การสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


การออกแบบหน่วยการเรียนรู้

ขั้นตอนการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

 

          การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการจัดทำหลักสูตรอิงมาตรฐาน เพราะหน่วยการเรียนรู้จะมีรายละเอียดของจุดประสงค์  เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อหรือแหล่งเรียนรู้และการวัดและประเมินผล ซึ่งจะนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติในในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างแท้จริง ปรัชญาการศึกษาในยุคที่ผ่านมานั้นมักจะเน้นการสอนเนื้อหาสาระ   ดังนั้นรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในยุคก่อนจึงมีลักษณะเป็นหลักสูตรอิงเนื้อหา การวัดประเมินผลในหลักสูตรรูปแบบนี้ก็เน้นที่การจดจำเนื้อหาให้ได้มากที่สุด และเกณฑ์การวัดประเมินผลก็กำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม การจัดทำหลักสูตรลักษณะนี้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เนื้อหาและการท่องจำ

          หลักสูตรแบบอิงมาตรฐานเน้นการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย   (standards-based unit) มีการกำหนดแก่นเรื่องของหน่วย  (theme)  ซึ่งเอื้อต่อการหลอมรวมเนื้อหาของศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ และกำหนดงานให้ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อฝึกฝนและเป็นร่องรอยสำหรับประเมินว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถถึงระดับที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือไม่  ดังนั้นมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายในแต่ละหน่วยการเรียนรู้อาจมีได้หลายมาตรฐาน และอาจมาจากหลากหลายสาขาวิชา และอาจมีทั้งมาตรฐานที่เป็นเนื้อหา มาตรฐานที่เน้นทักษะกระบวนการ  การจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยลักษณะนี้  เนื้อหาสาระ และกิจกรรมจึงเป็นเพียงหนทาง  ที่จะนำพาผู้เรียนไปถึงหลักชัย คือมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด   ผู้เรียนอาจบรรลุถึงมาตรฐานเดียวกันด้วยเนื้อหาและวิธีการที่แตกต่างกันได้ นักวิชาการ และนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า หลักสูตรลักษณะนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553: 15)

          การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในที่นี้จะได้ผสมผสานแนวคิดการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ของ วลัย พานิช  (2544), Wiggins และ McTighe (2006)  และ  Arends (2009)  ซึ่งสรุปขั้นตอนที่สำคัญได้ดังนี้ 

                             1)  กำหนดหัวเรื่อง (theme) หัวเรื่องในที่นี้จะต้องมีขอบเขตที่กว้างขวาง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงต่างๆ ได้  ครูสามารถกำหนดหัวเรื่องได้จากการวิเคราะห์     มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร  สาระการเรียนรู้  ทรัพยากรในท้องถิ่นหรือชุมชน  ประเด็นปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

                             2)  เลือรูปแบบการบูรณาการที่จะใช้  โดยอาจดำเนินการเลือกรายวิชาเป็นอันดับแรก แล้วจึงเลือกองค์ประกอบของปรัชญา (TCP) หรืออาจเลือกองค์ประกอบของปรัชญาก่อนแล้วจึงเลือกรายวิชาก็ได้  (TPC) 

                             3)  ทำแผนภาพหน่วยการเรียนรู้ (unit mapping) เพื่อแสดงภาพรวมและจุดเน้นของหน่วย  ซึ่งอาจอยู่ในรูปแผนผังมโนทัศน์  ที่ประกอบด้วยหัวเรื่องเป็นแกนกลาง จากนั้นจึงเชื่อมโยงปรัชญาหรือรายวิชาต่างๆ เข้ามาสัมพันธ์กับหัวเรื่อง พร้อมระบุกิจกรรมการเรียนรู้หรือประสบการณ์การเรียนรู้ในเบื้องต้น ซึ่งวิเคราะห์จากมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร หรืออาจจัดทำในรูปแบบของตารางวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายวิชาและองค์ประกอบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

                             4)  กำหนดวัตถุประสงค์ของหน่วยการเรียนรู้  วัตถุประสงค์ของหน่วย  การเรียนรู้มาจากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในสาระการเรียนรู้ต่างๆ ที่นำมาบูรณาการ  ตลอดจนจากการวิเคราะห์คุณลักษณะของผู้เรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแนวคิดของ Arends (1992) นั้น แบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ วัตถุประสงค์ทั่วไป (general objectives)  และวัตถุประสงค์เฉพาะ (specific objectives) ขั้นตอนในการกำหนดวัตถุประสงค์ของหน่วยการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนที่  Wiggins และ McTighe (1998) เรียกว่าการระบุผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (identify desired results)  ที่ผู้สอนจะต้องระบุถึงสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้/ทราบและสิ่งที่ผู้เรียนพึงเป็นหรือปฏิบัติได้  รวมถึงจะต้องระบุได้ว่าความเข้าใจที่คงทน (enduring understandings) หลังจากการเรียนคืออะไร ซึ่งในที่นี้กล่าวได้ว่า   ความเข้าใจที่คงทนก็คือ  ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะและค่านิยม  ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 3 องค์ประกอบ ตลอดจนเงื่อนไขด้านความรู้และคุณธรรม

                             5)  กำหนดภาระงานหรือชิ้นงานที่ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติ  ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนการกำหนดหลักฐานที่ยอมรับได้  (determine acceptable evidence) เพื่อทำให้ผู้สอน   ทราบว่า  ผู้เรียนได้บรรลุศักยภาพตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้ว  ผู้สอนจะต้องตัดสินใจโดยพิจารณาจากผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งในที่นี้คือความรู้และความเข้าใจในเชิงวิชาการ ตลอดจนคุณลักษณะและค่านิยมตามองค์ประกอบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อมากำหนดชิ้นงานหรือภาระงานที่ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติ ซึ่งในการกำหนดไว้แต่ในเบื้องต้นจะทำให้ผู้สอนสามารถตัดสินใจและเลือกวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ที่สอดคล้องกับภาระงานหรือชิ้นงานดังกล่าวนั้น ทำให้บทบาทของผู้สอนมีลักษณะเป็นนักประเมินผลไปในขณะเดียวกันด้วย  (teachers think like an assessor) 

                             6)  วางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการจัดกิจกรรม         การเรียนการสอน  (plan learning experiences and instruction)  ขั้นตอนนี้จะเกิดขั้นหลังจาก       ที่ผู้สอนได้กำหนดผลการเรียนรู้  และหลักฐานที่จะใช้ประเมินว่าผู้เรียนบรรลุผลดังกล่าวแล้ว  ผู้สอนจะต้องวางแผนซึ่งเริ่มจากการคิดเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอน (instructional activities)  ซึ่งในการเลือกกิจกรรมนั้น  Wiggins และ McTighe (1998) ได้เสนอคำถามสำคัญในการเลือกและใช้วิธีสอนว่า กิจกรรมอะไรที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะตามที่กำหนดไว้เป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง วิธีการใดจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ควรจะนำมาสอน  และทรัพยากรตลอดจนแหล่งการเรียนรู้อะไร ที่จะเหมาะสมที่สุดที่จะนำพาให้ผู้เรียนได้บรรลุผลการเรียนรู้     การตอบคำถามดังกล่าว  จะเป็นการควบคุมให้การเลือกกิจกรรมและวิธีการสอนนั้นมิได้เป็นไปเพราะความถนัดหรือประสบการณ์ของครู  และจะสอดคล้องและตรงไปผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในผู้เรียน

                             7)  เขียนหน่วยการเรียนรู้ฉบับเอกสาร ขั้นตอนนี้จะดำเนินการหลังจากที่ครูได้กำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของหน่วยการเรียนรู้บูรณาการเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งในการเขียนหน่วยการเรียนรู้ฉบับเอกสารจะต้องคำนึงถึงการแสดงให้เห็นการมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนตามองค์ประกอบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มากำหนดเป็นผลการเรียนรู้หรือวัตถุประสงค์ทั่วไปของหน่วย  สำหรับองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ฉบับเขียนนั้น  Arends (2009) ได้กำหนดหัวข้อหรือโครงสร้างหน่วยการเรียนรู้ว่าประกอบด้วย

                                      7.1)  ชื่อหน่วย  (name of unit)

                                      7.2)  เหตุผลในการสอนหน่วยนี้ (rationale for teaching the  unit)

                                      7.3)  มโนทัศน์แกน (core concepts) คำถามสำคัญ (essential questions) หรือความเข้าใจที่คงทน (enduring understanding)

                                      7.4)  จุดประสงค์การเรียนรู้ทั้งหมดของหน่วย (overall unit objectives)

                                      7.5)  เนื้อหาของหน่วย (unit content)

                                      7.6)  ขั้นตอนของหน่วย (syntax for unit) ระบุกิจกรรมการเรียนรู้สำคัญตามลำดับเวลา

                                      7.7)  วัสดุอุปกรณ์และแหล่งเรียนรู้ที่ต้องใช้ (materials and resources required)

                                      7.8)  ภาระงานสำคัญที่มอบหมาย (major assignment)

                                      7.9)  การประเมินการเรียนรู้และการประเมินผล (assessment and evaluation) 

                             สำหรับโครงสร้างหน่วยการเรียนรู้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้ ได้แก่  ชื่อหน่วยและเวลา  มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด  สาระสำคัญหรือความคิดรวบยอด  สาระการเรียนรู้  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน  คุณลักษณะ  อันพึงประสงค์  ชิ้นงานหรือภาระงาน  การวัดและประเมินผลและกิจกรรมการเรียนรู้ตามลำดับ

____________________________

 

รายการอ้างอิง 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  2553.  ชุดฝึกอบรมเรื่องหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.  กรุงเทพฯ: สำนักวิชาการและมาตรฐาน    การศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 

วลัย พานิช.  2544. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา.  ใน

          พิมพันธ์ เดชะคุปต์, สุวัฒนา อุทัยรัตน์ และกมลพร บัณฑิตยานนท์ (บรรณาธิการ),

          แนวคิดและแนวปฏิบัติสำหรับครูมัธยมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา, หน้า  159-182.

          กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Arends, R. I. 2009. Learning  to Teach. 8th ed.  New York: McGraw-Hill. 

Wiggins, G. and Mctighe, J. 2006. Understanding by design. 2nd. New Jersy: Pearson.  

 

หมายเลขบันทึก: 419130เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 01:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท