บันทึกชีวิตหมออรุณ : อีกมิติหนึ่งของระบบสุขภาพและสภาวการณ์สังคมชุมชนหนองบัว ทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๒๕ [๑]


PUBLIC HEALTH OFFICE IN NONG BUA :
HISTORY OF MY LIFE AND SERVICE
๒๕๐๖-๒๕๒๖
(คศ. ๑๙๖๓-๑๙๘๓)

หมออรุณ : แพทย์หญิงเออร์ซูลา ลีเวนธัล Dr. Ursula  Loewenthal
กับโรงพยาบาลคริสเตียน ก่อนจะมาเป็นโรงพยาบาลอำเภอหนองบัว

ชาวไทยโดยเฉพาะชาวหนองบัวรู้จักฉันในชื่อว่า หมออรุณ ฉันมีชื่อจริงว่า Ursula  Loewenthal เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐  คุณพ่อและคุณแม่เป็นยิว เกิด ณ เมือง Brieg  รัฐ Silesia  ในสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมัน  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘(๑๙๔๕) หลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์  ครอบครัวฉันหนีสงครามล้างเผ่าพันธุ์ของเผด็จการฮิตเลอร์ไปอยู่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๘๑(๑๙๓๘)

                                   ภาพที่ ๑ หมออรุณ : แพทย์หญิงเออร์ซูลา ลีเวนธัล หมอมิชชั่นนารีโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวเมื่อปี ๒๕๐๖ ปัจจุบันอยู่ในวัย ๘๓ ปีได้กลับไปอยู่ประเทศอังกฤษและเขียนบันทึกนี้เมื่อปี ๒๕๕๑ มอบให้แก่ นางถนิม อ่วมวงษ์ หรือหมอหนิมของคนหนองบัว หมออนามัยยุกคบุกเบิก และหมอหนิมได้มอบให้แก่ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ซึ่งได้นำมาเผยแพร่และบันทึกไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวหนองบัวและสาธารณชนต่อไป

ฉันเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจบไฮสคูลแล้วเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (๑๙๔๕)  ศึกษาภาษาฝรั่งเศสในกรุงลอนดอน ระหว่างศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ ๑ มีความรู้สึกเรียกร้องให้ฉันเรียนหมอเพื่อจะออกไปทำงานกับมิชชั่นนารี หลังจากนั้นฉันจึงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ที่วิทยาลัยเทคนิค (Technical College) และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จนกระทั่งจบการศึกษาเป็นแพทย์ในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๖ (June, ๑๙๕๓) ได้ปริญญา M.B, Ch.B.

หมออรุณกับชีวิตและการงานในหลายท้องถิ่นไทย

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๘ (๑๙๕๕) เดินทางจากประเทศอังกฤษในฐานะสมาชิกของสมาคมมิชชั่นนารีโพ้นทะเล ซึ่งมิชชั่นนารีคณะนี้ มาถึงครั้งแรก ณ สำนักงานใหญ่ ที่ประเทศสิงค์โปร์  หัวหน้ามิชชั่นนารีเป็นผู้ตัดสินใจว่า ฉันควรไปประเทศใดและตัดสินให้ฉันมาประเทศไทย

ฉันเริ่มศึกษาภาษาไทยที่นั่น จากนั้นจึงเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙(Appril ๑๕ ๑๙๕๖) อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ ๑ เดือน และอีก ๒ เดือนที่จังหวัดอุทัยธานี ก่อนสอบเพื่อรับในประกอบโรคศิลปะที่กระทรวงสาธารณสุข สอบได้ใบประกอบโรคศิลปะ ว. ๑๙๕๘ ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๙(August ๑๙๕๖)

ปี พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) จนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๐๑  (ค.ศ.๑๙๕๘ ) ฉันได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่คลีนิคคริสเตียน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง แต่ต้องไปช่วยปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ และคลีนิคคริสเตียนที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีเป็นครั้งคราวด้วย

ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (December ๑๙๕๘) ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ (May ๑๙๖๐) ได้ย้ายไปอยู่ภาคใต้ของประเทศลาวเพื่อไปดูแลชนกลุ่มน้อยที่นั่น  แล้วเดินทางกลับประเทศอังกฤษ เพื่อรายงานผลต่อศาสนจักร ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔(May ๑๙๖๐- May  ๑๙๖๑) ในระยะนั้นคอมมิวนิสต์จากประเทศเวียตนามเริ่มรุกรานประเทศลาว ฉันใช้เวลาในกรุงเทพฯ เพื่อขอวีซ่าไปประเทศลาว ดังนั้น จึงใช้เวลาหลายสัปดาห์ช่วยงานแพทย์ที่โรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ ก่อนที่จะกลับไปประเทศลาว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ (August  ๑๙๖๑) และในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (March, ๑๙๖๒) ถูกเรียกตัวกลับมาโรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ ทำหน้าที่ในคณะรักษาพยาบาลในช่วงโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์และตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศไทยตลอดไป

สู่หนองบัว : พัฒนาการของสถานบริการสุขภาพและระบบสุขภาพชุมชนก่อน ทศวรรษ ๒๕๑๐

ในห้วงเวลานี้คณะมิชชั่นนารีมีนโยบายที่จะเปิดคลีนิก เพื่อขยายเป็นโรงพยาบาลที่หนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และได้เปิดคลีนิคอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๖(February ๑๙๖๓) โดยเช่าห้องแถว ๕ ห้องที่สี่แยกริมถนนในตลาดหนองบัว  จนกระทั่งสร้างโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว บนที่ดินที่มีผู้อุทิศให้ ๗ รายแล้วเสร็จ  ตั้งอยู่ห่างจากตลาดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร จึงได้ย้ายไปดำเนินการในสถานที่ใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑

ในระยะแรกหมอจอห์น ตูป (Dr. John Toop) มีหน้าที่รับผิดชอบ และฉันเป็นผู้ร่วมงานด้วย หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ต่อมาคุณหมอจอห์น ตูป ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลสายบุรี จังหวัดปัตตานี ฉันจึงอยู่รับผิดชอบคนเดียว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๖ (June ๑๙๖๒) เป็นต้นมา

พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๙(December ๑๙๖๕-December ๑๙๖๖) ฉันกลับไปประเทศอังกฤษอีก มีคุณหมอ ๒ คน คือ คุณหมอจอห์น และคุณหมอแอนนี่ ทาวน์เซ่น (Dr. John and Dr. Anne Towsend) มาปฏิบัติงานแทนในห้วงเวลานั้น

ปี พ.ศ.๒๕๑๐ (ค.ศ.๑๙๖๗) มีการก่อสร้างอาคารสถานใหม่ของโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ คุณหมอ Rachel  Hiller  มาช่วยปฏิบัติงานในฐานะหมอคนที่สอง และเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑(February ๑๙๖๘) (ฉันคิดว่าพิธีเปิดน่าจะเป็นวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑)

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒  (ค.ศ.๑๙๖๙) หมอฮิลเลอร์และครอบครัวเดินทางกลับอังกฤษ ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๔ (Appril ๑๙๗๑) ฉันก็กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาอีก ๑ ปี O.M.F. ส่งหมอสองคนมาปฏิบัติงานต่อ ชื่อ คุณหมอ Ashton และคุณหมอ Gurtler

ฉันครบกำหนดกลับมาเมืองไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๕(Appril ๑๙๗๒) ต้องการที่จะกลับมาหนองบัว แต่ O.M.F. ต้องการให้ฉันอยู่ที่โรงพยาบาลมโนรมย์ฉันจึงปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลมโนรมย์แล้วไปอยู่โรงพยาบาลสายบุรี  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  ระหว่างกรกฏาคม พ.ศ.๒๕๑๕ (July ๑๙๗๒) ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๖  (November ๑๙๗๓)

ต่อมา O.M.F. ตัดสินใจให้ฉันปฏิบัติงานที่หนองบัว และส่งคุณหมอ Graham  Roberts  มาเป็นคุณแพทย์ ร่วมคนที่  ๒ ระหว่าง ๙-๑๐ ปีต่อมา ฉันเดินทางกลับไปอังกฤษอีกเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น เป็นเวลา ๓  เดือน ในกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๙(ค.ศ. ๑๙๗๖) และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ.๑๙๘๐)

ยุติโรงพยาบาลคริสเตียน
และมอบให้รัฐบาลไทยดำเนินการโรงพยาบาลหนองบัว

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๕ (ค.ศ.๑๙๘๒) หัวหน้า O.M.F. มองเห็นปัญหาของผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ลำบากยิ่งขึ้นสำหรับคณะมิชชั่นนารีเกี่ยวกับการตรวจสอบของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่พอใจเกี่ยวกับการให้พยาบาลต่างชาติมีสิทธิ์สอบให้สามารถทำงานในประเทศไทย ทางคณะของผู้นำจึงตัดสินปัญหาโดยยกโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวให้รัฐบาลไทยและจัดการให้มีคณะปฏิบัติงานเป็นคนไทยที่โรงพยาบาลมโนรมย์มากขึ้น

โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว จึงปิดลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ (June  ๑๙๘๓) ในโอกาสเดียวกัน โรงพยาบาลรัฐประเภท ๑๐ เตียงได้เปิดดำเนินการในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์ราชการอำเภอหนองบัว ในฐานะที่ทำงานอยู่กับพี่น้องชาวหนองบัวและพี่น้องในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี ฉันเสียใจกับการปิดโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว จึงยื่นใบลาออกจาก O.M.F.

เฝ้ารอเวลาอนุมัติใบลา ๖ เดือน เมื่อมีผลแล้วฉันก็กลับไปประเทศอังกฤษในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๒๖ (September ๑๙๘๓) ได้ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ด้านการศาสนาที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ (๑๙๗๑) จนจบหลักสูตร

กลับมาประเทศไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๗(ค.ศ.๑๙๘๔) ฉันได้รับเชิญไปทำงานกับหมอคริสเตียนชาวไทย ซึ่งมีโรงพยาบาลส่วนตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ฉันไม่สนุกกับการทำงานในตัวเมืองเช่นตัวจังหวัด ซึ่งมีโรงพยาบาลรัฐดีๆ แต่เรียกค่ารักษาพยาบาลแพงกว่า จึงลาออกจากโรงพยาบาลแห่งนี้ เป้าประสงค์คือต้องการช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยผู้ต้องการความช่วยเหลือมากๆ  ฉันจึงทำงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์เพียง ๑๓  เดือน และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย(WVFT) ต้องการได้ฉันไปทำงานในโครงการพิเศษกับชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือของประเทศไทย  และยังมีความต้องการเช่นนั้นตลอดมา

ดังนั้น ในบั้นปลายเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๒๘(ค.ศ.๑๙๘๕) ฉันเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานกับ WVFT  ร่วมมือกับองค์กรหลากหลายและโครงการของในหลวง  เราให้ความรู้แก่ชาวเขา (Tribal Villagers) และโดยเฉพาะพวกหัวหน้าเกี่ยวกับการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งอันจะนำพาไปสู่ปัญหายาเสพติด ในเวลานั้นคือฝิ่น และเฮโรอีน ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยและโครงการในชื่อต่าง ๆ เรามี ๒๗ แคมพ์ เพื่อให้คำแนะนำการเลิกยาเสพติดในหมู่บ้านต่างๆ เวลาเดียวกันในแต่ละแคมพ์ WVFT จัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่และเครื่องมือให้รัฐบาลไทยสนับสนุนผู้พยาบาลและหน่วยป้งอกันให้ เราทำหน้าที่แบบไม่ใช้เป็นเครื่องชักจูงเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้น เช่น การหละหลวมในระบบความปลอดภัย ติดตามด้วยความขาดแคลนสิ่งต่างๆ ผลลัพธ์จึงไม่เป็นที่พอใจแก่คณะทำงาน

ขณะเดียวกันฉันได้รับเชื้อเชิญร่วมงานกับคณะผู้สอนศาสนาที่จังหวัดพะเยา (Phayao  Bible Training Center) ชื่อนี้ได้เปลี่ยนเป็น Phayao Bible College ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ (ค.ศ.๑๙๙๕) และเป็น Phayao Bible Seminary ๒๐๐๘) และฉันมีคุณสมบัติทางด้านนี้ที่ได้ศึกษามาเพิ่มเติมเมื่อครั้งปิดโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวแล้วกลับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ (ค.ศ.๑๙๘๓)

สุดท้ายได้ตอบรับเชิญกับคณะผู้สอนศาสนาจังหวัดพะเยา ฉันใช้เวลา ๑ ปี ที่ยื่นใบลาออกจาก WVFT และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑)ได้ย้ายไปอยู่จังหวัดพะเยา สำหรับ ๑๗ ปีสุดท้ายแห่งชีวิต ฉันได้สอนนักศึกษาที่นั่น เมื่อพวกเขาจบจากการฝึกอบรมที่นี่จะออกไปเป็นผู้นำโบสถ์และทำงานให้แก่ศาสนาคริสเตียน

ฉันยังมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบัญชีและการเงิน และใน ๖ ปีสุดท้ายฉันได้รับตำแหน่งอธิการของโรงเรียนในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ (Appril ๒๐๐๘) ฉันได้เกษียณอายุตนเองในวัย ๘๐ ปี กลับสู่ประเทศอังกฤษ ประเทศที่ฉันอาศัยอยู่อย่างสงบในบั้นปลายชีวิต

สิ่งที่ประทับใจในความทรงจำที่มาอยู่หนองบัว
และหมออรุณกับหมอหนิมของชาวหนองบัว

สิ่งที่ประทับใจฉัน คือหัวหน้าคณะสำรวจพื้นที่อำเภอต่างๆ สำรวจดูว่าอำเภอในขาดแคลนโรงพยาบาล ทางชาวอำเภอหนองบัว ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเชื้อเชิญให้มาตั้งสถานพยาบาล โดยมีเจ้ของที่ดิน ๗ รายรวมกันถวายที่ดินประมาณ ๓๙ ไร่ สำหรับสร้างโรงพยาบาลในอนาคต และจัดเตรียมอาคารบริเวณสี่แยกในตลาดเป็นห้องแถวของเถ้าแก่ย่งเตี๊ยะ แซ่จึง ให้เช่าและใช้เปิดเป็นคลีนิคก่อนโดยทำการดัดแปลงบ้างให้เหมาะกับความต้องการ ขอให้ตั้งหอถังน้ำสูงพร้อมปั๊มน้ำให้สูบน้ำจากสระกลางตลาด คิดว่าเป็นแห่งเดียวที่สูบน้ำเช่นนี้ได้ และสถานพยาบาลมีสิทธิ์ขอให้เปิดไฟฟ้าถ้ามีเหตุฉุกเฉินกลางคืน(สมัยนั้นการไฟฟ้าภูมิภาคมีโรงปั่นไฟฟ้าใช้ได้แค่หัวค่ำและเช้ามืด)

                                       ภาพที่ ๒ สี่แยกตลาดหนองบัวและโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวเมื่อแรกก่อตั้ง
                                       ก่อนย้ายไปแห่งที่สองในปี ๒๕๑๑ ในแหล่งที่เป็นโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวดังปัจจุบัน
                                       ดังบันทึกของหมออรุณ : แพทย์หญิงเออซูลา ลีเวนธัล

                                ภาพที่ ๓ โรงไฟฟ้าสำหรับปั่นไฟตอนเย็นและเช้า ที่เกาะลอย อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
                                ดังบันทึกของหมออรุณ : แพทย์หญิงเออร์ซูลา ลีเวนธัล

อนึ่งคุณหมอถนิม ผดุงครรภ์อนามัยซึ่งเป็นขวัญใจชาวหนองบัวให้ความร่วมมืออย่างดีโดยตลอด ปีแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) ทางคมนาคมลำบากมากจำได้ว่าอาจารย์ประจำอำเภอชุมแสง นำยาและอุปกรณ์มาให้ที่อำเภอหนองบัว จากสถานีรถไฟในเดือนสิงหาคม ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบทั้งวัน อาศัยรถจี๊ป ๒ ตอน เรือ ๒ ตอน และเกวียนบ้าง แม้ในฤดูร้อนรถจี๊ปซึ่งเป็นรถโดยสารปกติต้องลงจากถนนขับไปตามริมนาเป็นบางแห่ง 

                                     ภาพที่ ๔ หมอหนิม : นางถนิม อ่วมวงษ์ พยาบาลผดุงครรภ์และหมออนามัยในยุคบุกเบิกของอำเภอหนองบัวและร่วมสมัยกับการก่อตั้งโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวในยุคที่หมออรุณ : แพทย์หญิงเออร์ซูลา ลีเวนธัล มาประจำเป็นแพทย์และหมอเผยแพร่ศาสนา ปัจจุบันหมอหนิมมีอายุ ๘๓ ปีและยังมีชีวิตอยู่ ซ้าย : พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ซึ่งได้มีโอกาสนทนากับหมอหนิมและหมอหนิมได้มอบบันทึกของหมออรุณนี้ให้แก่ท่าน

สภาวการณ์สุขภาพและสภาวการณ์สังคมร่วมสมัย
กับพัฒนาการเทคโนโนโลยีและระบบสุขภาพท้องถิ่นหนองบัว

ส่วนอุปกรณ์ทางแพทย์เตรียมไว้แต่แรกนอกจาก x-ray ปีแรกใช้อันเล็ก (คือ ๑๒ มิลลิแอมป์ เท่านั้น) แล้วไม่ได้มา จนเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) ได้มาพอดี หลังจากการผ่าตัดกะโหลกหญิงคนหนึ่งซึ่งได้ถูกปืน ขณะ x-ray ได้พบว่ามีเม็ดกระสุนเหลือบ้างก็สามารถเอาออกได้อีก ปีแรกนั้นไม่มีเตียงแบบโรงพยาบาล มีแต่แบบธรรมดา จึงจำเป็นต้องประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ขณะรับชายถูกปืนซึ่งกระดูกขาบนหักเกือบ  ๒ วันก่อน

การไม่เข้าใจการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยขึ้น จำได้ว่าญาติของคนถูกปืนนั้นถามว่า “ต้องดึงขาเช่นนั้นนานเท่าไร” และไม่ค่อยยอมรับคำอธิบายว่า “อย่างน้อย ๓  เดือน” แท้จริงชาวบ้าน(รวมข้าราชการคนหนึ่งซึ่งลูกสาวแขนหัก) ไม่เข้าใจการเข้าเฝือกให้กระดูกมีโอกาสติดกัน

จำได้ว่ามีชายคนหนึ่งมีฝีผิวหนังตรงข้อมือ น่าจะเจาะให้หนองออก แต่เขาไม่ยอม  และไม่ยอมฉีดยารักษาด้วย(คิดว่าเป็นญาติกำนันเสียด้วย) สาเหตุคือพวกเขากลัวว่าเป็น “ฝีมะลำมะลอก(คงหมายถึง Anthrax) เขาคิดว่าถ้าฉีดยาแล้วจะตายแน่ คิดเช่นนั้นเพราะในอดีตอาจมีคนถูกฉีดยารักษากับหมอบ้านนอกแล้วแพ้ยาเพนนิซิลินตาย แท้จริงยานี้ตรงกับโรคเพียงต้องพร้อมจัดการถ้าแพ้ยา สุดท้ายยายคนแก่ๆ ชักชวนให้คนนั้นยอมรับการรักษา ซึ่งฝีนั้นเป็นฝีธรรมดา

ทางคมนาคมลำบากมาก จำเป็นต้องผ่าตัดใน ๕ ปีแรกนั้น ไม่มีห้องผ่าตัดเฉพาะ จึงจำเป็นทำในห้องฉีดยา เพราะจะส่งคนไข้ต่อไปไม่ได้ เช่น ภรรยาข้าราชการตั้งครรภ์นอกมดลูก

โลหิตออกในช่องท้อง เด็กหญิงใกล้ตลาดอายุประมาณ ๑๒ ปี เป็นไทฟอยด์ และรักษากับคนซึ่งไม่ใช่แพทย์จริง ๒ อาทิตย์กว่า ญาติพามาหาเพราะโลหิตออกลำไส้ วันต่อมาแผลลำไส้ทะลุจึงต้องผ่า ฤดูฝนมีชาวบ้านนำหญิงป่วยมา ซึ่งอาการแสดงว่าต้องผ่ารังไข่อย่างด่วน โดยเอาคนป่วยห่อแหเป็นเปลหามมา มีคนเอาทารกมา(คิดว่ามาจากห้วยร่วม) ทารกหนัก  ๒.๑  กิโลกรัม พวกเขาใส่กระบุงหาบมาเพราะมันไม่มีรูทวารหนัก

                                                                                                           ด้วยความยินดีจากอังกฤษ
                                                                                                           Ursula Loewenthal
                                                                                                           Monday, September 08,2008 5:27:49 P.M.

..........................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถบทความ :

บทความนี้ แปลจากข้อมูลชั้นต้นเขียนบันทึกให้โดยหมอเออร์ซูลา ลีเวนธัล หรือในชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า หมออรุณ ซึ่งได้มอบให้นางถนิม อ่วมวงษ์ หรือ หมอหนิม คนเก่าแก่ของชาวหนองบัวซึ่งเป็นพยาบาลพดุงครรภ์ประจำสถานีอนามัยอำเภอหนองบัวในยุคแรกๆและร่วมสมัยกับโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวซึ่งหมออรุณได้มาเป็นแพทย์และหมอสอนศาสนา ท่านพระมหาแล อาสโย(ขำสุข) ได้มีโอกาสเจอกับหมอหนิมและได้สนทนากัน ท่านได้มอบบันทึกดังกล่าวนี้ให้แก่ท่านพระอาจารย์มหาแลมาเผยแพร่ต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งท่านพระอาจารย์มหาแลได้บันทึกหมายเหตุไว้ด้วยดังนี้....

"...หมายเหตุ บทความชิ้นได้มาจากวันไปเยี่ยมและสัมภาษณ์ โยมป้าหนิม : หมอถนิม อ่วมวงษ์ (กุลสวัสดิ์) วันที่ ๒ มกราคม  ๒๕๕๔  ที่บ้านของท่านหลังว่าที่การอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ที่มาของเอกสาร หมออรุณ(Ursula  Loewenthal) PUBLIC HEALTH OFFICE  IN NONG BUA : HISTORY OF MY  LIFE  AND  SERVICE Tue. 19 Aug. 2008 21:33:45+0100  สมหมาย  ฉัตรทอง  : แปลเรียบเรียงเรื่อง "

" ตอนนี้คุณหมออรุณท่านยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๘๓ ปี ป้าหนิมบอกอาตมาว่าเมื่อปีที่แล้วคุณหมออรุณท่านมาเยี่ยมชาวหนองบัวด้วย เมื่อคริสต์มาส(๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓)ที่ผ่านมาป้าหนิมบอกว่ายังโทรศัพท์คุยกับหมออรุณอยู่เลย "

หมายเลขบันทึก: 418265เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2011 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

ความตั้งใจเดิมของอาตมา เพียงแค่ไปเยี่ยมป้าหมอหนิม และต้องการพูดคุยหาข้อมูลชุมชนหนองบัว ไม่นึกจริงๆว่าจะได้ข้อมูลเรื่องราวของคุณป้าหมออรุณมาด้วย อันนี้ดีใจมากตื่นเต้น อ่านข้อมูลของคุณป้าหมออรุณแล้วได้เห็นหนองบัวชัดเจนขึ้นอีก โดยเฉพาะความกันดาร ความลำบาก ความเป็นบ้านนอกของหนองบัวเรา เห็นร่องรอยคนเก่าๆทั้งชาวบ้านและผู้คนในท้องถิ่นที่ทำประโยชน์ให้ชุมชนไว้อย่างมากมาย

ก่อนไปหนองบัวคราวนี้ นึกคิดไว้ในใจ ๔ เรื่อง : ๔ ขอ คือ
๑.ขอความรู้ : จากชาวบ้านหนองบัว
๒.ขอความเล่า : ให้ชาวบ้านบอกเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของชุมชน
๓.ขอเป็นนักข่าวสมัครเล่น : รายงานข่าวสารชาวบ้าน
๔.ขอเป็นนักเขียนจำเป็น : บันทึกข้อมูลชุมชน

ปรากฏว่าใน ๔ ขอนั้น ๒ ขอแรกชาวบ้านทำได้ดีมากๆ ส่วน ๒ ขอหลังนี่ความรู้ความสามารถของอาตมามีไม่ถึง ยากจัง คงต้องหาตัวช่วย ผู้ช่วย ผู้มีจิตอาสาทั้งหลายมาช่วยกันบันทึกเรื่องราวข้อมูลชุมชนกันเยอะๆน่าจะดี

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ

ข้อมูลชุดนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและน่าประทับใจมากอย่างยิ่งในหลายแง่เลยนะครับ ทั้งวิธีไปหาและรวบรวมได้อย่างไม่มีกะเกณฑ์หรือรูปแบบที่เจาะจงล่วงหน้า ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติและกลมกลืนกับวัฒนธรรมการไปมาหาสู่กันของผู้คน โดยเฉพาะสังคมไทยในชนบท

ในมุมมองของผมนั้น หากไม่ใช่พระคุณเจ้าแล้วก็เชื่อว่ายากที่จะได้เรื่องราวที่มีคุณค่าต่อสังคมมากอย่างนี้มาเผยแพร่ต่ออีกในสื่ออย่างเวทีคนหนองบัวนี้ ประการแรกเลยก็คือ เนื่องจากเป็นเรื่องราวของบุคคลและของสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม แต่หากทำให้เป็นงานตามหน้าที่หรืองานของหน่วยงาน ก็เชื่อว่ายากที่จะมีหน่วยงานใดเห็นความสำคัญและเห็นความเกี่ยวข้องโดยตรง และประการที่สอง ดูรูปการณ์และการมีความหมายต่อบุคคลทั้งป้าหมออรุณและป้าหมอหนิมแล้ว การที่ท่านจะถ่ายทอดและมอบให้แก่ใครนั้น ย่อมขึ้นกับการพิจารณาเป็นส่วนตัวของท่านอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็คงไม่มีใครที่จะอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพนับถือ ได้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้นำไปทำให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จากป้าหมอหนิมได้อย่างพระคุณเจ้า

เรื่องราวในบันทึกนั้น แม้นจะสั้นแต่ก็ครอบคลุมห้วงเวลาของพัฒนาการทางสังคมกว่า ๒ ทศวรรษ อีกทั้งเป็นบันทึกที่เพิ่งจะได้บันทึกเมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมาของหมออรุณซึ่งท่านอายุได้ ๘๓ ปีแล้ว ผมไม่ทราบว่าการที่ได้ชื่อว่า History of My Life and Service นั้นเป็นชื่อบันทึกที่ท่านตั้งขึ้นเองหรือไม่ หากใช่ ก็สื่อสะท้อนถึงการบอกกล่าวถึงความผูกพันด้วยหัวใจของชีวิตคนคนหนึ่งที่ได้ดำเนินชีวิตต่างที่ต่างถิ่นของตนเอง

เรื่องราวของท่านคงทำให้คนหนองบัวและรอบข้าง รวมทั้งในที่อื่นๆที่ท่านได้เคยทำงานและใช้ชีวิต ได้รำลึกถึงกัน โดยเฉพาะในวัย ๘๓ ปีของท่านนั้น หากถือเอาตามคติคนไทย ก็ต้องเรียกว่าเป็นวัยอันงดงามและหมดสิ้นความสงสัยใดๆแล้วในสัจธรรมแห่งชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังมีลมหายใจที่แม้นได้ปฏิบัติสันถวะทั้งโดยตรงโดยอ้อมอย่างไรก็มีแต่จะได้ความชื่นใจและเป็นความดีงามแก่ตนเอง เป็นความรู้และการเรียนรู้ทางสังคม ที่เจือด้วยความดีงาม ความงอกงาม ความกตัญญูกตเวทิตา และการบ่มสร้างคุณธรรมความเป็นผู้ให้แก่ส่วนรวม ทั้งของชุมชนหนองบัวและสังคมทั่วไป

ขอแสดงความชื่นชมและขอกราบอนุโมทนากับพระคุณเจ้าด้วยครับ

สวัสดีค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์  ขอให้อาจารย์และครอบครัวมีความสุขค่ะ

พี่คิมอ่านบันทึกนี้  ตอนแรกก็ทึ่งในการสืบเสาะค่ะ จบลงด้วยขนลุกค่ะ  เพราะคุณหมอท่านยังอยู่ให้ข้อมูลและยังรักชาวหนองบ้วอยู่

เกาะลอยยังมีอยู่หรือเปล่าค่ะ  อยู่ทางทิศใดของหนองบัวคะ

และได้ ๔ ขอจากพระคุณเจ้าไปปฏิบัติอีกด้วย

ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีปีใหม่ครับพี่คิมครับ

  • ผมเองก็ทึ่งและตื่นเต้นครับ เป็นของขวัญปีใหม่ของเวทีคนหนองบัวที่ดูงดงามมากจริงๆครับ
  • ตอนนี้เกาะลอยไม่มีแล้วครับ เหลือแต่สระขนาดใหญ่ที่เขาขุดเกาะตรงกลางออกไปแล้ว หากเข้าไปในตัวเมืองอำเภอหนองบัว เดินทางไปจากพิษณุโลกหรือกรุงเทพฯก็ต้องเข้าทางเดียวกันคือสี่แยกชัยภูมิฯ พอไปถึงสี่แยกตลาดหนองบัวอย่างในภาพนี้แล้ว(แต่ตอนนี้ไม่โล่งอย่างนี้หรอกนะครับ) เลี้ยวซ้ายเข้าตลาด เกาะลอยก็จะอยู่ด้านทิศใต้ครับ ขับรถไปเรื่อยๆก็เจอ
  • พี่คิมสบายดีนะครับ ตอนนี้ทางเหนือคงหนาวน่าดู

นำภาพฟ้าสวย เช้านี้ที่บ้าน  ✿อุ้มบุญ✿ มาคารวะท่านด้วยความระลึกถึงค่ะ 

http://gotoknow.org/blog/khonsanfun/418282

  • เป็นการมาเยือนของคนทำงานสุขภาพด้วย
  • พร้อมกับนำสุนทรียภาพในชีวิตที่เห็นอยู่รอบกายมาแบ่งปันกันด้วย
  • พูดน้อยแต่สื่อความนัยถึงป้าหมออรุณได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ
  • เป็นการให้รุ่งอรุณยามเช้าจากป่าติ้ว ยโสธร ได้เป็นสื่อทักทายกันในยามอรุณรุ่งแห่งปีกระต่ายทองแก่เวทีคนหนองบัวและทุกท่านเลยนะครับ

รักแม่หมอมากค่ะ...เกรซเองค่ะ

  • มีชาวบ้านกล่าวถึงหมอฝรั่งอีกสองคน หมอผู้หญิงกับหมอผู้ชาย
  • ไม่ทราบว่าคุณเกรซ เป็นหมอ(เกรซ)ที่ชาวบ้านกล่าวถึงเมื่อกล่าวถึงคุณหมออรุณหรือเปล่าครับ
  • แต่ถึงแม้จะใช่หรือไม่ใช้ ทว่า เป็นผู้รู้จักและคุ้นเคยกับคุณหมออรุณด้วย ก็สามารถเขียนถึงท่านได้ครับ คนหนองบัวกล่าวถึงท่านด้วยความรัก เคารพ และรำลึกถึงนะครับ หากมีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับท่านให้รวบรวมไว้ เชื่อว่าทุกคนก็จะดีใจ
  • เมื่อตอนพวกเราไปจัดนิทรรศการและทำให้งานงิ้วหนองบัวเป็นวาระการเรียนรู้ตนเองของคนหนองบัวได้มากมายหลายมิตินั้น มีชาวบ้านหลายคนกล่าวรำลึกถึงท่านได้เป็นอย่างดีครับ

 

ผมเป็นหลานของลุงจำลอง อ่วมวงษ์ บ้านเกิดที่ นครชุม เมือง กำแพงเพชร ลุงลอง เป็นบุตรของ นายเปล่ง อ่วมวงษ์ ครับ ป้าหนิม ลุงลอง มาพักที่บ้านผม เมื่อมาเยี่ยม คุณตาที่ กำแพงเพชร แต่ตอนนั้นยังเด็กมาก ไม่ประสีประสาอันใด..และพี่ชำนาญ ยาใจ ก็เป็นญาติกัน (ตอนนี้ไม่รู้อยู่ที่ไหน) แต่อ่านเรื่องราวของชุมชนหนองบัวแล้ว ประทับใจครับ..ผู้คนในชุมชน..คนเล่า..มีอรรถรสน่าติดตาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท