โดย ผอ.โกศล วาระนุช
ในภาวะปัจจุบัน สังคมประสบปัญหาที่เกิดจากการกระทำวัยรุ่น ซึ่งเป็นบุคคลในวัยเรียน เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ยังอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดาและผู้ปกครอง ได้มีพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ของสังคม อาทิ เช่น
- การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย
- การดื่ม และเสพของมึนเมา เสพสิ่งเสพย์ติด
- การมีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันสมควร
- การมีพฤติกรรมทางเพศที่ฟุ่มเฟือย ไม่เลือกคู่
- การขายบริการทางเพศ
- การก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้สังคมหลายรูปแบบ
- บิดามารดาและผู้ปกครอง ปกครองบุตรหลานไม่ได้
ทุกปัญหาที่กล่าวมาล้วนเป็นปัญหาของสังคมอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ วาระแห่งชาติ ” ซึ่งทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้ปัญหาลดน้อยลงหรือหมดไป
องค์กรที่สำคัญที่สุดซึ่งใกล้ชิดเยาวชนมากที่สุด ได้แก่ ครอบครัวของเยาวชนและสถานศึกษาที่เยาวชนศึกษาอยู่ ซึ่งมีหน้าที่ให้การศึกษา อบรมบ่มนิสัย ประคับประคอง อุ้มชู ให้ความรัก ความอบอุ่น ตลอดจนความเอื้ออาทร ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกระทำและพฤติกรรมของเยาวชนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านบวกและด้านลบ
จากประสบการณ์ในการเป็นครูมา 30 ปี พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไม่พึงประสงค์นั้นเกิดจากการเลี้ยงดูเบื้องต้นเกือบทั้งสิ้น เช่น
- การให้ความรักและให้ทุกอย่าง รวมถึงการตามใจจนไร้ขอบเขต
- การดุด่าไม่ยอมรับฟังอย่างไรเหตุผล
- การทอดทิ้งให้อยู่โดยลำพัง
- การให้เงินและเครื่องอำนวยความสะดวกมากเกินไป
- การปกป้องเข้าข้างอย่างผิด ๆ ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
- การยอมให้กระทำในสิ่งที่ผิดๆ และการกระทำบางอย่างก่อนวัยอันสมควร
- การกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมของบิดามารดา และผู้ปกครองให้เยาวชนดู
นอกจากวัฒนธรรมการเลี้ยงดูอย่างผิดๆ จากครอบครัวมีอิทธิพลต่อเยาวชนแล้ว การสอนและการอบรมบ่มนิสัยของครูอาจารย์ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อพฤติกรรมของเยาวชน เช่น
- ครู เปลี่ยนจากการเป็นครูเป็นผู้ให้ความรู้
- ครู เอาใจใส่นักเรียนซึ่งเป็นศิษย์น้อยเกินไป
- ครู ไม่ยอมแก้ไขสิ่งที่นักเรียนกระทำผิด
- ครู ไม่กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์
- ครู ปล่อยภาระการแก้ไขพฤติกรรม และปกครองนักเรียนให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองเพียงฝ่ายเดียว
- ครู ไม่สามารถลงโทษนักเรียนแบบครู และศิษย์เหมือนในอดีต
- ครู ปกครองศิษย์ไม่ได้
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นสาเหตุสำคัญต่อพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของเยาวชนทั้งสิ้น องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างบุคลกรที่เข้มแข็งให้บ้านเมืองทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึง ครอบครัว สถานศึกษา ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ซึ่งเป็นกำหนดนโยบายทั้งในการศึกษาเล่าเรียน และการปกครองนักเรียนหรือเยาวชนต้องหันกลับมาทบทวนการเลี้ยงดู การให้การศึกษาและการอบรมบ่มนิสัย การให้ความรับผิดชอบและการให้รางวัล การลงโทษเยาวชนของไทยใหม่ดีไหมครับ เพื่อสังคมไทยจะได้มีบุคลากรที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถมาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติบนเวทีโลกอย่างสง่างามต่อไป...บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย dongtan ใน โรงเรียนดงตาลวิทยา
คำสำคัญ (Tags)#uncategorized
หมายเลขบันทึก: 41279, เขียน: 28 Jul 2006 @ 11:28 (), แก้ไข: 22 Jun 2012 @ 09:33 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 6, อ่าน: คลิก
เห็นด้วยค่ะกับการวิเคราะห์ของอาจารย์ ถ้าครู/อาจารย์ทุกคนหันมาร่วมมือกันและทำงานอย่างเป็นทีม/เครือข่าย จะทำให้เห็นผลเร็วขึ้น เพราะที่สังเกตดู ยังมีผู้สอนที่เอาใจใส่นักเรียน/นักศึกษาอยู่มาก แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีพลังร่วม
แล้วยังมีกฏ ระเบียบอีกหลายเรื่องที่ทำให้การสั่งสอนอบรม ไม่ได้ผลเต็มที่