ไตรลักษณ์ ภาพลักษณ์ อัปลักษณ์ สัญลักษณ์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์


ไตรลักษณ์ ภาพลักษณ์ อัปลักษณ์ สัญลักษณ์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์

              ไตรลักษณ์ ภาพลักษณ์ อัปลักษณ์ สัญลักษณ์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์
                                                                                                                         ไตรลักษณ์   ลักษณะที่เป็นสามัญของสิ่งทั้งปวง ๓ ประการ ได้แก่ อนิจจตา หมายถึง ความไม่เที่ยง ทุกขตา หมายถึง ความเป็นทุกข์ และอนัตตตา หมายถึง ความมิใช่ตัวตน ความไม่เป็นของตน หรือที่พูดกันทั่วไปว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นปกติของสิ่งทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบลักษณะเหล่านี้และทรงสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักเพื่อให้ตัดกิเลส ตัดความโลภ ความโกรธ และความหลง ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ และปฏิบัติตนเพื่อการตัดกิเลสต่อไป ลักษณะแรก ความไม่เที่ยง หมายความว่า ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นตัวเรา ญาติพี่น้อง บ้านเมือง ความรัก ความหิว ชีวิต โลก จักรวาล ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่ยงตลอดไป ย่อมมีวันแปรเปลี่ยน สูญสลาย หมดสิ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง สิ่งที่สำคัญ คือ ชีวิตที่ต้องดับ ทุกคนต้องตาย ไม่มีใครเป็นอมตะ จึงไม่ควรโลภสะสมทรัพย์สินเงินทอง ลักษณะที่สอง ความเป็นทุกข์ หมายความว่า ชีวิตในโลกมีแต่ความทุกข์ มีก็ทุกข์ ไม่มีก็ทุกข์ ต้องการก็ทุกข์ ไม่ต้องการก็ทุกข์ รวยก็ทุกข์ จนก็ทุกข์ เป็นต้น คนจึงไม่ควรหลงอยู่กับชีวิตในโลก ลักษณะที่สาม ความมิใช่ตัวตนหมายความว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นตน ไม่มีสิ่งใดเป็นของตน แม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะเราบังคับหรือสั่งให้เป็นตามใจไม่ได้ เป็นต้น ลักษณะ ๓ ประการนี้ เป็นหลักสำคัญที่พุทธศาสนิกชนต้องเรียนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

            ภาพลักษณ์ (อ่านว่า พาบ-ลัก) เป็นคำบัญญัติให้ตรงกับคำว่า image ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ลักษณะของคน องค์การ หน่วยงาน ธุรกิจ รัฐบาล ฯลฯ ที่ปรากฏแก่สังคม เป็นภาพที่คนในสังคมเห็นเมื่อนึกถึงบุคคล องค์การ หน่วยงาน ธุรกิจ รัฐบาล ฯลฯ นั้น เช่น ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี ภาพลักษณ์ของตำรวจ ภาพลักษณ์ของดาราไทย เป็นต้น ภาพลักษณ์อาจเป็นภาพที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ คนในสังคมบางคนจึงพยายามสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้สังคมเห็นแต่ภาพที่ดี ดาราหญิงบางคนมีภาพลักษณ์เป็นกุลสตรีในขณะที่บางคนต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นสาวทรงเสน่ห์ การกระทำที่ปรากฏเป็นข่าวของคนแม้เพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้สร้างเป็นภาพลักษณ์ที่ถาวรของคนๆนั้นได้ ปัจจุบันสื่อมวลชนมีพลังมากในการสร้างภาพลักษณ์ของบุคคล หรือองค์การต่างๆ

            อัปลักษณ์ (อ่านว่า อับ-ปะ-ลัก) แปลว่า มีลักษณะไม่ดี ลักษณะชั่ว เช่น ชูชกมีรูปร่างหน้าตาอปลักษณ์ แม้เธอจะไม่สวย แต่ก็ไม่ถึงกับอปลักษณ์ คนที่อปลักษณ์จะมีลักษณะอย่างใดบ้าง ไม่มีผู้ใดกล่าวไว้ แต่มีลักษณะของคนที่กล่าวว่า ชั่ว เช่นเดียวกัน เรียกว่า บุรุษโทษ ซึ่งอาจจะอนุโลมให้เป็นลักษณะของคนอปลักษณ์ได้ บุรุษโทษมี ๑๘ ประการ ได้แก่ ร่างกายคดค้อมทั้งที่คอหลังและเอว หลังหักค่อม เนื้อตัวมีปุ่มป่ำด้วยเส้นเอ็น ท้องป่องเป็นกระเปาะใหญ่ ผิวตกกระ มีขี้แมลงวันมากดังโรยงา ขนยาวและหยาบ ผมเหลืองและบาง ตาลึกและสองข้างใหญ่ไม่เท่ากัน ตาเหล่เหลือกและมีสีเหลืองเหมือนตาแมว ริมฝีปากบนยาวปิดริมฝีปากล่าง น้ำลายไหลออกเป็นายางยืด เขี้ยวงอกออกมาพ้นปาก หนวดเคราแดงแข็งเหมือนลวด จมูกหักฟุบ เล็บกุด ปลีน่องทู่และยานลงส่วนล่าง เท้าใหญ่และคด เท้าบิดออกจากกัน ใครมีลักษณะดังกล่าวนี้ แม้เพียงอย่างเดียวก็น่าจะเรียกได้ว่า อปลักษณ์

            สัญลักษณ์  (อ่านว่า สัน-ยะ-ลัก) เป็นคำที่บัญญัติให้ตรงกับคำว่า symbol ในภาษาอังกฤษ หมายถึง สิ่งที่กำหนดขึ้นให้มีความหมายแทนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทย ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ดอกกุหลาบสีแดงเป็นสัญลักษณ์แทนความรัก นิ้วก้อยที่ยกชูขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนการขอคืนดี ตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูด ตราสินค้า นับรวมเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งแทนชื่อของสินค้า สัญลักษณ์ อาจปรากฏรูปเป็น ภาพ ตัวอักษร เครื่องหมาย สี เสียง วัตถุ รูปปั้น ฯลฯ ที่กำหนดขึ้นให้เข้าใจกัน สัญลักษณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้

            เอกลักษณ์ (อ่านว่า เอก-กะ-ลัก) หมายถึงลักษณะเฉพาะตัว ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน หรือลักษณะที่แสดงความเป็นอย่างเดียวกันของคนในสังคมหนึ่งๆ ซึ่งแตกต่างจากลักษณะร่วมของคนในสังคมอื่น เช่น คนไทยมีเอกลักษณ์เป็นคนสนุกสนาน ให้อภัยง่าย ลืมง่าย รักอิสระ รักศักดิ์ศรี เป็นต้น ลักษณะนี้ถือเป็นลักษณะรวมๆของคนไทยโดยทั่วไปที่แตกต่างจากคนชาติอื่น แต่คนไทยแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ของตนเองที่อาจจะไม่เหมือนคนอื่นด้วย การใช้คำว่าเอกลักษณ์จึงต้องเข้าใจว่าจะใช้ในระดับใด เอกลักษณ์ของใคร คำว่าเอกลักษณ์ บัญญัติให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity เช่น คณะอนุกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการชุดนี้มองหาลักษณะเฉพาะของชาติไทยในด้านความเป็นชาติ ประชากร อธิปไตยของชาติ การปกครอง ศาสนา พระมหากษัตริย์ วัฒนธรรม และเกียรติภูมิของชาติ แล้วนำมาเผยแพร่เพื่อส่งเสริมให้เห็นคุณค่าและร่วมมือกันอนุรักษ์ไว้

            อัตลักษณ์ (อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก) ประกอบด้วยคำว่า อัต กับคำว่า ลักษณ์ อัต มาจากคำว่า อตฺต แปลว่า ตน ตัวเอง อัตลักษณ์ จึงแปลว่า ลักษณะของตนเอง ลักษณะของตัวเอง เป็นศัพท์ที่คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า character เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลซึ่งรวมสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติที่แสดงออกเป็นลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น แต่ปัจจับัน มีการนำคำว่าอัตลักษณ์ไปใช้แทนคำว่า ตน ตัว เช่น หนังสือเรื่องนี้ปรากฏอัตลักษณ์ของนักเขียนแจ่มแจ้งทีเดียว ครูควรช่วยนักเรียนให้พัฒนาอัตลักษณ์ของเขาได้อย่างเหมาะสม หรือใช้ อัตลักษณ์เพื่อแทนคำว่า เอกลักษณ์ คำทั้งสองคำนี้อาจจะดูมีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่มีลักษณะเน้นต่างกัน อัตลักษณ์เน้นลักษณะทั้งหมดของบุคคลโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร ส่วนเอกลักษณ์เน้นลักษณะที่เป็นหนึ่ง ลักษณะที่โดดเด่นซึ่งเป็นส่วนที่แยกบุคคลนั้นออกจากบุคคลอื่น

 

                                                                                                                       ขอบคุณอาจารย์ กาญจนา นาคสกุล

        สกุลไทย  ฉบับที่ 2606 ปีที่  50 ประจำวัน  อังคาร ที่  28 กันยายน  2547

 

หมายเลขบันทึก: 415188เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2010 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ได้สาระความรู้มากเลยค่ะ เพิ่งเข้าใจอัตลักษณ์ กับ เอกลักษณ์วันนี้เอง..อิอิ


สวัสดีปีใหม่

  • ขอบพระคุณพี่ครูอิ๊ดที่แบ่งปันเรื่องราวดีดี
  • สวัสดีปีใหม่

 

น่าทึ่งกับการไล่คำครับ...

ขอบพระคุณสำหรับอหารสมองเช้านี้ครับ..

สวัสดีค่ะคุณครูป.๑

•ขอบพระคุณพี่แวะมาเยี่ยมนะคะ

•สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ ค่ะ

ขอบคุณค่ะน้องอุ้มบุญที่แวะมาเยี่ยม

คราวนี้ครูมาหลายลักษณ์เลยนะครับ สังเกตแล้ว สุขภาพดีขึ้นทันวันหยุดยาวต้อนรับปีใหม่2554 นะครับ

สวัสดีค่ะคุณครูป.๑

•ขอบพระคุณพี่แวะมาเยี่ยมนะคะ

•สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ ค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์

สุขภาพดีขึ้นแล้วค่ะ คิดถึงเพื่อนๆ เลยต้องเข้าเว็บ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท