เรียนรู้จิตวิทยาการสอนวิธีเรียนรู้ กับหนังเรื่อง “บ้านฉันตลก...ไว้ก่อน (พ่อสอนไว้)”


เรื่องของจิตวิทยาการสอน การเรียนรู้ ที่ครูน่าจะนำใช้ประยุกต์ในการเรียนการสอนได้

 

ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/download_detail.php?mid=418

 

หนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 แล้ว แต่ผมได้มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง จาก DVD กิตติศัพท์ของหนังเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ใครที่คิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังตลกประเภทเดิมๆ ที่ใช้ดาราตลกมาทำเรื่องไร้สาระ คงคิดผิด เพราะหนังเรื่องนี้ถ้าดูด้วยการนำเอาปรัชญาการเรียนรู้ และจิตวิทยาการสอนมาเชื่อมโยงแล้ว ต้องยอมรับว่า สอดแทรกสาระไว้อย่างลึกซึ้งจริงๆ นักวิจารณ์หนังทั้งหลายก็ให้ความชื่นชมกับหนังในเรื่องของความรักความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่ในบันทึกนี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในส่วนนี้เพราะคนส่วนใหญ่รับทราบจากสื่อต่างๆ และนักวิจารณ์อยู่แล้ว ในมุมมองของผมกลับมองในเรื่องของจิตวิทยาการสอน การเรียนรู้ ที่ครูน่าจะนำใช้ประยุกต์ในการเรียนการสอนได้

 

 ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/download_detail.php?mid=418

 

ยกตัวอย่างฉากหนังในตอนที่ “ต๊อก” กับเพื่อน ได้พยายามนำเอามุกตลกมาใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษ แต่คนในห้องไม่ขำ มิหนำซ้ำยังถูกครูทำโทษด้วยการให้คาบชอล์คอีกด้วย ในมุมมองของผมตามข้อมูลที่มีจากเนื้อเรื่องในหนัง คิดว่าครูยังไม่เข้าใจความรู้สึกและรับรู้ถึงศักยภาพของเด็ก เพราะอย่างน้อยเด็กก็มีความตั้งใจจะทำสิ่งที่คิดว่าเพื่อนๆ และครูจะได้รับความสุขกัน ดังนั้นครูน่าจะให้การส่งเสริมศักยกภาพเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ไปยังเนื้อหาของบทเรียนที่พึงประสงค์ ผมขอยกตัวอย่างบันทึกของท่าน อ. Small Man (วิชชา ครุปิติ ) ที่เขียนเรื่อง “เด็กชอบ Happy ถ้าจะดีต้อง Pleasure” ไว้ใน http://gotoknow.org/blog/wijcha/411850 ท่านกล่าวไว้ว่าการที่เด็กจะเรียนได้ดี ต้องให้ทำมีความสุขเสียก่อน นั่นคือการเรียนการสอนต้องทำให้เกิดความสนุกสนานเพลินเพลิน นักเรียนเรียนเรียนด้วยความเต็มใจ ด้วยแรงกระตุ้นจากภายในของตัวเอง ตามความปรารถนาของตน (Passion) ผมเชื่อว่า เมื่อผู้เรียนเกิดความฉันทะ (ความพึงพอใจ) ความวริยะ (ความตั้งใจ พากเพียร) จิตตะ (ความมีสมาธิจดจ่อ) และวิมังสา (ความเข้าใจ ทำงานโดยการประยุกต์เชื่อมโยงอย่างคุ้มค่า) ก็จะตามมาเอง

 

ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/download_detail.php?mid=418

 

จากการพูดคุยกับ ดร. อาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นครูเก่าของนิสิตมหาวิทยาลัยของหลายๆ ท่าน ได้บอกไว้ว่า การสอนคนต้องให้ครบทั้ง 4 อย่าง คือ สอนให้รู้ สอนให้เข้าใจ สอนให้เชื่อ และสอนให้ทำ ผมเข้าใจว่าเป็นหลักการที่ดีแต่ในทางปฏับัติผมคิดว่ายังเป็นเรื่องทางทฤษฎีค่อนข้างมาก ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดระดับ What คือ เราต้องการอะไร ถ้าให้ดีผมคิดว่าต้องให้ถึงระดับ How คือทำอย่างไร การสอนต้องมีกลยุทธ์ มีมุก อย่าให้เขารู้ว่ากำลังถูกสอน ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เขาสนุกกับการเรียนรู้ เช่น หากิจกรรมที่เขาชอบ ตามTrend นิยม เชื่อมโยงไปยังเนื้อหา

 

ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/download_detail.php?mid=418

 

ผมเริ่มต้นด้วยหนังแต่ดันมาลงท้ายด้วยการสอน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ ทั้งเนื้อหาของหนัง และการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากหนังไปยังปรัชญาการเรียนรู้ จิตวิทยาการสอน แนวคิดนี้ผมอาจจะพูดเออเอง ดังนั้นอยากแนะนำให้ไปดูหนังเรื่องนี้กันครับ แล้วรวมกลุ่มกันนั่งล้อมวงคุยกันในลักษณะของ AAR (After Action Review) ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่ออกมาน่าจะกระจายออกไปได้มากกว่าที่เป็นที่เห็นอยู่ อาจจะมีการจุดประกายเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปยังเรื่องต่างๆได้มาก ตามพื้นความรู้ ประสบการณ์ วัฒนธรรม ในแต่ละบริบทของแต่ละคน

 

หมายเลขบันทึก: 415242เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท