บึงบูรณาการ NKM5: ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค บ้านคำกลาง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (3)


ถ้าชุมชนนี้เข้มแข็งแล้ว ชุมชนอื่นได้มาเรียนรู้ มันก็จะแตกแขนงไปเรื่อยๆ

ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 เป็นประสบการณ์ของตัวแทน จาก 2 หน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐ ส่วนในตอนนี้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานในมุมของตัวแทน “แกนนำชุมชน” เริ่มที่ “พี่พิมนพรรณ คุณสัตย์” คนต้นแบบด้านการออกกำลังกายของบ้านคำกลาง

                      

ก่อนหน้านี้ “พี่พิมนพรรณ” จัดว่าเป็น “คนอ้วน” น้ำหนักประมาณ 86 กิโลกรัม เกิดแรงบันดาลใจที่จะลดน้ำหนักจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มพืชผักสมุนไพร) และออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อทดลองปฏิบัติด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ (พี่พิมนพรรณไม่ได้บอกว่าน้ำหนักลดลงไปเท่าไหร่ ประเมินกันเองจากภาพถ่ายแล้วกันนะคะ) ก็เลยไปชักชวนเพื่อนๆ ในคุ้มแสนสำราญ และ อสม. ในหมู่บ้าน มารวมกลุ่มออกกำลังกาย และเนื่องจากคนในหมู่บ้านมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันอยู่แล้วก็เลยชักชวนได้ง่าย นอกจากนี้ ยังสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนอยากออกกำลังกาย โดยประยุกต์และสอดแทรกกิจกรรมการออกกำลังกายเข้าไว้ในการแสดงพื้นบ้าน รวมทั้งในการจัดงานประเพณีต่างๆ ของหมู่บ้าน ก็จัดให้มีการแข่งขันออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรคบิค ซึ่งตอนหลังได้ปรับรูปแบบมาเป็นการเซิ้ง“ก้าว Step” มีการจัดทำเครื่องออกกำลังกายขึ้นใช้เองด้วยวัสดุที่มีอยู่มากมายในชุมชน เช่น ไม้ และหวาย เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุนี้ชาวบ้านออกกำลังกายกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ออกไปทำงานเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่นา ก็จะมารวมตัวกันออกกำลังกายช่วงประมาณ 5 โมงเย็นของทุกวัน โดยมี อสม. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายมาคอยให้คำแนะนำเป็นระยะๆ

“พี่ส่งศรี” เล่าเสริมเรื่องนี้ว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านก็มีการออกกำลังกายกันอยู่บ้าง แต่จะทำอยู่คนเดียวภายในบ้านของตนเอง ไม่ค่อยกล้าออกมาข้างนอก ภายหลังการขับเคลื่อนการทำงานโดยภาคีหลายฝ่ายที่ร่วมมือกัน ทำให้แกนนำและชาวบ้านมารวมกลุ่มกันออกกำลังกาย อีกทั้งยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบ่งปันเทคนิคและวิธีการออกกำลังกายกันใน “คุ้มแสนสำราญ” รวมถึงช่วยกันสร้างเครื่องออกกำลังกายไว้ใช้ร่วมกัน ตอนนี้ตามถนนหนทางในหมู่บ้านชาวบ้านจะพากันมาออกกำลังกาย คนเฒ่าคนแก่ ก็ออกมามีส่วนร่วม ออกมานั่งปรบมือให้จังหวะบ้าง วันไหนมี “ตุ้มโฮม” มีการแสดงดนตรีพิณแคนพื้นบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะมาเคลื่อนไหวร่างกายเคล้าไปกับจังหวะดนตรี ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าการออกกำลังกายอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนในหมู่บ้าน มีการรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า “คนที่รักษ์สุขภาพ คนที่อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงต้องออกกำลังกาย” นอกจากคุ้มออกกำลังกายแล้ว ทุกเดือนจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองในชุมชน ตามคุ้มต่างๆ* โดยในแต่ละคุ้มจะมีการกำหนดกันเองว่าแต่ละเดือนจะแลกเปลี่ยนกันเรื่องอะไร

จากนั้นต่อด้วยประสบการณ์ของ“พี่มลิวรรณ ธนาไสย์” อสมช. ประจำหมู่บ้านคำกลาง ซึ่งออกตัวก่อนเลยว่า “เว้าบ่ค่อยเก่ง แต่ถ้าให้ทำล่ะก็สู้ตาย” และขออนุญาตผู้เข้าร่วม ลปรร. ในลานบึงบูรณาการว่าขอเล่าเป็นภาษาไทยอีสาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยการปรบมืออย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย

“พี่มลิวรรณ” เล่าถึงสิ่งที่ตัวเองทำว่า ได้ไปชักชวนเพื่อนๆ อสม. กรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านมาช่วยกันคิดหาทางว่า “ทำอย่างไรจะช่วยให้ชาวบ้านลดการกินพืชผักที่ปลูกโดยใช้สารเคมีซึ่งมีรถนำมาเร่ขายในหมู่บ้านลงได้” มูลเหตุที่นำมาสู่การหารือกันในเรื่องนี้เกิดจากการที่มีคนในหมู่บ้านถึง 2 คน เสียชีวิต โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารพิษปริมาณมากที่ปนเปื้อนมากับพืชผักที่นำไปประกอบอาหาร จากการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันทำให้ได้ข้อสรุปว่าจะต้องส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกพืชผักพื้นบ้านไว้รับประทานเองในครัวเรือน โดยผู้นำชุมชน และ อสม. จะเป็นกลุ่มนำร่องที่ทดลองลงมือทำเป็นตัวอย่างก่อน โดยนำความรู้ที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์และการทำปุ๋ยหมักชีวภาพมาใช้ และเลือกใช้พืชผักสมุนไพรที่เป็นพันธุ์พื้นบ้านเป็นหลัก เมื่อได้ผลผลิตนอกจากบริโภคกันเองในแต่ละครัวเรือนแล้วยังนำไปแบ่งปันให้คนในชุมชนโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ หลังจากทำไปได้ระยะหนึ่งจึงจัดให้มีการบอกเล่าแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มชาวบ้าน (ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคุ้มซึ่งจัดเป็นประจำทุกเดือน) ถึงประโยชน์ของการบริโภคผักสมุนไพรที่ปลูกไว้กินเอง ก็มีคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน มาเล่าให้ฟังว่า ถึงเวลานัดไปตรวจคุณหมอก็บอกว่าความดันฯไม่เพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดก็ไม่สูงขึ้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทดสอบพืชผักสมุนไพรก็ไม่พบสารพิษตกค้าง จากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และเห็นจริงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปลูกพืชผักไว้กินเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำเองแผ่ขยายไปทั่วหมู่บ้าน ส่งผลให้ตามขอบรั้วตลอดไปจนถึงริมถนนหนทางกลายเป็นแหล่งอาหารปลอดสารพิษสำหรับทุกคนในชุมชน

สุดท้าย “พี่เนาวรัตน์” เป็นตัวแทนสรุปว่า เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการดำเนินงานครั้งนี้ คือ “แผนที่ผลลัพท์” เริ่มจากการเชิญชวนคนในชุมชนมาสร้างวิสัยทัศน์และพันธกิจร่วมกัน โดยให้เขาพูดถึงจุดเด่นในแต่ละด้านของชุมชนว่าคืออะไร แล้วดึง key word จากสิ่งที่เขาเก่งออกมาเป็นวิสัยทัศน์ของหมู่บ้านได้ว่า “คำกลาง นำประชาธิปไตย สมุนไพรใช้ดี ปุ๋ยอินทรีย์มีใช้ สามวัยแข็งแรง เปลี่ยนแปลงการกิน ถิ่นอาหารปลอดภัย ใส่ใจหลักพอเพียง ไมเกี่ยงออกกำลังกาย โรคร้ายไม่เบียดเบียน” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความฝันที่คนในบ้านคำกลางอยากทำ จากนั้นจึงช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะสร้างความฝันให้กลายเป็นจริง เสร็จแล้วก็ช่วยกันลงมือทำ โดยถือเป็นภารกิจของทุกคนที่ต้องร่วมกันทำ เริ่มจากผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำ หรือเป็น “คุณอำนวย” ในภาษาของ KM และมีทีม อสม. เป็น “คุณอำนวยน้อย” โดยมีทีมจากโรงพยาบาลและภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้การสนับสนุน ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แกนนำเหล่านี้มีความรู้ ทักษะ และความเข้มแข็ง เพื่อต่อไปจะได้เป็นภาคีหลักที่สามารถดำเนินงานต่างๆ ในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน... “เราจะบอกชาวบ้านตั้งแต่ก้าวย่างไปในชุมชนเลยว่า ทีมคุณหมอเป็นแค่พี่เลี้ยง เป็นแค่คนพาทำ เราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ “พี่เนาวรัตน์” ฝากไว้คือ “เพื่อนร่วมภาคีต่างๆ ที่เราไปเชื่อมโยงเข้ามาเพื่อร่วมกันทำงาน เราต้องทำให้เห็นว่าเป็นผลงานเขาด้วย เพราะถ้าทำแล้วสาธารณสุขได้หน้าอยู่ฝ่ายเดียวก็ไปไม่รอด

“พี่ส่งศรี” กล่าวสรุปปิดท้ายอีกครั้งว่า ในจังหวัดยโสธรมีหมู่บ้านต้นแบบทุกอำเภอ ในส่วนของบ้านคำกลางเป็นต้นแบบที่มีจุดเด่นเรื่องการลดเสี่ยง ลดโรคภัยเงียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “นายอำเภอ” ให้ความสำคัญโดยประกาศเป็น “วาระของอำเภอ” และให้ทุกภาคีในภาครัฐเข้ามามีบทบาททำงานร่วมกัน โดยเริ่มต้นดำเนินงานมาประมาณ 3 ปีแล้ว จนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อยอดขยายผลไปในพื้นที่และเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานจากต่างพื้นที่ด้วย

ท้ายที่สุด ทีม 5 สาวต่างสไตล์แต่หัวใจเดียวกัน เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วม ลปรร. มีส่วนร่วมด้วยการขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมๆ กับบทเพลงลมหายใจแห่งสติ... ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน ภูผาใหญ่กว้าง ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น ดังนภากาศ อันบางเบา...

 

หลังจากขยับกายสบายชีวีกันพอหอมปากหอมคอแล้ว พี่ๆ ทั้ง 5 ได้ชักชวนให้ทุกคนร่วมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในซุ้มสาธิตศูนย์การเรียนรู้อาหารพื้นบ้านและการออกกำลังกาย บรรยากาศในช่วงนี้เป็นอย่างไร ให้ภาพถ่ายเล่าเรื่องแล้วกันนะคะ

 

สิ่งที่ผู้เขียนโดนใจคือตอนที่ “พี่เนาวรัตน์” บอกว่า “เราจะเอาอะไรไปให้ชุมชนเราต้องถามก่อนว่าเขาจะเอาอะไร โปรดอย่าใส่ในสิ่งที่ตนอยากให้เขา ต้องถามเขาก่อน สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในหลายๆ โครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีแต่เราเอาไปให้ พอจบโครงการทุกอย่างก็จบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในชุมชน

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน “ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคฯ” ของบ้านคำกลางในครั้งนี้ คือ KM ที่บูรณาการอยู่ในวิถีชีวิต ดังที่ “พี่เนาวรัตน์” กล่าวไว้ในช่วงแรกว่า เราเข้าไปเติมในส่วนที่เขาขาด คือ เริ่มต้นจากการเข้าไปเรียนรู้สถานการณ์และบริบทแวดล้อมตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยทำร่วมกับคนในชุมชน และเติมให้ในสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการบนพื้นฐานต้นทุนของชุมชน เป็นไปอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เข้าไปรับในส่วนที่เขาเกิน คือ การถอดหมวกและเปิดใจเรียนรู้สิ่งที่เรียกกันว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ของทีมจากหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐ แล้วนำมาเป็นฐานประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างผสมกลมกลืนกับวิถีของชุมชน เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ คือ การที่ไม่ยัดเยียด ไม่เร่งรัด ไม่ขัดแย้ง หากแต่ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยปรับค่อยเปลี่ยน เรียนรู้จากกันและกัน ต่างฝ่ายต่างให้และต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทำให้นึกถึง “หลักการทรงงาน” ของในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ที่ผู้เขียนเคยจดบันทึกมาจากนิทรรศการที่จัดแสดงไว้ใน ศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย ของ วช. ความว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และจิตวิทยาชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

ความสำเร็จของการดำเนินงาน “ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคฯ” ของบ้านคำกลาง จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า การทำงานที่เริ่มด้วยใจ เรียนรู้อย่างเปิดใจ ชักชวนกันมาร่วมใจ ลงมือทำด้วยความตั้งใจ นั้นย่อมได้ใจ และโดนใจอย่างที่สุด เสียดายที่เวลามีไม่มากพอที่จะได้เรียนรู้รายละเอียดอันเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ายังคงมีอยู่อีกมากมายในการทำงานของชาวชุมชนบ้านคำกลาง แต่พี่ๆ ทั้ง 5 คน ก็ได้เปิดทางไว้ว่า พร้อมเปิดรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ทุกคนที่สนใจ...ถ้าชุมชนนี้เข้มแข็งแล้ว ชุมชนอื่นได้มาเรียนรู้ มันก็จะแตกแขนงไปเรื่อยๆ...

ปลาทูแม่กลอง
30 พฤศจิกายน 2553

 

* ศูนย์การเรียนรู้ 5 คุ้ม ของชุมชนบ้านคำกลาง

  • คุ้มฟ้าสีทอง – ศูนย์การเรียนรู้ “ศูนย์สามวัย” ดูแลประชาชนตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
  • คุ้มน้ำพระทัย - ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
  • คุ้มแสนสำราญ – ศูนย์เรียนรู้การออกกำลังกาย
  • คุ้มน้ำทิพย์ – ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร
  • คุ้มทุ่งเจริญ – ศูนย์การเรียนรู้อาหารพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 411178เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท