เวทีคนหนองบัวได้ร่วมส่งเสริมงานนวัตกรรมสุขภาพชุมชนของกระทรวงสาธารณสุข


ทางศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี แต่เครือข่ายการทำงานและความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้ส่งสมุดบันทึกนวัตกรรมสุขภาพชุมชนมาให้ผม ๑๐ เล่ม หน้าปกของสมุดทำอย่างสวยงามและมีความหมายในการเป็นสื่อให้การเรียนรู้อุดมคติการทำงานเพื่อสังคมด้วยจิตวิญญาณอาสาสมัครของเครือข่าย อสม.

ภาพหน้าปกและหลังปก เป็นภาพและข้อมูลจากเรื่องนุ่นกับการทำเครื่องนอนและผลิตภัณฑ์จากนุ่น จากเวทีคนหนองบัว การทำนุ่นและเครื่องนอนของชาวบ้านหนองบัว : หัตถกรรมและมรรควิถีพอเพียง

ข้างในเป็นสมุดบันทึกและสื่อบูรณาการ ใช้งานได้หลายอย่าง ทั้งเป็นปฏิทินสากกล ปฏิทินกิจกรรมและการดำเนินงานของเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ตารางสำหรับใช้วางแผนประจำปี ข้อมูลหน่วยงานและเครือข่ายผู้นำ อสม.สำหรับการประสานงานด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นคู่มือสำหรับการเรียนรู้และใช้เป็นที่ปรึกษาแนวคิดและแนวการทำงานสุขภาพชุมชน มีเนื้อที่น่าสนใจกระจายอยู่ทั่วทั้งเล่ม 

ปกหน้าด้านใน ได้วาดภาพสีน้ำอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในพระราชกรณียกิจทรงปลูกต้นไม้ลักษณะเหมือนต้นดอกแค ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของระบบสุขภาพภาคประชาชนซึ่งเน้นพลังการพึ่งตนเองของประชาชน การบูรณาการทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพราะต้นแคเป็นพืชสมุนไพรที่สังคมไทยมีภูมิปัญญานำมาเป็นอาหารและให้สรรพคุณทางยาหลายขนาน

ขณะเดียวกัน ใบดอกแคก็เป็นใบรวม ในก้านหนึ่งมีใบเล็กๆอยู่ด้วยกันหลายใบ สื่อถึงความสามัคคและความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของ อสม.และระบบสุขภาพภาคประชาชน อีกทั้งดอกแค ก็ออกเสียงพ้องกับคำว่า Care แคร์ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลวว่าความเอาใจใส่ดูแลกันด้วยความห่วงใยและเอื้ออาทร อีกทั้งเป็นชื่อองค์กร องค์กรแคร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรอาสาสมัครและเครือข่ายจิตอาสาที่มีบทบาทกว้างขวางมากที่สุดองค์กรหนึ่งในระดับโลก ใต้ภาพวาดก็เป็นคำปฏิญาณตนของเครือข่าย อสม. และขวามือก็เป็นปาฐกถาธรรมส่งเสริมความดีงามในการมุ่งสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมและโลกมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยพระคุณเจ้า พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต จังหวัดชัยภูมิ

ข้างในมีเนื้อหาความรู้ ปรัชญาชีวิต ปรัชการทำงานสุขภาพภาคประชาชน นวัตกรรมการทำงานสุขภาพภาคประชาชน เช่น วิธีการสร้างทุนอย่างใหม่ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากทุนนิยมทางเงินตรา สู่การสะสมทุนความดีงาม ทุนแห่งความเสียสละและแบ่งปัน ซึ่งเป็นวิธีคิดและจิตวิญญาณของเครือข่ายจิตอาสา อสม. โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

เครือข่ายโรงเรียน อสม. นวัตกรรมสุขภาพชุมชน ที่ อสม.และภาคประชาชนกำลังสร้างสรรค์และบ่มเพาะให้เข้มแข็งเพื่อเป็นมรดกสืบทอดระบบสุขภาพในมือของประชาชน ให้กับสังคมไทย

องค์กรและเครือข่ายผู้นำ อสม.ของสุขภาพภาคประชาชนภาคกลางและภาคตะวัน เป็นข้อมูลและแหล่งทรัพยากรบุคคลเพื่อประสานความร่วมมือและประสานเครือข่ายการทำงานด้วยพลังจิตอาสา

เวิร์คช็อพถอดบทเรียนเครือข่าย อสม.และเครือข่ายเคลื่อนไหวนวัตกรรมสุขภาพภาคประชาชนของภาคตะวันออกและภาคกลาง ผู้ที่กำลังดำเนินการเวทีดังในภาพคือ คุณสุจินดา สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่ีงท่านได้ขอภาพและข้อมูลจากเวทีคนหนองบัวแล้วไปทำสมุดบันทึกดังกล่าวนี้อย่างงดงาม

การที่จะทำสื่อให้มีความหมายและสามารถใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการหลายวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้ โดยทั่วไปแล้วองค์กรและหน่วยงานขนาดเล็กจะดำเนินการด้วยตนเองได้ยาก โดยเฉพาะหน่วยงานในต่างจังหวัด เพราะมือทำงานกราฟิคและคนทำงานอาร์ตเวิร์คที่ต้องใช้ฝีมือนั้น โดยปรกติแล้วจะไม่ค่อยทำงานในระบบราชการ เราจะต้องจ้างโปรดักชั่นเฮาส์หรือมือกราฟิกจากโรงพิมพ์ซึ่งผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านนี้เท่านั้นจึงจะสามารถรู้และใช้บริการดังกล่าวนี้เป็น อีกทั้งจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

แต่การที่มีกลุ่มคนและชุมชนเล็กได้เรียนรู้ที่จะสร้างทรัพยากรและวัตถุดิบสำหรับทำความสร้างสรรค์แก่สาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็มีคนทำงานและหน่วยงานที่รู้จักวิธีคิดและจัดการความรู้ต่อยอดความริเริ่มสร้างสรค์ของกันและกัน สังคมก็สามารถได้สิ่งที่ดีกว่าและทำงานให้เกิดผลกระทบได้กว้างขวาวงมากว่าเดิม ซึ่งไม่เพียงกลับใช้ทรัพยากรและกำลังคนน้อยลงกว่าเดิมเท่านั้น ทว่า กลับสามารถทำงานในเชิงคุณภาพที่โดยทั่วไปแล้วจะมีข้อจำกัดและไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองอีกด้วย

ความมีจิตสาธารณะต่อการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวม อีกทั้งจิตวิญญาณแห่งการอาสาสมัคร จึงเป็นพลังแห่งจริยธรรมและความดีงามแบบกลุ่มก้อน ที่ก่อให้เกิดโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมรองรับการบูรณาการมิติความรู้และความจริง ความดี และความงาม ให้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจกันด้วยจิตอาสาและความมีจิตสาธารณะจากผู้คน เป็นองค์ประกอบที่งดงามในการสร้างสังคมเพื่อสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวม และเวทีคนหนองบัวก็นับว่าได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการส่งเสริมกิจกรรมด้วยจิตวิญญาณแห่งการอาสาสมัครอันยิ่งใหญ่นี้ของเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน.

หมายเลขบันทึก: 412654เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2010 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

..พี่มาชื่นชมสมุดบันทึก สื่อบูรณาการ และสาระของงานจิตอาสาของชุมชนแห่งนี้..ภาพวาดสวยงามเป็นฝีมืออาจารย์ใช่ไหมคะ..

.. พี่ได้ขอยืม ภาพดอกแคจาก blog ของอาจารย์ ดร.ขจิต มาฝากค่ะ..

             

ได้ตามมาดูการทำหัตถกรรมจากนุ่น ที่สะท้อน :

" การถักทอและเชื่อมโยงความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของสังคมไทยและโลกกว้างด้วยแง่มุมที่เห็นความงดงามของชีวิตผู้คนหลากหลายมิติ เห็นความเป็นญาติพี่น้องผ่านความเป็นปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ด้วยกันในสังคมที่สัมผัสได้ เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากวิถีชีวิตซึ่งให้ทั้งความซาบซึ้ง ควรค่าแก่การน้อมรำลึก และเกิดความเคารพต่อพลังแห่งความสร้างสรรค์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม มากยิ่งๆขึ้น."

พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

มาอนุโมทนากับสื่อชุมชนคนหนองบัว ที่ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในรูปแบบหนังสือ นับเป็นการต่อยอดได้อย่างน่าภูมิใจ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ พี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ
เป็นภาพที่ผมวาดเป็นภาพลายเส้นเองครับ วาดแล้วก็ให้คู่หูผมเป็นคนลงสีบางๆเหมือนสีน้ำให้ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกครับ แต่เรื่องและที่มาของการได้วาภาพนี้นั้น มาจากการที่ท่านพระมหาแลท่านนำเอาเรื่องวัฒนธรรมคู่ดองและการเตรียมของเพื่อแต่งงานออกเรือนของลูกหลานชาวหนองบัว ซึ่งการทำหมอนและที่นอนด้วยนุ่นเพื่อเอาไว้กราบไหว้ญาติผู้ใหญ่และเอาไว้เป็นงานฝีมือโชว์ไว้ในบ้านของบ้านที่มีลูกสาว มาบันทึกไว้ในบล๊อกเวทีคนหนองบัว ผมเลยช่วยต่อยอดเรื่องที่ท่านเล่าถ่ายทอดไว้โดยวาดภาพประกอบและทำเป็นหัวข้อบันทึกให้ ซึ่งกลายเป็นหัวข้อหนึ่งที่เปิดไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างกว้าขวางครับ ท่านผู้สนใจแวะไปอ่านหาความรู้ได้ที่นี่ครับ การทำนุ่นและเครื่องนอนของชาวบ้านหนองบัว : หัตถกรรมและมรรควิถีพอเพียง จะเห็นองค์ความรู้และอดีตความเป็นผู้นำของประเทศไทยที่อำเภอโพธารามราชบุรี ในการทำที่นอนยี่ห้อหนึ่งคือที่นอนจารุภัณฑ์

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)ครับ
ดูสวยทีเดียวครับ ให้ประโยชน์ใช้สอยหลายอย่างดีอีกด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท