หลักสูตรแอบแฝงซ่อนเร้น(Hidden Curriculum)ในระดับอุดมศึกษา


อุดมศึกษาเป็นการศึกษาระดับสูงที่ผลิตกำลังคน
ที่เป็นปัญญาชนให้กับประเทศ วันนี้จะมาดูว่ามี
หลักสูตรแอบแฝงอะไรบ้างที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย
แต่ก็ดำรงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้พยายาม
ตอบคำถามว่า มีหลักสูตรแอบแฝงซ่อนเร้นแบบใดบ้าง
ที่อยู่ในการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยผู้เขียนมีเพื่อน
และบุคคลที่รู้จักที่สอนระดับอุดมศึกษากระจัดกระจาย
อยู่ในประเทศไทยหลายแห่ง และก็ได้เก็บข้อมูลจากเพื่อนทั้งหลาย
แล้วลองประมวลออกมาเป็นคำตอบ ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์แบบเท่าไรนัก
แต่ก็สามารถจัดทำเป็นแบบแผนรูปแบบที่พอสรุปได้ดังนี้

เป้าหมายของนักศึกษามัธยมปลายชั้นยอดทั้งหลายที่ประสงค์
มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสู่คณะยอดฮิตก็คือ คณะแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ได้
มุ่งประสงค์ที่จะออกไปรับใช้ชาวบ้าน เพียงเพราะว่าคณะแพทย์นั้น
สามารถทำเงินให้กับผู้เลือกเรียนเมื่อชดใช้ทุนเสร็จเรียบร้อย เช่นเดียว
กับคณะยอดฮิตเช่นวิศวะ ก็มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันก็คือทำรายได้ดี
กระบวนการมุ่งสู่เป้าหมายเชิงวัตถุนิยมเหล่านี้ เป็นเป้าหมายของ
ระบบทุนนิยม

การสืบทอดระบบอุปถัมป์ของนักศึกษาผ่านกิจกรรมที่เรียกว่ารับน้อง
ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ผ่านกิจกรรมเหล่านี้
ซึ่งก็เรียกว่าระบบอาวุโสหรือระบบอุปถัมป์ ซึ่งกิจกรรมทางอำนาจเหล่านี้
เองได้สอนให้นักศึกษาเมื่อจบไปแล้ว เมื่อมีอำนาจเมื่อไรก็จะใช้อำนาจ
ในทางที่ผิดเหล่านี้แสวงหาผลประโยชน์จากคนที่ด้อยกว่า

กิจกรรมการบริโภคแบรนด์เนม การใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟยของนักศึกษา
ทั้งหลาย เป็นการสืบทอดระบบทุนนิยมอย่างเห็นได้ชัด สติปัญญาที่คิด
จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เสาะแสวงหาคำตอบใหม่ขององค์ความรู้
ก็กลับกลายเป็นแข่งขันการบริโภค การศึกษาทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อ
ต้องการใบปริญญาเพื่อเป็นใบเบิกทาง มากกว่าการศึกษาเพื่อแสวงหา
ความจริง ความดี ความงาม ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ

อาจารย์ที่สอนระดับอุดมศึกษาล้วนแต่อยู่ชนชั้นกลางถึงระดับสูง
มีระดับการศึกษาที่ได้รับการรับรองทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่
มีชีวิตหรูหรา และมีงานวิจัยข้างนอกเป็นรายได้เสริมจำนวนมาก
ดำรงชีวิตอย่างปัจเจกชนนิยม ถือทิฎฐิของตนเป็นใหญ่ไม่ค่อยรับฟังใคร
ดูได้จาก นักศึกษาบัณฑิตศึกษาทั้งหลายที่อาจารย์อยู่ในภาคเดียวกัน
แล้วไม่ถูกกัน คนหนึ่งบอกให้แก้งานอย่างนี้ คนหนึ่งให้รื้อของอีกคนหนึ่ง
คนที่ซวยก็คือนักศึกษาทั้งหลาย ที่ไม่รู้จะตามใครดี ความเป็นปัจเจกชน
นิยมที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อผู้เรียนคือเรียนรู้ระบบ
ปัจเจกชนนิยม ที่ไม่เชื่อมโยงกับใคร นอกจากนั้นแล้วระบบอุปถัมป์ภายใน
สถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง ก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก บางแห่งนั้น
อาจารย์จะต้องจบสถาบันนี้เท่านั้นจึงจะรับเข้าทำงาน หรือไม่ก็คนนามสกุล
นี้เท่านั้นจึงจะรับเข้าอุดมศึกษา ต่อมาการบริหารอุดมศึกษาเห็นว่าในมหาวิทยาลัย
นั้นมีพวก deadwood มากเกินไป จึงปรับระบบมาเป็นระบบพนักงานมหาวิทยาลัย
เพื่อที่จะบริหารงานได้ง่าย ๆ คล่อง ๆ จึงเกิดระบบทาสใหม่ขึ้นมา พร้อม ๆ ไปกับ
การก่อตัวของระบบอุปถัมป์ และระบบพรรคพวกมากขึ้น อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วย
กับการบริหารงานจึงไม่พูดและเงียบ เพื่อรักษางานของตนเองเอาไว้เพื่อตัวอยู่รอด
ก็พอ ระบบการประเมินตามมาตรฐานก็เป็นแค่เครื่องมือใช้กับพวกอื่นไม่ใช่พวกตน
ดังที่เกิดข้อขัดแย้งกันเกิดขึ้นหลายมหาวิทยาลัยในขณะนี้ พนักงานมหาวิทยาลัย
เป็นชนชั้นรองจาก ข้าราชการ สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เช่นผู้ช่วยศาสตราจารย์
ก็ได้เพียงเด้งเดียว พนักงานมหาวิทยาลัยคนที่เก่ง ๆ มักจะถูกบล็อก เช่นเดียว
กับการเล่นการเมืองในองค์กร สภาพเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างจากสมัย deadwoodเท่าไร
สิ่งเหล่านี้ก็สืบทอดระบบอำนาจนิยม ปัจเจกชนนิยม บริโภคนิยม ให้นักศึกษา
ได้ศึกษาเล่าเรียนทางอ้อม และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสังคมปัจจุบันที่เดินทาง
เข้าสู่หายนะของสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปทุกว้น

ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ก็กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับลูกค้า
มหาวิทยาลัยบางแห่งใช้วิธีการเลือกตั้งอธิการบดี ทำให้ผู้สมัครที่เป็นครูบาอาจารย์
แทบจะกราบลูกศิษย์เพื่อวิงวอนขอคะแนน เช่นเดียวกับระบบการประเมินผู้สอนโดย
ให้ลูกศิษย์(ค้า)เป็นผู้ประเมิน ดังนั้นอาจารย์ที่สอนมักจะสอนและสอบแบบเอาใจ
นักศึกษาเพื่อให้ผลการประเมินผ่าน ส่วนอาจารย์ที่เขี้ยว ๆ กับนักศึกษามักจะประเมิน
ไม่ผ่านทั้งที่ประสงค์ดีต่อนักศึกษา

ความรู้ในระดับอุดมศึกษา หลาย ๆ ที่ยังเป็นคำตอบแบบเดิม ๆ ที่เคยตอบสมัยที่
ผู้สอนในปีแรก ๆ ของการเป็นอาจารย์วันนี้องค์ความรู้ก็ยังเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป  นักศึกษาที่ลุกขึ้นถามคำถามยาก ๆ ท้าทายองค์ความรู้
ก็มักจะถูกเครื่องมือประเมินอันทรงประสิทธิภาพให้ได้ d dog วิชาการต่าง ๆ ที่มา
จากอุดมศึกษาได้รับการวิจารณ์ว่า หอคอยงาช้าง ยากที่จะปีนเข้าไปถึง

หลักสูตรปัจจุบันทั้งหลายล้วนแต่ออกแบบมาเพื่อทำกำไร เช่นการเปิดการศึกษา
ระดับสูงที่ใช้เงินมากมายเกินจริง เปิดกันมากมายนอกสถานที่จนแทบแย่งลูกค้ากัน
จนมาถึงระบบที่จ่ายครบ จบแน่ การเปลี่ยนหลักสูตรให้เป็นการค้ามักเน้นหลักสูตร
ยอดนิยมทางธุรกิจ หรือการจัดการด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจัดการทุนนิยมสมัยใหม่
ส่วนคณะศิลปศาสตร์ ปรัชญาศาสนา ในอนาคตที่ไม่สามารถทำเงินได้ก็น่าจะถูกยุบ
ดังนั้นแค่ตัวหลักสูตรก็อาจดูเป็นธรรมดา แต่ถ้าดูวิธีการปฏิบัติก็จะเห็นการสืบทอดระบบ
ธุรกิจอยู่ในนั้น หลักสูตรที่รับใช้สังคมก็หายไป 

ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักสูตรซ่อนเร้นเหล่านี้แล้ว ก็จะได้มนุษย์
พันธ์วัตถุนิยมบริโภค ที่ต้องการทำการผลิตแต่น้อย แต่ได้ผลกำไรมาก ๆ มนุษย์พันธ์
รับใช้สังคม พอเพียง จึงเป็นทางเลือกส่วนน้อยมาก ๆ  ถ้าปัญญาชนเป็นอย่างนี้
อุตสาหกรรมและการผลิตทุนนิยมย่อมเจริญรุ่งเรืองขึ้นเพราะมีคนช่วยให้เกิดผลผลิต
และได้ผู้บริโภคชั้นดีไปด้วย ส่วนผลกระทบของทุนนิยมต่าง ๆ ก็ให้คนส่วนน้อย
ที่เป็นปัญญาชนที่รับใช้สังคม ใช้ปรัชญาพอเพียง มาเป็นผู้แก้ไขปัญหาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 414482เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2010 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบฟังความคิดดัง ๆ ของท่าน ผอ. อ่ะ

ขอบคุณครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท