SOAP Note - จิตอารมณ์บกพร่อง


ต่อยอดจาก http://gotoknow.org/blog/otpop/406625 โดยประเมินและให้คำปรึกษาแก่กรณีศึกษาในการนัดหมายครั้งที่ 1 ในฐานะนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม

S (Subjective): กรณีศึกษา ช. มาพร้อมภรรยา ม. โดยสามารถขับรถยนต์มาที่บ้าน ดร. ป๊อป ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเส้นทางใหม่ คุณ ช. มีสีหน้าแจ่มใส พูดคุยได้ดีทั้งวัน เวลา สถานที่ บุคคล ที่ได้รับรู้ก่อนหน้านี้ 1-6 ชม. ส่วนคุณ ม. ดูสีหน้าเคร่งเครียดเล็กน้อย นั่งสงบและรับฟังข้อมูลต่างๆ ได้ดี ทั้งสองท่านพูดคุยกันบ้าง แต่ดูไม่มีการมองหน้าแบบไว้วางใจกัน

คุณ ช. ตระหนักรู้ในตนเองว่า "ไม่รู้จะคุยอะไรกับคุณ ม. ไม่มีเรื่องที่จะคุย พยายามจะคุยกับก่อนนอนตามที่ ดร. ป๊อป แนะนำเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่ทำได้ไม่ถึง 2 วัน ก็ต่างคนต่างแยกห้องนอน ผมก็หนีไม่ดูทีวี ไปข้างนอกบ้าน ถ้ารู้สึกโกรธและคิดมากเกี่ยวกับคุณ ม." คุณ ช. พูดหลายครั้งว่า "เกรงใจ ดร. ป๊อป ที่ต้องมาคอยช่วยเหลือเขาและภรรยา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของครอบครัว"

ดร. ป๊อป จึงตอบว่า "นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมมีบทบาทกระตุ้นให้คุณ ช. คิดทบทวนและเรียนรู้ที่จะปรับจิตใจและอารมณ์ตนเองให้มีทักษะสร้างสัมพันธภาพกับครอบครัว คือ คุณ ช. คุณ ม. และลูกๆ อีก 3 คน อายุ 8, 13, และ 14 ปี"

O (Objective): เริ่มกิจกรรมการประเมินเรื่อง Sensory Profile Test เพื่อประเมิน Sensory Preference & Sensory Threshold ที่บ่งชี้ถึงสภาวะการรับความรู้สึกในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ใช้เวลา 30 นาที

เมื่อเริ่มทำแบบประเมินข้างต้น คุณ ช. ตอบอย่างลังเลและขอดูตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจคำถามมากขึ้น และบอกว่า "ผมเคยชอบรู้สึกแบบนี้...แต่ตอนนี้ไม่ชอบรู้สึกแบบนี้...ไม่แน่ใจความคิดของตนเอง หรือบางความรู้สึกก็ตอบได้แบบนี้..." ผมถามต่อว่า "ตอบแบบสอบถามยากไหม" คุณ ช. บอกว่า "ไม่อยากครับ

จากนั้นทำกิจกรรมหลับตา-นึก-เขียนความคิดบนกระดาษ เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเอง 10 ข้อ แล้วเลือกที่จะทำได้มากที่สุด 3 ข้อ ในอาทิตย์หน้า ทั้งคุณ ช. และคุณ ม. ใช้เวลานาน 30 นาที

จากกิจกรรมการประเมินที่สอง คุณ ช. คิดนานมาก เขียนด้วยลายมือหวัด และบ่นว่า "อยากทำเยอะแยะไปหมด แต่นึกไม่ออกให้ครบ 10 ข้อ" ขณะที่คุณ ม. ตั้งใจแสดงความคิด เขียนลายมือดีและเป็นระเบียบและวนหัวข้อที่อยากทำอย่างมั่นใจ

กิจกรรมทานอาหาร-พูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์ปัญหาครอบครัวและประสบความสำเร็จในการจัดการตนเอง (แม่ ดร. ป๊อป) เพื่อเปิดโอกาสให้เห็นสัมพันธภาพระหว่างคุณ ช. และคุณ ม. เมื่อสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองและค่อยๆ กระตุ้นให้คิดด้วยความเป็นจริง กระตุ้นให้คิดเพื่อยอมรับความคิดที่ดี และกระตุ้นให้รับฟังความคิดระหว่างคุณ ช. และคุณ ม. แบบเปิดใจ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1.30 ชม.

A (Assessment): แปรผลแบบประเมิน Sensory Profile Test ว่า คุณ ช. มีการรับรู้ข้อมูลทางการสื่อสารและการได้ยินดี การเคลื่อนไหวพอใช้ แต่มีการแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมจากความไวเกินไปของการได้กลิ่น การรับรสชาด และการมองเห็น นอกจากนี้ประสบการณ์การทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก-วัยรุ่นตอนเรียนมัธยมในต่างประเทศและตอนติดกัญชา ส่งผลให้มีความจำลดลง ความรู้สึกสัมผัสต่ำ (อารมณ์รัก ไว้วางใจ และผูกพัน มีน้อย) ซึ่งอาจส่งผลให้คิดคาดหวังกับคุณ ม. ด้วยอารมณ์หลงผิด คิดเชิงลบ และคิดเข้าข้างตนเองมากจนเกินไป มานาน 10 กว่าปี

จากการประเมินที่สอง หัวข้อ 3 ข้อ ของคุณ ช. ได้แก่ 1) อยากออกกำลังกายโดยจ้าง Trainer คุมฝึกทุกวัน 2) ไปเที่ยวตามวัดว่าจะช่วยเหลือแบบจิตอาสาและบริจาคเงินให้พวกเขา 3) คุยกับพ่อแม่ให้เดินทางไปเที่ยวในที่ๆ ทุกคนชอบ ทั้งนี้หัวข้ออื่นๆ ไม่มีการเขียนถึงกิจกรรมเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครอบครัวของคุณ ช. เลย ทั้งๆ ที่พูดว่า อยากทำเพื่อลูก"

หัวข้อ 3 ข้อ ของคุณ ม. ได้แก่ 1) อยากอยู่อย่างสงบ 2) อยากทำงานเก็บเงินเพื่อลูก 3) อยากจะทำบ้านให้ตนเองน่าอยู่ ทั้งนี้มีหัวข้อหนึ่งใน 10 ข้อ ที่ไม่ได้เลือกมาเพราะกังวลและเครียดกับคุณ ช. คือ อยากให้คุณ ช. คิดในแง่ดี

ในกิจกรรมการประเมินสุดท้าย คุณ ช. ยอมรับว่า คิดมากและตั้งเงื่อนไขเรื่องเวลาและเหตุการณ์ที่สมบูรณ์แบบเกินไป แต่ก็เข้าใจว่า "ยากที่จะปรับความคิด...จะลองพยายามฝึกกิจกรรมบำบัดจิตสังคมตามนัดหมาย...ไม่สัญญาที่จะทำได้ตาม ดร. ป๊อปทุกเรื่อง...รักลูก...เข้าใจแล้วว่าจะไม่หนีปัญหา...ตอนนี้ถ้าคุณ ม. ทำงานที่บ้าน ก็เชื่อว่าตัวเองจะดีขึ้น" ส่วนคุณ ม. ก็ยอมรับว่า "จะลองเข้าหาและคุยกับคุณ ช. เท่าที่ทำได้ จะอดทนและปรับตัวเองมาทำงานที่บ้าน และคงต้องปรึกษาแนวทางการจัดการความเครียดของตนเองกับ ดร. ป๊อป ตามที่นัดหมายต่อไป"

P (Plan): นัดหมายที่คลินิกกิจกรรมบำบัด เพื่อปรับระดับการรับความรู้สึกและการจัดการความเครียดด้วยกิจกรรมบำบัดจิตสังคมในหนึ่งเดือนข้างหน้า และแนะนำให้ประเมินตนเองทั้งคุณ ช. และคุณ ม. เมื่อในอีก 10 วันก่อนที่คุณ ม. จะกลับมาทำงานที่บ้าน แล้วการสร้างสัมพันธภาพระหว่างคุณ ช. และคุณ ม. จะดำเนินไปโดยธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ทานข้าวด้วยกัน พาครอบครัวไปเที่ยว จับมือคุยกันสามีภรรยาเพื่อให้ลูกซึบซาบความรักความอบอุ่น เป็นต้น

 

  

หมายเลขบันทึก: 408252เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2010 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท