาษาไทยรุ่นใหม่  เรามิได้ถ่ายทอดเฉพาะแต่ความรู้ไปสู่ผู้เรียนเท่านั้น แต่เรายังถ่ายทอดหรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องจริงๆ ก็คือ “สืบทอด” วิธีการสอนจากครูของเราไปสู่ผู้เรียนยุคใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในขณะที่ความรู้ทางวรรณคดีเจริญก้าวหน้า แต่วิธีการสอนวรรณคดีกับตีบตันลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะเราขาดครูภาษาไทยที่เข้าใจทฤษฎีการสอนนั่นเอง 

 

          การสร้างความเข้าใจวรรณคดี (literature understanding) ในปัจจุบัน อาจจะมิใช่เรื่องการตีความของครูหรือของผู้เรียนแต่ละคนอีกต่อไป นักจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของภาษาและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ อาทิ Vygotsky (1978) เสนอทฤษฎีว่า  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม ดังนั้นคำอธิบายหรือความคิดเห็นของบุคคลอื่นๆ ที่เสนอออกมา  จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นจัดกิจกรรมการอ่านโดยให้ผู้เรียนอภิปรายกลุ่มจึงมีความจำเป็น เพราะทำให้สมาชิกของกลุ่มได้ช่วยกันสร้างความหมาย (constructing meaning) จากสิ่งที่อ่าน  ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (interchange of ideas) ของกันและกัน และจากการที่ผู้เรียนได้สะท้อนความคิดของตนเองและเพื่อนก็จะทำให้เกิดความเข้าใจในมิติต่างๆ ในสิ่งที่อ่านลุ่มลึกยิ่งขึ้น 

 

          การตั้งคำถามผู้เขียน  (questioning the author)  เป็นเทคนิคการสอนที่มุ่งเน้นการสร้าง     ความเข้าใจวรรณคดีด้วยการอภิปรายกลุ่ม หรือใช้กระบวนการทางสังคมของผู้เรียนเพื่อสร้าง       ความเข้าใจสิ่งที่อ่าน วิธีการนี้พัฒนาขึ้นจากการวิจัยของ McKeown, Beck และ Sandora (1996) หลักการของเทคนิคการสอนนี้คือ ครูใช้คำถามเป็นเครื่องมือกระตุ้นความคิดและความสนใจของผู้เรียนเพื่อให้พิจารณาเหตุการณ์ ประเด็น หรือถ้อยคำที่ปรากฏในวรรณคดีอย่างพินิจพิเคราะห์  โดยจะใช้คำถามอย่างต่อเนื่องขณะที่ผู้เรียนอ่านวรรณคดี  และมีช่วงเวลาสำหรับใช้คำถามเพื่อนำผู้เรียนให้อภิปรายร่วมกับเพื่อนในกลุ่มตามประสบการณ์ของตนเอง คำถามกระตุ้นในช่วงแรก เช่น  อะไรคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการพยายามจะกล่าวถึงในที่นี้   ในเหตุการณ์ตอนนี้ ผู้เขียนต้องการจะสื่อหรือบอกอะไรมายังเรา   หรือ  อะไรคือสาร (massage) หรือนัยสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อมายังผู้อ่าน นอกจากคำถามที่กระตุ้นให้คิดแล้ว ครูยังจะต้องใช้คำถามเพื่อเชื่อมโยงประเด็นหรือเหตุการณ์ในตอนที่ได้อ่านไปแล้วกับสิ่งที่อ่านในปัจจุบัน เช่น  เหตุการณ์หรือประเด็นในตอนที่อ่านนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงหรือบอกไว้ก่อนหน้านี้อย่างไร  ความคิดหรือสารของทั้งสองเหตุการณ์นี้สอดคล้องกันอย่างไร  และอีกลักษณะหนึ่งคือ การใช้คำถามเพื่อให้เกิดการขยายขอบเขตของการคิดเช่น เหตุใดผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนั้น  ผู้เขียนใช้ถ้อยคำหรือประโยคนี้น่าจะเป็นเพราะอะไร สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงหรือเสนอมายังเรานั้นสอดคล้อง เหมือนหรือต่างจากประสบการณ์เดิมที่นักเรียนทราบมาอย่างไรบ้าง  การใช้คำถามดังที่กล่าวมาในรูปแบบการสนทนาเพื่อนำการอภิปรายของนักเรียน จะทำให้ผู้เรียนแต่ละคนค่อยๆ ดึงความรู้และประสบการณ์เดิมของตนเองออกมาเพื่อตีความ ผลก็คือจะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างเป็นความรู้ใหม่ของตนเองขึ้นมาจากการอ่าน  และเพื่อเสริมเทคนิคการตั้งคำถามผู้อ่านให้มีประสิทธิภาพขึ้น ได้มีการเสนอเทคนิคย่อยอันได้แก่กลวิธีการนำสนทนาของครูอีก 6 เทคนิค ซึ่งใช้ขณะที่ผู้เรียนกำลังอภิปรายแสดงความคิดเห็นในกลุ่มหรือในชั้นเรียน  ดังนี้  (Gunning, 2003: 309-310)

 

                   1.  การคำเครื่องหมายหรือเน้นประเด็นสำคัญ (marking) เป็นการสนทนาที่ครูกล่าวเน้นประเด็นหรือความคิดของผู้เรียนที่ครูเห็นว่าสำคัญ เพื่อนำไปสู่การตีความที่ลึกซึ้งขึ้น เช่น     ในการสอนวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน  นารายณ์ปราบนนทก  ครูอาจกล่าวว่า  “นักเรียนกำลังจะบอกครูว่า  พฤติกรรมของเหล่าเทวดาเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่หายนะในเรื่องใช่หรือไม่”  หรือครูอาจจะกล่าวชื่นชมความคิดของผู้เรียนว่า  “น่าสนใจ” หรือ “มีประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปคือ.....”     เป็นต้น 

 

                   2.  การย้อนกลับ (turning back)  หมายถึงวิธีการสนทนาที่ครูจะย้อนกลับไปสู่ตัวบทวรรณคดีหรือเรื่องที่อ่าน เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนประเด็นหรือพิจารณาเหตุการณ์อีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ครูสามารถที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้เรียนสำหรับการอภิปราย ในกรณีที่ผู้เรียนอาจเข้าใจผิด         อภิปรายหลงประเด็นหรือยังเข้าใจไม่ชัดเจน เช่น  ในการสอนรามเกียรติ์  ครูอาจกล่าวว่า  “การที่นักเรียนคิดว่า พระอิศวรเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายนั้น ก็เพราะประทานนิ้วเพชรให้นนทก ก็อาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่นักเรียนก็ต้องกลับไปดูเหตุผลตามที่เขียนในวรรณคดีด้วย ว่าเป็นเพราะเหตุใด            และสมเหตุสมผลหรือไม่” เป็นต้น

 

                   3.  การเปลี่ยนความหมายใหม่ (revoicing) เป็นเทคนิคการสนทนาที่ครูช่วยนักเรียนให้แสดงความคิดออกมาอย่างชัดเจนหรือเข้าใจง่ายขึ้น ด้วยการช่วยอธิบายหรือขยายความความคิดของนักเรียนที่พูดออกมาให้กระจ่างชัดขึ้น  เช่น  จากเรื่องรามเกียรติ์  ครูอาจกล่าวว่า “ที่นักเรียนพยายามจะบอกครูก็คือว่า การกระทำของพระนารายณ์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมอย่างนั้นใช่หรือไม่      เพราะอะไร ลองขยายความประเด็นนี้อีกให้ชัดเจนอีกสักนิด” หรือ “ที่นักเรียนพูดมา ครูเข้าใจว่าหมายถึงเทวดาจะต้องมาขอโทษนนทกจึงจะยุติปัญหาได้”

 

                   4.  การแสดงเป็นแบบอย่าง (modeling)  เทคนิคนี้จะใช้เมื่อผู้เรียนต้องอ่านเนื้อความตอนที่อาจจะตีความได้ยาก  ครูจะต้องแสดงวิธีการคิด โดยกล่าวให้ผู้เรียนทราบว่า ตนเองมีวิธีการอย่างไรเมื่อพบกับข้อความ/เหตุการณ์/หรือประเด็นในเรื่อง ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยหรือตีความหมายได้หลายนัย ตัวอย่างเช่น  “ตอนที่นนทกชมนารายณ์แปลงว่า  โฉมประหลาดล้ำเทพอัปสรนั้น สำหรับครู   คำว่า ‘ประหลาด’  มีความหมายต่างจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นครูก็ดูต่อไปว่า ‘ประหลาดล้ำ’ น่าจะหมายถึงสวยอย่างแตกต่างหรือสวยเกินไปกว่านางฟ้าองค์อื่นๆ ที่นนทกเคยเห็นมา” เป็นต้น

 

                   5.  การอธิบายเพิ่มเติม (annotating)  ที่จริงแล้วหมายถึงการทำบันทึกหมายเหตุ หรือการที่ครูบอก/อธิบายข้อมูลที่นักเรียนอาจจะยังมิได้คิดถึงในขณะที่กำลังอภิปราย ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่อง โดยเฉพาะสารที่ผู้เขียนต้องการส่งผ่านมายังผู้อ่าน เช่น    “ในประเด็นเรื่องที่ว่าพระอิศวรให้พรโดยปราศจากการไตร่ตรองนั้น นักเรียนจะต้องไม่ลืมว่าในการปกครอง บางครั้งการให้รางวัลแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก  นกทกเองก็บอกไม่ใช่หรือว่า เขาทำงานมาถึง 10 ล้านปี สำหรับครู  10 ล้านปี ก็เป็นระยะเวลาที่พิสูจน์ความจริงใจและความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน  ดังนั้นการให้นิ้วเพชรหรืออำนาจ      แก่นนทก ก็ถือเป็นวิธีการปกครองของผู้นำเช่นกัน”  เป็นต้น

 

                   6.  การสรุปความ (recapping)  หมายถึง การสนทนากับผู้เรียนเพื่อสรุปและเน้นย้ำประเด็นความคิดที่ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มเสนอมาอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น  “นักเรียนคงเข้าใจแล้วว่า  ผู้เขียนรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก ต้องการจะใช้ตอนนี้สื่อถึงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมิได้หมายถึงแต่เฉพาะนนทก ซึ่งเป็นยักษ์รับใช้ตำแหน่งเล็กๆ  เท่านั้น แต่หมายถึงตัวละครที่มีอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหล่าเทวดา พระอิศวรและพระนารายณ์ ต่างก็ใช้อำนาจกันอย่างผิดพลาด        และนำไปสู่การจองเวรจองกรรมอันไม่สิ้นสุด”  เป็นต้น   

 

          การสอนอ่านวรรณคดีเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจวรรณคดีนั้น ครูภาษาไทยจะต้องประกาศอิสรภาพในการสอนของตนเอง  จากพฤติกรรมการสอนที่เรียกว่า แบบแผนการสอนวรรณคดีแบบประเพณี         อันประกอบด้วย “อ่านให้ฟัง   บอกให้จด แปลให้รู้   ท่องจนจำ”  ไปสู่การใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้สังคม (social constructivist) ที่เน้นให้ผู้เรียน  “อ่านกันเอง  ตั้งคำถาม  แปลตามความเข้าใจและใช้ประสบการณ์” โดยมีครูเป็นผู้เน้น ทบทวน ขยายความ เป็นแบบอย่าง เพิ่มข้อมูลและสรุปความอย่างใกล้ชิด  หากดำเนินตามดังที่ว่านี้  การสอนวรรณคดีของครูภาษาไทยคนเก่าในยุคใหม่ ก็จะมีสีสันและ   มีชีวิตชีวา  และที่สุดแล้ว  วรรณคดีจะไม่ใช่สิ่งที่ตายไปแล้วมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่จะเป็นชีวิตที่ตื่นขึ้นมา  “ทักทาย”  วิญญาณของเราอีกครั้ง   

______________________________

รายการอ้างอิง

Gunning, T. G.  2003.  Creating literacy instruction for all children.  4th ed. Boston: Pearson.      

หมายเลขบันทึก: 419514เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท