สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน (ตอนที่ 3 จบ)


สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข

โดย ไตรพิตรา วิสิษฐยุทธศาสตร์

 

รางวัลในชีวิต

เราจะได้อะไรจากการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน?

สมถะขั้นต้นเนื่องจากทำให้เกิดสมาธิอย่างเดียว ถ้าเจริญจนแก่กล้ามากขึ้นสามารถเป็นหมอดูได้ ทั้งนี้เพราะสามารถทายใจคนได้วาเขากำลังคิดอะไร รู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น เวลานั่งหลับตา อยากไปเที่ยวไหนก็นึกไปได้ด้วยอำนาจของสมาธิที่จิตสร้างขึ้น เมื่อไหร่ไม่มีสมาธิจะมีอารมณ์รุนแรงกว่าเดิม เพราะการเจริญสมถะคือการเจริญเพื่อให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วจึงเอาสมาธิกดทับกิเลสไว้ ดังนั้น ถ้าไม่มีสมาธิ กิเลสก็มีโอกาสที่จะดันขึ้นมาได้

 

ถ้าทำไปจนถึงขั้นสูง ๆ จนถึงได้ฌานซึ่งต้องใช้สถานที่ที่สงบมาก จะอยู่ในสังคมได้ยาก เพราะต้องคอยระวังไม่ให้ฌานเสื่อม ซึ่งขั้นที่สูงสุดเรียกว่าสมาบัติ 8 พระพุทธองค์ก็ทรงเคยทำมาแล้วและตรัสว่าไม่ใช่ทาง (คือไม่ใช่ทางที่จะหมดกิเลสได้) นั่นเป็นเพียงการกดกิเลสไว้เท่านั้น กิเลสยังมีอยู่ครบถึงแม้จะมีอำนาจจิตขนาดเหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม การทำฌานนี้ถ้าผู้ปฏิบัติปรารถนาจะถอยกลับมา แล้วเดินหน้าไปใหม่ให้เป็นวิปัสสนาเพื่อไปให้ตรงทาง (หมดกิเลส) ก็สามารถทำได้ด้วยการถอยกลับมาฌานต่ำ ๆ (เพราะวิปัสสนาอาศัยเพียงสมาธิพอประมาณเท่านั้น) เสร็จแล้วยกองค์ฌานขึ้นให้พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ เช่น ปฐมฌานซึ่งมีสุขเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง ทำความรู้สึกกับความสุขที่ใจ ความสุขนั้นจะดับ เราจะเห็นถึงความไม่เที่ยงของความสุข (อนิจจตา) ความสุขทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขตา) อาการที่ทนอยู่ไม่ได้นั้นก็เพราะเนื่องมาจากความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ความสุขจึงต้องเปลี่ยนไปไม่สามารถบังคับให้อยู่กับเราตลอดได้

ในการเจริญวิปัสสนานั้น สมาธิจะได้รับการฝึกขึ้นมาด้วยอย่างสมดุลกับสติ เป็นการอยู่กับรูปนามแล้วปัญญาจะเกิดขึ้น จะขอยกตัวอย่างเรื่องคนเล่นฟุตบอลคนรับลูกบอลคนแรกรับลูกแล้วส่งลูกให้กับคนที่สอง คนที่สองรับลูกแล้ววิ่งต่อไป คนแรกเปรียบกับสติ คนที่สองเปรียบกับสัมปชัญญะ สัมปชัญญะมีมากๆ จะกลายเป็นปัญญา ถ้าคนแรกรับลูกแล้วหล่นคือมีสมาธิไม่พอ ปัญญาก็จะไม่เกิด อีกตัวอย่างหนึ่งเปรียบด้วยกล้องจุลทรรศน์ สติเปรียบเหมือนอาการที่จับกล้อง ความนิ่งของกล้องคือสมาธิ เมือกล้องนิ่งอยูกับที่แล้วให้ใช้ปัญญาคือพิจารณาแล้วจะสามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรคืออะไร

การพิจารณาในทีนี้มิได้หมายความว่า เราเข้าไปพิจารณา เมื่อไรเราเข้าไปพิจารณา เราจะเอาอดีตและอนาคตเข้าพิจารณา แต่การพิจารณาในทีนี้หมายความว่า เราใช้ปัญญาเป็นตัวพิจารณา หน้าที่ของเราเพียงแต่ฝึกสมาธิและสติให้อยู่กับรูปนาม เหมือนเราปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราคือการรดน้ำพรวนดิน เมื่อความพร้อมมีเมื่อไรมันจะออกดอกออกผลเอง

ปัญญาอันแรกที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าไปสัมผัส คือสุดลมหายใจเข้าจะขาด สุดลมหายใจออกจะขาด สุดพองจะขาด สุดยบจะขาด จะไม่มีลมหายใจเข้า โดยลมหายใจออกก็ยังไม่มี และจะไม่มีลมหายใจออกโดยที่ลมหายใจเข้าก็ยังไม่มีเพราะความไม่เที่ยง (อนิจจา) สุดลมหายใจเข้าจึงดับหรือขาด ที่ต้องเปลี่ยนจากลมหายใจเข้าเป็นลมหายใจออก ก็เพราะเป็นเรื่องพระไตรลักษณ์ (กฏธรรมชาติ) คือทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขตา) ที่ทนอยู่ไม่ได้นั้นก็เพราะไม่มีตัวตน (อนัตตตา) บังคับบัญชามันไม่ได้ สรุปว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่เกิดดับเป็นกฎของธรรมชาติที่ต้องได้รับอย่างไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นความเสมอภาคทางธรรมชาติ แต่ที่เราคิดว่าที่เกิดแล้วไม่ดับน่าจะมีนั้น เพราะว่าเราไปแบกไปยึดมันไว้ เราต้องการบังคับสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้อยู่ในอำนาจเราซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้เราเป็นทุกข์ แต่การทำวิปัสสนาไม่ใช่การไปนั่งนึกเอาตามทฤษฏีที่เรียนมาว่า สังขารร่างกายนี้ไม่เที่ยง อีกหน่อยก็แก่ หนังเหี่ยว ผมหงอก ฟันหัก ได้ยินมาอย่างนี้ก็เลยใช้นึกเอา ซึ่งนั่นก็ถูกเช่นกัน แต่สิ่งที่เรานึกนั้นเป็นเรื่องของสัญญาที่เราจำมาอีกที มิใช่เกิดเองด้วยปัญญา อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนึกไม่ใช่วิปัสสนา

พระพุทธองค์ตรัสว่า “กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” แม้พระพุทธองค์เองก็ยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนกรรมใครได้ ใครทำอย่างไรก็จะได้รับผลอย่างนั้นไม่ช้าก็เร็ว ไม่สามารถลบล้างได้ เพียงแต่เมื่อเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังกระทำนั้นไม่ดี เราก็เลิกละเสีย หันมากระทำความดี การกระทำเช่นนี้พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เพราะถึงแม้จะมืดมาแต่ก็สว่างไป (ตะโม โชติปะรายะโน) ดังนั้นใครที่มีจิตเป็นอกุศลจึงควรที่จะได้รับการสงสารอย่างมากเหมือนคนที่กินอาหารเสีย อาหารนั้นจะทำให้เขาเกิดความไม่สบายใจได้ เราจึงควรจะสงสารคนที่ไม่สบายและแนะนำทางที่ถูกต้องให้เขา มิใช่ไปโกรธเขาหรือไปแช่งคนที่ไม่สบาย

พระไตรลักษณ์ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เหมีอนจมูก และปากที่มีอยู่แเล้ว แต่เราก็ต้องสอนให้คนที่ยังไม่รู้จักได้รู้จักและเข้าใจเช่นที่เราสอนเด็กให้รู้จักจมูกและปาก ฉะนั้นเป็นความจริงว่าของที่มีอยู่แล้วนั้นถ้าเราเข้าไปเห็น และพิจารณาบ่อย ๆ เข้า เราจะสามารถปล่อยวางได้ ซึ่งถ้าเราปล่อยวางได้มากเท่าไร ทุกข์ของเราก็ลดลงมากเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป อดีตเป็นมาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้นอกจากนำมาเป็นบทเรียน ปัจจุบันเราเป็นอย่างไร อนาคตยังมาไม่ถึง ถ้าทำปัจจุบันดี อนาคตย่อมดีเอง เพราะปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต ถ้าเราคิดเช่นนี้ได้ จะทำให้เราพยายามทำปัจจุบันให้ดี ซึ่งสามารถทำให้เราปล่อยวางอะไรต่อมิอะไรได้บ้าง เมื่อเราไม่ได้แบก เราก็ไม่มีอะไรอะไรที่ต้องวาง เราไม่รับมันก็กองอยู่ตรงนั้นความเบาย่อมเกิดขึ้น ความสบายก็ตามมา พยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เราก็ทำให้ดีเท่าที่จะทำได้ พอคิดถึงเรื่องอดีตหรืออนาคตตกจากปัจจุบันทีไร เป็นต้องทุกข์กลุ้มทุกทีไป วิปัสสนาเป็นอุบายวิธีที่ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันอย่างดีเลิศ

มนุษย์เป็นสัตวประเสริฐ สามารถฝึกสัตว์เดียรฉานให้ใช้งานได้หรือทำอะไรก็ได้ การที่เราจะกลับมาฝึกตนเองเพื่อความสุขอันแท้จริง จึงไม่ใช่ของยากที่จะทำถ้าเราคิดที่จะทำ และเริ่มลงมือเดี๋ยวนี้ (ไม่มีคำว่า “สาย” สำหรับการเริ่มต้นที่ดี) พอทำความเข้าใจมาถึงตรงนี้ แต่ก่อนเคยอยู่คลองตันก็ย้ายมาอยู่บางอ้อ เคยหลงเอาความสุขไปไว้กับบุคคลอื่น พอบุคคลนั้นเกิดพูดหรือกระทำให้เราเสียใจ ความสุขของเราก็พลอยหล่นลงมาด้วย ครั้นเอาความสุขไปตั้งอยู่บนสิ่งของเช่นรถยนต์คันใหม่สักคัน พอรถเกิดถูกชนหรือเสียหายมีอันต้องพังไป ความสุขของเราก็พลอยกองอยู่กับรถยนต์นั้น

ความไม่เที่ยง (อนิจจตา) ทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขตา) เพราะเราบังคับบัญชาสิ่งนั้นไมได้ (อนัตตา) ของสิ่งรอบกายเราหรือตัวเราเอง ทำความช้ำให้เราช้ำแล้วช้ำอีกโดยที่เราไม่รู้ตัว พระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้นมาเพื่อปลุกเราให้ตื่น โดยพระองค์เองทรงพยายามทำเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่า เราควรทำอย่างไร จะเดินทางไหนถึงจะไปถึงจุดหมายของชีวิตที่แท้จริงได้ เลิกเอาสติไปไว้บนฐานของชาวบ้าน นั่นคือให้เลิกเอากิเลสของเราซึ่งมี 12 ดวงเท่ากัน ออกไปดูกิเลสชาวบ้าน ทำไปทำมาเมื่อพยายามเอากิเลสของเราไปผสมกับคนอื่น แทนที่กิเลสของเราจะลดน้อยลง กลับเป็นการเพิ่มกำลังของกิเลส โดยเฉพาะของเราให้มากขึ้นไปอีก จนในที่สุดหลุดมาเป็นคำพูดบ้าง เป็นการกระทำบ้าง ลองพยายามดูกิเลสของตัวเองสิแล้วจะมองเห็นว่ามันกดขี่และขูดรีดเราขนาดไหน พยายามเลิกละไม่เป็นคน “กิเลสหก” เสียที

พระพุทธองค์ทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนมองตนแล้วทำความสะอาดดวงใจของตนเองให้สะอาด สว่าง สงบ ดวงใจที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลขัดเกลา ย่อมนำความสงบมาให้เจ้าของและผู้อยู่ใกล้เคียง เหมือนที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลทำความสะอาดจนเรียบร้อยดีแล้วยอมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ผู้อาศัยและมาเยือนฉะนั้น “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” พยายามดูแลควบคุมดูแลใจเราให้ดี “สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข

 


 

Note: บทความนี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “กรรมฐาน (On Medition)”

ที่มา กระทบแต่ไม่กระเทือน คือ สภาวะของจิตที่ได้รับการฝึกมาแล้ว

ได้รับอนุญาตแล้ว

หมายเลขบันทึก: 413827เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงเลยครับ ที่ใช้สมถข่มทับกิเลสไว้ แต่กิเลสมันก็ไม่ยอมง่ายๆ เลยนะครับ มันดิ้นสุดฤทธิเลย ผมแพ้มันบ่อยๆครับ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ

ทั้งสมถะและวิปัสสนาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับปุถุชนที่จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท