การใช้ dialog box เพื่อสร้างคลังข้อมูลความรู้ชุมชนและเผยแพร่สื่อสารสู่สาธารณะ


กล่องสนทนา หรือ dialog box เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการข้อมูลที่เราจะสามารถพัฒนาวิธีใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ ตามที่ต้องการได้หลายวิธี ซึ่งถ้าหากต้องการใช้บล๊อกเป็นเครื่องมือและวิธีจัดการความรู้เพื่อการวิจัยหรือสร้างความรู้ ทำสิ่งที่เป็นประสบการณ์หรือเป็นข้อมูลที่ยังไม่เป็นระบบ ให้สามารถพัฒนาเป็นความรู้ที่สามารถสะสมไว้ใช้ร่วมกัน รวมทั้งทำประสบการณ์ของสังคมให้เป็นข้อมูลและความรู้ที่บันทึกไว้ได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งๆขึ้น ก็จะสามารถสร้างสรรค์วิธีใช้ในรูปแบบต่างๆ คือ

  • บันทึกข้อมูลรายวันสำหรับนักวิจัย เพื่อตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และดำเนินการต่างๆต่อไป เช่น หากข้อมูลมีความชัดเจนพอสำหรับนำไปสู่การทบทวนวรรณกรรม ก็จะนำไปสู่การวิพากษ์และสังเคราะห์ทางเอกสาร หากข้อมูลจากการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมยังไม่มีประเด็นสำคัญ หรือยังไม่ลึกพอ ก็จะสามารถวางแผนการทำงานและทำกิจกรรรมสนามต่อไป หากข้อมูลขาดหายไม่ปะติดปะต่อ ขาดความเชื่อมโยงในบางเรื่องที่น่าสนใจ ก็จะสามารถทราบความบกพร่องและเตรียมการแก้ปัญหาในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เหล่านี้เป็นต้น
  • บันทึกข้อมูลประสบการณ์สนาม หรือทำ Field note คนทำงานชุมชน คนทำงานกับผู้อื่นเป็นกลุ่มก้อนและเครือข่ายชุมชน รวมทั้งนักวิจัยแนวประชาคม ควรมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้บันทึกสังคมไปด้วย บันทึกไว้ก่อนโดยยังไม่ต้องติดอยู่ในกรอบ ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้ dialog box ร่วมมือกับผู้อื่นในการร่วมเพิ่มเติม บันทึก และช่วยกันรายงานเก็บรวบรวมไว้ก่อน เช่น การรายงานประสบการณ์ในการทำกิจกรรมค่ายกับเด็กๆในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของประเทศ การรายงานและเพิ่มเติมข้อมูลชุมชนในประเด็นเดียวกันแต่จากชุมชนในท้องถิ่นต่างๆของประเทศ
  • บันทึกความเห็น ใช้สำหรับการบันทึกความเห็นเพิ่มเติมในบันทึกของตนเองเนื่องจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีประสบการณ์ต่อกรณีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถร่วมมือกับผู้อื่นในการร่วมบันทึกแบ่งปันประสบการณ์และให้ข้อมูลเพิ่มเข้าไปแก่สิ่งที่เรามีข้อมูลในสองลักษณะ คือ มีข้อมูลสอดคล้องกับบันทึกของผู้อื่น ซึ่งการบันทึกความเห็นเพิ่มเติมจากเราจะช่วยยืนยันและเพิ่มความหนักแน่นให้กับความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากยิ่งๆขึ้น และอีกลักษณะหนึ่งคือ มีข้อมูลที่แตกต่าง ซึ่งการบันทึกให้ความเห็นเพิ่มเติม ก็จะช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายและช่วยขยายความรอบด้าน อีกทั้งอาจเป็นความรู้ในแง่มุมใหม่ๆเกี่ยวกับสิ่งนั้น
  • ทำข้อสังเกต ข้อวินิจฉัย และให้บทสรุปเป็นระยะๆ การทำงานและดำเนินชีวิตที่มีการเรียนรู้และสร้างความรู้จากประสบการณ์ ทั้งเพื่อพัฒนาการงานและพัฒนาภาวะภายในตนเองไปด้วยอยู่เสมอนั้น จำเป็นมากที่ควรจะมีการนำเอาประสบการณ์และบันทึกที่สะสมไว้ มาอ่านทบทวนและตรวจสอบแง่มุมต่างๆอยู่เสมอๆ เมื่อเกิดการตกผลึกและเห็นประเด็นการวิเคราะห์ต่างๆที่ดีมากยิ่งๆขึ้น ก็จะสามารถใช้ dialog box เป็นเครื่องมือช่วยทำข้อสังเกตและให้บทสรุปสั้นๆง่ายๆไปเป็นระยะๆ

กระบวนการเหล่านี้ ในอดีตนั้น นักวิจัยจะต้องใช้บัตรคำหรือการ์ดบันทึก ซึ่งต้องใช้ระบบการจัดเก็บที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองมากทั้งทรัพยากรและการใช้เวลา การพัฒนาวิธีนำบล๊อกมาใช้ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้พึ่งตนเองในการทำงานให้มีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมได้ด้วยตนเองมากยิ่งๆขึ้นในหลายมิติ

ที่สำคัญคือ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพการทำงานของเราแล้ว ก็จะช่วยให้สามารถพัฒนาวิธีสร้างความรู้ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีขีดจำกัดเพราะช่วยลดความยุ่งยากและยืดหยุ่นต่อประสบการณ์อันหลากหลายของผู้คนมาก เช่น ชาวบ้าน เด็ก เยาวชน และผู้นำชุมชน ซึ่งมีประสบการณ์และเข้าถึงความเป็นจริงของสังคมได้อย่างดี ก็สามารถร่วมบันทึกและเป็นเครือข่ายช่วยสะสมข้อมูลและสร้างความรู้ขึ้นด้วยการต่อเติมส่วนขาดของกันและกัน ทำให้สังคมมีโอกาสสร้างและรวบรวมสิ่งต่างๆให้เป็นคลังความรู้และภูมิปัญญาของส่วนรวมร่วมกันได้ดียิ่งๆขึ้น

ภาพที่ ๑ การใช้กล่องสนทนาเพื่อบันทึกและแบ่งปันข้อมูล ตัวอย่างการใช้กล่องสนทนาหรือ dilog box ช่วยบันทึกความเห็น และทำข้อสังเกต จะทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมแห่งภูมิปัญญา ที่ร่วมสร้างและสะสมรวบรวมข้อมูลจากไม่เป็นระบบ ให้เป็นข้อมูลที่จะสามารถนำไปประมวลผลสร้างความรู้เพื่อรวบรวมไว้ให้เป็นระบบได้อย่างหลากหลายมากยิ่งๆขึ้น

ภาพที่ ๒ พัฒนาความรู้จาก dialog box การจัดการข้อมูล สร้างความรู้ พัฒนาวิธีนำเสนอและเผยแพร่ รวมทั้งจัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบมากยิ่งๆขึ้น ตัวอย่างจากเวทีคนหนองบัว http://gotoknow.org/blog/nongbua-community

วิธีบันทึกและใช้กล่องสนทนาในลักษณะดังกล่าวนี้ ในแง่ของการใช้สื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งเพื่อการจัดการข้อมูลและการบริหารจัดการทรัพยากรความรู้ ก็จะเป็นการพัฒนาวิธีใช้บล๊อกและการบันทึก ให้เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ชุมชน (Community-Based Educational Technology)

โดยวิธีการดังกล่าวนี้ นักวิจัยและนักวิชาการแนวชุมชน หรือนักวิจัยแนวประชาคม ก็จะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับผู้คนทั่วประเทศโดยผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนที่มีตัวตนและชุมชนที่เชื่อมโยงกันด้วยจินตภาพทางข้อมูลข่าวสาร หรือ Virtual Community เพื่อร่วมกันสร้างความรู้และจัดการความรู้ร่วมกันในขอบเขตที่กว้างขวาง แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆได้มากขึ้น

ข้อมูลที่ร่วมมือกันสะสมได้มากขึ้น ก็จะสามารถุนำมาวิเคราะห์และจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ต่อยอดการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น นำมาวิเคราะห์และสร้างเป็นความรู้ที่เป็นหวดหมู่และเป็นระบบมากยิ่งๆขึ้น ส่งเสริมชาวบ้านและคนมีประสบยการณ์ทั่วไปที่เริ่มเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ ให้สามารถค่อยๆได้ประสบการณ์และยกระดับการพัฒนาศักยภาพตนเอง จากการบันทึก สู่การเป็นผู้สร้างและรวบรวมความรู้จากท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ สามารถเป็นกำลังความรู้ในชุมชนของตนเองและทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการความรู้ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นชุมชนอันแตกต่างหลากหลายได้มากยิ่งๆขึ้น

นอกจากนี้ นักวิชาการ นักวิจัย และคนที่มีความรู้ที่แตกต่างหลากหลายออกไป ก็สามารถนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาบูรณาการเสริมต่อ ทำให้วัตถุดิบและข้อมูลที่ร่วมมือกันสะสมด้วยวิธีง่ายๆจาก dilog box ในลักษณะดังที่กล่าวมานี้ มีความหมายมากยิ่งๆขึ้น เช่น ดึงเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดการความรู้เพิ่มเข้าไปเพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อความรู้ พัฒนาวิธีสื่อสารและนำเสนอ รวมทั้งนำเอาศิลปะ สื่อ และข้อมูลในลักษณะอื่น ทั้งภาพถ่าย การวาดภาพ การเขียนแผนภาพ มาบูรณาการเข้าสู่กัน

จากการพัฒนาวิธีใช้ dilog box และบันทึกง่ายๆ ตามวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับการงานและความสนใจของเรา ก็จะกลายเป็นการร่วมมือกันทำให้สังคมมีความมั่งคั่งในความรู้ที่ขาดการรวบรวมและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ.

หมายเลขบันทึก: 413848เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันพฤหัส ที่ ๑๖ ธ.ค ไป ลปรร การสื่อสารผ่านทาง Social Network ในงาน SHA ที่ Imperial ได้ครับ

 

ดูกำหนดการและกลุ่มคนที่จะเป็นคนบรรยายนำการ ลปรร แล้ว ก็รู้สึกว่าดีจังเลยนะครับอาจารย์หมอ JJ ครับ ในอีกฐานะหนึ่ง อาจารย์ก็เป็น Mentor พาน้องๆหาประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยงที่คอยเสริมความมั่นใจ สร้างคนรุ่นใหม่ๆให้สังคม และอีกทางหนึ่ง ก็เป็นวิธี ลปรร ที่ทำให้คนทำงานเรื่องสุขภาพและเรื่องส่วนรวมต่างสาขา ได้เกิดการสานต่อ ถักทอ เชื่อมโยงวิธีคิดและเครือข่ายการทำงาน ทำให้เกิดาภาวะผู้นำของชุมชนการเรียนรู้ที่มีความรู้หลากหลายซับซ้อนเทียมทันสภาพปัญหาของสังคมมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

ขอร่วมเสริมส่งกำลังใจถึงทุกท่านทุกคนครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท