หัวใจของธุรกิจบริการคือ การจัดการกับมนุษย์


ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจให้บริการ หัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการมนุษย์

หัวใจของธุรกิจบริการคือ การจัดการกับมนุษย์

 

ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจการให้บริการล้วนๆ  ดังนั้นหัวใจของธุรกิจจึงอยู่ที่การจัดการ  การจัดการที่ยากที่สุดคือการจัดการกับมนุษย์ มนุษย์ มีความคิดเห็นของตัวเอง ไม่เหมือนกับสิ่งของ ที่เราสามารถนำมาตบแต่งและทำอะไรก็ได้ มนุษย์มีอารมณ์และความคิดของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครมาสั่งหรือให้ทำอะไรก็ได้ตามใจของผู้สั่ง

การให้บริการเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างไม่สามารถกำหนดตายตัวเหมือนกับสิ่งของที่เป็นวัตถุ  คุณค่าของการบริการจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้า ลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน จึงเป็นการยากที่จะกำหนดหรือจัดกรอบการบริการเพื่อให้ลูกค้าทุกคนพอใจ

ความพอใจเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน พบเห็นอยู่บ่อยๆว่าลูกค้าพอใจในสินค้าแต่ภายนอกแสดงอาการไม่พอใจเพื่อต่อรองให้ได้ราคาสินค้าที่ถูกลง หรือเพื่อให้ได้รับบริการที่เพิ่มขึ้น สินค้าที่เป็นวัตถุ ลูกค้าสามารถแตะต้องและทดลองใช้จนเป็นที่พอใจ จึงตัดสินใจซื้อ เมื่อซื้อแล้วเกิดไม่พอใจหรือไม่ต้องการใช้ก็สามารถขายต่อให้คนอื่นหรือให้กับผู้อื่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้  สำหรับสินค้าด้านบริการ ไม่สามารถสัมผัสกับสินค้าได้ และเมื่อตัดสินใจซื้อแล้วก็ต้องใช้เลยจะเก็บไว้ไม่ได้ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก เมื่อต้องการจะใช้บริการอีกก็ต้องซื้อบริการใหม่ซึ่งอาจได้รับความพอใจไม่เหมือนเดิม อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิม ทั้งๆที่เป็นบริการแบบเดียวกันและซื้อจากที่เดียวกัน

สินค้าที่เป็นวัตถุ ลงทุนในการออกแบบครั้งเดียวสามารถผลิตสินค้าออกมาเป็นจำนวนมาก ที่มีมาตรฐานและคุณค่าเท่ากัน แต่สินค้าบริการไม่สามารถทำได้เหมือนสินค้าที่เป็นวัตถุ เพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็น มนุษย์  มนุษย์ไม่เคยคงที่ ไม่มีใครสามารถทำให้มนุษย์คงที่ได้ วัตถุที่เป็นสิ่งของไม่มีชีวิตจึงไม่มีการเรียกร้องค่าตัว แต่มนุษย์มีชีวิตจึงต้องเรียกร้องค่าตัวเพื่อนำเงินทองที่ได้ไปเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยธุรกิจหลักๆ ได้แก่ธุรกิจคมนาคม ( ให้บริการด้านการเดินทาง) ธุรกิจโรงแรม ( ให้บริการด้านห้องพัก ) ธุรกิจจัดนำเที่ยว ( ผู้จัดโปรแกรมการท่องเที่ยวและให้บริการนำเที่ยว) ธุรกิจร้านอาหาร ( บริการอาหารเครื่องดื่ม ) และอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจ ธุรกิจแต่ละชนิดยังมีการแตกย่อยไปอีกหลายแขนง เช่นธุรกิจ คมนาคม แยกออกเป็น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจรถโดยสารประจำทาง ธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง ธุรกิจให้เช่ารถ ธุรกิจรถไฟ ธุรกิจเดินเรือข้ามฝาก ธุรกิจเดินเรือเพื่อท่องเที่ยว และอื่นๆอีกมากมาย

ธุรกิจคมนาคม และธุรกิจโรงแรม จริงๆเป็นธุรกิจที่ให้การสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว เพราะธุรกิจทั้งสองประเภทเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ให้บริการเฉพาะกับนักเที่ยวเที่ยวเท่านั้น ดังนั้นธุรกิจจัดนำเที่ยวจึงถึงว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวได้แก่ใครก็ได้ที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว หรือบางครั้งเป็นนักธุรกิจที่เดินทางไปติดต่อการค้าและถือโอกาสแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาหนึ่งของการเดินทางไปติดต่อการค้า

นักท่องเที่ยวเองสามารถเลือกการท่องเที่ยวได้หลายวิธี ดังนั้นธุรกิจจัดนำเที่ยวเองอาจไม่มีรายได้ใดๆจากนักท่องเที่ยวผู้นั้นเลยก็ได้ ธุรกิจจัดนำเที่ยวถึงแม้นจะได้ค่าจัดนำเที่ยวจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องนำไปจ่ายให้กับโรงแรม สายการบิน บริษัทรถเช่า ร้านอาหาร  เหลือเป็นรายได้จริงๆไม่เท่าไหร่ หรืออาจไม่เหลือเลยก็ได้ บางรายอาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ

ธุรกิจโรงแรม และ ธุรกิจ คมนาคม ต้องลงทุนสูง เพื่อจัดหาที่ดินในการปลูกสร้างโรงแรม ค่าก่อสร้าง และค่าอุปกรณ์ในการให้บริการต่างๆ เครื่องบิน เรือ รถ  ส่วนธุรกิจจัดนำเที่ยวไม่ต้องลงทุนสูงในการจัดหาวัตถุต่างๆเหมือนกับธุรกิจทั้งสองประเภทที่เอ่ยมา  ธุรกิจโรงแรม และ คมนาคม เริ่มจากเครื่องมือที่เป็นวัตถุ และจึงมาใช้มนุษย์ในการจัดการและให้บริการ วัตถุนั้นมีราคา สามารถซื้อขายได้ สำหรับธุรกิจจัดนำเที่ยว การลงทุนเริ่มต้นที่มนุษย์ ไม่ต้องลงทุนสูงอย่างธุรกิจทั้งสองประเภทที่ยกมา

ธุรกิจจัดนำเที่ยว ลงทุนเพียงแค่มีสำนักงานและเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ไม่ต้องไปเสียเวลากับการก่อสร้างหรือการจัดหาอุปกรณ์อย่างเช่นธุรกิจอีกสองประเภท แต่สิ่งที่จะต้องลงทุนคือ การจัดการมนุษย์ เริ่มจากการสรรหามนุษย์ ให้ความรู้และอบรม เพื่อช่วยกันผลิตและสร้างสินค้าที่ไม่มีตัวตนและความคงที่ เงินที่ลงทุนในการจัดการกับมนุษย์ไม่สามารถตีราคาได้ และไม่สามารถยึดเป็นเจ้าของได้  สินค้าที่ผลิตมาไม่สามารถเก็บตุนได้

จากที่กล่าวมาแล้วเมื่อพูดถึงธุรกิจท่องเที่ยว ทุกคนจึงมองไปที่ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจคมนาคม เพราะธุรกิจทั้งสองประเภทเป็นธุรกิจที่นักท่องเที่ยวต้องใช้บริการ ทำรายได้มาก จึงมีผู้กล้าลงทุนถึงแม้นว่าการลงทุนจะสูงก็ตาม ผิดจากธุรกิจจัดนำเที่ยวที่การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่การจัดการกับมนุษย์ล้วนๆ ลงทุนแล้วเรียกกลับไม่ได้

มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด หัวใจของธุรกิจบริการ อยู่ที่มนุษย์ แต่ในวงจรของธุรกิจ มนุษย์ยังไม่กล้าลงทุนที่มนุษย์ มากกว่าการลงทุนที่วัตถุ จึงทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่มีคุณภาพ  ทั้งๆที่ประเทศเรามีทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ไม่แพ้ประเทศใดในโลก

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

20 ตุลาคม 2548

 



ความเห็น (5)

ทุนมนุษย์ กับ การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว

เรียบเรียงจาก

โครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา

 

Introduction

 

ธุรกิจบริการการท่องเที่ยวเป็นสาขาการบริการที่มีความสำคัญมาก มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourist Organization: WTO) มีการคาดคะเนว่าภายในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกถึง 1,600 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวระยะไกลจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจะใช้เวลาท่องเที่ยวในแต่ละสถานที่ลดน้อยลง โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวของชาติที่มีการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ส่วนนักท่องเที่ยวชาติใหม่ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในระดับสูง ได้แก ประเทศจีน และรัสเซีย

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมากและครอบคลุมแทบทุก ประเภท ทั้งที่เป็นธรรมชาติเฉพาะอุทยานธรรมชาติ มีทั้งสิ้น 71 แห่ง (ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง และภาคใต้ 7 แห่ง) 1 และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเฉพาะวัด อย่างเดียวมีจำนวนถึง 33,902 แห่ง สำหรับ วัง พระราชวัง และพระตำหนัก มีไม่น้อยกว่า 46 แห่ง พิพิธภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 273 แห่ง น้ำตกไม่น้อยกว่า 764 แห่ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของแหล่ง ท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติมักมีปัญหาเสื่อมโทรม ขาดการดูแลรักษา โดยน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินกลางที่ใครๆก็สามารถเข้ามาใช้ได้ มีการบุกรุกเข้าไปก่อสร้างและพัฒนาอย่างไม่มีการวางแผน ผิดประเภท และไม่ให้ความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทำให้ทรุดโทรม เกิดมลภาวะทางภูมิทัศน์ ขาดความปลอดภัย นอกจากนี้ยังขาดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้เกินกว่าความสามารถของทรัพยากรในการฟื้นคืนสภาพ ซึ่งเป็นการทอนขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้สูญเสียนักท่องเที่ยวในที่สุด     

 ด้วยบุคลิกของคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใสมีอัธยาศัยไมตรีอันดีต่อผู้อื่นได้รับการขนาน นามว่า “สยามเมืองยิ้ม” จึงน่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการประกอบธุรกิจด้านบริการโดยเฉพาะธุรกิจ การเดินทางและท่องเที่ยว ที่ต้องมีการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แขก ผู้มาเยือนท้องถิ่นของตนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

นอกจากนี้วัฒนธรรมประเพณีความเป็นอยู่ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยมของคนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ก็สามารถก่อให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันการนำประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยว ก็อาจนำไปสู่ความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมประเพณีหากมีการปรับรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีนั้นให้สอดคล้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว แทนที่จะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปเรียนรู้รากเหง้าแห่งภูมิปัญญาหรือที่มาของการก่อเกิดวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านั้น ประเพณีวัฒนธรรมที่ถูกปรับเปลี่ยนก็จะมีค่าเพียงการแสดงที่ถูกจัดฉากขึ้นมิใช่เป็นการดำเนินชีวิตหรือการสานต่อทางวัฒนธรรมประเพณีตามค่านิยมหรือความเชื่อที่มีสืบต่อกันมา

 ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจึงอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ดำรงอยู่สืบไปเพื่อเป็นความภาคภูมิใจแก่ชนรุ่นหลังและเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้มาสู่ชุมชนหรือประเทศอย่างยั้งยืนต่อไป แต่หากไม่มีการจัดการด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงก็อาจกลายเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม หรือลดคุณค่าแห่งวัฒนธรรมประเพณีนั้นให้เป็นเพียงการจัดฉากเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชมโดยขาด จิตวิญญาณทางวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นทะเล น้ำตก ภูเขา แม่น้ำ ล้วนเป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนกลางที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ อย่างแท้จริง หากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยว ต่างก็เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยผลักภาระหน้าที่ในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านี้ให้เป็นของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด สุดท้ายย่อมจะนำความเสื่อมโทรมมาสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านั้น และส่งผลให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในที่สุด อีกทั้งผู้ที่ต้องแบกรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมโทรมของธรรมชาติโดยตรงก็คงจะ หนีไม่พ้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นโดยที่อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่หรือผู้ประกอบการที่มาจากถิ่นอื่น

สำหรับความเสื่อมโทรมหรือการทำลายแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอาจเกิดจาก สาเหตุอื่น ๆ เช่น การขยายตัวของเมืองโดยไม่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ การขยายตัวของโรงงาน อุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เปลี่ยนแปลงไป ดังจะเห็นได้จากการเกิดภาวะน้ำท่วมหนักและโคลนถล่มในภาคเหนือ หรือการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจนเกิดความแห้งแล้งอย่างหนักในบางพื้นที่จนส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว จึงควรมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่อไป   

 ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจะประกอบด้วยธุรกิจหลักใน 3 ส่วนคือ 1) ธุรกิจบริการที่พัก   2) ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม และ 3) ธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์โดยธุรกิจเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นการให้บริการที่ประกอบกัน (complementary services) และเกี่ยวโยง กับแหล่งท่องเที่ยว หากโรงแรมหรือที่พักได้รับการออกแบบมาอย่างดีสอดคล้องเหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวก็จะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับบรรยากาศและทิวทัศน์ของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ อีกทั้งโรงแรมหรือที่พักยังมีความจำเป็นในฐานะเป็นที่พักผ่อนและค้างแรมหลังจากนักท่องเที่ยวได้เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมาตลอดทั้งวัน ส่วนธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มก็มีส่วนช่วยเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับธุรกิจบริการที่พัก เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่อร่อยและสะอาดย่อมมีส่วนช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จะช่วยเชื่อมโยงและสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวต่อแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเลือกมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ เนื่องจากจะมีส่วนในการแนะนำหรือคัดสรรบริการหรือแหล่งท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือช่วยเผยแพร่จุดเด่นที่น่าประทับใจของแหล่งท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวขยายระยะเวลาการท่องเที่ยวหรือมีความประทับใจจนต้องกลับมาเที่ยวซ้ำและอาจแนะนำนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้มารู้จักกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าประทับใจดังเช่นที่ตนเองเคยได้รับ

ธุรกิจบริการที่พักมีด้วยกันหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่โรงแรม คอนโดเทล เกสท์เฮาส์ บังกะโล บ้านพักตากอากาศ บ้านพักเชิงนิเวศ พื้นที่ให้เช่าสำหรับกางเต็นท์เป็นต้น สำหรับในธุรกิจบริการที่พักที่ SMEs น่าจะสามารถเข้ามา ประกอบกิจการได้คงจะเป็นเกสท์เฮาส์ บังกะโล บ้านพักเชิงนิเวศขนาดเล็ก หรือพื้นที่ให้เช่าสำหรับ กางเต็นท์

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม พบว่าจำนวนวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจโรงแรม ค่ายพักและที่พักชั่วคราวในปี 2547 มีจำนวนทั้งหมด 16,950 ราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 16,751 ราย และในปี 2548 มีจำนวน ผู้ประกอบการทั้งหมด 17,853 ราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 17,650 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 5.33 และ 5.37 ตามลำดับ ทั้งนี้หากพิจารณาตามขนาดของวิสาหกิจจะพบว่าผู้ประกอบการกว่า ร้อยละ 99 เป็นผู้ประกอบการ SMEs  สำหรับด้านการจ้างงานในธุรกิจโรงแรม ค่ายพักและ ที่พักชั่วคราว  พบว่าในปี 2547 มีจำนวนการ จ้างงานในธุรกิจโรงแรม ค่ายพัก และที่พักชั่วคราวทั้งหมด 232,916 คน เป็นการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 156,554 คน คิดเป็นร้อยละ 67.21 ของการจ้างงานทั้งหมดในธุรกิจโรงแรม ค่ายพักและที่พักชั่วคราว ส่วนในปี 2548 การจ้างงานในธุรกิจโรงแรม ค่ายพักและที่พักชั่วคราวทั้งหมดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปี 2547 คิดเป็น ร้อยละ 0.03 หรือมีจำนวนเท่ากับ 232,988 คน เป็นการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 156,626 คน คิดเป็นร้อยละ 67.22 ของการจ้างงานทั้งหมดในธุรกิจโรงแรม ค่ายพักและที่พักชั่วคราวใน ปี 2548

 ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม อาจให้บริการในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น ภัตตาคาร บริการจัดเลี้ยง ร้านอาหารทั่วไปไปหรือร้านอาหารริมทาง ร้านอาหารรถเข็นหรือเรือ หาบเร่ ตลาดน้ำ ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชวห่วย เพิงขายผลไม้และเครื่องดื่มริมทาง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ SMEs สามารถเข้าไปประกอบการได้ยกเว้นภัตตาคาร หรือบริการจัดเลี้ยงขนาดใหญ่เท่านั้น หากพิจารณาด้านจำนวนวิสาหกิจและการจ้างงานในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขาย อาหารและบาร์จะพบว่าผู้ประกอบการในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์กว่า ร้อยละ 99 เป็น ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนั้นในปี 2547 มีจำนวนวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและ บาร์ทั้งหมดจำนวน 138,488 รายเป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 138,476 ราย และในปี 2548 มีจำนวนวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์เพิ่มขึ้นเป็น 139,130 ราย เป็น ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 139,118 ราย คิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มของจำนวนวิสาหกิจจากปี 2547 เท่ากับร้อยละ 0.46 และ 0.46 ตามลำดับ ส่วนการจ้างงานของธุรกิจภัตตาคาร ร้านขาย อาหารและบาร์จะเห็นว่าในปี 2547 มีการจ้างงานในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์ทั้งหมด เท่ากับ 402,332 คน เป็นการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 380,453 คน คิดเป็นร้อยละ 94.56 ของการจ้างงานทั้งหมดในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์และในปี 2548 มีการจ้างงาน ในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์ทั้งหมดเท่ากับ 403,860 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปีก่อน เป็น การจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 381,981 คน คิดเป็นร้อยละ 94.58 ของการจ้างงาน ทั้งหมดในธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหารและบาร์

ธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เป็นการให้บริการเกี่ยวกับการนำนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวหรือบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันและช่วยประสานงานในเรื่อง ต่าง ๆ ได้แก่การสำรองและจัดหาพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง การสำรองที่พักและอาหาร การจัดโปรแกรม การเดินทาง เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นธุรกิจที่ SMEs น่าจะสามารถเข้ามาประกอบการได้ในเกือบทุกส่วน เพราะเป็นการให้บริการในลักษณะประสานงานเพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม เกี่ยวกับจำนวนวิสาหกิจและการจ้างงานตาม ISIC 6304 ซึ่งเป็นธุรกิจตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว รวมทั้งการบริการนักท่องเที่ยวซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น จะเห็นว่า จำนวนวิสาหกิจกว่าร้อยละ 99 เป็น SMEs โดยในปี 2547 มีจำนวนวิสาหกิจที่เป็นตัวแทนธุรกิจการ ท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว รวมทั้งการบริการนักท่องเที่ยวซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นทั้งหมดจำนวน 4,563 ราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4,556 ราย และในปี 2548 มีจำนวนวิสาหกิจที่เป็นตัวแทน ธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว รวมท้ังการบริการนักท่องเที่ยวซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นทั้งหมด 5,616 ราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 5,609 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 23.08 และ

23.11 ตามลำดับ  ด้านการจ้างงานของตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว รวมทั้งการ บริการนักท่องเที่ยวซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นเป็นการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด โดยในปี 2547 มีการจ้างงานของตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยวรวมทั้งการบริการ นักท่องเที่ยวซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นทั้งหมด 13,431 คน และในปี 2548 มีการจ้างงานทั้งหมด 14,209 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.79 

จากการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับภาคบริการการท่องเที่ยว (มีนาคม 2549) พบว่าแรงงานในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวยังขาดคุณภาพ ความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ รวมทั้งขาดทักษะและความสามารถด้านภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านมัคคุเทศก์จำนวนมากเกินกว่าความต้องการของธุรกิจ แต่ยังขาดมัคคุเทศก์ทีมีคุณภาพ เช่น ที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษารวมทั้งจรรยาบรรณของการให้บริการ ส่วนหนึ่งคงมาจากการขาดนโยบายสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ รวมทั้งปัญหาความจำกัดของกําลังคนและงบประมาณในการควบคุมคุณภาพมัคคุเทศก์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เคยทำการสำรวจแรงงานในสาขาบริการการท่องเที่ยวในปี 2543 พบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีระดับการศึกษาที่ต่ำเกินไป แรงงานเกินกว่าร้อยละ 50 จบการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า และมีไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, โครงการสำรวจ แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปี 2543)

ทั้งนี้ยกเว้นธุรกิจการนำเที่ยวที่แรงงานมีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าถึงร้อยละ 49 การที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะทางรัฐบาลมีข้อกําหนดบังคับให้ผู้ที่ขอใบอนุญาตมัคคุเทศก์ต้องมีระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและความจำเป็นในการใช้ภาษาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวนั้นมีมากกว่าสาขาอื่นๆ

 

การที่แรงงานในสาขาบริการการท่องเที่ยวมีการศึกษาที่ไม่สูงเพียงพอ มีสาเหตุมาจาก การที่แรงงานส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานชั่วคราวซึ่งปกติประกอบอาชีพอื่นเป็นหลัก แต่ย้ายเข้ามาทำงานในสาขานี้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลของงานหลักของตน เช่น ชาวประมงที่หันมาให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวทางเรือระหว่างที่ไม่ใช่ฤดูจับปลา ชาวนาที่นำรถอีแต๋นมาขนส่งนักท่องเที่ยวช่วงนอกฤดูเพาะปลูก เป็นต้น การจ้างงานในลักษณะชั่วคราวนี้ทำให้แรงงานไม่เกิดการฝึกฝนทักษะเฉพาะด้านในการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ปัญหาอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแรงงานเองก็ยังมองไม่เห็นเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพ (career path) ที่ชัดเจน เมื่ออุตส่าห์ลงทุน เพิ่มพูนทักษะด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ด้านผู้ประกอบการเองก็ยังไม่มีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้พนักงานของตนมีการอบรมหรือฝึกทักษะที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นัก เพราะไม่แน่ใจว่าพนักงานที่มีทักษะสูงขึ้นจากการลงทุนของตนจะอยู่ทำงานด้วยนานเพียงพอที่จะคุ้มค่าหรือไม่  ระบบการศึกษาด้านการท่องเที่ยวเองก็ยังไม่สามารถผลิตบุคคลากรที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้เท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาด้านการ ท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่มีการคำนึงถึงความต้องการของสาขาบริการนี้โดยมักสอนด้วยการเน้นการให้ความรู้แต่ไม่ได้มีการฝึกทักษะที่จำเป็นแก่ผู้ศึกษาอย่างเพียงพอ โดยมักจะเน้นการปูความรู้ที่การเตรียมให้ผู้จบการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ขาดการเน้นการสอนเพื่อการออกไปทำงานจริง ผู้สำเร็จการศึกษาจึงได้ใบประกาศนียบัตรแต่ขาดทักษะในการปฏิบัติงานที่แท้จริง หลักสูตรการอบรมส่วนใหญ่ก็ยังมีสัดส่วนจำนวนชั่วโมงในการฝึกปฏิบัติที่น้อยมาก คือมีเพียง ร้อยละ 3 ในหลักสูตรปริญญาตรีของรัฐบาล และเพียงร้อยละ 11 ในหลักสูตรปริญญาตรีและอาชีวศึกษาของเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของกระทรวงศึกษาธิการที่กําหนดให้มีการฝึกภาคปฏิบัติเพียง 1 ภาคการศึกษาจากการอบรม 8 ภาคการศึกษา      ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2540 ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวถึง 401.14 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.48 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2547 รายได้จากธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นถึง 701.58 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 11 ของ GDP  หากพิจารณาสถิติอื่น ๆ เกี่ยวกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจะพบว่าสัดส่วน รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศก็ตาม โดยในปี 2540 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าท่องเที่ยวจำนวน 7.22 ล้าน คน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยจำนวน 220.75 พันล้านบาท สำหรับในปี 2549 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 15.12 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 533 พันล้านบาท  การที่ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวของไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมีระยะเวลาการพักค้างแรมเฉลี่ยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย โดยในช่วงปี 2540 – 2549 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมีระยะเวลาพักค้างแรมเฉลี่ย 7.77 – 8.40 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันต่อคนประมาณ 3,671.87 – 4,300 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมีระยะเวลาพักค้างแรม เฉลี่ย 2.31 – 2.67 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันต่อคนประมาณ 1,466 – 2,050 บาทต่อคนต่อวัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2547 พบว่าจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันจำนวน 4,057.85 บาท ต่อคนต่อวัน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะใช้ไปเพื่อการซื้อสินค้าและของที่ระลึกเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.32 รองลงมาจะใช้เป็นค่าที่พัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.31 และค่าอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 16.84 ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง คิดเป็นร้อยละ 12.40 ค่าพาหนะเดินทางในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 7.77 ค่าบริการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 5.44 ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด คิดเป็นร้อยละ 2.92  จากรายละเอียดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวดังกล่าว เห็นได้ว่าการใช้จ่ายเพื่อการเดินทางและท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวได้ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวกับธุรกิจในภาคบริการและภาคการผลิตอื่นๆทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงไปข้างหน้า(forward linkage) และการเชื่อมโยงไปข้างหลัง (backward linkage) โดยธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยววจะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 27 ซึ่งน่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับการผลิตสินค้าและของที่ระลุกที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงสุด ส่วนที่มีความเชื่อมโยงรองลงมาคือ บริการธุรกิจและสังคม คิดเป็นร้อยละ 17 และร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 16  

จากการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและวิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง ผลกระทบจากการใช้จ่ายของ นักท่องเที่ยวต่อรายได้และการจ้างงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรณีศึกษาโดยใช้แบบจำลองปัจจัย การผลิต – ผลผลิตภาค โดยภาคภูมิ สินนุธก พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวมีผลกระทบต่อเนื่องต่อ ระบบเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ผลกระทบตัวคูณ (multiplier effect) ถึง 1.98 เท่า แสดงว่าทุก 1 บาทที่นักท่องเที่ยวใช้จ่าย จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตเป็นลูกโซ่ประมาณ 1.98 บาท ความเชื่อมโยงของธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวนอกจากจะพิจารณาจากสัดส่วน ผลกระทบของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อภาคการผลิตและบริการซึ่งเชื่อมโยงในลักษณะ forward linkage และในลักษณะ backward linkage แล้ว ยังสามารถพิจารณาความเชื่อมโยงในลักษณะของ เครือข่ายธุรกิจ (cluster) ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และบริษัททัวร์และมัคคุเทศก์ โดยธุรกิจที่เชื่อมโยงโดยตรงจะประกอบด้วย การจัดจำหน่าย, กิจกรรมนันทนาการ วัฒนธรรมและกีฬา, การศึกษา, กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และ บริการอื่น ๆ ส่วนธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าที่เข้ามาเชื่อมโยงเป็น cluster กับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว ได้แก่สินค้าที่เป็นของที่ระลึก, สินค้า OTOP, ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร และเสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงเป็น cluster กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ได้แก่การขนส่ง เทคโนโลยี สารสนเทศ การก่อสร้าง และการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะcluster                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              รัฐบาลทุกยุคต่างก็ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นเมื่อปี 2545 เพื่อจะได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบและผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในปี 2549 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ได้มีการร่วมกันจัดทำแผนด้านการท่องเที่ยวในช่วง 5 ปีคือ ปี 2550 – 2554 โดยมีแผนปฏิบัติการ (action plan) ที่ตั้งเป้าว่าในปี 2550 จะ สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ตลาดต่างประเทศ) ให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 หรือคิด เป็นมูลค่ารายได้ 5.4 แสนล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 15 ล้านคน ส่วน ตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทย (ตลาดในประเทศ) คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 คิดเป็นมูลค่า รายได้ 3.8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 81.99 ล้านคน/ครั้ง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท 15 มีนาคม 2554

 

 

ทุนมนุษย์ กับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว

Education-Architecture of Human Resource

บทที่ 1 สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจท่องเที่ยวไทยเรื่องทุนมนุษย์

ธุรกิจหลักของธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวของไทย ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พัก ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้กว่าร้อยละ ๙๙ เป็นผู้ประกอบการ SMEs และ MSEs  รูปแบบของการประกอบธุรกิจจะมีลักษณะเป็นกิจการในครอบครัวไม่ได้มีระบบการบริหารจัดการตามระบบทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ การดำกิจการจะเป็นรูปแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน เนื่องจากจะใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารงานกันตามความสมัครใจหรือความสามารถของสมาชิกในครอบครัวกันอย่างง่ายๆหรืออาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ โครงสร้างองค์กรหรือ Organization Chart จะมีลักษณะที่ค่อนข้างราบไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นสายงานหรือสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนหรือยุ่งยากซับซ้อนดังเช่นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หากงานในส่วนไหนยังขาดคนรับผิดชอบก็สามารถเข้าไปทำแทนกันหรือแรงงานหนึ่งคนสามารถรับผิดชอบในหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกันได้เนื่องจากไม่ได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเด็ดขาดชัดเจนนัก ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs บางรายจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มเติมจากการใช้แรงงานในครอบครัวก็จะเป็นการจ้างงานเพียงชั่วคราวในฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมาก ไม่ได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายการบริหารงานหรือการบริการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ไม่มีการกำหนดตำแหน่งงานหรือการปรับระดับและอัตราเงินเดือนตามโครงสร้างองค์กรหรือหลักเกณฑ์ในการบริหารงานขององค์กรธุรกิจทั่วไป รวมทั้งอาจไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างงานและให้สวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงาน โดยอาจจะเป็นการเจรจาตกลงราคาค่าจ้างและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบกันง่าย ๆ เท่านั้น หากทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้างตกลงกันได้ก็เข้ามาร่วมงานกัน ไม่ใช่เป็นการหาแรงงานมาบรรจุตามตำแหน่งที่ว่างตามโครงสร้างองค์กร หากต้องการขยายงานหรือขยายการประกอบธุรกิจในส่วนไหนก็จะทำตามที่เจ้าของกิจการต้องการโดย ไม่ได้มีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า

 

สำหรับปัญหาหลักในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการSMEในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวที่สำคัญน่าจะมีอยู่สองประเด็นด้วยกัน คือ ผู้ประกอบการมักขาดความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ และผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่มีการนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจมากนัก การขาดความรู้ทางด้านการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจ การเดินทางและท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นการขาดความรู้และทักษะในด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการSMEsส่วนใหญ่เห็นว่าการบริหารงานเป็นการอาศัยแรงงานภายในครอบครัวเป็นหลักจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการตามหลักวิชาการหรือกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการให้ยุ่งยาก เพราะบุคลากรก็มีจำกัดและสามารถผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปรับผิดชอบหรือปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆทดแทนกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งในแต่ละวันก็มีการปรึกษาหารือหรือพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารงานและการปฏิบัติงานตลอดเวลาหรือหากจะต้องมีการประสานงานก็เป็นลักษณะอาศัยความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเป็นส่วนใหญ่โดยจะเน้นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งระหว่างเครือญาติและคนในท้องถิ่น อีกทั้งจากการที่ไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลหรือสถิติสำคัญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตนเอง อย่างเป็นระบบ ผู้ประกอบการ SMEs จึงไม่เห็น ความสำคัญของการที่จะต้องมีการจัดทำแผนงานหรือวางแผนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการรวมทั้งการขยายกิจการในอนาคต ดังนั้น จึงควรมีการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวหันมาให้ความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการประกอบธุรกิจ ประเด็นเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs ไม่เห็นความสำคัญของการนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ อาจเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ขณะที่การจะนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานจะต้องลงทุนเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก จึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีกทั้งผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าการลงทุนใน ด้านระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศไม่น่าจะคุ้มค่าและอาจจะไม่เหมาะสมกับกิจการขนาดเล็ก อีกทั้งรูปแบบของการบริหารจัดการก็ไม่ได้มีความซับซ้อนจนต้องนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการ แต่หากหน่วยงานภาครัฐจะมีการจัดทำระบบงานหรือพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ราคาไม่แพงรวมทั้งมีฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวก็น่าจะช่วยลดปัญหาในด้านนี้ลงได้

การจัดการด้านการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เรียบง่ายไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการนัก โดยอาจอาศัยการบอกต่อโดยนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการแล้วเกิดความประทับใจจึงแนะนำให้บุคคลใกล้ชิดหรือนักท่องเที่ยวรายอื่น หรือผู้ประกอบการ SMEs อาจจัดทำเป็นใบปลิวหรือแผ่นพับที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือถ่ายเอกสารแล้วนำไปแจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวหรือติดไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ประกอบการ SMEs มักไม่ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดอย่างเฉพาะเจาะจง ดังเช่นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และหากจะดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาดโดยใช้ราคาเป็นปัจจัยดึงดูดลูกค้าก็อาจทำได้ยากเนื่องจากมีเงินลงทุนไม่มากนัก หรือหากจะปรับตัวให้สอดคล้องกับแคมเปญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้โปรโมทการท่องเที่ยวของไทยในแต่ละปีก็น่าจะทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเงินลงทุนอีกเช่นกัน ดังนั้นการจัดการด้านการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจึงทำได้อย่างจำกัด อาจจะต้องมีการรวมกลุ่มกันในชุมชนหรือท้องถิ่นแล้วร่วมกันทำหรือขอความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว

 

สำหรับด้านทรัพยากรมนุษย์จะเน้นบริหารจัดการจากกําลังแรงงานที่มีอยู่ในครอบครัวก่อน อาจจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มแต่ก็อาจไม่มากนัก เนื่องจากเป็นกิจการขนาดเล็กหากมีการ จ้างงานเพิ่มอาจเป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs มากเกินไป ดังนั้น แรงงานในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวที่มีผู้ประกอบการเป็น SMEs ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแรงงานชั่วคราว ที่มีอาชีพหลักอย่างอื่นอยู่แล้ว และเข้ามาประกอบอาชีพในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวเฉพาะในช่วงที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น เมื่อหมดฤดูกาลท่องเที่ยวก็กลับไปประกอบอาชีพหลักของตนตามเดิม   ดังนั้น แรงงานส่วนใหญ่จึงมักขาด ความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ ได้แก่ความรู้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เป็นต้น การที่แรงงานส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแรงงานชั่วคราว จึงทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนหรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติมโดยเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากแรงงานในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวมองไม่เห็นความก้าวหน้าทางอาชีพ (career path) ของตนเองอย่างชัดเจนในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว จึงอาจเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ก็ไม่อยากเพิ่มต้นทุนในการประกอบการโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวให้แก่แรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมหรือลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แก่แรงงาน เพราะ ไม่มั่นใจว่าแรงงานที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นจะทำงานอยู่นานเพียงพอที่จะ คุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนา

(เรียบเรียงจากโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs สาขาธุรกิจบริการการท่องเที่ยว ของ สสว)

จากข้อมูลเบื้องต้น ขอสรุปว่าปัจจุบันภาคการศึกษาในระบบ มีส่วนสร้างทุนมนุษย์เพื่อมารองรับธุรกิจท่องเที่ยวได้น้อยมาก เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1.โครงสร้างของธุรกิจเอง โดยเริ่มจากผู้ประกอบการส่วนมากเป็น SMEs และ MSEs ที่มีรูปแบบของการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นกิจการในครอบครัว เน้นการใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก แรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวขาดความก้าวหน้าทางอาชีพ ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมหรือลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แก่แรงงาน เพราะ ไม่มั่นใจว่าแรงงานที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นจะทำงานอยู่นานเพียงพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนา

2.สถาบันการศึกษาเน้นที่กระแสความต้องการของลูกค้า (นักศึกษา และผู้ปกครอง) เป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่การสร้างทุนมนุษย์เพื่อรองรับภาคธุรกิจอย่างแท้จริง แรงงานเบื้องต้นต้องการผู้ที่จบแค่อาชีวะ หรือต่ำกว่า แต่กระแสความต้องการของสังคม ต้องการระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของแรงงาน  

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 15 มีนาคม 2554

บทที่ 2 เป้าประสงค์ของการพัฒนาทุนมนุษย์ในระบบการศึกษาเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

1.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ (มีความรู้และ ทักษะ ในแต่ละตำแหน่งงาน) ในจำนวนที่พอเพียงกับความต้องการของภาคธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต และแรงงานได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมพอเพียงกับค่าครองชีพในแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

2.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมืออาชีพ ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม มีความพร้อมในการบริหารการเปลี่ยนแปลงและสามารถรองรับธุรกิจระหว่างประเทศ

3.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในธุรกิจให้มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้นมีความก้าวหน้าในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นและพัฒนาจนถึงระดับผู้บริหารสูงสุดหรือออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองได้

4.คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทุนมนุษย์จากสถาบันการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

5.สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริงไม่หวังผลทางการค้าจนเกินไป

 

บทที่ 3 กลยุทธ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในระบบการศึกษาเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

1.ปรับโครงสร้างและแนวทางการบริหารจัดการ ของอาชีวะศึกษา ให้สามารถผลิตคนไทยให้เข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพ (มีความรู้และทักษะในแต่ละตำแหน่งงาน) จำนวนพอเพียงกับความต้องการของธุรกิจ

2.กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่อยู่ในภาคธุรกิจอยู่แล้วให้มีการพัฒนาเพิ่มทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง มีขบวนการในการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้าทางอาชีพ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและพอเพียงต่อการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

3.รัฐร่วมมือกับเอกชนและสถาบันการศึกษาจัดตั้งองค์กร เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์แบบบูรณาการ   ที่หน่วยงานปกติในข้อ 1 และ 2 ไม่สามารถจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของภาคธุรกิจได้

4.ประชาสัมพันธ์และปลูกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนเข้าใจเรื่องทุนมนุษย์ และหันมาพัฒนาทุนมนุษย์ให้กับตัวเอง และคนรอบข้าง เพื่อเพิ่มทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมควบคู่ กันไปอย่างเหมาะสม มีความสมดุล อย่างสม่ำเสมอ

บทที่ 4 แผนปฏิบัติการเพื่อความสำเร็จ แนวทางการขับเคลื่อน

1.จัดตั้งสถาบัน หรือ สภา พัฒนาทุนมนุษย์แห่งชาติ

2.จัดตั้ง ศูนย์บูรณาการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

3.สสว และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้การสนับสนุนภาคเอกชนในด้านงบประมาณการอบรมและจัดกิจกรรมเพื่อ พัฒนาทุนมนุษย์ธุรกิจท่องเที่ยว อย่างต่อเนื่องและตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจและตอบสนองความพอใจของนายจ้างและลูกจ้าง

4.สถาบันอาชีวะที่จัดสอนวิชาการท่องเที่ยว ต้องมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และทักษะตามมาตรฐานของสถานประกอบการนั้นๆ นักศึกษาจบการศึกษาต้องมีงานทำในตำแหน่งงานที่เรียนมา และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

5.ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีสถาบันการศึกษาเป็นเครือข่ายให้การสนับสนุนด้านการบริหารจัดการทุนมนุษย์

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

17 มีนาคม 2554

 

 

ขอโทษครับ พี่ ที่คมห่างหายไปนาน พอดีช่วงนี้ งานยุ่ง ๆ ยังไม่ค่อยมีเวลาได้เขียนบล็อค แล้วพอดีเห็นบทความพี่ที่เขียนบล็อคอ่านแล้วรู้สึกสนุกดี และมีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะทีเดียวตอนนี้เลยขอเว้นการเขียน หันมาศึกษาและอ่านบทความจากพี่ก่อนดีกว่าครับ เป็นกำลังใจให้พี่เขียนบทความต่อนะครับ อยากอ่านตอนต่อไปนะครับ

ป.ล. ทั้งคมเห็นว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยจะเป็นแรงผลักดันแรงหนึ่งของการพัฒนาชาติ พอดีมี เพื่อนๆSMEs ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวบ้าง ถามพี่ว่า พวกเค้าควรพัฒนาในด้านใดบ้าง และต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงการอาเซียนที่จะเพิ่มจีนเข้ามามีบทบาทอีกน่ะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณสิรคม

ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่นำเอาทรัพยากรของแผ่นดิน ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น +การให้บริการของคน+การจัดการเพื่อนำเอาแหล่งท่องเที่ยวมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวนั้น หรือผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในแหล่งท่องเที่ยว หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามถ้าการจัดการไม่ดีก็จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน

คนไทยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวควรจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจเพื่อจะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืนอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป เป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นให้กับตัวเองหรือพวกพร้องจนไม่เหลือมรดกไว้ให้ลูกหลาน

คำถามที่คุณถามมากว้างมากครับ ถ้าจะให้ตอบตรงประเด็นต้องให้ข้อมูลมากกว่านี้ แต่ถ้าตอบกว้างๆ สามารถเข้าไปอ่านในบทความของผมที่เขียนไว้แล้วในบันทึกของผมใน gotoknow

สวัสดีครับคุณสิรคม

สำหรับคำถามของคุณขอให้เข้าไปอ่านในบันทึก "คนไทยควรเตรียมตัวอย่างไรกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ที่ผมเขียนไว้แล้วได้ที่ http://gotoknow.org/blog/ihdc/368106

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท