การสุ่มตัวอย่าง


การสุ่มตัวอย่างการวิจัย

การสุ่มตัวอย่าง (Sampling)

การกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ปฏิบัติกันในการทำวิจัย  จำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ  คือ

     1. การกำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบที่หน่วยตัวอย่างทุกหน่วยมีโอกาสถูกเลือกไม่เท่ากัน  การ กำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบนี้ไม่เป็นไปตามหลักของความน่าจะเป็นซึ่งมักจะใช้ใน กรณีที่ไม่ทราบจำนวนประชากรแน่นอน หรือไม่ได้สนใจว่าประชากรจะมีเท่าไร ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาจึงไม่ใช่ตัวแทนของประชากรทั้งหมดแต่ก็ยังมี การวิจัยเชิงสำรวจบางเรื่องจำเป็นต้องใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบนี้

           1.1 การเลือกแบบบังเอิญ  (Accidental  Sampling) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างเท่าที่จะหาได้ครบตามช่วงเวลา หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่นไปยืนรอสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หมวกนิรภัยของประชาชนที่ขี่รถ จักรยานยนต์มาจ่ายกับข้าวตอนเช้าที่หน้าตลาดสดจำนวน 200 คน

           1.2 การเลือกแบบกำหนดโควตา (Quota  Sampling)เป็น การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดจำนวนจำแนกตามสถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง เช่น ต้องการกลุ่มตัวอย่างชาย 100 คน กับกลุ่มตัวอย่างหญิงอีก 100 คน หรือต้องการกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 60คน วัยหนุ่มสาว 80  คน และ วัยชรา  60  คน  แล้วจึงเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีบังเอิญตามจำนวนที่กำหนด

           1.3  การเลือกแบบมีจุดมุ่งหมาย หรือแบบจงใจ  (Purposive  Sampling)  เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะเฉพาะตรงกับปัญหา เช่น ต้องการศึกษาปัญหาการลาออกกลางคันของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในปีการศึกษา 2550 ก็กำหนดกลุ่มตัวอย่างเฉพาะนักศึกษาที่มายื่นใบลาออกในปีการศึกษา  2550

           1.4 การเลือกแบบตามความสะดวก (Convenience Sampling) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่คำนึงความสะดวกในการเก็บข้อมูล เช่น กลุ่มตัวอย่างอยู่ใกล้ เดินทางสะดวก มีผู้ช่วยเก็บข้อมูลแทนได้

           1.5  การเลือกแบบลูกโซ่  (Chain)  เป็น การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เริ่มจากคนแรก  แล้วให้คนแรกแนะนำหน่วยตัวอย่างคนต่อไปเหมือนสายโซ่ทำเช่นนี้จนได้จำนวน กลุ่มตัวอย่าง           ตามต้องการ

       2. การกำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบที่หน่วยตัวอย่างทุกหน่วยมีโอการถูกเลือกเท่ากัน  การกำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบนี้เป็นไปตามหลักของทฤษฎีความน่าจะเป็น และเรียกว่า “การสุ่มตัวอย่าง (Random Sampling)” และถือว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้มาเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำแนกเป็น 5 แบบ  ดังนี้

                2.1  การสุ่มแบบง่าย (Simple  Random  Sampling) การ สุ่มตัวอย่างโดยวิธีนี้สมาชิกของกลุ่มประชากรทุก ๆ หน่วยมีโอกาสเท่าๆกันในการได้รับเลือกมาเป็นสมาชิกของกลุ่มตัวอย่าง  การสุ่มแบบนี้เหมาะสำหรับประชากรที่มีหน่วยตัวอย่างไม่มาก ซึ่งการสุ่มทำได้ 2 วิธี ดังนี้

                        2.1.1  ใช้การจับฉลาก โดยการเขียนหมายเลขรหัสของหน่วยตัวอย่างทั้งหมด(หรือเขียนชื่อก็ได้)ตาม บัญชีประชากรที่จัดทำไว้อย่างเป็นระบบลงในกระดาษที่ทำฉลาก  จากนั้นจึงดำเนินการจับหมายเลขนั้นทีละหมายเลขแบบสุ่มจนครบตามจำนวนกลุ่ม ตัวอย่างที่ต้องการ เช่น ประชากรเป็นนักศึกษามี 100 คน ต้องการกลุ่มตัวอย่าง 80 คน ก็ทำฉลากเลขรหัสนักศึกษา 100 หมายเลข แล้วจับขึ้นมา 80 หมายเลขก็จะทราบว่าใครบ้างที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง

                         2.1.2  ใช้ตารางเลขสุ่ม เป็นตารางที่นักสถิติจัดทำขึ้น ในตารางประกอบขึ้นด้วยตัวเลขโดดวางต่อๆ กันแบบไม่มีลำดับหรือไม่เป็นระบบ ถือว่าเป็นตัวเลขสุ่ม พร้อมที่จะผสมตัวเลขตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป  เช่น จากตัวอย่างนักศึกษา 100 คน ต้องการสุ่มตัวอย่าง 80 คน  จะต้องให้หมายเลขรหัสของหน่วยตัวอย่างเป็น  001,  002, 003,…, 100 จากนั้นไปสุ่มตัวเลข   ในตารางเลขสุ่มมา 1 ตัว  แล้วอ่านเลขผสมทีละ 3 ตัวเรียงไปทางขวามือ (เรียงย้อนตามแนวนอนมาทางซ้ายก็ได้ หรือเรียงขึ้นลงในแนวตั้งก็ได้) หมดแถวแล้วให้เรียงตัวเลขต่อกับบรรทัดต่อไป  ถ้าพบว่าได้เลขตรงกับหน่วย ตัวอย่างใด  ก็ทำเครื่องหมายบันทึกไว้  ถ้าได้ซ้ำก็ให้ข้ามไป จนครบ  80  ตัวอย่าง

          2.2 การสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) โดยการแบ่งประชากรออกเป็นพวกย่อยๆ หรือเรียกว่าแบ่งชั้น (Strata) แล้วสุ่มตัวอย่างจากทุกพวกออกมาตามสัดส่วนมากน้อยของแต่ละพวกโดยต้องใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายในขั้นสุ่มจริง วิธีนี้เป็นที่นิยมใช้มาก และถือว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร

ตัวอย่าง  

        ถ้ามีประชากรนักศึกษาชั้นปีที่ 4ของมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่งจำนวนรวม 1,500คน จำแนกเป็นพวกตามคณะที่เรียน มีครุศาสตร์ 250  คน วิทยาศาสตร์ 320 คน มนุษยศาสตร์ 500 คน และวิทยาการจัดการ 430 คน เมื่อเทียบขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากประชากรได้ 300 คน จะได้กลุ่มตัวอย่างตามสัดส่วนแต่ละคณะดังนี้

            ครุศาสตร์ได้          (300/1500)  x  250   =     50  คน

            วิทยาศาสตร์          (300/1500)  x   320  =     64  คน

            มนุษยศาสตร์        (300/1500)  x   500  =   100  คน

            วิทยาการจัดการ    (300/1500)  x   430  =     86  คน

     2.3  การสุ่มแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ใช้ในกรณีที่ประชากรมีการลงทะเบียน และให้หมายเลขไว้ตามลำดับอย่างมีระเบียบ(หรือถ้าไม่ได้จัดทำไว้  นักวิจัยอาจจะนำมาจัดทำเองได้) เช่น ประชากร นักเรียน นักศึกษา พนักงานห้างร้าน คนงานโรงงาน ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ซึ่งมีบ้านเลขที่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน วิธีการสุ่มทำดังนี้

                2.3.1  หาช่วงของการสุ่มตัวอย่าง โดยนำเอาจำนวนประชากรมาหารด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง ถ้ามีเศษให้พิจารณาปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม เช่น ถ้ามีประชากร 1,400  คน  ต้องการกลุ่มตัวอย่าง 300 คน จะได้ช่วงของการสุ่ม 1,400/300 = 4.67 ปัดเป็น 5                    

              2.3.2  หน่วยตัวอย่างในประชากร 5 ลำดับแรกมาสุ่มหมายเลขตั้งต้น (Random  Start) โดยวิธีสุ่มอย่างง่ายได้เลขที่ 3

              2.3.3  ระบุหน่วยที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยเริ่มจากเลขที่ตั้งต้น และเลขที่ต่อไปให้นำเลขที่ตั้งต้นบวกด้วยเลขบอกช่วงการสุ่ม  ดังนี้  3, 8, 13, 18, 23, 28,… จนครบ 300 ตัวอย่าง  ถ้าระบุไปจนถึงคนสุดท้ายแล้วยังไม่ครบ 300 คน เนื่องจากการคำนวณช่วงการสุ่มมีการปัดเศษ ก็ให้บวกเลขวนกลับมาผ่านเลขที่ 1 อีกรอบ ถ้าซ้ำเลขที่เดิมให้ข้ามไป

        2.4  การสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ในกรณีที่ประชากรอยู่เป็นกลุ่มหลายกลุ่ม  ในแต่ละกลุ่มมีลักษณะของประชากรหลากหลายเช่นเดียวกัน จะใช้กลุ่มเป็นหน่วยการสุ่ม โดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายวิธีนี้นิยมใช้สุ่มตัวอย่างประชากรที่แบ่งตาม พื้นที่อยู่อาศัย หรือแบ่งตามเขต การปกครอง เป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สำหรับตัวอย่างการสุ่มในทางการศึกษา  เช่น กรณีต้องการสุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มา 2 ห้องเรียน จากที่มี  6  ห้องเรียนจะทำได้  ถ้านักเรียนทั้ง 6 ห้องเรียนนั้นมีความสามารถ และสถานภาพส่วนตัวทั่วๆ ไปคละกันเท่าเทียมกันทุกห้องเรียน

       2.5  การสุ่มหลายขั้นตอน  (Multi–stage Random Sampling) ใช้ในกรณีที่ประชากรมีขนาดใหญ่มาก อยู่ในพื้นที่กว้าง และประชากรสามารถแบ่งระดับที่แตกต่างกันหลายระดับจำเป็น ต้องใช้วิธีสุ่มหลายวิธีประกอบกัน เช่น ใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งกลุ่มก่อน และในขั้นตอนเกือบสุดท้ายอาจใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น และขั้นสุดท้ายใช้วิธีสุ่มแบบง่าย เช่น ต้องการทำวิจัยปัญหาหนึ่ง โดยใช้ประชากรคนจังหวัดนครปฐมกำหนดกลุ่ม ตัวอย่าง 900 คน กำหนดวิธีสุ่มหลายขั้นตอนดังนี้  สุ่มอำเภอมา 4 อำเภอ จาก 7 อำเภอ ใน 4 อำเภอ สุ่มมาอำเภอละ 3 ตำบล แต่ละตำบลสุ่มมา  5 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านสุ่มครัวเรือนมา 15 ครัวเรือนแต่ละครัวเรือนสุ่มสมาชิกมา 1 คน ได้กลุ่มตัวอย่าง 4 x 3 x 5 x 15 x 1  =  900  คน

ส่วนการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขอให้ผู้วิจัยคำนึงคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง 2 ข้อนี้  คือ
1. ความเป็นตัวแทนที่ดี  หมายถึง  กลุ่ม ตัวอย่างที่ดีควรมีลักษณะต่างๆ สอดคล้องครอบคลุมคุณลักษณะทุกประการของประชากร ซึ่งหมายถึงว่ากลุ่มตัวอย่างนั้นต้องเลือกมาจากประชากรโดยปราศจาก ความลำเอียง คือ  เลือกมาโดยการสุ่มนั่นเอง
2.  มีขนาดพอเหมาะหรือพอเพียงที่จะทดสอบความเชื่อมั่นทางสถิติได้ เพื่อที่ว่าผลที่ได้จะได้สามารถอ้างอิงไปสู่ประชากรอย่างชื่อถือได้

หมายเลขบันทึก: 408215เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท