ความสำคัญของนักวิจัยและกระบวนกรวิจัยแบบ PAR


 .  นักวิจัยและกระบวนกรวิจัยแบบ PAR 

ความที่ในงานวิจัย PAR จะต้องบูรณาการ ๓ มิติของ CER [๑][๒] นั้น สะท้อนความเป็นวิถีวิชาการในเชิงอุดมคติที่มุ่งบรรลุจุดหมายให้ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐาน ๓ ประการ  สำหรับการแก้ปัญหาโดยถือเอาคนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็จะเป็นหลักคิดสำคัญสำหรับพัฒนาความเป็นนักวิจัยและกระบวนกรวิจัยแบบ PAR ไปด้วย ได้แก่

  • การได้แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่พึงประสงค์ของชุมชน หรือเป็นวิธีเสริมพลังความเข้มแข็งให้กลุ่มคนสามารถนำเอาปัญหามาริเริ่มแก้ไขได้ด้วยกระบวนการวิจัยแบบ PAR
  • การได้สร้างคน พัฒนาการเรียนรู้และสร้างศักยภาพการพึ่งการจัดการตนเองของชุมชน สร้างความสำนึกต่อการมีส่วนร่วมในความเป็นส่วนรวมของสังคมประชาธิปไตยในวิธีคิดใหม่ๆ สร้างความสำนึกต่อความเป็นพลเมืองด้วยบทบาทหน้าที่ใหม่ๆตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ด้วยรูปแบบที่ยืดหยุ่นและมีพลวัตรไปกับความรวดเร็วของความเปลี่ยนแปลง
  • การได้สร้างองค์ความรู้ บทเรียน และภูมิปัญญาปฏิบัติ สั่งสมเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีความเติบโตและเจริญงอกงามทางศิลปะและวัฒนธรรม บูรณาการอยู่ในวิถีปฏิบัติและวิถีความเป็นชุมชน

จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของการวิจัยดังกล่าวนี้ มิได้มุ่งบรรลุจุดหมายเพียงการวิจัยสร้างความรู้และทำให้ได้ข้อมูลความรู้ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบในรายงานการวิจัยสักเล่มหนึ่งเท่านั้น ทว่า ความรู้และการวิจัย เป็นเพียงมรรควิถีหรือกระบวนการและขั้นตอนหนึ่งของการจัดการเพื่อเปลี่ยนผ่านตนเองของปัจเจก กลุ่มประชาคม และชุมชน ให้มุ่งบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ร่วมกันที่ดีกว่าเดิม สร้างความสมดุลกับแรงกดดันของสภาวการณ์จำเป็นต่างๆทั้งภายใต้ความเป็นท้องถิ่นและความเป็นโลกาภิวัตน์ในหลายด้าน แต่มีความยั่งยืนในการพัฒนามากกว่าเดิม

จุดหมายสำคัญของการวิจัยแบบ PAR จะไม่ได้หยุดที่ขั้นตอนการได้ความรู้ แต่จะมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อยกระดับสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิต ซึ่งเมื่อพิจารณาความเป็นมิติบูรณาาการ ๓ ด้านของ CER ในการวิจัยแบบ PAR นั้น ก็จะสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมีบทบาทของนักวิจัยและทีม ที่จะต้องดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน ๓ ด้าน ขององค์ประกอบซึ่งในที่นี้ขอเรียกโดยย่อว่า CSC ซึ่งจะสอดแทรกอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในขั้นต่างๆล้อไปกับเหตุผลเบื้องหลังที่อยู่ในมิติบูรณาการ CER คือ 

  • C : Community and Social Works Practitioner for PAR : ความเป็นนักปฏิบัติการสังคมและคนทำงานชุมชน
  • S : Social Educator and Facilitator for PAR : ความเป็นครูชุมชนและนักจัดกระบวนการทางการศึกษา
  • C : CBD Researcher : ความเป็นนักวิจัยและนักปฏิบัติการความรู้

ความที่จะต้องสามารถปฏิบัติและดำเนินกิจกรรมต่างๆของการวิจัยแบบ PAR ในลักษณะดังที่กล่าวมา นักวิจัยและทีมวิจัยแบบ PAR จึงมีความเป็นทั้ง นักวิจัย และ กระบวนกรวิจัยแบบ PAR : PAR Researcher and PAR Facilitator ซึ่งจะมีความสำคัญมากต่อการวิจัยแบบ PAR

 

 .  ความจำเป็นในการวิจัยแบบ PAR กับการพัฒนานักวิจัยให้สามารถเป็นกระบวนกรวิจัยแบบ PAR

จากที่กล่าวมาโดยลำดับนั้น นักวิจัยและกระบวนการวิจัยแบบ PAR Facilitator จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินการให้กระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะความบูรณาการกัน ๓ มิติของ CER ดำเนินไปอย่างบูรณาการ ดังนี้

๒.๑. ปรับบทบาทและบูรณาการความรู้แนวราบ : การเข้าไปศึกษา เรียนรู้กับชุมชน และร่วมทำงานกับชุมชน ซึ่งในการวิจัยแบบ PAR จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบความเป็นชุมชน ในอันที่จะต้องแก้ปัญหาและอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ตลอดจนเป็นปัจจัยแห่งความเจิญงอกงามและความอยู่ร้อนนอนทุกของกันและกันในระยะยาว ดังนั้น ปัญหา ความสนใจ ความรู้ ความคิดเห็น ภูมิปัญญา ทรัพยากรและเทคโนโลยี ทุนมนุษย์และทุนศักยภาพ ตลอดจนทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์สุขภาวะที่มีอยู่ในชุมชน เหล่านี้ จึงต้องได้รับการให้ความสำคัญเท่ากันหรือมากกว่าบทบาทของความรู้และความเชี่ยวชาญของโลกภายนอก

จะเห็นได้ว่า วิธีคิดและกระบวนทรรศน์ภายใต้วิถีความรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้ ได้ทำให้จุดยืนทางวิชาการและการตั้งคำถามเพื่อการเข้าสู่ชุมชนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากแต่เดิมที่มักจะมุ่งเข้าถึงสภาวการณ์ชุมชนโดยใช้ความรู้ภายนอกเป็นศูนย์กลางมองเข้าไปยังชุมชน เหมือนกับมีสมมุติฐานล่วงหน้าเบ็ดเสร็จตายตัวไปแล้วว่าชุมชนระดับต่างๆนั้นจะต้องมีแต่ปัญหาและความต้องการ ส่วนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกก็จะมีแต่ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า และเป็นสิ่งแสดงความเจริญก้าวหน้ามากกว่า ซึ่งก็จะทำให้การพัฒนาวิธีวิจัยและวิธีเข้าสู่ชุมชนดำเนินไปอย่างอัตโนมัติโดยมิได้ตั้งใจ จึงมักจะโน้มนำความสนใจให้เห็นความเป็นชุมชนเพียงด้านที่เต็มไปด้วยปัญหา ขาดแคลนล้าหลังและมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความสามารถ นำไปสู่การวิจัยและสำรวจแต่ปัญหาและความต้องการ ขณะเดียวกัน นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญภายนอก ก็พัฒนาบทบาทตนเองในด้านที่มุ่งแต่จะสอนความรู้เพื่อทำให้ชาวบ้านและชุมชนเป็นฝ่ายที่จะต้องได้รับความรู้และสิ่งต่างๆจากโลกภายนอกเข้าไปด้านเดียว 

ทว่า ในการวิจัยแบบ PAR ดังที่กล่าวถึงในข้างต้น จะทำให้กระบวนการต่างๆเปลี่ยนไปสู่วิถีปฏิบัติที่สื่อสะท้อนฐานคติและความเชื่อที่ว่าปัจเจกและชุมชนเป็นทุนมนุษย์ ทุนชุมชน และทุนศักยภาพทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานอันทำให้ความเป็นชุมชนก่อเกิด ดำรงอยู่ อีกทั้งสามารถเข้าถึงโอกาสและสร้างสรรค์ความเป็นจริงในสภาพการณ์ต่างๆของตนเองได้ในหลายด้าน ที่โลกภายนอกจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งถ้าหากพัฒนาวิธีพิจารณาและมีวิธีจัดการได้อย่างเหมาะสมก็จะเกื้อหนุนส่งเสริมให้ความจำเป็นของชุมชนและความเป็นส่วนรวมของสังคมสามารถบรรลุจุดหมายไปด้วยกันได้อย่างสมดุล ร่วมกันเป็นพลังความเปลี่ยนแปลงสนองตอบต่อสภาวการณ์ความจำเป็นใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้ดียิ่งๆขึ้น

ดังนั้น การเชื่อมโยงการวิจัยและปฏิบัติการสังคมกับชุมชนด้วยการวิจัย PAR จึงเข้าไปเพื่อมุ่งเชื่อมโยงความเป็นส่วนรวมของสังคมกับของชุมชน ให้มีความสะท้อนซึ่งกันและกัน ส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างสมดุล จึงต้องตั้งคำถามในการเริ่มต้นจากการไปเรียนรู้ความเป็นชุมชนและสิ่งที่มีเป็นทุนเดิมของชุมชน พร้อมไปกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจัดวางความร่วมมือในการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบ PAR ไปด้วยกัน

วิธีคิดและการทำงานกับชุมชนบนฐานคติที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมากในลักษณะนี้ นักวิจัยและทีมวิจัยแบบ PAR จะต้องมีวัฒนธรรมการทำงานอย่างใหม่ด้วยกันเป็นกลุ่ม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบ พัฒนาวิธีคิด ตลอดจนจัดกระบวนการต่างๆให้มีความหมาย สอดคล้องกับวิธีคิดและเหตุผลเบื้องหลังของการทำงานชุมชนในแนวทางการวิจัยแบบ PAR

๒.๒. การให้การศึกษาอบรมและกระบวนการเรียนรู้ต้องบูรณาการอยู่ในทุกมิติ : ในการวิจัยแบบ PAR จะมีการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างศักยภาพนักวิจัยและจัดกระบวนการทำงานให้บูรณาการมิติการศึกษาเรียนรู้ การจัดอบรม การจัดประชุมชน การจัดเวทีวิชาการชุมชน อยู่ตลอดกระบวนการ ซึ่งในอดีตนั้น นักวิจัยที่สามารถทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และอบรมทีมวิจัย ตลอดจนอบรมกลุ่มคนทำงานกลุ่มต่างๆได้ ก็นับว่าเป็นนักวิจัยที่มีความสามารถในการทำงานวิจัยแบบ PAR มากเป็นอย่างยิ่งแล้ว ทว่า ปัจจุบันและในอนาคต การจัดอรมและการถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภายนอกด้านเดียว จะไม่สามารถใช้ทำงานในสภาพความเป็นจริงได้อีกหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความเป็นส่วนรวมของชุมชนระดับต่างๆในปัจจุบันนั้น จะกอปรไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งสาขาอาชีพ เครือข่ายความเชื่อมโยงกับสังคมไทยและสังคมโลก และมีความหลากหลายทางความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีระดมพลังการมีส่วนร่วมให้เข้ามาสู่เวทีการทำงานวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบ PAR ด้วยกันแล้ว จะไม่สามารถใช้ความรู้เพียงด้านเดียวหรือชุดเดียวทำงานกับกลุ่มคนที่มีพื้นฐานความหลากหลายในลักษณะดังกล่าวนี้เลย

ความเป็นกระบวนกรวิจัยแบบ PAR : PAR Facilitator จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่นักวิจัยและทีมวิจัยแบบ PAR มีความจำเป็นต้องใช้ทำงานในสภาพความเป็นจริงตลอดกระบวนการ

๒.๓. การวิจัย วิเคราะห์ เขียนรายงานการวิจัย นำเสนอและเผยแพร่ผลการวิจัย : ความเป็นนักวิจัย มีจิตวิญญาณของการทำงานที่สำคัญคือ ความสามารถที่จะคิดและตั้งคำถามเพื่อเข้าสู่ความจริงอย่างมีสัมมา และอย่างเป็นระบบ ทว่า ในงานวิจัยแบบ PAR กระบวนการเหล่านี้จะเป็นการทำงานวิจัยเหมือนการภาวนาอย่างเป็นกลุ่มก้อนและชุมชน พูดและฟังเพื่อคิดใคร่ครวญและผุดประเด็นความสนใจร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งหากปฏิบัติการแต่โดยลำพัง ก็จะมีพื้นที่การจินตนาการและคิดใคร่ครวญให้แก่ผู้อื่นในใจอยู่เสมอ ความเป็นนักวิจัยในการวิจัยแบบ PAR จึงมีความเป็นสหวิทยาการหรือบูรณาการ ทั้งในระดับความเป็นทีม กลุ่มก้อน และภายในตัวของนักวิจัย ซึ่งจะทำให้มีกำลังทางความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างและใช้ความรู้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในแง่ของความรอบด้านและในแง่ความลุ่มลึก

 .  เอกลักษณ์ความแตกต่างของนักวิจัยและกระบวนกรวิจัยแบบ PAR

๓.๑. มิติการปฏิบัติการชุมชนและกิจกรรมเคลื่อนไหวสังคม :ในสภาพการทำงานจริงนั้น คนทำงานวิจัยปฏิบัติสังคมในงานวิจัยแบบ PAR จะแตกต่างจากนักพัฒนาชุมชน นักเคลื่อนไหวสังคม และนักทำกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆตรงที่นักวิจัยแบบ PAR สะท้อนการปฏิบัติไปสู่ความรู้ที่กว้างขวางและมุ่งสะท้อนความรู้ไปสู่การปฏิบัติ พิสูจน์ความรู้ด้วยการปฏิบัติและเห็นกิจกรรมการปฏิบัติในทรรศนะของความรู้จากจุดยืนและทรรศนะทางความรู้ซึ่งมีความเป็นจริงของชุมชนเป็นฐาน

๓.๒. มิติการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ : ในความเป็นนักการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ บทบาทภายใต้ความเป็นนักวิจัยแบบ PAR และกระบวนการศึกษาอบรม ตลอดจนเวทีพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆของชุมชนในงานวิจัยแบบ PAR จะต่างจากการอบรมและวิถีกิจกรรมทั่วไปตรงที่กระบวนการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์กันในงานวิจัยแบบ PAR เป็นกระบวนการเรียนรู้บนความเป็นกระบวนการวิจัย ดำเนินการไปบนการตั้งคำถามต่อวิธีปฏิบัติและตอบคำถามด้วยการเข้าสู่ความเป็นจริงทางการปฏิบัติ เรียนรู้และร่วมกันปฏิบัติการเพื่อใช้ความรู้ผ่านการมุ่งทำสิ่งที่พึงประสงค์ร่วมกัน (Interactive Learning Through Action) มิใช่กระบวนการทางการศึกษาอบรมแบบ Transfer of Knowledge and Technology และ Skill Development แบบทางเดียว อีกทั้งการศึกษาอบรมเป็นจะใช้เป็นเครื่องมือวิจัยและเป็นกระบวนการสร้างศักยภาพเพื่อเรียนรู้

ดังนั้น กระบวนกรวิจัยแบบ PAR จึงมีบทบาทน้อยมากในการสอนความรู้ แต่จะมีบทบาทที่เด่นชัดในความเป็นนักตั้งคำถามร่วมกับชุมชนและออกแบบกระบวนการเพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ความจริงไปกับกลุ่มประชาคมและชุมชน เป็นผู้สังเคราะห์และปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในฐานะชุมชนและกลุ่มคนในเวทีเป็นเครื่องมือและวิธีวิทยาการวิจัยปฏิบัติการสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมและภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นอย่างสะท้อนกับความรู้และกระบวนการเรียนรู้

๓.๓. มิติการวิจัยและสรุปบทเรียน : ในความเป็นนักวิจัยนั้น นักวิจัยและปฏิบัติการสังคมแบบ PAR จะมีความแตกต่างจากความเป็นนักวิจัยในนิยามแบบดั้งเดิมและการวิจัยแบบทั่วไปที่สำคัญคือ การมีบทบาทหน้าที่ของนักวิจัยมิใช่จำกัดอยู่แต่ในส่วนที่เป็นกิจกรรมทางวิชาการในความหมายดั้งเดิมและมิใช่สิ้นสุดเพียงการได้รายงานการวิจัยจำเพาะในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์แบบตายตัวของนักวิจัยที่อิสระออกจากเงื่อนไขและบริบททางสังคมของชุมชน ทว่า การวิจัยมีภารกิจร่วมกับการปฏิบัติการทางสังคมของชุมชนในการบรรลุจุดหมายของการทำให้ก่อเกิดสุขภาวะและการยกระดับคุณภาพแห่งชีวิตทางด้านต่างๆที่ต้องการของชุมชน โดยใช้ความรู้และวิธีการทางความรู้เป็นหนทางในการบริหารจัดการความแตกต่างหลากหลายให้เป็นพลังสร้างสรรค์

ในอดีตนั้น กระบวนการทางด้านปฏิบัติการสังคม มิติการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ และมิติการวิจัย เหล่านี้ นอกจากมักจะดำเนินการแยกส่วนออกจากกันแล้ว ก็มักจะต้องอาศัยดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่แยกส่วนความรู้ความเชี่ยวชาญไปกันคนละด้านเช่นกัน ซึ่งจะมีข้อจำกัดต่อการสนองตอบต่อปัญหาอันซับซ้อน อีกทั้งอาจดำเนินการอย่างแยกส่วนและไม่มัความสัมพันธ์กันเลยก็ได้ นักวิจัยก็สร้างความรู้ไป เมื่อต้องการเผยแพร่ก็นำไปตีพิมพ์และสอนความรู้ ความเชี่ยวชาญในการสอนความรู้ก็มีอย่างจำกัด หรืออาจจะส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของครูอาจารย์และนักฝึกอบรม ส่วนชุมชนก็เป็นฝ่ายที่จะต้องรับความรู้และเป็นผู้ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ในการวิจัยแบบ PAR สามารถดำเนินการให้มีความยืดหยุ่นและสนองตอบต่อการดำเนินการให้ทั้ง ๓ มิติดำเนินการไปด้วยกันอย่างบูรณาการในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย อีกทั้งก่อให้เกิดโครงสร้างและระบบจัดการความสัมพันธ์ของกลุ่มนักวิจัยตลอดจนประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนร่วมกลุ่มต่างๆที่มีบทบาทส่งเสริมเกื้อหนุนกัน ทุกฝ่ายมีความสำคัญต่อการเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จเพื่อสร้างพลังความเข้มแข็งให้สังคมและชุมชนสามารถบรรลุจุดหมายดังที่ต้องการร่วมกันของทุกฝ่ายได้มากขึ้น

ในแง่มุมดังกล่าวนี้ การวิจัยแบบ PAR จึงมีความเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการความเปลี่ยนอแปลงอย่างมีส่วนร่วมด้วยวิธีการทางความรู้ นักวิจัยและกระบวนกรวิจัยแบบ PAR ก็นับว่าเป็นนวัตกรทางสังคมแห่งการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ในการเป็นผู้สร้างความรู้ จัดการความรู้ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสังคมไทยในบริบทของท้องถิ่นและความเป็นสากล.

............................................................................................................................................................................

[๑] CER : ๓ มิติที่บูรณาการอยู่ในกระบวนการวิจัยแบบ PAR

  •  Community Orientation and Community-Based Development คุIntegration : การระบุปัญหาที่มุ่งความเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชนและสังคม  
  • Education and Learning Process Integration : การพัฒนากระบวนการทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อมุ่งระดมพลังแก้ปัญหาจากภายในชุมชน  
  • Research Integration :  การวิจัย สร้างความรู้ และสร้างทฤษฎีพื้นฐานจากการปฏิบัติ

 [๒] อ่านเพิ่มเติม CER ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๓ องค์ประกอบหลักที่นักวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม PAR ต้องเรียนรู้ให้ทำได้และทำเป็น

หมายเลขบันทึก: 409364เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับ "ปัญญาสาธารณะ" ของอาจารย์

(1) มองเห็นมนต์เสน่ห์ของ "วิถีแห่ง PAR"  มากยิ่งขึ้นครับ

(2) ท่ามกลางวิกฤติในโลกปัจจุบันวิจัย PAR น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการ เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนาหาทางออก กระทั่งการปรับท่าทีของ "นักวิจัย" และ "นักวิชาการ" ที่บ่อยครั้งมักจะเป็น "วิชาเกิน..." อยู่ร่ำไป

(3) ยังคงรอติดตาม (ตอนต่อไป...) อยู่นะครับ....

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมม

  • ดีครับดี เป็นการเสริมกำลังความคึกคักกระชุ่มกระชวยของคุณช้างน้อยมอมแมม ซึ่งก็เป็นมือดีของงานวิจัยในแนวนี้ของมหาวิทยาลัยด้วยนะครับ
  • ขอประสานงานไปด้วยเลยได้ไหมนี่ ผมได้พยายามติดต่อกับทางคณะผู้จัดเวทีจัดการความรู้แห่งชาติ โดยเฉพาะเวทีของ GotoKnow ว่า อยากขอลงทะเบียนหน้างานสวักคนหนึ่งได้หรือไม่ เพราะพวกเราหลายคนได้ไป เลยอยากให้อาจารย์ณัฐพัชร์ได้ไปด้วยอีก ๑ ท่าน ช่วยบอกเธอหน่อยนะครับ ผมได้ติดต่อกับคุณอาร์มและคุณเอก : จตุพร ว่าช่วยประสานงานให้อีกทางหนึ่งว่าจะขอไปลงทะเบียนหน้างาน เอกก็กำลังช่วยติดต่อให้ด้วยนะครับ
  • แต่ก็ต้องเผื่อใจนิดหน่อยนะครับเพราะเอกบอกว่าตอนนี้คนเต็มมากๆแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท