โครงร่าง...สำคัญไฉน???


การเขียนโครงร่างงานวิจัย

โครงร่างการวิจัย (research proposal)

การเขียนโครงร่างการวิจัยเป็นเหมือนการแปลงคำถามการวิจัย (research question) ให้ออกมาเป็นแผนดำเนินการ (plan of action) ผู้วิจัยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความถูกต้อง (validity) กับความเป็นไปได้ (feasibility) ของการทำวิจัย ในบางสถานการณ์ถ้าจะทำวิจัยให้ถูกต้องสมบูรณ์ อาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ จึงอาจต้องหย่อนหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยได้ แต่ระลึกไว้เสมอว่า อย่าให้ความเป็นไปได้ไปทำลายความถูกต้องเสียทั้งหมด

โครงร่างการวิจัย อาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. pre-proposal หรือ concept proposal หรือ outline proposal
2. full proposal หรือ detailed proposal

                pre-proposal มักประกอบด้วยชื่อเรื่อง คำถาม วัตถุประสงค์ สมมติฐาน (ถ้ามี) ความสำคัญและที่มาของปัญหา รูปแบบการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยโดยย่อ ข้อจำกัด ผลที่คาดว่าจะได้รับ และตารางปฏิบัติงานโดยย่อ ความยาว 2-5 หน้า เพื่อแหล่งทุนจะดูแนวคิด ประเมินความเหมาะสม คุณภาพและความเป็นไปได้ของงานวิจัย เมื่อแหล่งทุนเห็นว่าแนวคิดน่าสนใจ จึงจะให้ผู้วิจัยพัฒนาโครงร่างการวิจัยโดยละเอียด (full proposal ) องค์ประกอบของโครงร่างการวิจัย จะมีแบบต่างกันตามแหล่งทุนต่างๆ โดยทั่วไปมีหัวข้อคล้ายกันการเขียนโครงร่างการวิจัย เพื่อตอบคำถาม 3 คำถามคือ ทำไปทำไม จะทำอะไร และจะทำอย่างไร

                1 การเขียนเพื่อตอบคำถาม why (ทำไปทำไม) ส่วนนี้มีความสำคัญมากต่อการจะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้วิจัยต้องสามารถเขียนโน้มน้าวผู้ให้ทุนเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ มีความจำเป็น มีคุณค่าและมีประโยชน์ ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้วิจัยมีความรู้พื้นฐานและเข้าใจปัญหาที่กำลังจะศึกษาอย่างถ่องแท้ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่กรอบแนวความคิดของการวิจัย ระบุได้ว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ มีที่ใดบ้าง และการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณค่าได้อย่างไร
หัวข้อที่ใช้การเขียนเพื่อตอบคำถามว่าทำไปทำไมของแหล่งทุนต่างๆ เช่น Introduction , Rationale , Background , Background & Significance of Problem , Background & Rationale , The Problem , Problem & Its Significance

                2 การเขียนเพื่อตอบคำถาม what (จะทำอะไร) คือวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ผู้วิจัยต้องกำหนดให้ชัดเจน เฉพาะเจาะจงว่าจะทำอะไร บอกสิ่งที่จะทำทั้งขอบเขตและคำตอบที่คาดว่าจะได้รับ การตั้งวัตถุประสงค์ต้องให้สมเหตุสมผลกับทรัพยากรที่เสนอขอและเวลาในการปฏิบัติงาน และต้องสอดคล้องกับคำถามการวิจัยวัตถุประสงค์ อาจมี 2 ระดับ คือ
          1) วัตถุประสงค์ทั่วไป ( general objective ) กล่าวถึงสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการวิจัยนี้ เป็นจุดมุ่งหมายในระดับกว้าง ควรเขียนให้ครอบคลุมงานวิจัยที่จะทำทั้งหมด
          2) วัตถุประสงค์เฉพาะ (specific objective) กล่าวถึง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในงานวิจัยเป็นข้อๆอธิบายว่า ใคร จะทำอะไร มากน้อยแค่ไหน ให้กับใคร ที่ไหน เมื่อไร และเพื่ออะไร โดยการเรียงหัวข้อความสำคัญก่อนหลัง

                3 การเขียนเพื่อตอบคำถาม how (จะทำอย่างไร) เป็นการเขียนอธิบายรายละเอียด 4 เรื่อง คือ
          1) กรอบแนวความคิดในการวิจัย ( conceptual framework ) เขียนเป็นแผนภูมิ กรอบแนวคิดที่ดี จะช่วยให้ผู้อ่านทราบว่า ในงานวิจัยต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง และข้อมูลมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างไร
          2) รูปแบบการวิจัย (research design) ที่จะใช้ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับคำถามและวัตถุประสงค์
          3) ระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) ซึ่งประกอบด้วย ประชากรและตัวอย่าง การให้ intervention (ถ้ามี) และตัวแปรและการวัดผล
          4) สถิติ (statistics) ที่ใช้

องค์ประกอบของโครงร่างการวิจัย
1 ชื่อโครงการ หรือชื่อเรื่อง (The Title)
          ชื่อเรื่องเป็นส่วนดึงดูดความสนใจจุดแรกของโครงร่างการวิจัยทั้งโครงการ ควรตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจ ทันต่อเหตุการณ์ เป็นเรื่องที่วิจัยได้ (researchable topic) และควรแก่การแสวงหาคำตอบ
หลักการตั้งชื่อเรื่อง โดยนำคำสำคัญ (key words) ของเรื่องมาประกอบเป็นชื่อเรื่อง ทำให้สั้นกระทัดรัด ชัดเจน และสื่อความหมายครอบคลุมความสำคัญของเรื่องที่จะศึกษาทั้งหมด ชื่อเรื่องภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ควรสอดคล้องกันในเชิงความหมาย

2 ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย (Background and Rationale)
          ผู้วิจัยต้องแสดงให้เห็นว่า มีความรู้พื้นฐานและเข้าใจในปัญหาที่กำลังจะศึกษาอย่างชัดเจนทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถระบุถึงความสำคัญของปัญหา ความจำเป็น คุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างมีเหตุผล ระบุได้ว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ มีที่ใดบ้าง และการศึกษานี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าได้อย่างไร  การกำหนดปัญหาในการทำวิจัย จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลมาประกอบในการพิจารณา ข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากทฤษฎีหรือแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา จากประสบการณ์ของตัวผู้วิจัย จากข้อมูลในรายงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำมาแล้ว นำสิ่งเหล่านี้มาสร้างแนวคิด ( conceptualization ) ในการเจาะปัญหาที่สำคัญ และวางขอบเขต (framework) ของปัญหาสำหรับทำวิจัย

3 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Review Related Literatures)
          ก่อนจะวางแผนทำวิจัยเรื่องใด ควรมีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำวิจัยอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อทำให้เข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น
การอ่านเอกสารจะต้องใช้วิจารณญาณในการประเมิน โดยวิเคราะห์ใน 2 ประเด็น คือ เอกสารนั้นถูกต้องและเชื่อถือได้หรือไม่ แล้วสามารถประยุกต์เข้ากับเรื่องที่เราจะศึกษาหรือไม่
จากผลการประเมิน ถ้าพบว่าเรื่องที่จะศึกษา มีผู้อื่นทำแล้วด้วยรูปแบบการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และสามารถตอบคำถามของการวิจัยได้ชัดเจนแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำวิจัยซ้ำ ให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณ หากวิเคราะห์แล้วพบว่า ความรู้เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตอบปัญหาการวิจัยได้ จำเป็นต้องทำวิจัยเรื่องนี้ โดยระบุว่าจะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ควรบรรยายในลักษณะการสรุปประเมินวิเคราะห์ดังกล่าว ไม่ใช่นำรายงานเหล่านั้นมาย่อ หรือยกเอาบทคัดย่อของแต่ละบทความมาประติดประต่อกัน เพราะจะทำให้เหตุผลต่างๆอ่อนลงไปมาก

4 คำถามของการวิจัย (Research Question)
          ในการวางแผนทำวิจัย สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ผู้วิจัยต้องกำหนดคือ การกำหนดคำถามของการวิจัย (problem identification) และให้นิยามปัญหานั้นอย่างชัดเจน ปัญหาที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ ตั้งสมมติฐาน ให้นิยามตัวแปรสำคัญ และการวัดตัวแปร ไม่ใช่ทุกปัญหาต้องทำวิจัย บางคำถามไม่ต้องวิจัยก็สามารถตอบปัญหาได้  คำถามการวิจัยที่สำคัญที่สุดจะเป็นคำถามหลัก (primary research question) นำมาใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณขนาดตัวอย่าง อาจมีคำถามรอง (secondary research question) อีกจำนวนหนึ่งก็ได้ แต่ผลการวิจัยอาจไม่สามารถตอบคำถามรองได้ เพราะการคำนวณขนาดตัวอย่าง ไม่ได้คำนวณเพื่อตอบคำถามรองเหล่านี้

5 วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

                เป็นการบอกจุดมุ่งหมายในการทำวิจัยเรื่องนี้  ศ.ดร.นงลักษณ์  วิรัชชัย บอกไว้ว่าการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างแรกที่ใช้  คือ  เพื่อบรรยาย   ต่อมาก็ เพื่อสำรวจ  ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ทำได้ง่ายที่สุด   สูงขึ้นมาก็คือ  เพื่อเปรียบเทียบ   สูงขึ้นมาอีกก็คือ  เพื่ออธิบาย      สูงขึ้นไปอีกก็คือ  เพื่อทำนายว่าในอนาคตจะเกิดอย่างไร สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ เพื่อสังเคราะห์ผลการวิจัย  ดีไปกว่านั้นก็คือ เพื่อประเมิน   และอันสุดท้าย  คือ  เพื่อพัฒนาและตรวจสอบ  เป็นวัตถุประสงค์ขั้นสูงสุดที่นักวิจัยอยากจะตั้งวัตถุประสงค์ให้ถึงขั้นนี้

6  การกำหนดกรอบทฤษฎีหรือกรอบแนวความคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)
          ทฤษฎี คือ คำอธิบายความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผลกันของปรากฏการต่างๆที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ คำอธิบายมักอยู่ในรูปของนามธรรม การทำวิจัยเป็นการนำคำอธิบายที่อยู่ในรูปของนามธรรม มาทำให้เป็นสิ่งวัดได้ สังเกตได้ การทำวิจัยเท่ากับเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎี การทำวิจัยอาจหาคำตอบของความสัมพันธ์ในปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซี่งอาจนำไปสู่การตั้งทฤษฎีใหม่ได้  การวิจัยต้องมีการกำหนดโครงสร้างทางทฤษฎีและกรอบทฤษฎี เพื่อจะได้มีคำอธิบายเมื่อผลการวิจัยเป็นไปตามคาดหมาย หรือตรงกันข้ามกับที่คาดหมาย การวางกรอบทฤษฎีและแยกแยะโครงสร้างของทฤษฎีไว้อย่างชัดเจน จะทำให้ทราบถึงชนิดของตัวแปรและจำนวนของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ทราบว่าตัวแปรใดมีความสัมพันธ์กัน และลักษณะความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางใด ต้องมีการควบคุมตัวแปรใดบ้าง และทำให้ทราบถึงแนวทางในการสร้างเครื่องมือ และใช้เครื่องมือวัดตัวแปร

7 สมมติฐานของการวิจัย (Hypothesis)
          การตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเน (predict) หรือการทายคำตอบของปัญหาอย่างมีเหตุผล มักเขียนในลักษณะการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ (independent variables) และตัวแปรตาม (dependent variables) งานวิจัยบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีสมมติฐาน  สมมติฐานที่ดีจะทำให้ทราบว่า ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลอะไรบ้าง ได้ข้อมูลจากใคร ใช้วิธีใดในการเก็บเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และเชื่อถือได้มากที่สุด สมมุติฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร จะบอกให้ ทราบถึงระดับการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูล ว่าจะวิเคราะห์ในลักษณะเปรียบเทียบ,ลักษณะความสัมพันธ์ หรือประมาณค่า parameter บางตัวของประชากร ทราบว่าจะใช้สถิติอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

8 ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption)
          การวิจัยบางเรื่องอาจมีข้อจำกัดหลายอย่างในทางปฏิบัติ ต้องตั้งข้อสมมุติบางอย่างเป็นข้อตกลงเบื้องต้น เสมือนเป็นการกำหนด scope ในการวิจัย เช่น กำหนดข้อตกลงเบื้องต้นว่า คนงานที่มาทำงานในวันที่ผู้วิจัยเข้าไปสำรวจ ไม่ต่างจากคนงานที่มาทำงานในวันปกติอื่นๆ ผู้วิจัยต้องระวังอย่าให้ข้อตกลงเบื้องต้นเป็นตัวทำลายความถูกต้องของงานวิจัย

9 คำสำคัญ (Key Words)
          ศัพท์ดรรชนีหรือคำสำคัญ คือ คำที่แสดงเนื้อหาของงานวิจัย ช่วยในการสืบค้นเข้าถึงงานวิจัยเรื่องนั้น วิธีการคือ ดึงคำหรือแนวคิดที่ปรากฏในชื่อเรื่อง หรือการตั้งชื่อเรื่องควรประกอบด้วยคำสำคัญครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ควรหลีกเลี่ยงคำศัพท์สามัญที่มีคุณค่าในการสืบค้นน้อย เช่น วิธีการ ปัญหา ลักษณะ สภาพ ระบบความแตกต่าง

10 การให้คำนิยามเชิงปฏิบัติที่ใช้ในการวิจัย (Operational Definitions)
          การวิจัยอาจมีตัวแปรหรือคำศัพท์เฉพาะ จำเป็นต้องให้คำจำกัดความอย่างชัดเจนในรูปที่สามารถสังเกต (observe) หรือวัด (measure) ได้

11 รูปแบบการวิจัย (Research Design)
          ผู้วิจัยต้องพิจารณารูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมกับปัญหาการวิจัยที่จะศึกษา

12 ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) ประกอบด้วย
          12.1 ประชากร (population) และตัวอย่าง (sample) มีรายละเอียดในเรื่อง
                 1) หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประชากรและตัวอย่าง ทั้งกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้ามาศึกษา(inclusion criteria) และกฎเกณฑ์ในการตัดออกจากการศึกษา (exclusion criteria)
                 2) เทคนิคในการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหรือไม่อาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็น
                 3) การคำนวณขนาดตัวอย่าง ขนาดตัวอย่างที่คำนวณได้จะเป็นจำนวนตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่สามารถตอบคำถามหลักของการวิจัยนั้น
          12.2 การสังเกตและการวัด (Observation & Measurement)
                 1) ตัวแปรและคำนิยามเชิงปฏิบัติ
                 2) เครื่องมือที่ใช้ในการวัดตัวแปร
          12.3 วิธีการหรือสิ่งแทรกแซง (Intervention) กรณีเป็นการวิจัยเชิงทดลอง ควรอธิบายให้ละเอียดว่าใคร ทำอะไร ให้แก่ใคร ด้วยวิธีการอย่างไร ระยะเวลาที่ให้สิ่งแทรกแซง

13 การรวบรวมข้อมูล (Data Collection)
          ระบุรายละเอียดว่าจะเก็บข้อมูลอะไร จากแหล่งไหน เก็บอย่างไร ใครเป็นผู้เก็บ ใครเป็นผู้บันทึกข้อมูลที่เก็บได้ บันทึกอย่างไร

14 การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ประกอบด้วย
          14.1 การสรุปข้อมูล
          14.2 การนำเสนอข้อมูล
          14.3 การทดสอบสมมติฐาน
          14.4 ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ข้อมูลที่ขาดหายไป ตัวอย่างไม่ให้ความร่วมมือ

15 ผลหรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          ให้กล่าวถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอย่างชัดเจน ครอบคลุมผลทั้งในระยะสั้นและยาว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลที่ตกแก่ใครเป็นสำคัญ

16 แผนการดำเนินงาน
          เขียนแผนการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นโครงการ ส่วนใหญ่จะเป็น Gantt Chart
17 งบประมาณ
18 เอกสารอ้างอิง
19 ภาคผนวก

หมายเลขบันทึก: 408212เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท