รูปแบบการสอนมโนทัศน์


การสอน Concept

 รูปแบบการสอนการบรรลุซึ่งมโนทัศน์ของ Gunter

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

         Gunter  และคณะ (1995: 97-112)  ได้เสนอรูปแบบการสอนมโนทัศน์  (concept  attainment  model)  โดยอธิบายหลักการว่า  นักเรียนสามารถพัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์จากกระบวนการอุปนัย  (inductive   process)  กล่าวคือ  นักเรียนต้องเปรียบเทียบลักษณะของตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์และตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์  แล้วสรุปลักษณะที่สำคัญ  จากนั้นจึงสร้างคำนิยามของมโนทัศน์ของตนเอง  

 

            รูปแบบการสอนของ  Gunter  และคณะ  มี    9  ขั้นตอน  สรุปได้ดังนี้  (ขั้นที่ 1-3  ต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้)

 

                        1.  เลือกและระบุคำนิยามของมโนทัศน์  (select  and  define  a  concept)

 

                                    ครูเลือกมโนทัศน์ที่ค่อนข้างมีกฎเกณฑ์หรือมีลักษณะที่ชัดเจน  เช่น  ชนิดของคำ  (parts  of  spheech)  ชนิดของประโยค  (ประโยคสามัญ ประโยครวมและประโยคซ้อน)  การจำแนกประเภททางชีววิทยา  หรือรูปร่างในวิชาเรขาคณิต เป็นต้น   และเป็นมโนทัศน์ที่นักเรียนสามารถเชื่อมโยงไปยังมโนทัศน์ที่อยู่เหนือกว่า  (superordinate  concepts)  และ       มโนทัศน์ที่อยู่ต่ำกว่า  (subordinate  concepts) ได้ง่าย  เช่น  มโนทัศน์  “แอปเปิ้ล”   มีมโนทัศน์ที่อยู่เหนือกว่าคือมโนทัศน์  “ผลไม้” และมโนทัศน์ที่อยู่ต่ำกว่าคือมโนทัศน์  “แอปเปิ้ลแมคอินทอช” 

 

                                    เมื่อเลือกมโนทัศน์แล้ว  ครูต้องระบุคำนิยามของมโนทัศน์ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย  ไม่ควรใช้คำนิยามในหนังสือเรียนโดยตรง  อีกทั้งต้องพิจารณาความเหมาะสมกับระดับความรู้ของนักเรียนและจุดประสงค์การเรียนรู้ด้วย เพราะหลักการสำคัญของรูปแบบการสอนคือ  ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างคำนิยามของมโนทัศน์ของตนเองอย่างอิสระ  ซึ่งนักเรียนจะได้ปฏิบัติในกิจกรรมขั้นที่ 6  การกำหนดในขั้นนี้จึงเป็นแต่เพียงแนวทางเพื่อกำหนดสิ่งที่เป็นตัวอย่างและไม่เป็นตัวอย่างของมโนทัศน์

 

                        2.  เลือกลักษณะ  (select  the  attributes)

 

                                    ครูเลือกลักษณะสำคัญที่ใช้สำหรับนิยามมโนทัศน์  เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการจำแนก  ยกตัวอย่างเช่น  มโนทัศน์  “สี่เหลี่ยม”  ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ  ได้แก่        (1)  เป็นรูปทรงเรขาคณิต  (2)  มี  4  ด้าน   (3)  ประกอบไปด้วยมุม  และ  (4)  ด้านตรงข้ามขนานและมีความยาวเท่ากัน 

 

                        3.  พัฒนาตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์และตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์    (develop  positive  and  negative   examples)

 

                                    ครูจะต้องหาตัวอย่างให้มากที่สุด   ทั้งตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์  ซึ่งต้องเป็นตัวอย่างที่มีลักษณะสำคัญทั้งหมดของมโนทัศน์   และตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีลักษณะสำคัญของมโนทัศน์ไม่ครบถ้วน   นอกจากนี้ครูต้องศึกษาวิธีการเสนอตัวอย่างซึ่งมีหลายวิธี   เช่น  กรณีเสนอตัวอย่างของมโนทัศน์  “สี่เหลี่ยมผืนผ้า”  ครูสามารถวาดภาพบนกระดานดำ  ตัดกระดาษให้เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หรือฉายภาพตัวอย่างโดยใช้เครื่องภาพฉายข้ามศีรษะ  (overhead  projector) ก็ได้  แต่ทุกตัวอย่างต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญคือ          มี 4  ด้านและ  4  มุมฉาก  ด้านแต่ละด้านขนานกับด้านตรงข้ามและยาวเท่ากัน  หรือในกรณี    การสอนมโนทัศน์เรื่อง  “Romanticism”  ในชั้นเรียนวรรณกรรม  ครูควรนำรูปภาพจากสมัยดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์  และภาพจากยุคอื่นๆ  จะใช้เป็นตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์  เป็นต้น

 

                        4.  แนะนำกระบวนการแก่นักเรียน  (introduce  the  process  to  the   students)

 

                                    ครูอธิบายเป้าหมายของรูปแบบการสอนให้นักเรียนทราบว่า  เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ  นักเรียนจะต้องระบุคำนิยามและลักษณะที่สำคัญของมโนทัศน์ด้วยถ้อยคำของนักเรียนเอง  ทั้งนี้ครูอาจแจ้งให้นักเรียนทราบว่ากิจกรรมต่อไปนี้คือเกม  ซึ่งนักเรียนจะต้องเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับกระทั่งจบกิจกรรม  จากนั้นครูขีดเส้นแบ่งกระดานดำออกเป็น  2  ส่วน  กำหนดให้ส่วนหนึ่งใช้สำหรับเขียนบันทึกรายการของลักษณะที่ปรากฏในตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์   และอีกส่วนหนึ่งใช้สำหรับบันทึกรายการของลักษณะที่ปรากฏในตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์   จากนั้นครูแจ้งให้นักเรียนทราบว่า  นักเรียนมีหน้าที่วิเคราะห์หาลักษณะสำคัญจากตัวอย่างที่     ครูเสนอ  

 

                        5.  นำเสนอตัวอย่างและจดรายการลักษณะ  (present  the  examples  and  list  the  attributes)

 

                                    ครูเริ่มเสนอตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์   โดยกล่าวว่า  “ตัวอย่างนี้เป็น      มโนทัศน์”  แล้วให้นักเรียนบอกลักษณะทุกประการที่สังเกตได้  ครูเขียนลักษณะที่นักเรียนทุกคนบอกบนกระดานในด้านที่ใช้สำหรับจดรายการลักษณะตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์    จากนั้นครูเสนอตัวอย่างทั้งที่เป็นมโนทัศน์และไม่เป็นมโนทัศน์หลายๆ  ตัวอย่างพร้อมกับระบุให้นักเรียนทราบว่า ตัวอย่างที่จะเสนอในลำดับต่อไป  เป็นมโนทัศน์หรือไม่เป็นมโนทัศน์   โดยหลังการเสนอตัวอย่างแต่ละครั้ง  ให้นักเรียนอภิปรายในประเด็นลักษณะที่ปรากฏในตัวอย่างใหม่ที่เป็นมโนทัศน์  พร้อมกับเน้นให้นักเรียนเห็นถึงลักษณะร่วมที่ปรากฏในตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์แต่ไม่ปรากฏในตัวอย่างที่ไม่เป็นมโนทัศน์  เพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างตัวอย่างทั้ง  2  ประเภท  

 

                        6.  พัฒนาและสร้างนิยามของมโนทัศน์  (develop  a  concept  definition)

 

                                    เมื่อเสนอตัวอย่างครบถ้วนแล้ว  ครูให้นักเรียนเขียนคำนิยามมโนทัศน์จากรายการลักษณะของตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์ที่บันทึกไว้บนกระดานดำ  ซึ่งจะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญอย่างครบถ้วน  ในขั้นนี้  ครูต้องสนับสนุนให้นักเรียนพยายามเขียนนิยามโดยใช้ถ้อยคำของตนเอง  จากนั้นครูหรือเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ   ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมแล้วอธิบายนิยาม  ที่ถูกต้อง  ซึ่งนักเรียนจะได้พัฒนาทักษะการตั้งนิยาม  อย่างไรก็ตาม  ครูต้องตระหนักว่า  วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการให้นักเรียนนิยามมโนทัศน์  คือ  การเปิดโอกาสให้นักเรียนพัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ด้วยตนเอง

 

                        7.  ให้ตัวอย่างเพิ่มเติม  (give  additional  examples)

 

                                    เมื่อนักเรียนนิยามมโนทัศน์แล้ว  ครูจะต้องเสนอตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์และไม่เป็นมโนทัศน์เพิ่มเติม    แล้วให้นักเรียนระบุว่า  ตัวอย่างที่ครูเสนอนั้นเป็นมโนทัศน์หรือ    ไม่เป็นมโนทัศน์  เพื่อทดสอบว่านักเรียนเข้าใจมโนทัศน์หรือไม่  หากนักเรียนยังไม่สามารถระบุตัวอย่างเหล่านี้ได้  ครูควรเสนอตัวอย่างในขั้นที่  5  ซ้ำอีกครั้ง  เพื่อให้นักเรียนทบทวนลักษณะของตัวอย่างทั้งสองประเภท

 

                        8.  อภิปรายกระบวนการกับเพื่อนในชั้น  (discuss  the  process  with  the  class)

 

                                    ขั้นนี้  นักเรียนต้องอภิปรายกับเพื่อนในชั้นเกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเองว่ามีวิธีการจำแนกหรือจัดหมวดหมู่ข้อมูลอย่างไร  ซึ่งนักเรียนจะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์กระบวนการที่ทำให้เข้าใจมโนทัศน์   นอกจากนี้  ในด้านมนุษยสัมพันธ์  นักเรียนยังได้ฝึกการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและรู้จักแก้ไขความคิดเห็นของตนเอง  จากนั้นครูให้นักเรียนอภิปรายประโยชน์ของการพัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์และการจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ  

 

                        9.  ประเมินผล  (evaluate)

 

                                    ครูให้นักเรียนยกตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์และไม่เป็นมโนทัศน์ และอธิบายให้ครูและเพื่อนฟังว่า  ตัวอย่างนั้นเป็นมโนทัศน์หรือไม่เป็นมโนทัศน์เพราะเหตุใด

หมายเลขบันทึก: 419132เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 01:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท