ประวัติหลวงพ่อขวัญ - ต่อ


ประวัติหลวงพ่อขวัญ

 

 

3.  เรื่องเล่าอภินิหาร

              1.  หลวงพ่อขวัญเล่าเรื่องตะกรุด

                   หลวงพ่อขวัญเล่าว่า  “ฉันทำตะกรุด  ฉันก็ทำไปตามตำรา  มารู้ว่าเป็นจริงตามตำราก็เพราะว่ามีคนที่ฉันให้ตะกรุดเขาไป  เขามาเล่าให้ฟังว่า  เขาเป็นพัศดีคุมนักโทษ  แล้วมีเรื่องเกิดขึ้น  คือนักโทษมันแหกคุกหนีออกมา  เขาก็ไล่ตามจับ  นักโทษมันมีปืนมันก็หันเอาปืนมายิงเขา  เขาก็เอาปืนยิงไปที่นักโทษบ้าง  ยิงกันไปยิงกันมาอยู่อย่างนั้น  ปรากฏว่าไม่มีใครโดนลูกปืนเลย”  (เพราะทั้งคู่มีตะกรุดของหลวงพ่อขวัญ  ตะกรุดของหลวงพ่อขวัญจะทำให้คลาดแคล้วทั้งสองฝ่าย  เพื่อไม่ให้มีเวรมีกรรมต่อกัน)  อีกเรื่องหนึ่ง  คือ  “มีคนคนหนึ่ง  คนนี้เขายิงปืนแม่นมาก  เขาอยากลองตะกรุดของฉันเขาจึงเอาตะกรุดไปผูกไว้ที่คอไก่แล้วก็ยิงไก่  ปรากฏว่าลูกปืนไปถูกเชือกที่ผูกตะกรุดขาด  ตะกรุดจึงหล่นหายไปเลย  หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  ส่วนไก่ไม่เป็นอะไร  เขามาเล่าให้ฉันฟังแล้วมาขอตะกรุดฉัน  นอกจากฉันไม่ให้ตะกรุด  เขาแล้วยังตำหนิเขาด้วย”

                2.  หลวงพ่อขวัญพบดวงพระวิญญาณพระเจ้าเสือ

 

พระเจ้าเสือ
ที่มา  :  (เมื่อหลวงปู่ขวัญพบดวงพระวิญญาณพระเจ้าเสือ,  ม.ป.ป.)

           เรื่องนี้เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2517 ยุคนั้นเป็นยุคที่คนคลั่งไคล้ในการหาสมบัติหรือตัดเศียรพระ ทำให้มีโบราณวัตถุหายไปมาก วันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งได้ลายแทงมาจากอยุธยา เป็นลายแทงที่บอกว่ามีสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่  8  (พระเจ้าเสือ) ซ่อนอยู่ที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ก็เลยมาหาที่วัดโพธิ์ประทับช้าง  (ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือ) จู่ ๆ ก็เกิดตัวบวมและปวดท้องอย่างไม่มีสาเหตุ  ลูกหาบจึงหามมาหาหลวงพ่อขวัญให้รักษา ท่านก็ทำน้ำมนต์รดให้ ปรากฏว่าชายคนนั้นลุกขึ้นแล้วกล่าวว่า “พระคุณเจ้า นี่มันเป็นคนเลว คิดจะเอาสมบัติชาติ ผมได้รับคำสั่งจากเจ้าที่ที่เฝ้าสมบัติให้ลงโทษมัน”  หลวงพ่อขวัญท่านจึงกล่าวว่า  “โยมเป็นใครล่ะ”  ชายคนนั้นตอบว่า  “ผมเป็นเทวดาที่เฝ้าสมบัติอยู่ขอรับ”  หลวงพ่อขวัญถามว่า  “โยม  อาตมาต้องการช่วยเขา  มีวิธีไหมเล่า”  “ท่านต้องไปขอจากสมเด็จพระเจ้าเสือขอรับ”  ชายที่ถูกสิงพูด  “แล้วทำไงล่ะ”  หลวงพ่อขวัญถาม  ชายคนนั้นตอบว่า  “นิมนต์พระคุณเจ้าเอาเจ้านี่ไปวัดโพธิ์ประทับช้างคืนนี้ก่อนสองยาม  กระผมจะไปรายงานพระเจ้าเสือ  ท่านต้องมาพบพระคุณเจ้าแน่ขอรับ”  หลวงพ่อขวัญก็ตกลงและก็ให้ลูกหาบหามชายหาสมบัติไปรอที่วัดโพธิ์ประทับช้างส่วนวันนั้นทั้งวันหลวงพ่อขวัญท่านนั่งกรรมฐานโดยไม่ออกมาพบปะผู้คนเลย 
         พอโพล้เพล้ท่านก็เดินทางไปวัดโพธิ์ประทับช้าง  ประมาณสองยามหลวงพ่อขวัญท่านก็นั่งบริกรรมคาถา แผ่เมตตาของท่านว่า “พุทโธ  กรรมฐาโม  กรรมจุติ  สัมพุทธโธ”  พอท่านว่าจบก็เกิดลมพัดใหญ่  สักพักก็พบชายร่างกายกำยำ  สวมเสื้อผ้าไหมดิ้นทอง  เดินมายกมือก้มกราบ  “กระผมชื่อนายเดื่อ  เจ้าของสมบัติ”  (นายเดื่อ  คือชื่อของพระเจ้าเสือที่ท่านเรียกตนเอง)  หลวงพ่อขวัญท่านรู้แล้วว่าเป็นพระเจ้าเสือ  จึงออกปากบิณฑบาตขออย่าให้พระเจ้าเสือทำร้ายชายคนนี้อีก  พระเจ้าเสือท่านก็รับปาก  แต่ท่านขอให้หลวงพ่อขวัญบอกชายคนนั้นให้สร้างพระอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน  เพราะปัจจุบันท่านเป็นเพียงภูมิเทวดาธรรมดา  หลวงพ่อขวัญ  ก็รับปากจะบอกให้  พระเจ้าเสือจึงว่า  “งั้นกระผมจะเอาสมบัติให้มันไปเป็นทุน   สร้างพระอุทิศให้กระผม  แต่พระคุณเจ้าจะต้องทายปริศนาก่อนว่า  สมบัติกระผม  อยู่ที่ไหน”  “ก็แล้วสมบัติท่านอยู่ที่ใดเล่า”  หลวงพ่อขวัญท่านถาม  พระเจ้าเสือพูดว่า  “สมบัติกระผมอยู่ที่ควายสองตัวหันหัวชนกันขอรับ”  หลวงพ่อขวัญจึงตอบว่า  “อาตมาภาพรู้แล้ว  สมบัติอยู่ตรงต้นมะขวิดสองต้นที่หันหน้าชนกันหน้าอุโบสถ”  พระเจ้าเสือจึงบอกว่า  “ใช่ขอรับ”  แล้วยกมือไหว้หลวงพ่อขวัญ  แล้วพูดต่อว่า  “กระผมขอลาไปก่อนและอย่าลืมบอกให้เจ้านั่นจัดการให้กระผมด้วยนะขอรับพระคุณเจ้า”  แล้วดวงพระวิญญาณก็หายไป  ชายคนนั้นก็หายจากอาการตัวบวม  และเมื่อขุดหาตรงระหว่างต้นมะขวิดหันหน้าชนกันก็พบทองคำเท่าลูกบวบ  กระโถนทอง  ซึ่งข้างในมีเศษรกแห้ง  หลวงพ่อขวัญจึงให้ชายคนนั้นเอาทองคำเท่าลูกบวบไปขาย  แล้วให้เอาเงินไปสร้างพระถวายพระเจ้าเสือที่อยุธยา  ส่วนกระโถนที่มีเศษรกแห้งมอบให้นายอำเภอ  เพราะเป็นที่ใส่รกของพระเจ้าเสือเมื่อพระองค์ประสูติ  นี่ก็เป็นเรื่องเล่าที่ได้ฟังจากหลวงพ่อขวัญ  จากเหตุการณ์นี้ทำให้จังหวัดพิจิตรมีการสร้างศาลพระเจ้าเสือ  และยกเสาหลักเมืองพิจิตรในเวลาต่อมา  ส่วนชายคนนั้นนำเงินไปสร้างพระอุทิศให้พระเจ้าเสือที่วัดแถวอำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            3.  โดดร่มไม่กางไม่ตาย

                 สิบเอกสมพงษ์ ปัญญาพิมพ์ ตอนนั้นเป็นทหารอยู่ที่ลพบุรี เขามากราบขอบคุณหลวงพ่อขวัญ ซึ่งได้ช่วยชีวิตเขาไว้ โดยรายนี้เป็นพลร่มป่าหวาย ไปฝึกโดดร่มแล้วบังเอิญร่มขาดกลางอากาศร่วงลงมา ในตอนนั้นเขาใส่แหวนรุ่นหัวสิงห์หลวงพ่อขวัญอยู่ เขาจึงเชื่อว่าหลวงพ่อขวัญเป็นผู้ช่วยชีวิตเขา ตอนนั้นเขาเพิ่งออกจากโรงพยาบาล  กะโหลกเขายังไม่เต็ม ยังเห็นสมองเต้นตุบ ๆ ที่ศีรษะของเขาอยู่เลย                         
                  นางมาลัย  ปัญญาพิมพ์  อายุ  44  ปี  อยู่บ้านเลขที่  127/79  ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก เล่าถึงอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อขวัญว่า  “เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539  จ.ส.อ.สมพงษ์ ปัญญาพิมพ์ อายุ  41  ปี  สามีซึ่งเป็นทหารสังกัดกองทัพน้อยที่  3  ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ  จังหวัดพิษณุโลก  ไปฝึกหลักสูตรเปลี่ยนแบบร่มที่  จังหวัดลพบุรี  โดยขณะฝึกนั้นสามีโดดร่มลงมาจากเครื่องบิน  และเมื่อมาถึงระยะ 5,500  ฟิต  สามีกระชากร่มแต่ร่มไม่กางออก  แม้แต่ร่มช่วยก็ไม่ทำงาน  ตอนนั้นสามีบอกความรู้สึกได้เพียงว่าคงไม่รอดแน่  เนื่องจากเป็นระยะที่สูงมาก  จึงนึกถึงหลวงพ่อขวัญและคุณพ่อคุณแม่  โดยในตัวมีเพียงแหวนรุ่นหัวสิงห์ของหลวงพ่อขวัญเท่านั้น  หลังจากนั้นก็เก็บคองอเข่าตามหลักสูตรที่เรียนมา  เมื่อตกมาถึงพื้นก็หมดสติไป”  นางมาลัยกล่าว
                  นางมาลัย กล่าวต่ออีกว่า “เพื่อนทหารช่วยกันนำสามีส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์บอกว่าให้ทำใจ  เพราะโอกาสที่รอดมีน้อยมาก  หรือหากรอดชีวิตก็มิสิทธิเป็นคนปัญญาอ่อน  เพราะสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง  แขนทั้งสองข้างหัก  แต่หลังจากอยู่ในห้องไอซียูไม่ถึง  8  วัน  สามีก็ฟื้นโดยอาการเหมือนคนไม่ได้เป็นอะไรเลย  ซึ่งแพทย์ยังงง  โดยเฉพาะแขนที่หักก่อนหน้านั้น  เมื่อแพทย์จะผ่าตัดกลับพบว่าแขนไม่ได้เป็นอะไรเลย  ทุกอย่างปกติเหมือนคนทั่วไป  ทั้งนี้จากอุบัติเหตุดังกล่าว  สามีนอนอยู่ในโรงพยาบาลเพียง  23  วันเท่านั้น  นางมาลัย  ยังเล่าอีกว่า “หลังจากที่สามีหาย  ได้สอบถามคนในครอบครัวจึงทราบว่า  บิดาของตนไปขอร้องให้หลวงพ่อขวัญช่วย  โดยเขียนชื่อที่อยู่จริงของโรงพยาบาลที่สามีนอนรักษา  หลังจากนั้นจึงทราบว่าหลวงพ่อขวัญท่านได้นำชื่อมาเพ่งกระแสจิต  จนทำให้อาการของสามีหายดีในเวลาอันรวดเร็ว  ซึ่งข่าวดังกล่าวดังไปทั่วประเทศ  โดยช่วงนั้นสามีของตนเองไปออกรายการทีวีหลายรายการ  อย่างไรก็ตามนับแต่นั้นมา  ตนและสามีจะไปเยี่ยมหลวงพ่อขวัญทุกอาทิตย์เป็นประจำตลอดมา  และการจากไปของท่าน  คงไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นความรู้สึกได้”

                4.  คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

                      หลวงพ่อขวัญ มีคุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้

                      1.  เป็นผู้มีความพยายาม

                            เห็นได้จากตอนที่หลวงพ่อขวัญสอบนักธรรมโทครั้งแรกสอบตก  แต่หลวงพ่อขวัญไม่ละความพยายามตั้งใจดูหนังสือไปสอบนักธรรมโทใหม่จนสอบได้  นอกจากนั้นหลวงพ่อขวัญยังมีความพยายามที่จะไปเรียนถึงแม้จะเรียนได้ไม่เต็มที่เพราะไม่มีพระอยู่ที่วัดบ้านนาเลย

                      2.  เป็นผู้มีน้ำใจ

                            เห็นได้จากการที่หลวงพ่อขวัญชอบไปช่วยสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ  มากมาย  เช่น  สร้างศาลา  สร้างอุโบสถ  กุฏิ  วิหาร  ห้องน้ำ  ประปา  ซุ้มประตูวัด    ถ้าพอช่วยได้ท่านจะช่วยทันที  ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย  กำลังปัญญาหรือกำลังทรัพย์

 

ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมากราบไหว้ 
และบูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อขวัญ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

 

 รูปปั้นของหลวงพ่อขวัญ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

หมายเลขบันทึก: 411233เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท