นักดนตรีบำบัดร่วมมือกับนักกิจกรรมบำบัดได้อย่างไร


ขอบคุณน้องกานต์ น้องเอ๋ และน้องโบ้ นักดนตรีศึกษา ว.ดุริยางคศิลป์ ที่มีจิตอาสาร่วมมือกับ ดร. ป๊อป นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ในการพัฒนาการรู้คิดของกรณีศึกษาเด็กชายคนหนึ่ง

ขอบคุณน้องกานต์ น้องเอ๋ และน้องโบ้ นักดนตรีศึกษา ว.ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ที่อบรมดนตรีบำบัดและมีจิตอาสาร่วมมือกับ ดร. ป๊อป นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ในการพัฒนาการรู้คิดของกรณีศึกษาเด็กชายคนหนึ่ง ณ คลินิกกิจกรรมบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ศาลาย เป็นครั้งแรก ใช้เวลา 30 นาที  

ผมคิดว่า กระบวนการบำบัดโดยศาสตร์และศิลป์ของสองวิชาชีพทางการแพทย์สากล ได้แก่ วิชาชีพดนตรีบำบัด และวิชาชีพกิจกรรมบำบัด มีความร่วมมือได้อย่างดี ถ้านักบำบัดทั้งสองวิชาชีพได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอกรณีศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

บันทึกนี้จึงขอขอบพระคุณ ดร.สายพิณ ที่แนะนำให้ ดร. ป๊อป รู้จักกับทีมนักดนตรีศึกษาที่ผ่านการอบรมดนตรีบำบัดและอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบจิตอาสา ในการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการบำบัดที่พิเศษ

กรณีศึกษาเด็กชายวัย 10 ปี แต่มีทุกขภาวะจากสมองพิการซ้ำซ้อน สามารถนั่งได้เองบนเบาะ แต่ผู้ปกครองต้องช่วยประคองด้านข้างเพื่อไม่ให้ล้มขณะทำกิจกรรมต่างๆ นานเกินกว่า 10 นาที เพราะเป็นช่วงความสนใจที่ทำกิจกรรมได้อย่างตั้งใจและไม่ง่วงนอน ที่สำคัญกรณีศึกษามีสภาวะหลีกหนีสัมผัส มีอาการแพ้ต่อวัตถุสัมผัสที่เป็นขน มีอาการแพ้อาหารและไรฝุ่นจนผิวหนังเป็นผื่นคัน และอารมณ์ต่อต้านถ้าให้หยิบจับแบบบังคับ และพลังงานทางร่างกายที่ใช้ไม่ราบเรียบ ต้องมีการให้เวลาผ่อนคลายนาน 10 นาที สลับกับการทำกิจกรรมแบบตั้งใจสลับกัน

ข้อมูลเหล่านี้ผมได้แนะนำทีมจิตอาสาดนตรีบำบัด และผมแนะนำให้ อ.วัฒนารี อาจารย์กิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ทำการประเมินและติดตามระดับการตื่นตัวของกรณีศึกษา (วัดอัตราการเต้นของชีพจรผ่านเครื่องวัด Oxymeter) พร้อมให้คะแนนความตั้งใจทำกิจกรรม (เต็ม 10 คะแนน) ด้วย และขอบคุณอาจารย์ด้วยครับที่บันทึกข้อมูลได้ชัดเจน

จากกราฟข้างล่าง ดร.ป๊อป ตั้งข้อสังเกตคือ กรณีศึกษามีชีพจรเต้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 134 (นาทีที่ 5) 132 (นาทีที่ 10) 130 (นาทีที่ 15) 129 (นาทีที่ 20) 128 (นาทีที่ 25) และ 126 (นาทีที่ 30) ครั้งต่อนาที และมีความสามารถทำกิจกรรมได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ถึง 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 และลดลงเป็น 4 คะแนน จาก 10 คะแนน เมื่อกรณีศึกษาทำกิจกรรมดนตรีที่ผ่อนคลายบ้าง ซึ่งในทางทฤษฎีของระดับความตื่นตัวเพื่อทำกิจกรรมใดๆ อย่างเหมาะสม (ตั้งใจเต็มที่สลับผ่อนคลาย) นั้นควรเป็นรูปตัว U คว่ำ และมีจุดสูงสุดไม่เกิน 120 ครั้งต่อนาที และน่าจะมีความสามารถทำกิจกรรมได้มากกว่า 7 จากเต็ม 10 คะแนน

จากการสังเกตทีมจิตอาสาดนตรีบำบัด น้องๆ เริ่มจัดวงเล่นดนตรีพร้อมกับกรณีศึกษาและผู้ปกครอง มีนักกิจกรรมบำบัดสองท่านร่วมวงด้วย มีน้องๆ ดนตรีศึกษาที่มุ่งมั่นศึกษาดนตรีบำบัดสามท่านตั้งวง (คนหนึ่งเล่นกีต้าร์ คนหนึ่งเขย่าเสียงดนตรี คนหนึ่งร้องเพลงและสื่อสารภาษาดนตรีกับกรณีศึกษา) ทีมน้องๆ ดนตรีศึกษาคอยนึกคิดและปรับจังหวะดนตรีให้สนุกสนานขึ้นเรื่อยๆ มีกิจกรรมประกอบจังหวะเสียงดนตรี เช่น หยิบตุ๊กตาสัตว์เข้าบ้านกลางวง เขย่าเสียงดนตรีตามผู้นำกลุ่ม เคาะ/ตีอุปกรณ์ดนตรีที่หลากหลาย เป็นต้น กลายๆ นาทีที่ 20-30 จังหวะดนตรีเริ่มผ่อนคลายและปิดกลุ่ม

ดร.ป๊อป จึงชี้แนะว่า "นักกิจกรรมบำบัดและนักดนตรีบำบัดควรปรับกิจกรรมการกระตุ้นการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหว และการสัมผัสจับอุปกรณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งหรือบังคับกรณีศึกษา และไม่ใช้ช่วงเวลาทำกิจกรรมการกระตุ้นนานเกิน 10 นาที ควรมีกิจกรรมการผ่อนคลายนาน 10 นาที สลับกับกิจกรรมการกระตุ้นด้วย" นอกจากนี้ทั้งสองวิชาชีพควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการใช้ดนตรีเป็นสื่อการรักษาในลำดับจากง่ายไปยาก จากระบบประสาทอัตโนมัติสู่ระบบประสาทแบบตั้งใจ จากอารมณ์ที่นิ่งรับรู้สู่การจัดการอารมณ์ได้อย่างมั่นคง และอาจมีการทำงานแบบ Buddy ในการสังเกตและเสริมสื่อการรักษาด้วยดนตรีในเป้าหมาย ความสนใจ และความต้องการของกรณีศึกษาแบบรายบุคคลก่อนที่จะคัดเลือกกลุ่มบำบัดแบบพลวัติด้วยความร่วมมือกันทั้งสองวิชาชีพ

นอกจากนี้ นักกิจกรรมบำบัดควรแสดงบทบาทให้นักดนตรีบำบัดเข้าใจกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสุขความสามารถ (ทักษะ) ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตปัจจุบัน ได้แก่ ทักษะการดูแลตนเอง ทักษะการศึกษา ทักษะการทำงาน ทักษะการใช้เวลาทำกิจกรรมยามว่าง ทักษะการนอนพักผ่อน และทักษะการมีส่วนร่วมเป็นพลเมืองดีในสังคม ซึ่งดนตรีเป็นสื่อการรักษาหนึ่งมิติที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 416172เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ไม่หยุดคิดและพัฒนาเลยนะครับ อาจารย์ป็อป ออกมาเป็นโปรแกรมที่ใช้ได้ทั่วไปคงจะมีประโยชน์มากๆนะครับ

ขอบคุณมากครับและส่งความสุขแด่คุณยงยศด้วยครับ

เมื่อวาน ลองสังเกตกรณีศึกษาสองราย ที่นักกิจกรรมบำบัดและนักดนตรีบำบัดจิตอาสาร่วมมือจัดกลุ่มกิจกรรมที่มีการเล่น การร้อง การฟังเสียงดนตรี การเคลื่อนไหว พร้อมๆ กัน อย่างต่อเนื่องนาน 30 นาที

แต่นักกิจกรรมบำบัดควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักดนตรีบำบัดมากขึ้น ถึงองค์ประกอบของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ที่ควรศึกษาและออกแบบว่าจะจัดสื่อดนตรีมาบำบัดกรณีศึกษาแต่ละบุคคลแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร

เช่น เด็กคนหนึ่ง Hyperactive & self-stimulation with sound ควรให้กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนเป็นจังหวะพร้อมการเคาะดนตรี ไม่ควรให้เดิน-วิ่ง และส่งเสียงร้องขณะเล่นดนตรีมากนัก เพื่อให้พฤติกรรมของเด็กรับรู้ถึงสภาวะนิ่งและไม่กระตุ้นเสียงของตนเองมากเกินความเหมาะสมอันเนื่องมาจากการรับรู้ทางการได้ยินจากหูไม่เท่ากันทั้งสองข้าง

ส่วนอีกคนหนึ่ง Hypoactive & Emotional disturbance with sound ควรให้กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดพร้อมจังหวะดนตรีหลายรูปแบบที่ไม่ดังจนเกินไป มีการร้องเพลงพร้อมแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม มีการเดินสลับวิ่งได้ แต่ต้องผ่อนคลายสลับเป็นช่วงๆ เพื่อให้เด็กรับรู้สภาวะร่างกายและอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม

ทั้งสองกรณีศึกษา ควรแนะนำผู้ปกครองว่าจะกระตุ้นอย่างไรด้วยสื่อดนตรี หรือสื่อกิจกรรมบำบัดอื่นๆ เพราะผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เทคนิคจากผู้บำบัดและนำไปใช้ต่อที่บ้าน/โรงเรียนอย่างแท้จริง มิใช่จบอยู่ที่นักกิจกรรมบำบัดและนักดนตรีบำบัดที่คลินิก

เมื่อจบกลุ่ม ทั้งสองวิชาชีพควรสรุปประเมินผลว่า กิจกรรมช่วงรายละเอียดใดที่ต้องได้รับการบำบัดโดยหนึ่งวิชาชีพ หรือสองวิชาชีพ หรือแยกจัดกลุ่มที่เหมาะสมเพื่อความก้าวหน้าของการบำบัดฟื้นฟูเด็กพิเศษต่อไป

ดร. ป๊อป ขอขอบคุณน้องๆ ทีมนักดนตรีบำบัดจิตอาสา ว.ดุรางยางคศิลป์ ม.มหิดล และทีมนักกิจกรรมบำบัด คลินิกกิจกรรมบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล มากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ป๊อป ผมชื่อหมูนะครับ ตอนนี้กำลังศึกษาวิชาดนตรีบำบัดที่ประเทศเยอรมนีในระดับปริญญาโทอยู่ เห็นโครงการของอาจารย์แล้วน่าสนใจดีครับ อยากจะขอแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นบ้างนะครับ ขอบคุณมากครับ

ยินดีที่ได้รู้จัก และอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับกับคุณหมู

ขอบคุณมากครับอาจารย์ป๊อป ที่ทำให้ผมเห็นถึงศักยภาพและการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของกิจกรรมบำบัดครับ

ขอบคุณครับน้องหนุน นักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นที่ 4 ม.มหิดล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท