เราไม่เห็นอะไรจากวิกฤติหนี้โรงพยาบาลรัฐ


ผมอยู่กับความจริง และเชื่อว่ามีเพื่อนร่วมวิชาชีพอีกหลายคนที่ยังอยู่ในวังวนเหล่านี้ เราต้องการเพื่อนร่วมงานมากขึ้น กำลังใจ และไม่เคยปฏิเสธงานหนัก....วันนี้ก็ยังทำงานตรวจคนไข้อยู่ครับ

ผมมีโอกาสได้ติดตามอ่านงานเขียนในหนังสือฉบับขนาดกะทัดรัดเล่มหนึ่งเป็นประจำ จัดพิมพ์โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ(สวค.) ชื่อผีเสื้อขยับปีก

เนื้อหาโดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพซึ่งชื่อของสำนักก็บ่งบอกถึงภารกิจอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยในหลักการหลานเรื่อง แต่ในฉบับที่ ๔ :๒๕๕๓ ปีที่ ๓  บทความโดยกองบรรณาธิการ เรื่อง เราไม่เห็นอะไรจากวิกฤติหนี้โรงพยาบาลรัฐ เนื้อความบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นว่าเหตุแห่งปัญหาทางการเงินของโรงพยาบาลภาครัฐ อยู่ที่การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน ในความเห็นยังบอกด้วยว่าการปรับค่าตอบแทนโดยใช้วิธีคำนวณจากระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่และประเภทพื้นที่ที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ ไม่มีการเชื่อมโยงกับคุณภาพและปริมาณงาน บางแห่งได้สูงถึงเดือนละ ๗๐๐๐๐ บาท และเป็นเหตุให้เกิดกระแสความไม่พอใจแก่บุคลากรในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปจนต้องมีการจ่ายให้เช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่า ในตอนท้ายได้สรุปว่าวิธิการที่น่าจะเหมาะสมควรเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเช่น โรงพยาบาลพาน จ.เชียงราย

      ผมทำงานอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอตั้งแต่จบกว่า ๑๘ ปี เห็นสภาพปัญหาการขาดแคนบุคลากรที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ครั้งหนึ่งเมื่อปัญหานี้ได้รับความสนใจจากสังคมมากมีการจัดสัมมนา ณ ที่หนึ่งในกรุงเทพฯ มีแพทย์หลายท่านได้กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำไมแพทย์ต้องลาออกจากราชการ แต่อยู่ที่ว่าทำไมยังมีแพทย์ที่ทนทำงานอยู่กับราชการ การวิเคราะห์ทุกครั้งผลสรุปไม่เคยแตกต่างไปจาก สองสามประเด็นหลัก คือ ค่าตอบแทนต่ำ งานหนัก ไร้ศักดิ์ศรี(โดยเฉพาะในเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน) อยู่ที่ว่าใครจะเอาข้อไหนขึ้นก่อนหลัง ผมเชื่อว่าคนที่ทนทำงานให้รัฐ ในพื้นที่กันดารระดับ 2 (ซึ่งมีไม่ถึง ๕ คนในปัจจุบัน) ได้ก้าวพ้นเกินกว่าคำว่าเสียสละมาหลายช่วงตัวแล้ว แต่ภาระการให้บริการแก่ประชาชนที่ไม่มีทางเลือกต่างหากที่รัฐต้องคำนึง  ตลอดอายุราชการที่ผมทำงานไม่เคยมีปีใดที่มีแพทย์ขอกลับเข้ารับราชการใหม่เป็นร้อยคนในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา (ในจังหวัดผมขอกลับเข้ารับราชการ 3 คนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งจังหวัด) ที่สำคัญถ้ายังทำงานอยู่ในพื้นที่จะรู้ว่าเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนส่วนนี้ของโรงพยาบาลชุมชนได้มาจากงบกลางของรัฐบาลไม่ได้ใช้จากเงินบำรุงของโรงพยาบาลโดยตรง ดังนั้นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอาจทำให้การวิเคราะหืคลาดเคลื่อนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      ผมอยู่กับความจริง และเชื่อว่ามีเพื่อนร่วมวิชาชีพอีกหลายคนที่ยังอยู่ในวังวนเหล่านี้ เราต้องการเพื่อนร่วมงานมากขึ้น กำลังใจ และไม่เคยปฏิเสธงานหนัก....วันนี้ก็ยังทำงานตรวจคนไข้อยู่ครับ

http://www.plkhealth.go.th/discuz/viewthread.php?tid=874

 

http://www.sungnoenhospital.com/index.php?option=com_content&view=article&id=7:2010-10-02-14-10-21&catid=9:2010-09-14-08-00-21&Itemid=74

หมายเลขบันทึก: 415243เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากบอกว่าขอเป็นกำลังใจให้ค่ะคุณหมอ หากมีอะไรให้ช่วยเหลือและกำลังของดิฉันสามารถช่วยได้ก็อย่าได้เกรงใจนะค่ะ สู้สู้ค่ะ

อาจารย์จันทวรรณครับ งานที่อาจารย์ทั้งสองทำอยู่ นับเป็นสิ่งสนับสนุนและกำลังใจให้กับคนทำงานอย่างมากแล้วครับ....เป้นกำลังใจสำหรับงานและครอบครัวของอาจารย์เช่นกันครับ

ถึงวันนี้ namsha ยังมั่นใจว่า  เราอยู่กับความจริง  และความงามของงานที่หล่อเลี้ยงหัวใจของตัวเอง  ให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี  แม้ใครหลายคนอาจจะบอกว่าศักดิ์ศรีกินไม่ได้  อุดมการณ์มีไปทำไม

หากพูดถึงค่าตอบแทนมันมักหงุดหงิดจนเกิดเป็นความขัดแยงกับใครต่อใครหลายคน  หลายวิชาชีพของคนในครอบครัวเดียวกัน

การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน  รพ.แก่งคอยก็กำลังทำอยู่ค่ะเป็นรุ่นที่สองต่อจาก รพ.พาน  น่าสนใจน่าศึกษาแต่เป็นไปตามสถานการณ์ทางการเงินของ รพ.มีเรื่องให้น่าศึกษามากในรายละเอียดค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณหมอนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท