หัวใจของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่การจัดการ


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว

หัวใจของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่การจัดการ

 

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจขายบริการให้กับนักท่องเที่ยว วัตถุดิบที่สำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวได้แก่สถานที่ท่องเที่ยว ประกอบด้วยสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นด้วยการสร้างของมนุษย์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว มีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติได้แก่ทะเล หาดทราย ภูเขา ป่าไม้  แม่น้ำ ลำคลอง สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้แก่ เมือง โบราณสถาน และโบราณวัตถุ  สถานที่ท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ หมู่บ้านและชุมชนต่างๆซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัตถุ ที่มีความแตกต่างเฉพาะชุมชนมากมายหลายแห่งทั่วทุกภาคของประเทศ

สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆได้ถูกค้นพบโดยนักท่องเที่ยวอิสระที่ชอบการผจญภัย เมื่อการคมนาคมสะดวกสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆก็มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมความงามมากขึ้น และได้มีการเล่าขานกันต่อๆไป และในที่สุดก็มีการพัฒนาจนเกิดธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้น

ธุรกิจท่องเที่ยวครอบคลุมถึงธุรกิจต่างๆหลายธุรกิจ ประกอบด้วยธุรกิจด้านการ คมนาคมเช่น ธุรกิจการบิน ธุรกิจเดินเรือ ธุรกิจเดินรถ  ธุรกิจด้านที่พัก ได้แก่ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเกสเฮาส์  ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจบันเทิงต่างๆ ธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ให้บริการลูกค้าทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวตรงๆได้แก่ธุรกิจบริการนำเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจบริการนำเที่ยว จะต้องนำวัตถุดิบของการท่องเที่ยว ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยว และเรื่องราวต่างๆของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น มาผูกเป็นเรื่องราว เพื่อนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว ต้องมีการจัดการที่ดี เริ่มตั้งแต่โปรแกรมการท่องเที่ยว ความหมายและสื่อในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ การจัดเตรียมพาหนะในการเดินทาง การจัดเตรียมสถานที่พักแรมและการเตรียมอาหารการกินให้กับนักท่องเที่ยวในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านผู้ประกอบที่ให้บริการนำเที่ยวก็ได้ แต่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นต้องจัดการสิ่งต่างๆด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถเดินทางไปถึงจุดท่องเที่ยวต่างๆได้ด้วยตัวเอง  มีทั้งใช้พาหนะของตัวเองเดินทางเช่นขับรถไปเอง หรือซื้อบริการขนส่งจากผู้ประกอบการเดินรถขนส่งเพื่อเดินทางไปให้ถึงจุดท่องเที่ยวที่ต้องการจะไปชม

สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ต้องมีการจัดการของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นการจัดการด้านคมนาคมได้แก่การสร้างถนน สร้างท่าเรือ สร้างท่าอากาศยาน และแน่นอนต้องมีผู้ประกอบการด้านการขนส่งจัดให้บริการด้านพาหนะในการเดินทางเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

การจัดการใดๆก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวล้วนมีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในด้านบวกและในด้านลบ ดังนั้นการจัดการจึงมีความสำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นหัวใจของธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องและครอบคลุมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย การจัดการด้านใดด้านหนึ่งอาจมีผลกระทบกับอีกด้านหนึ่ง จึงต้องมีการศึกษาในภาครวมของธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบครอบ และมองถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การจัดการขึ้นอยู่กับมนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย ถ้ามนุษย์ทุกคนรู้จักสร้าง ปัญหาต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น มนุษย์มีความคิดและมุมมองที่แตกต่าง มนุษย์มีปัญญาไม่เท่ากัน มนุษย์มีคุณธรรมและจิตสำนึกต่างระดับ ดังนั้นถ้าจะให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอย่างยั่งยืน  เราจะต้องได้ผู้ที่มีความรู้สติปัญญาและมีความจริงใจเข้ามาจัดการด้านธุรกิจท่องเที่ยวอย่างแท้จริง จากส่วนภาคต่างๆดังนี้

๑ ) ภาครัฐได้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการวางแผนการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว  ท่านต้องทำการศึกษาในทุกด้าน โดยการจัดตั้งทีมทำงานที่มาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ( คัดผู้ที่มีความรู้ในเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน อย่าคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่ง หรือเจ้าของธุรกิจเพียงกลุ่มเดียว ควรกระจายให้ทั่ว ) เพื่อจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

๒) หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้ในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แก่เจ้าหน้าที่รัฐ แบบลงลึกในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้มีความเข้าใจการจัดการธุรกิจท่องท่องในส่วนงานของตัวเอง

๓)หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้มองเห็นถึงการจัดการบริหารธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

๔)จัดตั้งหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่มีมาตรฐานและปฏิบัติตามกฎหมายการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และกำจัดหรือกีดกันมิให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจัดการธุรกิจนำเที่ยวแบบยั่งยืน หรือมิให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวแบบแอบแฝง

๕)จัดทำหลักสูตรการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ พนักงานในแต่ละส่วนของธุรกิจ ที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักสูตรในการสร้างความรู้และจิตสำนึกในการเป็นนักจัดการในธุรกิจท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ( ก่อนอื่นต้องสร้างผู้สอนให้มีความเข้าใจที่แท้จริงก่อน)

๖)ผลิตบุคคลด้านการท่องเที่ยวในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จัดทำมาตรฐานของพนักงานในแต่ละระดับ พร้อมทั้งอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมและพอเพียงต่อการยังชีพ

๗)จัดตั้งสภาลูกจ้างงานบริการด้านธุรกิจท่องเที่ยวโดยการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพนักงาน  ให้พนักงานมีโอกาสได้รับความรู้และทักษะเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีความมั่นคงสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยรายได้ประจำโดยไม่ต้องคอยหารายได้จากการต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว

ที่ผมได้กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว ทำอย่างไรให้รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นสมบัติของปวงชนชาวไทยทุกคนได้รับการแบ่งปันอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มิใช่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนบางคนที่คิดเพียงแค่กอบโกยเงินทองให้กลุ่มของตัวเองโดยมิได้คำนึงถึงความยั่งยืนของธุรกิจที่ควรจะเป็นอู่น้ำอู่ข้าวของประชาชนชาวไทยโดยรวม

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

23 ตุลาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 409977เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2010 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท