การพินิจวรรณคดี เรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ


๑. ผู้แต่ง : สุนทรภู่

๒. พินิจจินตนาการครูภู่สู่พระอภัยมณี

    ๒.๑ ด้านความรู้ สุนทรภู่น่าจะใช้ความรู้ในด้านต่อไปนี้เพื่อนำมาแต่งพระอภัยมณี

          ๒.๑.๑ ด้านภูมิศาสตร์ทางทะเล ในเรื่องนี้สุนทรภู่ได้นำความรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลมาใช้ในการบรรยายท้องทะเล เช่น

             พระโฉมยงค์องค์อภัยมณีนาถ             เพลินประพาสพิศดูหมู่มัจฉา

เหล่าฉลามล้วนฉลามตามวันมา                       ค่อยเคลื่อนคลาคล้ายคล้ายในสายชล

ฉนากอยู่คู่ฉนากไม่จากคู่                               ขึ้นฟ่องฟูพ่นฟองละอองฝน

ฝูงพิมพาพาฝูงเข้าแฝงวน                               บ้างผุดพ่นฟองน้ำบ้างดำจร

กระโห้เรียงเคียงกระโห้ขึ้นโบกหาง                   ลอยสล้างกลางกระแสแลสลอน

มังกรเกี่ยวเลี้ยวลอดกอดมังกร                         ประชุมซ่อนแฝงแฝงชลขึ้นวนเวียน

ฝูงม้าน้ำทำท่าเหมือนม้าเม่น                           ขึ้นลอยเล่นเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน

ตะเพียนทองท่องน้ำนำตะเพียน                       ดาษเดียรดูเพลินจนเกินมา

อธิบายศัพท์

              ๑) ฉลาม หมายถึง ปลาทะเลหลายวงศ์ในอันดับ Lamniformes เป็นปลากระดูกอ่อน ลำตัวใหญ่ มีความดุร้าย

             ๒) ฉนาก หมายถึง ปลาทะเลขนาดใหญ่ในสกุล Pris อยู่ในอันดับ Rajiformes ลักษณะคล้ายปลาฉลาม

            ๓) พิมพา หมายถึง ปลาฉลามขนาดใหญ่ ดุร้ายมาก ลำตัวยาวถึง ๗ เมตร

            ๔) กระโห้ หมายถึง ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ หัวโต เกล็ดใหญ่ ลำตัวด้านหนึ่งสีเทาดำ หางและครีบสีแดงคล่ำหรือส้ม

            ๕) มังกร มีความหมาย ๓ อย่างดังนี้

                (๑) หมายถึง สัตว์ในนิยายจีน รูปร่างคล้ายงู แต่มีตีน มีเขา

                (๒) หมายถึง ปลาไหลทะเล

                (๓) หมายถึง กุ้งมังกร

            ๖) ม้าน้ำ หมายถึง ปลาทะเลชนิดหนึ่งพบตามแนวหินปะการัง ลำตัวตั้ง ใช้ส่วนหางพันเกาะวัตถุใต้น้ำ ตัวผู้ทำหน้าที่ฟักไข่ซึ่งเก็บไว้ในถุงหน้าห้อง ขนาดยาวได้ถึง ๑๕ เซนติเมตร

        ๒.๑.๒ ด้านดนตรีไทย สุนทรภู่จินตนาการให้พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ เห็นได้จากส่วนหนึ่งของ บทกลอนในเรื่องพระอภัยมณีที่กล่าวถึง คุณค่าของดนตรีไว้ดังนี้

“อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป               ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์

ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช                     จตุบาทกลางป่าพนาสิน

แม้ปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน                     ก็สุดสิ้นโทโสซึ่งโกรธา

ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ                 อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา                   จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง

              ปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยมีหลายประเภท เช่น ปี่ใน ปี่กลาง ปี่นอกต่ำ ปี่ชวา ปี่มอญ และปี่ไฉน เป็นต้นเพลงปี่ของพระอภัยมณีสันนิษฐานว่า คือปี่ใน ซึ่งเป็นปี่ที่สามารถทำให้ผู้ฟังหลับใหลได้

       ๒.๑.๓ ด้านจิตวิทยา สุนทรภู่ชี้ให้เห็นถึงความรัก ที่แตกต่างกันดังนี้

                ๑) ความรักที่ไม่เหมาะสมระหว่างพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อ

                ๒) ความรักในครอบครัว ระหว่างพระอภัยมณี สินสมุทร และนางผีเสื้อ จะพบว่าสินสมุทรจะรักพระอภัยมณีมากกว่านางผีเสื้อ เพราะนางผีเสื้อจะดุและบังคับสินสมุทรให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ

   ๒.๒ ด้านความเชื่อ เรื่องพระอภัยมณีตอนที่เรียนนั้น ปรากฏความเชื่อของสุนทรภู่ ดังนี้

          ๒.๒.๑ ความเชื่อเรื่องความฝัน แสดงไว้ ตอนนางผีเสื้อฝัน ดังนี้

ฝ่ายผีเสื้อเมื่อจะพรากลูกผัว                              แต่พลิกตัวกลิ้งกลับไม่หลับใหล

ให้หมกมุ่นขุ่นคล้ำในน้ำใจ                               จนเสียงไก่แก้วขันสนั่นเนิน

พอม่อยหลับกลับจิตนิมิตฝัน                             ว่าเทวัญอยู่ที่เกาะนั้นเหาะเหิน

มาสังหารผลาญถ้ำระยำเยิน                              แกว่งพะเนินทุบนางแทบวางวาย

แล้วอารักษ์ควักล้วงเอาดวงเนตร                        สำแดงเดชเหาะกลับไปลับหาย

ทั้งกายสั่นพรั่นตัวด้วยกลัวตาย                         พอฟื้นกายก็พอแจ้งแสงตะวัน

จึงก้มกราบบาทบงสุ์พระทรงศักดิ์                      แล้วนางยักษ์เล่าตามเนื้อความฝัน

ไม่เคยเห็นเป็นวิบัติอัศจรรย์                             เชิญทรงธรรม์ช่วยทำนายร้ายหรือดี

ความหมายของคำศัพท์

            ๑) พะเนิน หมายถึง ค้อนขนาดใหญ่สำหรับตีเหล็กหรือทุบหิน เป็นต้น

            ๒) อารักษ์ หมายถึง เทวดาผู้พิทักษ์รักษาป่า

            ๓) บาทบงสุ์ หมายถึง ละอองเท้า

        ๒.๒.๒ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม แสดงไว้ตอนพระฤาษีสอนนางผีเสื้อ ดังนี้

        ฝ่ายโยคีมียศพจนารถ                         ให้โอวาทนางยักษ์ไม่หักหาญ

จงตัดบ่วงห่วงใยอาลัยลาน                           อย่าปองผลาญลูกผัวของตัวเลย

ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมทำให้วุ่น                    จึงสิ้นบุญวาสนาสีกาเอ๋ย

เห็นมิได้ไปอยู่เป็นคู่เชย                               ด้วยสองเคยปลูกเลี้ยงกันเพียงนั้น

อย่าครวญคิดติดตามด้วยความโกรธ                จะเป็นโทษกับสีกาเมื่ออาสัญ

จังยับยั้งฟังคำรูปรำพัน                                 ไปสวรรค์นฤพานสำราญใจ

     ๒.๓ ด้านคุณธรรม

           ๒.๓.๑ ความกตัญญูกตเวที จะเห็นได้จากตอนที่พ่อเงือกกล่าวสำนึกคุณที่พระอภัยมณีสั่งให้สินสมุทรปล่อยพ่อเงือก โดยไม่ให้ต้องทรมานที่ถูกสินสมุทรจับตัวลากเล่น

                 ฝ่ายเงือกน้ำนอนกลิ้งนิ่งสดับ         กิตติศัพท์สองแจ้งแถลงไข

รู้ภาษามนุษย์แน่ในใจ                                   จะกราบไหว้วอนว่าให้ปรานี

ค่อยเขยื้อนเลื่อนลุกขึ้นทั้งเจ็บ                        ยังมึนเหน็บน้อมประณตบทศรี

พระผ่านเกล้าเจ้าฟ้าในธาตรี                           ข้าขอชีวิตไว้อย่าให้ตาย

พระราชบุตรฉุดลากลำบากเหลือ                     ดังหนังเนื้อนี้จะแยกแตกสลาย

ทั้งลูกเต้าเผ่าพงศ์ก็พลัดพราย                        ยังแต่กายเกือบจะดิ้นสิ้นชีวัน

พระองค์เล่าเขาก็พาเอามาไว้                         เศร้าพระทัยทุกข์ตรอมเหมือนหม่อมฉัน

ขอพระองค์จงโปรดแก้โทษทัณฑ์                   ช่วยผ่อนผันให้ตลอดรอดชีวา

ซึ่งปากถ้ำทำลายลงเสียหมด                         ให้โอรสยกตั้งบังคูหา

ข้าเห็นอย่างนางมารจะนานมา                        จะอาสาเกลี่ยทรายเสียให้ดี

หนึ่งพวกพ้องของข้าคณาญาติ                       ขอรองบาทบงกชบทศรี

แม้นประสงค์สิ่งไรในนที                               ที่สิ่งมีจะเอามาสารพัน

          ๒.๓.๒ ความมีสัมมาคารวะ จะเห็นได้จากตอนที่พระอภัยมณีสอนลูกให้ขอขมาพ่อเงือกที่ช่วยยกแผ่นศิลาปิดปากถ้ำ ดังนี้

               พระแจ้งความตามคำเงือกนั้นเล่า    ค่อยบรรเทาทุกข์สมอารมณ์หวัง

จึงว่าพี่มีคุณน้องสักครั้ง                               ให้ได้ดังถ้อยคำที่รำพัน

ซึ่งลูกรักหักหาญให้ท่าโกรธ                          จงงดโทษทำคุณอย่าหุนหัน

ช่วยไปปิดปากถ้ำที่สำคัญ                             จวนสายัณห์ยักษ์มาจะว่าเรา

จึงบัญชาว่าเจ้าสินสมุทร                               ไปช่วยฉุดศิลาใหญ่ขึ้นให้เขา

ขอสมาตาปู่อย่าดูเบา                                   ช่วยอุ้มเอาแกออกไปให้สบาย

กับลูกน้อยค่อยพยุงจูงเงือกน้ำ                        มาปากน้ำแลเห็นวนชลสาย

หวนรำลึกตรึกตรองถึงน้องชาย                       พระฟูมฟายชลนาด้วยอาลัย

แล้วให้ลูกเลิกศิลาเข้ามาปิด                           เห็นมิดชิดมั่นคงไม่สงสัย

พระกลับมาตาเงือกเสือกลงไป                        ลงที่ในวังวนชลธาร

    ๒.๔ โวหารภาพพจน์ สุนทรภู่ได้ใช้คำที่แสดงโวหารภาพพจน์ไว้หลายแห่ง เช่น

          ๒.๔.๑ การใช้อุปมา (เปรียบเหมือน) เช่น

                   ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนองค์พระทรงเดช

                    แต่ดวงเนตรแดงดูดังสุรีย์ฉาย

                    ทรงกำลังดังพระยาคชาพลาย

                    มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา

          ๒.๔.๒ การใช้อุปลักษณ์ (การเปรียบเป็น) เช่น

                    อันเทวัญนั้นคือมัจจุราช                    จะหมายมาดเอาชีวิตริษยา

          ๒.๔.๓ การใช้คำเชิงถาม เช่น

                   ศิลานี้ที่มนุษย์จะเปิดนั้น                    สักหนึ่งพันก็ไม่อาจจะหวาดไหว

ยักขินีผีสางหรืออย่างไร                                        มาพาไปไม่เกรงข่มเหงกู

          ๒.๔.๔ การเล่นเสียงเสียงพยัญชนะและสระให้สละสลวย เช่น

                พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย     ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม

ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม                    ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง

ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด                           ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง

พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง                   แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป

จึงตรัสว่าตาเงือกมาคอยรับ                            ช่างสมกับวาจาจะหาไหน

เราล่อลวงนางผีเสื้อก็เชื่อใจ                           เดี๋ยวนี้ไปแรมทางกลางอรัญ

ช่วยเมตตาพาตรงไปส่งที่                              พระโยคีมีเวทวิเศษขยัน

กลางคงคาปลาร้ายก็หลายพรรณ                     จะป้องกันภัยพาลประการใด

หมายเลขบันทึก: 409607เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2010 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องการใช้เนื้อหาพวกนี้ทำงานส่งครูอยู่พอดี  เป็นประโยชน์ให้มากๆ เลยค่ะ   ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท