บทสรุปผู้บริหาร รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ ๑ จากโครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที ICT Youth Connect


คณะนักวิจัยได้จำแนกเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที หรือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ออกเป็น ๕ กลุ่มหลักกล่าวคือ (๑) ด้านการศึกษา (๒) ด้านการสื่อสาร (๓) ด้านการขับเคลื่อนสังคม (๔) ด้านเศรษฐกิจ และ (๕) ด้านซอฟท์แวร์

 (๑)              ผลการดำเนินการด้านกิจกรรมในการศึกษาภายใต้โครงการ

          ในการทำงานภายใต้โครงการจัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายหลักในการแสวงหาองค์ความรู้ในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในโครงการฯนี้ได้กำหนดวิธีการศึกษาเป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ กล่าวคือ (๑) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างเครือข่ายเด็ก และ เครือข่ายปัจจัยที่ส่งผลการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ได้ (๒) การสัมภาษณ์เชิงลึกกรณีศึกษาตัวอย่าง (๓) การจัดเวทีวิชาการนำเสนอผลการศึกษาเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงกฎหมาย และ นโยบายต่อไป

          ในระยะแรกของการศึกษาในโครงการฯนี้ เป็นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเด็ก เยาวชนที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ การจัดกิจกรรมการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรเครือข่ายภาคีในการช่วยค้นหาเครือข่ายเด็ก เยาวชน โดยมีประเด็นที่หารือร่วมกันถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อที่จะสามารถต่อยอดจากประสบการณ์ความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว โดยมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเด็ก เยาวชน จำนวน ๑ ครั้ง ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ มีการจัดกิจกรรมการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรจำนวน ๖ ครั้ง กล่าวคือ

ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓  นาวาตรี วุฒิพงษ์  พงษ์สุวรรณ  รักษาการ ผอ.สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (SIPA)

‎          ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๒ ‎กันยายน ๒๕๕๓ คุณสุธิสา มักเจริญผล  ผู้จัดการบริษัท Gigabyte Thailand

ครั้งที่ ๓ วันที่๒๘ ‎กันยายน ๒๕๕๓  ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล  รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC

ครั้งที่ ๔ วันที่ ๒๕ ‎ตุลาคม ‎๒๕๕๓  ผอ.มยุรี รัตนมุง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ

ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ดร.กว้าน สีตะธนี  รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC

ครั้งที่ ๖  วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓  เข้าพบหารือกับ  คุณอาวีพรรณ  อินทรเสาร์  โครงการทรูปลูกปัญญา ดอทคอม  บริษัท ทรู คอปเปอร์เรชั่น จำกัด

(๒)              แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจำแนกเครือข่ายเด็กหัวใส

ในเบื้องต้นทางคณะนักวิจัยได้จำแนกเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที หรือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ออกเป็น ๕ กลุ่มหลักกล่าวคือ  

(๑) ด้านการศึกษา เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเนื้อหาความรู้ประกอบการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเฉพาะ ในระบบการศึกษาตามหลักสูตรต่างๆ เช่น การพัฒนาบทเรียนสื่อออนไลน์ (E-learning) หรือ ในกรณีของการจัดทำฐานข้อมูลของชาติ เป็นต้น

(๒) ด้านการสื่อสาร เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปยังสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักสื่อสารสาธารณะในสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ชุมชนสามารถสื่อสารเรื่องราว ข้อมูลข่าวสารจากพื้นที่ของตนเองไปยังสังคมได้

(๓) ด้านการขับเคลื่อนสังคม เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเชิงบวกของประเด็นการขับเคลื่อนต่างๆในสังคม เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสื่อสารเรื่องราวของเด็กไร้สัญชาติในแง่มุมของความเป็นตัวตน และ พลเมืองที่ดีของสังคม เป็นต้น

(๔) ด้านเศรษฐกิจ เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ หรือสามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในแง่ของการใช้ซอฟท์แวร์ทางเทคนิคมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน รวมไปถึง การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแวดวงของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การเป็นผู้ดูแลชุมชนเกมออนไลน์ หรือ Game Master หรือ เป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารเกม เป็นต้น

(๕) ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการทำงานสนับสนุนด้านซอฟท์แวร์ให้กับผู้อื่น เช่น โปรแกรมพัฒนาออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมในการออกแบบฟอนต์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และ หมายรวมถึง การคิดค้นพัฒนาโปรแกรมหลัก เช่น การออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ของตนเอง เป็นต้น

ในแต่ละกลุ่มยังพบว่า เครือข่ายเด็กยังมีระดับของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็น ๓ ระดับ กล่าวคือ ระดับพื้นฐาน เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาตนเอง ระดับพัฒนา เป็นการเติบโตจากเครือข่ายในระดับพื้นฐาน โดยมีตัวชี้วัดคือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคมในระดับกว้างมากขึ้น และ ระดับเครือข่าย เป็นระดับสูงสุดที่เครือข่ายเด็กเริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มเครือข่ายเด็กในการทำงานซึ่งอาจจะมีการทำงานในกลุ่มเดียวกัน หรือ ระหว่างกลุ่ม

ความน่าสนใจและความท้าทายของการพัฒนาต่อยอดแนวคิดในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม คือ การสร้างสรรค์โจทย์ทางสังคมที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาในสังคมได้อย่างแท้จริง และ ตอบสนองต่อสถานการณ์อันเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากขึ้น เช่น การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ จากทั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูลนำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จากเครือข่าย ทำให้สามารถรู้ได้ว่าจุดใดบริเวณใดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นความท้าทายในส่วนของ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาต่อยอดประสบการณ์ความสำเร็จของเครือข่ายเด็ก เยาวชน ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้เกิดการต่อยอดเชิงรูปธรรมที่เป็นผลมาจากการเริ่มต้นที่มีอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายเด็ก เยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะสามารถพัฒนาผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นไปสู่การพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น

(๓)              แผนการทำงานในระยะที่ ๒ ของโครงการฯ

ในด้านแผนการทำงานในระยะที่ ๒ จะเป็นการทำงานในส่วนของ (๑) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเด็ก เยาวชนที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในทั้ง ๕ ประเด็น เพิ่มเติม เพื่อทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นและการสร้างแนวคิดในการพัฒนาโจทย์ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ท้าทายในสังคม (๒) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม ทั้ง ปัจจัยในส่วนของตัวบุคคล เช่น โรงเรียน ครู พ่อแม่ พี่เลี้ยง และ ปัจจัยในส่วนของพื้นที่และโอกาส ทั้ง พื้นที่ออนไลน์ และพื้นที่ทางกายภาพ (๓) การจัดกิจกรรมการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรเครือข่ายภาคีในการช่วยค้นหาเครือข่ายเด็ก เยาวชน

หมายเลขบันทึก: 416711เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท