การบริหารสถาบันเพื่อความเป็นเลิศ


กระบวนทัศน์การศึกษาไทย:ทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา

บทความทางการบริหาร

กระบวนทัศน์การศึกษาไทย:ทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา

โดย นางสุมลฑา  ชูจร รหัส 5355708007

.........................................................................................................................................................

กระบวนทัศน์การศึกษาไทย:ทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา

 

                “เดินตามผู้ใหญ่  สุนัขไม่กัด” ดิฉันอยากจะใช้สุภาษิตนี้กับการศึกษาไทย  ทั้งๆที่เราก็รู้กันโดยทั่วไปว่าคนไทยเรานั้น มีความสามารถมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะการรบ สงคราม  เศรษฐกิจ อีกหลายด้าน ประเทศเราอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง แล้วทำไม เราต้องยึดเอาหลักการจัดการศึกษาของต่างชาติที่มีความแตกต่างทั้งด้านภาษา เชื้อชาติ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ธรรมชาติ วิถีชีวิตโดยสิ้นเชิงมาใช้กับเมืองไทย  คิดแต่เพียงว่าประเทศเขาใช้ได้ผล ประเทศเขาเจริญ  คนของเขามีคุณภาพ คิดจะเจริญเหมือนเขา เราก็เลยนำของดีทางการศึกษาของเขามาใช้  คิดจะเดินตามหลังประเทศเจริญแล้วสุดท้ายก็มาตายที่เรา  การศึกษาไม่ใช่การสร้างตึก ไม่มีวิศวะทางการศึกษา ที่จะคัดลอกแบบเอาพิมพ์เขียวของใครมาออกแบบแล้วสร้างตามนั้นได้  จากการที่ดิฉันเป็นครูมานานก่อนจะมาเป็นผู้บริหาร ได้คลุกคลีการการศึกษามาพอสมควรในระดับของนักปฏิบัติ หรือผู้รับนโยบายล่างสุด ทำให้ทราบว่า ไม่มีรูปแบบการจัดการศึกษาจากต่างชาติรูปแบบใดที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับประเทศไทย  นอกจากการรู้จัก “ตน” แล้ว บูรณาการการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง อย่างเป็นธรรมชาติของ “สภาวะของตน” ขณะนั้น

                ในปัจจุบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาความชำนาญหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องทำให้การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ไปสู่ความรู้แนวคิดดังกล่าวมีลักษณะแบบแยกส่วน ลงลึกแต่ขาดความเชื่อมโยงกับสภาวะจริงของโลกที่เป็นองค์รวม เช่น มุ่งการเรียนรู้ไปที่อาชีพหรืออื่นๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อาทิ นโยบายขยายการเจริญเติบโตทางเศรฐกิจ ความมั่นคงแห่งรัฐ การเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ฯลฯ ผู้เรียนขาดโอกาสทางการเรียนรู้ในส่วนที่ถูกกำหนดว่า มิใช่ความรู้ หรือมิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในสังคมทันสมัย เช่น การเรียนรู้จิตวิญญาณ อุดมคติ ฯลฯ

                กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งเสนอว่า การศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม คือเรื่องของวิถีชีวิต มิใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะกิจ เฉพาะกาล เฉพาะใคร การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการมนุษย์เข้ากับสภาวธรรมหรือสภาพอันเป็นธรรมดาของโลก คือช่วยให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลก เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงภายในระบบชีวิตตนเอง(กาย จิต ปัญญา) และความสัมพันธ์ของระบบชีวิตตนเองกับระบบภายนอก(สังคม นิเวศ/ธรรมชาติ) กระทั่งมองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(องค์รวมหรือบูรณาการ) แล้วดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ไปอย่างสอดคล้องเหมาะสมเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น โลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต

                การเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ จึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยมากมายในวิถีชีวิตของบุคคล สังคม และระบบนิเวศ การปฏิรูปการศึกษาในกระบวนทัศน์แบบองค์รวมอย่างแท้จริง จะต้องมิใช่เรื่องของ ความเก่ง ดี มีสุข ที่จำกัดอยู่ระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นเพียงระบบย่อยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับระบบใหญ่อีกมากมาย เช่น ครอบครัว ชุมชน สังคมการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ  การเชื่อมโยงมนุษย์ให้เข้ากับ “โลกมนุษย์” กับ “โลกธรรมชาติ” ต้องสมดุล กลมกลืนทุกระบบ ทุกระดับ จึงจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการทัศน์ใหม่ วิธีคิด ในการมองชีวิตสังคมและโลกธรรมชาติด้วยความสัมพันธ์ชุดใหม่ที่นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  ที่แตกต่างจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นวิกฤตการณ์ในปัจจุบันด้วยสำคัญด้วยกรอบแนวคิดกระบวนการทัศน์ใหม่ทางการศึกษาไทย ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพียง สุภาษิตข้งต้นหรือไม่...!?

หมายเลขบันทึก: 413026เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2010 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท