เทวดากับหนอน


ไม่มีหนอนตัวใดในเรื่องนี้เห็นว่าอาจมเป็นของเน่าเหม็น

           ผมได้ฟังและอ่านนิทานเรื่องเทวดากับหนอนมาตั้งแต่เด็ก  ความสั้นยาวและสำนวนอาจจะเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง แต่โครงเรื่องยังคงที่อยู่เสมอ นานๆครั้งจะมีข้อคิดแถมท้ายตามทัศนะของผู้เล่าในคราวนั้นๆ

         เรื่องมีอยู่ว่า ชายสองคนเป็นเพื่อนกัน  คนหนึ่งเป็นคนขยันในสัมมาชีพของตน และเอื้ออารีมีน้ำใจต่อผู้อื่นเสมอต้นเสมอปลาย  แต่เพื่อนเขานั้นขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ เกี่ยงและเลี่ยงงาน กินแรงผู้อื่นเป็นนิตย์  เมื่อทั้งสองหมดอายุขัย คนแรกได้เกิดใหม่เป็นเทวดา มีหน้าที่บำบัดทุกข์บันดาลสุขแก่มวลมนุษย์โดยไม่มีวันหยุด  ส่วนคนหลังเกิดเป็นหนอนเกลือกกลั้วอยู่ในกองอาจม  วันหนึ่งเทวดานึกถึงเพื่อนเก่า จึงมองหาจนพบ  เขารู้สึกสงสารและเห็นใจเพื่อนมาก  และอยากช่วยเหลือตามธรรมชาติที่ติดตัวข้ามภพมาแต่ปางก่อน เขาลงมาหาเพื่อน แนะนำตัวแล้วก็ชี้แนะหนทางที่จะทำให้เพื่อนหลุดพ้นจากชีวิตปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คล้ายๆกับที่ตัวเองได้ทำมาแล้ว  หนอนฟังแล้วก็ปฏิเสธ เขาอ้างว่าชีวิตอย่างเขาสุขสบายดีมากอยู่แล้ว ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายทำอะไรก็มีกินตลอดเวลาจนอ้วนพี ยิ่งรู้ว่าเป็นเทวดาต้องทำงานเพื่อผู้อื่นทุกวันยิ่งไม่อยากเป็น  เมื่อเห็นว่าเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่เป็นผล เทวดาจึงบอกลาและกลับสรรค์ด้วยความผิดหวัง 

          โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยที่เชียงใหม่มีประเพณีที่สืบทอดมายาวนานหลายอย่าง  หนึ่งในนั้นคืองานเลี้ยงส่งนักเรียนชั้นปีสุดท้ายหลังการสอบไล่ ซึ่งมีชื่อว่า Baccalaureate Sunday ในงานนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะให้โอวาทหรือข้อคิดแก่ว่าที่ศิษย์เก่า  โอวาทนี้ชาวปรินส์ฯรู้จักในนาม “คำกำชับ”  ซึ่งจะอยู่ในหนังสือรุ่นที่จะแจกแก่นักเรียนทุกสิ้นปีการศึกษา

          เรื่องเทวดากับหนอนปรากฏเป็นคำกำชับในหนังสือเล่มหนึ่งที่บุตรชายของผมได้รับเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว คราวนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนต่อท้ายนิทานด้วยคำถามสั้นๆว่า ในวันข้างหน้า นักเรียนอยากเป็นเทวดาหรืออยากเป็นหนอน 

          เราสามารถใช้คำถามสอนคนได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่นและหนุ่มสาวซึ่งส่วนมากอยากเป็นตัวของตัวเอง สร้างฝันและอนาคตด้วยตัวเอง  คำถามจากนิทานนี้เป็นแบบปลายเปิดที่ผู้ตอบใช้ทัศนคติ รสนิยม และเป้าหมายในชีวิตประกอบการพิจารณาเลือกตอบเอาเอง

         ถ้าเราใช้หลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นเกณฑ์  ใครจะตอบอย่างไรก็ไม่ผิด    อนึ่ง ในความเป็นจริง คนที่เลือกเป็นเทวดาอาจเลือกเพราะเห็นแก่สถานภาพทางสังคม หรือเพราะไม่อยากให้คนอื่นรังเกียจ มากกว่าเลือกเพราะศรัทธาในภาระหน้าที่ของเทวดาอย่างแท้จริงก็ได้  ส่วนคนที่เลือกเป็นหนอนอาจจะไม่ได้เลือกเพราะชั่วหรือโง่เสมอไป เพราะยังมีความจริงอีกข้อหนึ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ คือ ไม่มีหนอนตัวใดในเรื่องนี้เห็นว่าอาจมเป็นของเน่าเหม็น  เทวดารู้สึกล้มเหลวเพราะลืมธรรมชาติข้อนี้เสียสนิท

         อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอยู่ว่า เฉพาะหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่กับการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์และการจัดระเบียบสังคม

         นิทานเรื่องนี้มีอะไรท้าทายครูอีกตามเคย

 

คำสำคัญ (Tags): #หนอน#อาจม
หมายเลขบันทึก: 413121เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2010 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วก็เข้าใจและเห็นใจเทวดาเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็พยายามจะไม่สงสารหนอน

เรื่องนี้คงไม่ได้เป็นเพียงนิทานแล้ว เชื่อว่าขณะนี้ทั้งหนอนและเทวดาได้มาอยู่ร่วมกันในโลกมนุษย์ และต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

เทวดาก็ยังคงรู้สึกสงสารและเห็นใจเพื่อน และอยากช่วยเหลือตามธรรมชาติที่ติดตัวข้ามภพมาแต่ปางก่อนเช่นเดิม ยุคนี้ก็คงได้แต่แนะนำตัวเพื่อให้เกิดศรัทธาก่อน แล้วก็ชี้แนะหนทางที่จะทำให้เพื่อนร่วมโลกที่มีความหลากหลาย ทำในสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และแสวงหาทุกอย่างเพื่อตัวเองจนหยุดไม่เป็น (ไม่รู้จักพอ) ให้หลุดพ้นจากทุกข์ จากสิ่งมัวหมองทั้งหลาย ให้มีชีวิตที่มีคุณภาพดี ในชาติภพปัจจุบัน ในชีวิตปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คล้ายๆกับที่ตัวเองได้ทำมาแล้วเช่นกัน

 

“หนอนฟังแล้วก็ปฏิเสธ เขาอ้างว่าชีวิตอย่างเขาสุขสบายดีมากอยู่แล้ว ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายทำอะไรก็มีกินตลอดเวลาจนอ้วนพี ยิ่งรู้ว่าเป็นเทวดาต้องทำงานเพื่อผู้อื่นทุกวันยิ่งไม่อยากเป็น”

 

 ...ส่วนหนอนที่มาเกิดใหม่ เขาก็คงพอใจสภาพที่เป็นอยู่ (ดูดี  แต่ไม่ดี) ตามกรรมเก่าที่ตามมา เป็นสภาพที่เป็นอยู่อย่างไม่มีคุณภาพ ไม่รู้จักคุณธรรม ก็คงเป็นกรรมของหนอนที่มีโอกาสอีกครั้งที่ได้เกิดเป็นคน ซึ่งเป็นชาติที่มีโอกาสเลือกทำ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด แต่ไม่สร้างสั่งสมบุญคือความดีต่อ กลับเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็คงต้องกรุณาให้โอกาสเขาต่อไป เหมือนที่เป็นกันอยู่ในยุดนี้

 

เมื่อเห็นว่าเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่เป็นผล เทวดาจึงบอกลาและกลับสรรค์ด้วยความผิดหวัง”

ถ้าได้เจอเทวดา meepole จะบอกว่า ท่านได้เมตตาแล้ว หากไม่เป็นผล ก็ให้อุเบกขาเถิด เพราะ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หากท่านผิดหวัง กรรมจะเป็นของท่าน

ดังนั้นหากเรามีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือชี้แนะแล้ว คือเราทำดีแล้ว บทบาทเราเราทำแล้ว ให้สิ่งที่ดีแล้ว  ฝ่ายผู้รับจะรับหรือไม่  รับแล้วรู้สึกอะไร หรือจะปฏิบัติหรือไม่ เป็นกรรมของเขาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท