ธรรมศาสตร์ให้นศ.ทำนา สอนติดดิน


ธรรมศาสตร์ให้นศ.ทำนา สอนติดดิน

ธรรมศาสตร์ให้นศ.ทำนา สอนติดดิน

http://gotoknow.org/file/wassana-say/10912_002.jpg

มธ.จัดโครงการธรรมศาสตร์ทำนา สอนนักศึกษารู้จักชีวิตคนยากจน ทำตัวติดดิน สร้างสำนึกรับใช้ประชาชนคนรากหญ้า "สุเมธ" นำทีมอธิการบดี-อาจารย์ มธ.ดำนา ระบุ "รวยแล้วต้องหมั่นทำบุญสร้างกุศล กรรมไม่คอยใคร" ด้านอธิการบดีเผยนักศึกษาร่วมโครงการ 200 คน ระบุไม่บังคับให้เป็นไปตามสมัครใจ แนวโน้มใช้เป็นกิจกรรมรับเพื่อนใหม่

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 เวลา 15.00 น. ที่แปลงนาข้าวด้านข้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีพิธีเปิดโครงการ "ธรรมศาสตร์ทำนาเศรษฐกิจพอเพียง" ขึ้น โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. คณะผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษา มธ.ประมาณ 200 คน เข้าร่วม

ศ.ดร.สุรพล อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เพราะปัจจุบันนักศึกษา มธ.ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง มีคนชนบทไม่มากและไม่มีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิต ความยากลำบากของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะชาวนาเป็นอาชีพที่เป็นนามธรรมมาก

นักศึกษาเคยเห็นแต่ในตำราเรียน อยากให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ มธ.ศูนย์รังสิตมีพื้นที่ว่างมากพอ จึงทำเป็นแปลงนา 6 ไร่ และให้นักศึกษาที่สนใจสมัครเข้ามาทำนา โดยไม่มีการบังคับใดๆ ตอนนี้มีนักศึกษาสนใจทำนาประมาณ 200 คน เพื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตของชาวนากว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดยากลำบากอย่างไร ทำให้ทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อชาวนาเปลี่ยนไป

"โครงการนี้ไม่คุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ข้าว 10 เกวียน ใช้เงินไปถึง 1 แสนบาท แต่การสอนให้นักศึกษารู้จักทำนา รู้ชีวิตชาวนา เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะตรงกับคำสอนของ มธ.ที่บอกว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน โครงการนี้ทำให้ความหมายนี้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักศึกษารู้จักประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อจบออกไปเป็นบัณฑิต มธ.จะได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อไปจะนำไปเป็นกระบวนการรับเพื่อนใหม่ด้วยการทำนา คาดว่า 3-4 ปีข้างหน้า นักศึกษาทั้งหมดจะเข้าร่วมโครงการนี้" ศ.ดร.สุรพล กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ตอนถูกทาบทามเป็นนายกสภา มธ.ไม่คิดว่าต้องทุกข์ระกำถึงขั้นทำนา เมื่ออธิการบดี มธ.ไปเชิญมาเป็นประธานเปิดโครงการธรรมศาสตร์ทำนา ก็ขอดำนาด้วย เพราะเป็นอาชีพทำปีละ 3-4 ครั้ง และเร็วๆ นี้จะตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปเกี่ยวข้าว

"ผมเป็นประธานมูลนิธิข้าวไทย มีโครงการทำข้าวกล้องให้เด็กกินเป็นอาหารบำรุงสมอง ในหลวงรับสั่งข้าวกล้องมีประโยชน์อยู่แล้ว การบริจาคข้าวกล้องทำให้เด็กกินข้าวที่พ่อแม่ผลิตเอง และซื้อนำมาเลี้ยงลูก คนรวยแล้วไม่ต้องการอะไร ต้องการสร้างกุศลก็พอเพียงแล้ว ยิ่งรวยเท่าไรยิ่งควรสร้างกุศล เพราะกรรมมันไม่คอยใคร ต้องสร้างกุศลไว้ให้มากๆ โดยการสร้างกุศลเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่หนึ่ง คือ ทานัง ที่ทุกคนรวมถึงนักบริหารต้องทำตาม การให้ทานโดยไม่หวังประโยชน์กลับคืนมา" ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องข้าว แต่ทุกคนทุกอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ นักบริหาร ต้องนำไปใช้ในการทำงาน ยกตัวอย่างรางวัลการพัฒนามนุษย์ ที่สหประชาชาติให้นายโคฟี อันนัน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง ไม่ใช่แค่ถวายเพื่อเป็นเกียรติยศ แต่นำไปดำเนินการอย่างจริงจัง มีการจัดประชุมใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ที่เจนีวา และที่นิวยอร์กเร็วๆ นี้ โดยเชิญตนไปบรรยาย และเร็วๆ นี้คนจาก 20 ประเทศ จะมาดูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

"ไม่ผิดหวังที่มาเป็นนายกสภา มธ. เพราะโครงการธรรมศาสตร์ทำนา ย้ำความเป็นธรรมศาสตร์ อย่างปี 2512 ผมเคยเป็นอาจารย์ มธ.พานักศึกษาไปดูสลัมคลองเตย ดูความยากจน เมื่อนักศึกษาพวกนี้จบเป็นทูต ได้มาขอบคุณ เพราะประสบความสำเร็จในชีวิตจากการเข้าใจชีวิต ความหมายชีวิต ไม่ใช่ตำแหน่ง เงินเดือน การทำนาสอนบทเรียนชีวิตต้องแตะดิน บรรจุพลังลงสู่แผ่นดินของเรา" ดร.สุเมธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุเมธได้สอนถึงการดำนา โดยแนะให้กดหัวแม่โป้งลงลึกถึงดิน 4-5 เซนติเมตร และปักกล้าข้าว 3-5 ต้น ซึ่งภายหลัง ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์เพิ่มด้วยว่า เชื่อมั่นโครงการธรรมศาสตร์ทำนา จะช่วยสร้างจิตวิญญาณและจิตสำนึกให้นักศึกษา มธ.รู้จักช่วยเหลือคนยากจน เช่น เป็นข้าราชการก็มีจิตสำนึกในการบริการประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน

รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณ 2.9 แสนบาท โดยได้รับงบสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นาทั้งหมดมี 6 ไร่ เบื้องต้นจะทำไป 2 ไร่ก่อน โดยปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และปทุมธานี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คัดสรรแล้วว่าให้ผลิตสูงและมีคุณภาพ และค่อยๆ ขยายพื้นที่เพิ่ม ซึ่งการทำนาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มูลสัตว์ ซากพืช และใส่ปูนขาวด้วย เพราะดินมีความเป็นกรดสูง โดยจะดำนาให้เสร็จ 2 ไร่ ภายใน 6-10 วัน และคาดว่าเกี่ยวข้าวได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และนวดข้าวในเดือนธันวาคมนี้ ตามเป้าหมายปลูกข้าววันแม่เก็บเกี่ยวข้าววันพ่อ

นายธีรศักดิ์ ชอบทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า เป็นคน จ.สุรินทร์ มาร่วมโครงการธรรมศาสตร์ทำนา เพราะที่บ้านมีอาชีพทำนา จึงอยากให้ทุกคนรู้ว่าอาชีพชาวนาไม่ใช่อาชีพที่น่าอาย แต่เป็นอาชีพหลักของสังคม มีมาตั้งแต่โบราณ และการทำนาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้ไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่แบบเรียบง่าย และรู้ว่าเป็นคนธรรมศาสตร์ต้องติดดิน นึกถึงประชาชนและใกล้ชิดประชาชน

คำสำคัญ (Tags): #สอนติดดิน
หมายเลขบันทึก: 40926เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เยี่ยมมาก
  • แต่วันหลังเปลี่ยนชุดด้วยนะครับ
  • ขี้โคลนมันเปื้อนเสื้อขาว ซักยาก
  • รวบผมด้วย ใส่หมวกก็จะดี แดดร้อน
  • ชมเชยนะครับ เยี่ยมจริง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท