15. "การบวชพระ" ประเพณีไทยที่ควรอนุรักษ์


15. "การบวชพระ" ประเพณีไทยที่ควรอนุรักษ์

 

 

"การบวชพระ"  ประเพณีไทยที่ควรอนุรักษ์

 

           นับจากที่พ่อบ้านได้เกษียณอายุราชการ ณ  1 ตุลาคม 2553 ชีวิตก็สุขสงบตามวิถีชีวิตของคนที่เกษียณอายุราชการ  ปลอดโปร่งโล่งใจ  เป็นนายของตัวเอง  ไม่มีใครมาเป็นเจ้านายคอยบงการชีวิต  แต่ในช่วงนี้ ความที่พ่อบ้านเป็นนักวางแผนชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว ได้จัดการเรื่องครอบครัว ภาระด้านค่าใช้จ่าย ภาระทางด้านการศึกษาของลูก ๆ เรียบร้อย  ก็มาปรารภกับผู้เขียนว่า  “ตนเองอยากจะขอบวชพระ”  ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ฟังก็งงมาก  เลยถามไปว่า  “ไม่มีความสบายใจอะไร  ถึงจะไปบวชเป็นพระ” 

           พ่อบ้าน  บอกว่า  “ไม่ใช่ไม่สบายใจ  แต่เพราะว่า  สบายใจต่างหาก  จึงจะขอไปบวช”  เพราะชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ที่สุดแล้ว  ไม่ห่วงอะไรแล้ว สำหรับตัวผู้เขียนเองก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว  ส่วน “ภัคร” เจ้าตัวโต ก็เรียนต่อปริญญาโทแล้ว  เหลือเพียง “น้องเพรียง” เจ้าตัวเล็ก ที่ยังเป็นห่วงอยู่คนเดียว...ครอบครัวเรามีหนี้สินก็น้อยลงแล้ว พอผู้เขียนเกษียณลง หนี้สินในการสร้างฐานะก็จะหมดลง เหลือแต่ช่วงเวลาที่เหลืออีก 12 ปีนี้  ก็พยายามเก็บหอมรอบริบไว้เป็นทุนเพื่อกินในยามแก่เฒ่าเท่านั้นเอง…

           การที่มนุษย์เรา เมื่อมีภรรยาแล้ว และต้องการที่จะบวชพระ ในทางปฏิบัติฝ่ายสามีต้องมาขออนุญาตจากภรรยาเพื่อไปบวชได้ เนื่องจากในทางพระพุทธศาสนาจะไม่อนุญาตให้บวชเป็นพระได้...ถ้าภรรยาไม่อนุญาตให้ทางสามีไปบวช  ผู้เขียนจึงถามว่า “บวชกี่วัน”  พ่อบ้านได้บอกว่า “ครั้งแรกจะบวช 7 วัน” แต่ก็มีผู้ใหญ่ทักว่า “บวช 7 วัน ไม่ดี ให้เลยไปสัก 11 หรือ 15 วัน ก็ได้” เพราะประเพณีในแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน อยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคนว่ากี่วันดีหรือกี่วันไม่ได้  แต่ในความคิดของผู้เขียนคิดว่า  “จะบวชกี่วันก็ได้  ไม่ใช่ปัญหา  ขึ้นอยู่กับความพร้อม  ความสมัครใจของผู้ที่จะบวชพระมากกว่าต้องการบวชอยู่กับพระพุทธศาสนานานเท่าไร ถ้าตนเองพอใจ และจะได้ผลบุญมากกว่าการมากำหนดกฎเกณฑ์  อีกอย่างขึ้นอยู่กับเวลาด้วยว่านำมากำหนดหรือไม่  มีภาระหน้าที่ที่จะทำอะไรอีกหรือไม่”...

           ผู้เขียนได้แซวพ่อบ้านว่า  “ถ้าไม่อนุญาตให้บวช  แสดงว่าผู้เขียนจะเป็น “นางมารวิกา” ใช่หรือไม่?”  พ่อบ้านนั่งยิ้ม...เพราะรู้ใจว่าแซวเล่น...และผลสุดท้ายผู้เขียนก็ได้เอ่ยปากบอกว่า  “ตามใจ”  ถ้าใจคิดอยากทำ ก็ทำไป  ไม่ห้ามหรอก  ทำแล้วสบายใจ”  พ่อบ้านบอกว่า  “เมื่อ  40 ปี ที่แล้ว เคยบวชพระครั้งหนึ่งแล้ว  แต่ขออนุญาตทางราชการไปบวชได้เพียง 7 วัน เพราะต้องรีบสึกเพื่อกลับมาทำงาน (งานราชการสมัยก่อนต้องทำงานหนักเพราะมีคนทำงานน้อย)  ยังบวชไม่ทันไร เรียกว่า ไม่รู้รสของพระธรรมเลย”  ซึ่งพ่อบ้านบอกว่า  “การบวชพระ  ไม่ใช่สักแต่ว่าใคร ๆ ก็บวชได้  แต่ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติให้ได้ด้วย  และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันให้ได้  ถ้าเราทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตของตัวเราเองและคนรอบข้าง”...

            ผู้เขียนยังถามต่อว่า  แล้วไม่กลัวว่าชาวบ้านหรือคนรอบข้างจะถามหรือว่า  แก่แล้วมาบวชพระ  มีวัตถุประสงค์อะไรหรือ?”  พ่อบ้านบอกว่า  “ไม่ได้ใส่ใจ  ใครจะคิดอย่างไร  ก็ช่างเขาปะไร  เพราะเขาไม่เข้าใจความรู้สึกของเราหรอก  คนเราต่างจิต  ต่างใจ  ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรามากกว่า  เขาคิด เขานึกได้แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ “ตัวของตัวเราเอง”...ตกลงผู้เขียนก็อนุญาตให้พ่อบ้านได้ไปบวชพระตามเจตนารมณ์...โดยการบวชครั้งนี้ ครอบครัวเราก็ไม่บอกใครเลย เพราะต้องการบวชอย่างสงบให้มากที่สุดและไม่ต้องการรบกวนเรื่องเงินทองจากผู้อื่น ไม่ใช่ว่าร่ำรวย...แต่ครอบครัวเราก็พอมีเงิน เรียกว่า  “มีฐานะแบบพอเพียง”  ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อนและคนอื่นเดือดร้อนด้วย...

            ทุกครั้งที่เรามีงานบุญ...เราจะไม่แจกการ์ดใด ๆ ทั้งสิ้น...บอกก็ตามคนสนิท พี่น้องไม่กี่คนเท่านั้น เพราะเรารู้ว่าบางครั้ง เราบอกไปแล้ว เขาไม่มีเงิน เขาก็จะต้องทุกข์ใจที่จะต้องหามาให้เรา  เรียกว่าเป็น “บาป” มากกว่าที่จะได้บุญ...แต่ก็จะมีคนที่อยากร่วมทำบุญด้วย เขาก็จะมาร่วมงานบุญด้วย เรียกว่า  “รู้ใจกัน”...เพราะสังคมสมัยนี้ ไม่เหมือนกับสังคมสมัยก่อนแล้วที่จะต้องพึ่งพากันเรื่องเงินทอง  งานบุญต้องงานใหญ่ ได้หน้าตาเข้าไว้  แต่สมัยนี้  ประหยัดเท่าไร  ทำได้เท่าไร เป็นของเรา  บางท่านก็อาจคิดว่า  “เห็นแก่ตัว”  แต่ผู้เขียนคิดว่า  “ไม่น่าใช่ความเห็นแก่ตัวหรอก”  เป็นเรื่องของการช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่า...เพราะสังคมปัจจุบันเราต้องช่วยเหลือตัวเราเองให้ได้มากกว่าที่จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น...และไม่ทำให้เขาเดือดร้อน...ซึ่งความคิดของผู้เขียนอาจเป็นความคิดที่ผิด หรือไม่ผิดก็ได้...

           ซึ่งกำหนดการบวช พ่อบ้านก็ขอกลับไปบวชที่บ้านเกิดที่วัดย่านขาด (เขื่อนนเรศวร) อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก  ในวันที่ 2 มกราคม 2554 โดยที่วัดได้ทำการฝังลูกนิมิตเพื่อสร้างโบสถ์ด้วย  พ่อบ้านเคยบอกว่า  “เมื่อตอนบวชครั้งแรกนั้น โบสถ์เก่าที่เล็กนั้น ก็ทำพิธีฝังลูกนิมิตเช่นกัน แต่เป็นโบสถ์เล็ก ๆ และทรุดโทรมแล้ว มาครั้งนี้ ที่บวช ก็คือ วัดได้ทำการรื้อโบสถ์เก่าออกและทำการสร้างโบสถ์ใหม่ โดยเมื่อฝังลูกนิมิตแล้ว ก็ทำพิธีบวชนาคเพื่อเอาฤกษ์ไปในตัวเลย...ในการบวชครั้งนี้ เรียกว่า...เป็นครั้งที่ 2 ที่ผู้เขียนได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา  ในครั้งแรกนั้น คือ  "ภัคร" เจ้าตัวโต ได้บวชไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว...และทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาว่าเขาทำสิ่งใดกันบ้าง...ผู้เขียนจึงเก็บภาพที่งานบวชของพ่อบ้านมาฝาก...ซึ่งเป็นประเพณีแบบเรียบง่าย  ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก...

 

 

ทำการบวชนาค  มีผู้ที่บวชทั้งหมด 8 องค์

 

 

งานนี้...ผู้เขียนขอนั่งขัดสมาธิประนมมือไหว้...เพราะน้ำหนักตัวมาก

  นั่งพับเพียบไม่ไหวแน่  ถ้าจะนั่งพับเพียบ ต้องหาเสาพิงค่ะ...

เลยต้องขออนุญาตนั่งแบบที่เห็นในรูป

ด้านซ้าย  ซึ่งพระท่านก็ไม่ว่าอะไร  บางท่านอาจขัดตา...ไม่สมกับเป็น

กุลสตรี... แต่ผู้เขียนคิดว่า นั่งอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ทำดูว่าไม่เหมาะ

ไม่ควร  และหลาย ๆ คนก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะสายตาก็ไม่ได้ว่า

เหมือนจะเข้าใจผู้เขียนด้วยซ้ำ...

 

 

มีพระครูชื่ออะไรวัดอะไรผู้เขียนจำไม่ได้แล้ว...มาเทศก์สอนให้นาค

ฟังด้วยค่ะ...

 

 

ท่านพระครูเทศก์ได้กินใจคนฟังมาก...สังเกตพ่อบ้านนั่งก้มหน้าค่ะ...

เพราะน้ำตาไหล...ถึงตอนนี้ที่พระท่านบอกว่าให้นาคก้มลงนอนหนุน

ตักแม่กับพ่อ  แต่พ่อบ้านไม่มี พ่อ - แม่แล้วค่ะ...ได้เสียชีวิตกันหมด

แล้ว  มีเพียงพี่สาวคนโตซึ่งอายุแก่กว่ากันเพียง 1 ปี  พ่อบ้านก็เลย

ไม่ได้นอนหนุนตัก ก็ขอนั่งเฉย ๆ และก้มหน้าค่ะ...

 

 

เห็นภาพไหมค่ะ...ว่าพระครูท่านเทศก์ได้กินใจเพียงใด ขนาดพ่อบ้าน

เรียกว่า  "ใจแข็ง"  ยังอดที่เช็ดน้ำตาไม่ได้เลยค่ะ...

 

 

งานนี้...เรียกว่า  "ได้น้ำตาทั้ง พ่อ - แม่ - นาค" เลยค่ะ...

 

 

ท่านพระครูเทศก์ได้กินใจผู้ฟังมาก...พ่อบ้านถึงกับควักกระเป๋าตังค์

ทำบุญให้ตั้ง 1,000 บาท เลยค่ะ...(ปกติพ่อบ้านไม่ยอมจ่ายให้ใคร

ง่าย ๆ หรอกค่ะ...อิอิอิ)...เพราะว่าใคร ๆ ในบ้านจะรู้ว่า 

"เป็นคนขี้เหนียว"...

ท่านพระครูบอกว่า  คนบวชที่ยังไม่มีภรรยา พ่อแม่จะได้บุญ 50 : 50

แต่ถ้านาคคนไหนมีภรรยาแล้วจะได้บุญดังนี้ค่ะ...

พ่อ - แม่  ได้  30  : 30  สำหรับภรรยาจะได้บุญ 40 ค่ะ...

ทำให้ผู้เขียนสงสัยอีกแล้วละค่ะว่า...เอาอะไรมาเป็นมาตรวัด

ส่วนแบ่งกันละค่ะ...อิอิอิ...

 

 

ผู้เขียนได้แต่นั่งสงสัยว่า  "ทำไมเขาถึงมีการเวียนเทียนกันด้วยค่ะ"

ต้องหาความรู้เพิ่มเติมแล้วละค่ะ...ว่าทำไม?  การเวียนเทียนจะมี

ทั้งหมด 3 พานค่ะ...

การเวียนเทียนเขาจะเวียนไปทางซ้าย 3 รอบ ค่ะ แล้วท่อง

"พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ"...แบบย่อ ๆ ...ตามที่พระท่านบอกด้วยค่ะ...

 

 

เมื่อท่านพระครูเทศก์จบ ก็มีการเจิมที่ศีรษะให้กับนาคด้วยค่ะ...

เหตุผลที่เจิม...ก็ทำให้ผู้เขียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมอีกละค่ะ 

ว่าเพราะอะไร?...

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนก็ยังต้องสงสัยอีก  นั่นคือ...การเป่าควันเทียน

เข้าปากของนาค

แต่ละคนด้วยค่ะ...ว่าทำไมต้องเป่าควันเทียนเข้าปาก...แม้แต่

"ภัคร" เจ้าตัวโตยังต้องสงสัยเหมือนกันว่าเพราะอะไร 

เพราะเป็นประเพณีของพราหมณ์ค่ะ...

 

 

ภาพการเป่าควันเทียนเข้าปากของนาคค่ะ...

 

 

นาคทั้ง 8 องค์ค่ะที่เข้าพิธีเพื่ออุปสมบทในครั้งนี้ค่ะ...

 

 

พ่อบ้านบอกว่า  ยายคนนี้นี่แหล่ะค่ะ ที่เป็นพี่เลี้ยงเลี้ยงนาคมาตั้งแต่

เล็ก ๆ  ยายบอกว่ายายอายุ  80 ปี แล้ว  แต่ยังแข็งแรงอยู่เลยค่ะ...

มาร่วมงานด้วย  เมื่อทราบจากเพื่อนบ้านว่า...

พ่อบ้านมาบวชเป็นพระค่ะ...

 

 

ขอถ่ายรูปร่วมกันหน่อยค่ะ...ด้านขวามือของผู้อ่าน  เป็นพี่สาว

ของนาคค่ะ...ส่วนชายที่นั่งตรงกลาง  คือ  "ตา"  ซึ่งเป็นพ่อของ

ผู้เขียนค่ะ อายุ  77  ปี...เหลือท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น 

เพราะพ่อ - แม่ ของพ่อบ้าน พร้อมด้วยแม่ของผู้เขียนก็เสียชีวิตกัน

หมดแล้วค่ะ...นี่คือครอบครัวของเราค่ะ...ขาดแต่เจ้าตัวเล็ก

รีบกลับบ้านเลยไม่ได้ถ่ายรูปร่วมกันค่ะ...

 

 

กว่าจะควานหาเจ้าตัวเล็ก "น้องเพรียง" ด้านซ้ายมือ ได้มาถ่ายรูป

กับพ่อเรียกว่า...ตอนค่ำแล้วค่ะ...ผิดกับ "พี่ภัคร" เจ้าตัวโต 

นั่งประกบพ่อตลอดเวลา...

 

 

กว่าจะเวียนรอบโบสถ์ได้ เรียกว่า  เกือบตี 1 ค่ะ...กว่าจะฝังลูกนิมิต

เสร็จ...พี่สาวของนาคเดินไม่ไหวค่ะ  เลยต้องให้ผู้เขียนอุ้มผ้าไตร

แทนค่ะ...งานนี้  ได้บุญเยอะมาก ๆ เลยค่ะ...และขอนำบุญมาฝากกับ

ทุกท่านที่เข้ามาอ่านในบล็อกนี้ด้วยนะค่ะ...

 

 

หลานสาวของนาคค่ะ..."น้องเปรม"  กรรณิกา  แสงเงิน...

ปัจจุบันสอบโควต้าได้เรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 คณะเภสัชศาสตร์...ได้ที่ 1 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ

 จังหวัดพิษณุโลก ค่ะ...แต่ขอลองสอบเข้าคณะแพทย์อีกครั้งค่ะ

 ถ้าได้ ก็จะสละสิทธิคณะเภสัชศาสตร์ ค่ะ...

ตระกูลนี้...ลูก - หลาน หัวดีกันเกือบทุกคน ยกเว้น เจ้าตัวเล็กของ

ผู้เขียนเรียนแย่กว่าเพื่อนค่ะ...แต่ไม่เป็นไร ไม่เก่งก็ไม่ว่ากัน

แต่ขอให้เป็นคนดี...แม่ก็พอใจแล้วค่ะ...

 

 

การทำพิธีจากพระอุปัชฌาย์ในโบสถ์หลังจากฝังลูกนิมิตเรียบร้อย

แล้วค่ะ...ผู้เขียนได้ร่วมอยู่ในโบสถ์ด้วยและเห็นเหตุการณ์ว่า

เขาทำพิธีใดบ้าง?...จนจบพิธีการค่ะ...ทำให้ผู้เขียนได้ทราบได้เห็น

ว่าเขาทำสิ่งใดกันบ้าง...เพราะในโลกของการทำงานจริง ๆ 

ไม่มีให้เห็นกันหรอกค่ะ...

 

 

ชื่อเรียกทางพระของพ่อบ้านเมื่ออุปสมบทแล้ว 

ได้ชื่อว่า  "ธรรมะจโร"...

 

 

เมื่อเสร็จกิจพิธีแล้ว  พระบวชใหม่ต้องเดินลงมาเพื่อโปรดญาติ ๆ

ให้ทำบุญกับพระบวชใหม่ค่ะ...เมื่อเสร็จพิธีกิจทั้งหมด 

ณ  ขณะนี้เวลา  02.30 น. ค่ะ...เป็นครั้งแรกในชีวิตเลยนะค่ะที่ผู้เขียน

เห็นและร่วมพิธีเกือบตี 3  ค่ะ...

 

 

มีผู้ที่ทราบข่าวว่าพ่อบ้านได้บวชเป็นพระ และนำเงินมาร่วมทำบุญ

ด้วยประมาณ 1,000 กว่าบาท...ผู้เขียนจดชื่อและแกะซองนำเงิน

ทั้งหมดใส่ย่ามให้กับหลวงพ่อและพระที่บวชใหม่หมดเลยค่ะ...

เพื่อทำบุญ...งานนี้ได้บุญหลายค่ะ...

 

 

พระบวชใหม่กำลังโปรดญาติโยมค่ะ...

 

 

งานใกล้เลิกลาแล้วค่ะ...นาฬิกา บอกเวลาว่า  ตีสองครึ่งแล้วค่ะ...

เป็นครั้งแรกของชีวิตเลยนะค่ะที่มีการบวชพระตอนกลางคืน...

 

 

ใกล้เสร็จงานแล้ว  หลวงพ่อ - แม่ - "ภัคร" + "เพรียง" 

ร่วมกันถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันหน่อยค่ะ...

นี่คือครอบครัวของเราค่ะ...

 

 

เมื่อเสร็จงานก็ขับรถยนต์กลับมานอนที่บ้านพรหมพิราม (บ้านเดิม)

ถึงบ้านเกือบตี 3  นอนหลับได้ 3 ชั่วโมง ก็ต้องตื่นเพื่อมาร่วมทำบุญ

ฉลองพระใหม่ที่วัดย่านขาดอีกค่ะ...ความที่อิ่มบุญ...ไม่ง่วงนอน

เลยค่ะ...(เพราะปกติจะเป็นคนที่อดนอนไม่ได้เลยค่ะ)...

แต่งานนี้  เรียกว่า  "ไม่ง่วงค่ะ"...

 

 

มีพระท่านมาเทศก์เพื่อฉลองให้กับพระใหม่ด้วยค่ะ...

 

 

ทำพิธีเวียนเทียนเหมือนกับวันบวชนาคเลยค่ะ...

 

 

เสร็จพิธีการบวชเป็นพระแล้วค่ะ...นี่คือ...ประเพณีหนึ่งที่เป็นประเพณี

ของคนไทยเราสิ่งหนึ่งที่ลูกผู้ชายไทย  ควรทำ  คือ  "การบวช"

เพื่อทดแทนบุญคุณให้กับพ่อ - แม่เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ

ของตัวลูกที่มีต่อ พ่อ - แม่  และเป็นการสั่งสอนของพระว่าการแสดง

ความกตัญญูมิใช่ทำในขณะที่บวชเท่านั้น...แต่ควรนำความรู้ที่เมื่อได้

บวชเรียนแล้ว  ไปปฏิบัติต่อไปเมื่อสึกแล้วให้เป็นมงคลต่อตนเองและ

ต่อคนรอบข้างด้วยค่ะ...

 

 

สำหรับปีนี้  ครอบครัวเราได้บุญกันตั้งแต่ต้นปีใหม่เลยค่ะ...

และนำบุญมาฝากผู้ที่เข้ามาอ่านด้วยนะค่ะ...

ขอบคุณค่ะ...

 

การบวชเป็นพระเป็นประเพณีไทยที่ควรอนุรักษ์ 

ถ้าเรายังเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ค่ะ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 418293เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2011 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท