1. Good To Great การสร้างองค์กรแห่งความยิ่งใหญ่ (2) ภาวะผู้นำตามแนวคิดของกูรู Jim Collins


1. Good To Great การสร้างองค์กรแห่งความยิ่งใหญ่ (2) ภาวะผู้นำตามแนวคิดของกูรู Jim Collins

 

 

 

 

"Good To Great  การสร้างองค์กรแห่งความยิ่งใหญ่ (2)

ภาวะผู้นำตามแนวคิดของกูรู Jim Collins"

 

ภาวะผู้นำกับความเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่...

          การสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่ (Great) เป็นกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา  ไม่ใช่สิ่งที่จบสิ้นในตัวของมันเอง เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าองค์กรของตัวเองยิ่งใหญ่แล้ว  เมื่อนั้น  ผลงานก็จะไม่ต่างจากเดิมหรืออาจขึ้น ๆ ลง ๆ ดังนั้น  องค์กรจำเป็นต้องเปรียบเทียบความก้าวหน้ากับสถานะเดิมของตนเองอยู่ตลอดเวลา

            ปฐมบทที่ยกมา คือ แนวคิดของ Jim Collins ในหนังสือขายดีชื่อ Good To Great ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 กูรูด้านการจัดการท่านนี้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ซึ่งอาจสรุปด้วยภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า ผู้บริหารขององค์กรที่จะมุ่งสู่ความยิ่งใหญ่ ต้องคิดก่อนว่า "จะเอาใคร" (มาทำงาน) แล้วค่อยมาดู "จะเอาอย่างไร" (กำหนดทิศทาง เป้าหมายและวิธีการทำงาน) ทีหลัง โดย Jim Collins ค่อนข้างจะเชื่อว่าผลงานอันเป็นเลิศเกิดจากการที่องค์กรมีคนที่ถูกต้องเหมาะสม และผู้บริหารทุกระดับมีภาวะผู้นำอย่างแท้จริง ดังนั้น ฉบับนี้จึงขออธิบายแนวคิดเกี่ยวกับผลงานและระดับของผู้นำที่จะนำพาองค์กรก้าวกระโดดจากระดับ "แค่ดี" ไปสู่ระดับที่ "ยิ่งใหญ่" เพราะเชื่อว่าแค่ดี...เท่านั้นยังไม่พอ

ผลงาน 3 ระดับ...

           Jim Collins จำแนกผลผลิตหรือผลงานขององค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ไว้ 3 ระดับ  กล่าวคือ...

            ระดับที่ 1  คือ  การส่งมอบผลงานที่เหนือคู่แข่ง (Deliver superior performance) โดยในภาคเอกชน  คำว่า  ผลงานอาจจะวัดจากผลตอบแทนด้านการเงินและการที่บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนในภาครัฐหรือภาคสังคมนั้น ผลงานควรจะหมายถึง ผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการส่งมอบหรือการทำงานให้บรรลุพันธกิจ

             ระดับที่  2  คือ  การสร้างผลกระทบที่มีความแตกต่าง (Make a Distinctive Impact)  กล่าวคือ  องค์กรสร้างผลงานที่สามารถตอบสนองความต้องการ จนทำให้ชุมชนหรือกลุ่มของผู้รับบริการรู้สึกว่าผลงานดังกล่าวมีความหมายต่อพวกเขาหรือรู้สึกถึงความแตกต่างว่า  สิ่งที่ได้รับนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจจริง  ดีกว่าได้รับจากองค์กรอื่น มีความเป็นเลิศ และไม่มีองค์กรไหนมาแทนได้หรือเปรียบเทียบได้

             ระดับที่ 3  คือ  การบรรลุความสำเร็จที่ยั่งยืน (Achieve Lasting Endurance) ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำคนใดคนหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่ง หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวคิด นวัตกรรมหรือวงจรการตลาดเพียงอย่างเดียว  แต่เมื่อเกิดปัญหาในจุดใดในช่วงเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถปรับปรุงแก้ไขและกลับมามีความเข้มแข็งกว่าเดิมเสียอีก

               องค์กรที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มุ่งเน้นความสำเร็จที่ยั่งยืน และผู้บริหารที่จะสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้  จะต้องเป็นผู้นำที่ Jim Collins เรียกว่า  "ผู้นำระดับที่ 5 หรือ Level 5 Leadership" แต่ก่อนที่จะกระโดดไปทำความรู้จักกับผู้นำระดับนี้  จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำในระดับอื่น ๆ ก่อน ดังนี้  :

ผู้นำ  5  ระดับ...

             ผู้นำในองค์กรภาครัฐหรือองค์กรในภาคสังคมนั้นมีขีดความสามารถและอำนาจในการตัดสินใจในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้นำในองค์กรเอกชนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารงาน  แต่การแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำอาจแตกต่างกันเนื่องจากโครงสร้างการบริหารและการตัดสินใจในภาครัฐ (Governance Structure)  มีความซับซ้อนและกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ในมือของผู้บริหารสูงสุดอย่างภาคเอกชน Jim Collins จึงแบ่งทักษะการเป็นผู้นำออกเป็น 2 ประเภท  คือ...

              1. Executive Leadership หมายถึง ผู้นำที่มีอำนาจเต็มที่หรืออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล และ

               2. Legislative Leadership หมายถึง  ผู้นำซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจที่ตนมีสำหรับการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ต้องอาศัยการโน้มน้าวจูงใจและการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ในการวิจัยเรื่องสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Jim Collins พบว่า  ผู้นำมีขีดความสามารถ 5 ระดับ  กล่าวคือ...

        ระดับที่  1  คือ  ผู้ที่มีความสามารถสูง (Highly Capable Individual) สามารถนำความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและพฤติกรรมที่ดีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีผลผลิตสูง

          ระดับที่  2  คือ  ผู้ที่เน้นความสำเร็จของทีมงาน (Contributing Team Member) คือ  ผู้ที่ทุ่มเทขีดความสามารถของตนเองเพื่อให้เป้าหมายของทีมงานบรรลุผลและสามารถทำงานร่วมกับสมาชิกของทีมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย คือ  นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งแล้ว ยังใส่ใจต่อความสำเร็จของทีมงานด้วย

          ระดับที่  3   คือ  ผู้จัดการที่มีขีดสมรรถนะ (Competent Manager)  คือ  ผู้ที่มีขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรและบุคลากรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนด อย่างมีประสิทธิภาพและเดประสิทธิผล คือ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่ใส่ใจทั้งคนและความสำเร็จงาน

            ระดับที่ 4  คือ  ผู้นำที่มีประสิทธิผล (Effective Leader) คือ ผู้ที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้คนในองค์กรเกิดความมุ่งมั่น  ผูกพันและกัดไม่ปล่อยในการที่จะทำงานให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลงานยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            ระดับที่  5 คือ  ผู้บริหารที่แท้จริง (Executive)  คือ  ผู้ที่เน้นการสร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และยั่งยืน ด้วยการผสานความเป็นมืออาชีพ (Professional Will) เข้ากับความอ่อนน้อมถ่อมตน (Personal Humility) ได้อย่างแนบเนียนเป็นเนื้อเดียว

            Jim Collins  กล่าวว่า  ถ้าเป็นในภาคธุรกิจ  โครงสร้างการบริหารและสายการบังคับบัญชามักจะชัดเจน  ตรงไปตรงมา และผู้บริหารมีอำนาจเต็มที่  ดังนั้น  การใช้อำนาจทางการบริหารกับการแสดงภาวะผู้นำจึงมักจะไปด้วยกัน แต่ในภาครัฐหรือในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้น  Jim Collins เห็นว่า  ผู้นำระดับที่  5  มีความสำคัญยิ่ง เพราะการใช้อำนาจสั่งการอย่างเดียวนั้น อาจไม่ได้ผล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ James MacGregor Burns ที่กล่าวว่า "การแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำเป็นคนละเรื่องกับการใช้อำนาจ" เพราะโครงสร้างการบริหารในภาครัฐมีระบบย่อยมากมายและคลุมเครือ  อำนาจทางการบริหารกระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน และมีการถ่วงดุลกันหลายฝ่าย  การแสดงภาวะผู้นำในภาครัฐจึงยากกว่าในภาคเอกชน เพราะเกี่ยวข้องกับการทำให้คนยอมทำตามด้วยความเต็มใจมากกว่าการบังคับให้ทำตามระเบียบหรือการสั่งการอย่างผู้บริหารในภาคเอกชน...

            ความเข้าใจเรื่องแนวทางสำหรับสร้างผลงานทั้ง 3 ระดับ และขีดความสามารถของผู้นำทั้ง 5 ระดับ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจขีดความสามารถในการเป็นผู้นำของผู้บริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน  เพราะองค์กรที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นั้นไม่ได้เกิดจากสถานการณ์พาไป แต่เกิดจากการเลือกหรือตั้งใจที่จะเป็นและความมีวินัย

            ภาวะผู้นำที่เหมาะสมไม่ใช่หลักในการบริหารเท่านั้น  แต่เป็นหลักในการสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่ด้วย...

   

ที่มา  :  สุรพงษ์  มาลี  หนังสือ  กระแสคน  กระแสโลก  สำนักงาน ก.พ.

เล่ม 5  หน้า 17 - 21  กันยายน  2553

(เปิดโลกความรู้  พัฒนาทุนมนุษย์)

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับประจำวันที่ 6 - 12 กุมภาพันธ์ 2552

  

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 416027เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์...

-สบายดีนะครับ...

-ภาวะผู้นำที่เหมาะสมไม่ใช่หลักในการบริหารเท่านั้น  แต่เป็นหลักในการสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่

-ขอบคุณครับ

-เก็บภาพกีฬามาฝากครับ

การสร้างองค์กรแห่งความยิ่งใหญ่ ถ้าจะใช้หลักทางพุทธศาสนาเป็นแนวทางการพัฒนา น่าจะเหมาะสมกับบริบทกับประเทศไทยนะ ช่วยคิดให้ด้วยน่าจะใช้หลักธรรมใด ที่คิดได้ในขณะนี้ คือ อิทธิบาท 4 กับ พรหมวิหาร 4

สวัสดีค่ะ...คุณเพชรน้ำหนึ่ง...

  • การแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำเป็นคนละเรื่องกับการใช้อำนาจด้วยค่ะ...
  • ภาวะผู้นำเป็นการสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่ค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาค่ะ...
  •  

 

สวัสดีค่ะ...คุณเพชร บ้านแหลม...

  • หลักธรรมที่ควรใช้อีกเรื่อง ได้แก่ หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งไม่จำเป็นที่จะใช้ได้กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว สามารถนำมาใช้กับผู้บริหารระดับสูงได้ด้วยค่ะ...
  • ศึกษาได้ตามบล็อกด้านล่างนี้ค่ะ...
  • http://gotoknow.org/blog/bussaya11/405031
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท