ความยากจน ความร่ำรวย อยู่ที่การทำตัวของแต่ละคน


แก้ด้วยการเพิ่มจะเสริมปัญหา แก้ด้วยปัญญาปัญหาจะลด

คำศัพท์ที่พบบ่อยที่สุดของงานพัฒนาคือ

การแก้ไขปัญหาความยากจน

แต่..ผมคิดว่า

ปัจจุบันเรายังอาจจะไม่เข้าใจว่าความยากจนที่แท้จริงคืออะไร

ที่ทำให้เรายังทำงานแบบไม่ก้าวหน้า บางทีอยู่กับที่ และบางครั้งดูเหมือนว่าจะถอยหลังด้วยซ้ำ

เช่น

การตั้งกองทุนกู้ยืมต่างๆ ที่คิดว่าจะช่วยแก้ไขความยากจน

แต่มักลงท้ายที่ทำให้คนมีหนี้มากกว่าเดิม ที่เมื่อหักลบกลบหนี้แล้วพบว่า คนมีทรัพย์สินน้อยกว่าเดิม

ที่ไม่น่าจะเรียกว่า ก้าวหน้า แต่ควรจะเรียกว่าถอยหลัง

เมื่อหลายปีก่อน ผมไปได้หนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งจากวัดที่เชียงใหม่ มีข้อความหนึ่งบอกว่า

“แก้ด้วยการเพิ่มจะเสริมปัญหา แก้ด้วยปัญญาปัญหาจะลด”

ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีคิดที่ใช้ได้จริง

เพราะการเพิ่มใดๆ ปัญหาก็จะตามมาอีก ปัญหาเก่าก็ยังไม่ได้แก้ ปัญหาใหม่ก็ทับมาอีก ที่จะต้องแก้ทั้งสองทาง

แต่เรามักจะกลบเกลื่อนไว้ ด้วยการเพิ่มเข้ามาใหม่อีก ทำให้ปัญหาพอกหางหมูไปเรื่อยๆ ยากแก่การแก้ไข และหนักหนาขึ้นไปเรื่อยๆ

ความพยายามที่จะแก้ไขใหม่ ก็ทำแบบเดิมๆอีก

แบบ “คิดใหม่ ทำเหมือนเดิม”

ส่วนตัวผมเองนั้น ได้แนวคิดการแก้ปัญหาความยากจนมาจาก การเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน มีข้าวไม่พอบริโภค มีนาและที่ทำกินน้อย จนแบ่งกันไม่ได้

ครอบครัวของพ่อแม่ผมต้องเผชิญปัญหาสารพัด รอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่เราก็ไม่เคยย่อท้อ

ในระยะสั้น ต้องทำมาหากินแบบวันต่อวัน ทุกคนช่วยกันหากับข้าว เพราะไม่มีที่ซื้อ ไม่มีเงินซื้อ ต้องปลูกผัก เลี้ยงปลา หาปลา ฯลฯ

ในระยะกลาง ก็วางแผนให้ข้าวที่มีน้อยนั้นพอกินให้ได้ โดยให้ลูกชายไปอยู่วัด

ในระยะยาว ก็สู้ชีวิตทุกรูปแบบ เก็บหอมรอมริบ ไม่กู้ยืม ยกเว้นครั้งที่พี่ชายคนโตผมต้องใช้เงินเรียนหนังสือ ที่พ่อผมได้ไปขอยืมเงินน้องมาหลายครั้ง รวมกันแล้วทั้งหมดประมาณ ๓๐๐๐ บาท ที่ดูเหมือนจะเป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่มากของครอบครัว ที่ผมได้ยินแม่ของผมบ่นบ่อยมาก ตอนนั้นผมเด็กเกินไปที่จะรับรู้ความทุกข์ของพ่อแม่ แค่รำคาญมากกว่า

นั่นคือเงินก้อนเดียวที่ครอบครัวผมยืม และพี่ชายคนโตผมก็ส่งคืนให้จนหมดหลังจากได้ทำงาน

เป็นสิ่งที่ผมรับรู้ และไม่เคยกล้าขอเงินพ่อแม่เลย เพราะรู้ว่าท่านคงไม่มี ถ้ามีจะไปยืมเขาให้ทุกข์ทำไม

พ่อผมเล่าให้ฟังว่า เพื่อนบ้านชอบเปรยแบบประชดว่า “จนแล้วไม่เจียม ยังส่งลูกไปเรียนหนังสือผลาญเงินทองอีก” ที่พ่อแม่ผมก็ไม่เคยตอบโต้ เพราะครอบครัวเราก็จนจริงๆ และพิจารณาแล้วว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหนีพ้นความยากจนที่เป็นอยู่ได้

จากความทุกข์ในครอบครัว ที่เกิดมาจากการกู้เงินให้พี่ชายคนโต ทำให้การเรียนของผมกับพี่ชายคนเล็ก ไม่มีการกู้ยืมเงินอีกเลย แต่ใช้ทุกแรงในครอบครัวช่วยกันสู้ทั้ง ใช้เท่าที่มี ไม่มีก็ไม่ใช้ สภาพการอยู่แบบ “อดมื้อกินมื้อ” ในระหว่างเรียนชั้นมัธยมแบบอยู่ไกลบ้านนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่เคยไปขอใคร มีเท่าไหร่ก็ต้องหาวิธีจัดการและแบ่งใช้ให้พอให้ได้ ไม่เคยขอเพิ่ม ไม่มีก็อดไว้ก่อน

และในช่วงที่เราลำบากนั้น ไม่เคยมีใครสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือ หรือได้รับทุนการศึกษาใดๆ

(ผมเพิ่งได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจากการสอบแข่งขันหลังจากจบปริญญาตรี และทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกจากการทำงานในโครงการวิจัย ในภายหลัง)

ถึงวันนี้ครอบครัวผมรอดจากความจนมาได้ทุกคน และไม่มีญาติพี่น้องคนใดกล้าดูถูกตระกูลผม เหมือนเช่นที่เคยโดนค่อนแคะสมัยที่ผมเด็กๆ

และเรามีมากพอที่จะช่วยญาติพี่น้องที่เคยค่อนแคะเรา ที่ทำให้เขาตระหนักว่าการตัดสินใจของพ่อและแม่ผมนั้นทำถูกต้องแล้ว เราทำบุญรวมญาติทุกปี เลี้ยงอาหาร แจกของขวัญ ให้กับทุกคนเป็นประจำ มิใช่อวดมั่งอวดมี แต่เป็นการทำบุญให้กับพ่อแม่ที่ทุกข์ยากมาตลอดชีวิตของท่านเพื่อเรา

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการแก้ปัญหาความยากจนในระดับครอบครัว

ที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความอดทด อดออม จึงรอดมาได้

แต่การพัฒนาสมัยใหม่ของเราชอบคิดแบบก้าวกระโดด แก้จากภายนอก มีแต่การสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นแบบนำไปสู่การหาทางออกได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่พ่อผมไปยืมเงินน้องมาให้พี่ชายผมเรียน ที่ถ้าเป็นแนวคิดในปัจจุบันอาจจะเสียที่นาที่บ้านไปแล้ว

แต่ที่นาของแม่ผมจำนวน ๔ ไร่กว่าๆ และที่บ้าน ๒ งาน ที่แบ่งกันไม่ได้เพราะมีน้อย ก็ยังคงอยู่เท่าเดิมจนถึงปัจจุบัน

ผมจึงได้ข้อสรุปว่า ดังที่มีคนสอนไว้ว่า

“อยู่อย่างคนจน ไม่มีวันจน”

เพราะคนจนจะกินน้อย ใช้น้อย ไม่ใช้ของที่ไม่จำเป็น ทำงานช่วยเหลือตัวเองมาก

ที่จะนำไปสู่การสะสมทุน และหนีพ้นจากความจนได้ในเวลาไม่นาน

ขอให้มีความเข้าใจ ตั้งใจ มีความอดทน ใฝ่เรียน ใฝ่รู้

และความรู้นี่เองที่จะทำให้เกิดปัญญาที่จะหนีพ้นความจนได้ อย่างแน่นอน

ผมจึงได้ข้อสรุปว่า

ความยากจน ความร่ำรวย อยู่ที่การรู้เท่า รู้ทัน และการทำตัวให้ถูกต้อง แล้วจะไม่มีวันจน

ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนนั้น ต้องไปแก้ที่ความคิดครับ การแก้จากภายนอก และการกู้ยืมนั้น ไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการปกปิดและซ้ำเติมให้ปัญหาหนัก และแก้ได้ยากขึ้นครับ

ผมมีประสบการณ์อย่างนี้ และคิดอย่างนี้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 417106เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2010 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะดร.แสวง คำคมจริงๆค่ะ

“แก้ด้วยการเพิ่มจะเสริมปัญหา แก้ด้วยปัญญาปัญหาจะลด”

อธิบายได้เข้าใจดีครับ ความยากจน และความอยากจน ต่างกันมาก

นำภาพสวยๆมาฝากท่านอาจารย์ครับ


  • อิ่มเอมใจที่ได้แวะมาเติมเต็ม  เรื่องราวดีดีให้ชีวิต
  • กราบสวัสดีปีใหม่ด้วยนะคะ

 

 

กราบสวัสดีท่านอาจารย์แสวงส่งท้ายปีเก่าค่ะ

ความรวยหรือจนอยู่ที่ใจ ถ้ามีที่(ดิน)ก็มี(หน)ทาง

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกอันทรงคุณค่าค่ะ :)

ขอขอบคุณครับทุกท่านที่มาอวยพร ขอให้ท่านได้รับแต่สิ่งดีๆเช่นกัน

ธรรมะสวัสดีครับ

เป็นข้อคิดที่ยิ่งใหญ่มากครับอาจารย์

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

    อ่านแล้วก็สรุปในใจ คล้ายดังที่ท่านอาจารย์กล่าว ก็นึกถึงความหลังของกระผมเองบ้าง ถึงกับน้ำตาคลอเลยครับผม “แก้ด้วยการเพิ่มจะเสริมปัญหา แก้ด้วยปัญญาปัญหาจะลด” ในชีวิตกระผม สรุปสั้นจริงๆคือ "จนปัญญา"  ก็อันเดียวกันกับที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ ครับผม บางทีก็คุยกับตัวเองก็สรุปว่าท้ายที่สุดแล้ว โลกเราก็วนๆเวียนๆอยู่เช่นนี้เอง โลกหนอโลก

ด้วยความเคารพครับผม

  นิสิต

รอดมาแล้วควรสรุปบทเรียนมากกว่าที่จะไปกังวลกับอดีต ผ่านไปแล้วอย่าให้มันวนมาอีกเป็นใช้ได้

เดินหน้าอย่างเดียว ไม่มีเกียร์ถอยหลังครับ

ขอบคุณครับ ขอให้โชคดีตลอดปีใหม่ครับ

เป็นแง่คิดที่ดีมากครับ ผมเห็นจริงกับอาจารย์ทุกบท ทุกตัวอักษรเลยครับ

ผมจะได้นำไปเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตต่อไปครับ ขอบคุณครับ

ดีเลยครับ ขอให้สำเร็จดังใจหวังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท