บทบาทพระสงฆ์กับเทคโนโลยีและการเรียนรู้อย่างบูรณาการบนฐานชุมชน : เรียนรู้จากประสบการณ์กับพระมหาแล


สังคมไทยมีเด็กเกิดใหม่ในแต่ละรุ่นลดลงมากยิ่งๆขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ขณะเดียวกัน ความเป็นชุมชนหมู่บ้านและชนบทก็ขยายตัวความเป็นเมือง ทำให้ชุมชนแบบชนบทมีสัดส่วนน้อยกว่าชุมชนเมือง สภาพดังกล่าวนี้เป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนประถมและวัดหลายแห่งทั่วประเทศต้องเริ่มยุบเลิกและปิดดำเนินการเพราะมีเด็กน้อย กระทั่งไม่มีเด็กรุ่นใหม่เข้าไปเรียน ต่อมาก็เริ่มกระทบต่อวัดและอัตราการลดจำนวนของพระและเณร  วัดทั้งในเมืองและชนบทเป็นจำนวนมากนอกจากต้องร้าง รวมทั้งขาดระบบบำรุงรักษาทรัพยากรส่วนรวมและศิลปะวิทยาหลายสาขาที่สั่งสมไว้ในวัดและพระสงฆ์ ดังนั้น กิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้สร้างเสริมศักยภาพของพระและวัดเพื่อได้มีบทบาทอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาระบบสังคมในด้านการพัฒนาจิตใจและวิถีคุณธรรมความดีงาม ให้เท่าทันกับความจำเป็นดังกล่าวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

จากการที่ได้มีประสบการณ์เรียนรู้ทำเวทีคนหนองบัวกับท่านพระมหาแลและเครือข่ายเรียนรู้ด้วยกันกับอีกหลายท่าน อีกทั้งความที่ท่านพระอธิการโชคชัยจากอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของเวทีคนหนองบัว พร้อมทั้งได้แสดงความสนใจในอันที่จะเป็นโอกาสพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อเรียนรู้และพัฒนาบทบาทการอบรมเผยแพร่และทำงานชุมชนกับชาวบ้านในมิติใหม่ๆ ผมจึงขอร่วมสนับสนุนความคิดของท่านโดยนำเอาวิธีทำงานในเวทีคนหนองบัวนี้ของท่านพระมหาแลมานั่งเรียนรู้ ใคร่ครวญ เพื่อนำเอาข้อสังเกตบางประการเท่าที่ผมมองเห็นนี้มาบันทึกถ่ายทอดไว้สำหรับท่านพระอธิการโชคชัย อีกทั้งเครือข่ายความสนใจต่างๆ จะได้พอมีข้อมูล แนวคิด มุมมอง สำหรับออกแบบเครือข่ายการทำงานและจัดวางองค์ประกอบต่างๆได้อย่างเหมาะสมงดงามมากยิ่งๆขึ้นต่อไป

จากเวทีคนหนองบัวนับแต่เริ่มต้นกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเพียง ๑ ปีเศษนี้ มองในด้านการพัฒนาการเรียนรู้ ความริเริ่ม และการสร้างโอกาสต่างๆไปตามเหตุปัจจัยแวดล้อมและความพร้อมที่ส่งเสริมให้ดำเนินการได้นั้น ผมเห็นตัวอย่างบทบาทที่สำคัญของพระสงฆ์ในชนบท ซึ่งค่อยๆเริ่มดำเนินการอย่างขึ้นเป็นระบบ อีกทั้งมีจุดยืนจำเพาะมากยิ่งๆขึ้นทีละเล็กละน้อยผ่านประสบการณ์ท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นด้านที่น่าสนใจและเริ่มเห็นภาพในความเป็นฐานความเข้มแข็งของวัดและบทบาทของพระมาแต่เดิม แต่กำลังพัฒนาให้สามารถจัดกาารสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่พอจะสรุปได้ ๔ ลักษณะของกิจกรรมและความมีบทบาทอย่างต่อเนื่องตามภาพ ดังนี้

  • การบันทึกผู้คนและชุมชน
  • การบันทึกและสร้างการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมชุมชน
  • การส่งเสริมและเป็นสื่อสานพลังความเป็นชุมชน
  • การเป็นแหล่งระดมทรัพยากรความรู้และเคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้

   การบันทึกผู้คนและชุมชน  

จากบทเรียนความมีประสบการณ์ร่วมกับท่านพระมหาแล ก็ได้เห็นบทบาทอันสำคัญขอพระสงฆ์ในการเป็นผู้รวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาชีวิตและความทรงจำของชุมชน มีความริเริ่มง่ายๆจากผู้คนรอบตัว การรำลึกความมีอยู่ของคนเก่าแก่ ประสบการณ์ชีวิตของชาวบ้าน การนำเอาชีวิตของผู้เฒ่าผู้แก่ ครูอาจารย์ ผู้นำชุมชน และปัญญาชนชาวบ้านมาย้อนรำลึก สืบทอดให้ผู้คนได้จดจำเป็นทุนความดีงาม รวมทั้งบูรณาการมิติอันเป็นหลักคิด หลักธรรม และอนุสติที่ได้จากชีวิต สั่งสมทีละนิดละหน่อย กระทั่งกลายเป็นคลังข้อมูลชีวิตจิตใจของชุมชน ลักษณะดังกล่าวนี้ เข้ามาทดแทนบทบาทในการเป็นศูนย์กลางความเป็นชุมชนของวัดและความเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญา วิทยาการ ศิลปะ และองค์ความรู้ต่างๆ สำหรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างในอดีต ได้อย่างเหมาะสมและงดงามมากทีเดียว ข้อมูลหลายส่วนของชุมชนที่อาจสูญหายไปกับชีวิตของผู้คนแต่ละรุ่น ก็เริ่มมีแนวทางใหม่ๆสำหรับสะสมต่อยอดกันไว้ด้วยความริเริ่มของผู้ที่พอคิดและทำช่วยกันได้

   การบันทึกและสร้างการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมชุมชน  

ข้อมูลสังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในการทำนา การเรียนรู้ในวิถีชีวิต องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมืออำมาหากิน ภาษาท้องถิ่น วัฒนธรรม วิธีคิด และระบบภูมิปัญญาต่างๆในท้องถิ่น ได้มีการบันทึก รวบรวม สอดคล้องกับความสามารถเป็นนักวิจัยและรวบรวมข้อมูลไปอย่างเป็นธรรมชาติของพระซึ่งจะต้องทำกิจกรรมกับชาวบ้านมากมายอยู่ตลอดเวลา

   การส่งเสริมและเป็นสื่อสานพลังความเป็นชุมชน  

เป็นสื่อและเป็นเสียงของชุมชน สื่อสาร เผยแพร่ และกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้คนติตต่อสร้างปฏิสัมพันธ์กันเพื่อสืบสานพลังชีวิตความเป็นส่วนรวมในมิติต่างๆที่อยู่ใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในชุมชนที่ย้ายถิ่นในลักษณะต่างๆไปอยู่นอกชุมชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บทบาทของวัดแลพระสงฆ์ในการเป็นศูนย์กลางกำกับจังหวะวิถีชีวิตและวิถีทำมาหากินในอดีต สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีบทบาทอยู่ในเงื่อนไขแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว

   การเป็นแหล่งระดมทรัพยากรความรู้และเคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้  

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ท่านพระมหาแลได้ทำสื่อด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับเผยแพร่ ส่งเสริมคนทั่วไปให้ได้เกิดการรับรู้ เกิดความสนใจ และได้พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงเวทีคนหนองบัวรวมทั้งกิจกรรมความเคลื่อนไหวอื่นๆที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกัน เหล่านี้ ทำให้เริ่มเห็นบทบาทความเป็นแหล่งระดมทรัพยากรส่วนรวม เก็บรักษา และบริหารจัดการสิ่งซึ่งท่านและคนอื่นๆมุ่งให้เป็นสิ่งของสาธารณะ ให้สามารถใช้ในชุมชนและคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็เป็นบทบาทที่น่าประทับใจและน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีภาพสะท้อนทรัพยากรและสมบัติของส่วนรวมในอีกรูปแบบหนึ่งของสังคมโลกยุคใหม่ นั่นก็คือ ทรัพยากรความรู้ ทุนทางปัญญา ซึ่งจะเป็นการระดมการทำบุญและการทำทานในอีกความหมายหนึ่ง สู้กระแสสังคมแห่งวัตถุนิยมและการบริโภคที่ขาดความสมดุลมากไป การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่วนรวมผ่านบทบาทของพระสงฆ์และวัด จะมีแง่มุมดังกล่าวนี้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพต่อการสร้างความเป็นส่วนรวม ที่น่าสนใจมาก

บทบาทหลากหลายโดยสรุปนี้ พอจะเริ่มเห็นความมีเอกลักษณ์และความมีบทบาทจำเพาะของพระสงฆ์และวัด ทั้งในพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆที่ชาวบ้านนับถือ นั่นก็คือ การทำให้กิจกรรมทางศาสนธรรมหรือกิจกรรมส่วนรวมที่เคลื่อนไหวผ่านบทบาทของพระและวัดมีโอกาสพัฒนาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้จากกิจกรรม อีกทั้งเป็นเครือข่ายที่ให้การเรียนรู้และสร้างประสบการณ์สั่งสมของสังคมชุมชน ในวิถีการทำบุญทำทานด้วยความรู้และปัญญา สร้างความสมดุลให้กับการไหลตามกระแสวัตถุนิยมของทั้งท้องถิ่นและสังคมโลก ซึ่งก็จะกลายเป็นเครือข่ายพระนักวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่นในทุกแห่งที่มีกิจกรรมเป็นเงื่อนไขเปิดเวที พร้อมกับบูรณาการการเผยแผ่ธรรมและทำให้ผู้คนเห็นวิธีคิดในการเข้าถึงคุณธรรมความดีงามในวิถีพุทธธรรมจากกิจกรรมความรู้และงานทางปัญญาของชาวบ้าน

การมีเครือข่ายเข้าไปเสริมกำลังความริเริ่มของสังคมในลักษณะนี้ ก็เชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสความหลากหลายให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นอีก เครือข่ายของพระสงฆ์และชาวบ้านที่มีส่วนร่วมก็จะมีสื่อและแหล่งกิจกรรมทางปัญญาความรู้ที่เอื้อต่อการเกิดความงอกงามภายใน อีกทั้งได้นำเอาสิ่งที่ได้ไปใช้ดำเนินชีวิต เป็นวิถีแห่งการศึกษาอบรมตนผ่านการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมในสิ่งที่ทำได้รอบตัว พร้อมกับเป็นการระดมพลังการดำเนินชีวิตให้เชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับพระและวัด พระและวัดพอมีกำลังสู้วิฤติรอบด้านของสังคม และชาวบ้านก็มีโอกาสได้พัฒนาสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของตน ด้วยการพึ่งตนเอง ได้มากยิ่งๆขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 408126เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

อาจารย์ครับ...

ผมเห็นในหลายชุมชนโดยเฉพาะชุมชนชนบท...

บทบาทของพระสงฆ์ยังมีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านเลยนะครับ...

เห็นพระนักพัฒนาหลายรูปที่ทำหน้าที่ทั้งในเชิงลุกและเชิงรับ ทำบทบาททั้งนักการศาสนาและนักพัฒนาเห็นแล้วรู้สึกชื่นชมครับ...

ขอบคุณมากครับ...

แก้คำผิดครับ เชิงลุก เชิงรุก ...

สวัสดีครับว่าที่ดอกเตอร์ดิเรก

  • เห็นด้วยครับ พระ ผู้นำทางศาสนา และกลุ่มผู้มีศรัทธาต่างๆ ยังมีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมและนำชาวบ้านคิด-ปฏิบัติ สิ่งต่างๆอยู่อีกมากมายครับ
  • และส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปยังจุดหมายการสร้างสุขภาวะของชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านใน รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆ การพัฒนาทักษะชีวิตในการใช้สติปัญญาด้านในนำการปฏิบัติ

ขอบคุณค่ะ..พี่มีประสบการณ์  วัดกับการบ่มเพาะเด็กและเยาวชน "เส้นทางการเรียนรู้ของเยาวชนบนร่มกาสาวพัตร " ของ  พระอธิการชาติ สารานุรกฺโข เจ้าอาวาสวัดทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช จากการถอดบทเรียนตลาดนัดจัดการความรู้ของเยาวชนในท้องถิ่น ภาคใต้ ของสรส.ด้วยความสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจัดขึ้นที่ รร.ลิกอร์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๖-๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑:

 http://gotoknow.org/blog/nongnarts/256793

 

                       20090422161037_131

 

    พระอธิการชาติ สารานุรกฺโข เจ้าอาวาสวัดทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีประสบการณ์ในการสร้างสามเณรมาแล้ว ๒๕ ปี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของวัดแห่งนี้ ที่เป็นเครือข่ายของวัดสระเรียง ได้เข้ามามีบทบาทในการขัดเกลาเยาวชน ผ่านวัตรปฏิบัติของสามเณร ที่ได้รับเข้ามาเพื่อบวชเรียน(ปัจจุบันมีอยู่  ๔๒ รูป) ศึกษาต่อในสายสามัญ-สายบาลี ตั้งแต่ชั้น ม.๑-ม.๖ ต่อเนื่องไปจนถึงการสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี

 

                         20090422164006_128

              

     " เณรจะบอบบางกว่าเยาวชนโดยทั่วไป โทรศัพท์ก็ไม่ได้ วิ่งเล่นก็ไม่เหมาะ ไม่สามารถใช้ชีวิตหลายอย่างเหมือนคนโดยทั่วไป จึงต้องหาวิชานอกตำราเข้ามาเสริมเติมทดแทน เพื่อให้สามเณรได้ข้อคิดเป็นประโยชน์กับตนเองและสังคมที่เขาอยู่ .."

    สามเณรรูปหนึ่งที่ได้เข้ามาบวชเรียน เพราะฐานะทางบ้านยากจน ได้ช่วยเล่าขยายความว่า...

     " พวกเรามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกว่าเด็กอื่นๆ ความอึดอัดย่อมมี....  การบวชเป็นเณรมีกรอบว่า ต้องประพฤติให้เหมาะสมกับความเป็นสมณะในท่ามกลาง สิ่งยั่วยุที่เพิ่มขึ้นในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง อันเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่ของความจำเป็นในชีวิต ...เณรจึงต้องพยายามบังคับใจให้ได้ เพื่อการขัดเกลาตนเอง..."

         ในขณะที่สามเณรอีกรูปหนึ่ง ได้กล่าวเสริมว่า..

    " ได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นมากมาย มีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆเพื่อช่วยสอนเด็กนักเรียนตามโรงเรียน มีลูกศิษย์มากมาย นับเป็นความภาคภูมิใจ แทนที่จะอยู่บ้าน ใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อไม่เป็นแก่นสาร แม้อยู่วัดก็มีโอกาสเรียนคอมพิวเตอร์ซึ่งส่งเข้าแข่งขัน ได้เป็นอันดับที่หนึ่ง สามารถนำไปพัฒนาชีวิตได้เมื่อสึกออกไปแล้ว..."

        ศิษย์เก่าผู้หนึ่งของวัดนี้เล่าว่า..

    " สึกมาได้ ๓ ปีแล้ว ตอนนี้กำลังเรียนรัฐศาสตร์ที่ ม. รามคำแหง ผลการเรียนอยู่ในระดับดี การได้บวชเรียน ทำให้มีความราบรื่นในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นเป็นอย่างดี มีความขยันอดทน รู้จักสัมมาคารวะ...การฝึกทางโลกธรรมช่วยหนุนนำชีวิตให้มีความสุขอย่างแท้จริง " 

 

  • เป็นวิธีสร้างคนและให้การศึกษาเพื่อทำให้คนสามารถออกไปอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้นที่น่าประทับใจมากเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ผมอยากจะถอดบทเรียนผมประเด็นนี้เหมือนกันครับ

ในช่วงที่ผมเป็นพระมีพลังและทำอะไรต่อมิอะไรได้เยอะมากเลย

...

ผมได้ส่งคำปรึกษาไปที่อีเมล์อาจารย์ครับ

หากพอมีเวลาอาจารย์ช่วยดูหน่อยนะครับ...

สวัสดีครับหนานเกียรติครับ

  • มองในแง่หนึ่ง เครือข่ายการถอดบทเรียน เขียนความรู้ จัดการความรู้ และสื่อสารการพัฒนาความเป็นสังคมวัฒนธรรมทางด้านนี้ของสังคม ยังขาดแคลนมากนะครับ
  • อย่างเครือข่ายพระสงฆ์ภาคเหนือตอนล่างที่ท่านพระอธิการโชคชัยลองแสดงความสนใจนั้น หากค่อยๆขยับ ถอดบทเรียนและช่วยกันพัฒนาตัวเองในเชิงระบบเครือขาย ก็จะเป็นความริเริ่มมิติใหม่ๆให้การพัฒนาคนโดยใช้จิตใจและคุณค่าต่อชีวิตด้านในเป็นตัวนำให้แก่สังคม โดยเฉพาะสำหรับคนชนบทและคนที่ไม่ค่อยจะสามารถเข้าถึงโอกาสและได้รับผลดีจากการพัฒนาในกระแสหลักเท่าไหร่นัก ได้มีองค์กรการจัดการตนเองเพื่อพึ่งตนเองในการพัฒนาในชีวิตให้ได้มีสุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตได้ดีพอสมควรแก่ตนเอง ได้ยิ่งๆขึ้นนะครับ
  • หนานเกียรติเป็นคนหนึ่งที่น่าจะเป็นมือวิจัยปฏิบัติการสังคมในแนวนี้ได้ดีนะครับ ค่อยๆตกผลึกประสบการณ์และลองหาทางทำให้พอดีๆในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆก็น่าจะดีนะครับ

วันนี้ได้รับ Mail จากสสจ.ให้ส่งเรื่องเล่างานบริการปฐมภูมิ ได้ไอเดียเลยค่ะ

ดีใจด้วยครับ ขอให้ประสบความสำเร็จและได้ความสุขไปด้วยอย่างดีครับ

ขอเป็นกำลังใจ ช่วยเสริมแรงใจในทางอ้อมด้วยการลิงก์บทเรียนของการทำงานในชุมชนแง่มุมต่างๆนะครับ เผื่อจะเป็นแหล่งพักความคิดหรือให้ความบันดาลใจดีๆอีกแรงหนึ่ง

  • การวิจัยแบบ PAR  : เผื่อจะมีบทเรียนอยู่ในพื้นที่ที่เขาใช้สร้างทุนมนุษย์และสร้างศักยภาพเครือข่ายผ่านการปฏิบัติการและถอดบทเรียน
  • ตัวอย่างการถอดบทเรียนและการพัฒนาวิธีเรียนรู้ประสบการณ์ชุมชน : กระบวนการ โครงสร้างเนื้อหา วิธี Approach กลุ่มปฏิบัติที่มีประสบการณ์ วิธีเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลอย่างมีความหมาย วิธีถ่ายทอดและนำเสนอให้มีนัยยะต่อวิธีคิดและวิธีเรียนรู้ที่แตกต่างจากการโษณาให้ชื่นชอบแต่ไม่เห็นวิธีคิดและวิธีปฏิบัติสำหรับเป็นแนวการนำไปประยุกต์ใช้
  • ตัวอย่างการถอดบทเรียนและบทเรียนเครือข่ายคนทำงานสุขภาพปฐมภูมิ สุขภาพชุมชน เครือข่ายผู้บริโภคในชุมชน และงานสาธารณสุขมูลฐานในชุมชน : เครือข่ายครูโรงเรียน อสม.

ผมมองบทบาทของพระสงฆ์ที่มีส่วนช่วยสังคมได้มาก ถ้าหากเลิกเทศน์หรือสั่งสอนผิดๆ โดยที่ผ่านมาจะเน้นไปในทางวัตถุ เงินทอง

การทำบุญเพื่อปลดทุกข์ เคราะห์กรรม เป็นต้น การบวชเพราะเป็นประเพณี แต่ไม่ได้เรียนรู้พระธรรม คำสอนในศาสนาพุทธ ว่ามีอย่างไรบ้าง? พระส่วนใหญ๋ก็จะเน้นที่ให้คนบริจาคเงินเอาไปแข่งกันสร้างแต่วัตถุ พระโตๆ วัดสวยงาม ฯลฯ

สวัสดีครับคุณชาติชายครับ

  • ดีครับที่เข้ามาสะท้อนทรรศนะและแลกเปลี่ยนมุมมองกันให้หลากหลาย
  • แต่อย่าเพ่งโทษกันไปเลยครับ พระและวัด รวมทั้งเครือข่ายศรัทธาปฏิบัติศาสนธรรมของศาสนาและสิ่งที่เคารพนับถือกันแนวทางต่างๆนั้น ก็คือเราและสังคมนั่นแหละครับ ผู้คนและสังคมจะอยู่กันอย่างเอาตัวรอดตัวใครตัวมัน ทว่า พอจะเลือกด้านที่คาดหวังเพื่อได้สิ่งดีๆ ก็จะให้โรงเรียนแก้และทำให้ ให้พระและวัดทำให้ โดยมองว่าเป็นคนอื่นแล้วละก็ ก็เชื่อว่าจะเกิดสิ่งดีๆและได้สังคมสุขภาวะดีๆลำบากน่ะครับ
  • แนวทางอย่างในนี้จะมองว่า ปัญหาต่างๆและความต้องการที่จำเป็นต่างๆนั้น ตัวเราเองนี่เองที่เป็นตัวปัญหาและเป็นปัจจัยแห่ความสำเร็จเพื่อความริเริ่มและแก้ปัญหาต่างๆด้วย แต่ก็เป็นวิธีคิดและแนวการทำงานอย่างหนึ่งเท่านั้นหรอกนะครับ คงไม่ต้องถูกไปหมด อีกทั้งก็สามารถมองต่างกันเพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรึกษาหารือกันไปได้เสมอครับ
  • มาแลกคิดและนำสิ่งต่างๆมาแบ่งปันกันได้เสมอๆนะครับ ขอบพระคุณที่มาเยือนเวทีคนหนองบัวนี้นะครับ

- พระสงฆ์กับบทบาทในปัจจุบันผมมองว่าเน้นสร้างวัตถุมากกว่าการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ

- การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนายังไม่มีระบบการคัดกรองผู้ที่เข้ามาบวชที่ดี จึงทำให้พระสงฆ์มีคุณภาพด้อยลง

- พระบางรูปมีความตั้งใจแต่ขาดความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะ จึงทำให้ไม่เข้าใจหลักที่แท้จริง

- ขาดการประสานงานทั้งภาครัฐ เอกชน จึงทำให้การทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย

- สังคมมองพระสงฆ์ในด้านลบ เช่น มองว่าพระสงฆ์ไม่สมควรยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงทำให้พระสงฆ์หมดกำลังใจ

- ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ยังไม่พัฒนาทัดเทียมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก (ใช้ยุทธศาสตร์เดิม)

- พระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถกระจุกอยู่แต่ในเขตที่มีความเจริญ เช่น กรุงเทพฯ จึงทำให้การเผยแผ่อยู่ในวงจำกัด

- ไม่มีงานที่จะรองรับพระสงฆ์ที่เรียนจบชั้นสูงแล้ว ทำให้เกิดภาวะสมองไหล จึงทำให้ต้องลาสิกขา

สวัสดีครับคุณสุขภัทรครับ

  • เป็นมุมมองที่สะท้อนความห่วงใยสิ่งดีๆในสังคม หรือสะท้อนความมีสำนึกต่อส่วนรวมนะครับ
  • กลับมาต่อจากสิ่งที่พอได้เห็นและพอจะมีคนทำบางอย่างเล็กๆน้อยๆกันได้บ้างแล้วดีกว่าไหมครับ
  • จากที่ลองเอาสิ่งที่เวทีคนหนองบัวพอได้ประสบการณ์มาวาดเป็นแผนภาพนี้ แผนภาพนี้จึงไม่ใช่การคิดเอาไปตามความรู้ แต่เป็นสิ่งที่มีในเวทีคนหนองบัวและเป็นประสบการณ์ที่อยู่ในคน ดูแล้วเป็นทุนประสบการณ์ที่น่าสนใจมากเลยละครับ

เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

บทบาทพระสงฆ์กับการเผยแผ่ในอดีต: การบันทึกและสร้างการเรียนรู้สังคมจากการลงมือทำอย่างบูรณาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาบทบาทการอบรมเผยแพร่และทำงานชุมชนกับชาวบ้านในมิติใหม่ๆ

โดย : พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ (เอี่ยมยัง)

          การเผยแผ่ศีลธรรมของพระสงฆ์ในอดีต คำว่า “อดีต” หมายเอา ระยะเวลาในช่วงก่อนยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งสภาพสังคม กล่าวคือวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชมแต่ละสังคมจะไม่มีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน วิถีชีวิตของคนยังแยกชัดเจนว่า เป็นวิถีชีวิตของคนสังคมเมือง และวิถีชีวิตสังคมชนบท นั่นหมายความว่า อิทธิพลของสังคมเมืองอย่างในปัจจุบันยังไม่แผ่ครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิตของคนสังคมชนบท วิถีชีวิตของคนชนบทจึงยังคงตกในอิทธิพลของศาสนาอยู่มาก กล่าวคือความเป็นพุทธศาสนิกชนยังมีอยู่อย่างเข้มแข็ง

          วิถีชีวิตของคนชนบทเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธนั้น หมายความว่า สังคมยังยึดอยู่ในกรอบของศีลธรรม มีความประพฤติอยู่ในกรอบของศีลธรรม จารีตประเพณี สังคมมีความเอื้ออาทร มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีวิถีชีวิตที่งดงาม สงบเย็นและเป็นสุข

          ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเมืองและชนบท ให้ความสำคัญต่อระบบของศีลธรรมน้อยกว่าในอดีต ในขณะเดียวกันสมาชิกของสังคมทุกระดับล้วนแต่ดิ้นรนขวานขวยหาเลี้ยงชีพต่อสู้กับระบบสังคม เศรษฐกิจ สังคมฯ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

          สาเหตุสำคัญทีทำให้วิถีชีวิตของสังคมชนบทไม่แตกต่างกับวิถีชีวิตของสังคมเมือง เพราะอิทธิพลของสื่อไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ชนบท ในป่าหรือบนดอย แล้วแต่มีการบริโภคสื่อที่เป็นเครือข่าย (Network) อย่างเดียวกัน กล่าวคือสื่อแต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ เป็นต้น ล้วนแต่ถ่ายทอดเป็นระบบเครือข่าย (Network) โลกทั้งโลกจึงเป็นเหมือนกับอยู่ในชุมชนเดียวกัน (Globalization)

          ปัญหาตามมาคือ เมื่อสังคมโลกเป็นชุมชนเดียวกัน สิ่งหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนหนึ่งทั้งในแง่บวกและแง่ลบ (โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นแง่ลบ) ชุมชนหรือสังคมอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย บางอย่างก็ถือเอาเป็นแบบอย่าง ชุมชนโลกจึงมีอิทธิพลต่อกันและกัน กล่าวคือสมาชิกของอีกชุมชนหนึ่งมีการเลียนแบบ (ลัทธิเอาอย่าง) จากสมาชิกอีกชุมชนหนึ่ง

          การเผยแผ่ศีลธรรมของศาสนาจารย์ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ โดยอาศัยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นที่รู้จักทั่วไปอยู่แล้ว มาเป็นตัวอย่างผู้ฟังจึงเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น เรื่องนายบิลลาดินสั่งการพลีชีพตึกเวิร์ลเทรดโดยเครื่องบินโดยสารสหรัฐ เป็นต้น เป็นตัวอย่างการสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของพระพุทธศาสนาอย่างดีมาก กล่าวคือ ผลของการกระทำสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนโลกทุกชุมชน นั่นแสดงว่า การกระทำของคนๆ หนึ่งหรือหลายๆ คน ย่อมมีผลต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ตลอดจนชุมชนของผู้ถูกกระทำด้วย นั่นหมายความว่า ชาวโลกกลัวตายเพราะบิลลาดินไปหมด หรือนักการเมืองคอรัปชั่นในรัฐสภา (คอรัปชั่นทางนโยบาย) มีผลทำให้ประชาชนผู้ลงเสียงเสียผลประโยชน์ เป็นต้น นี้เป็นหลักของกรรมตามคำสอนของพุทธศาสนา

          การที่จะเผยแผ่ศีลธรรมอย่างได้ผลนั้น ผู้ฟังจะต้องมีศรัทธาคือมีความเชื่อถือผู้เผยแผ่เสียก่อน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าหลักศีลธรรมจะดีอย่างไร ถ้าผู้ฟังไม่มีความเชื่อแล้วก็จะไม่เป็นเหตุให้นำไปปฏิบัติ (ปัจจัยที่ทำให้ไม่เชื่ออาจเกิดสาเหตุที่ผู้ฟังไม่สามารถไตร่ตรองตามคำอธิบายจนเข้าใจแจ่มแจ้งก็ได้ กล่าวคือผู้ฟังไม่เข้าใจ หรือไม่เข้าใจเพราะไม่ฟัง ที่ไม่ฟังเพราะผู้ฟังประเมินผู้พูดว่าไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น) เมื่อไม่ปฏิบัติก็จะไม่เกิดผลใดๆ โอกาสที่ผู้ฟังจะเชื่อก็ยิ่งไม่เกิดขึ้นได้ เพราะจะใช้เหตุผลว่า ฟังแล้ว รู้แล้วก็ไม่เห็นเกิดผลอะไร

 

บทบาทที่พระสงฆ์ควรทำในการเผยแผ่ศีลธรรมแก่เยาวชนปัจจุบัน

พระสงฆ์ยุคปัจจุบัน เป็นตัวแทนของความเชื่อด้านศาสนศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเชื่อแบบเบ็ดเสร็จตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทั้งหมดแต่เต็มไปด้วยเหตุผลและไม่ต้องการ “การพิสูจน์” แต่ในปัจจุบันความเชื่อที่เป็นข้อเท็จจริงอาจจะอธิบายด้วยเหตุผลได้ไม่ตลอดแต่สามารถพิสูจน์ได้ นั่นคือความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ เป็นความเชื่อที่ได้รับการยอมรับจากเยาวชนมากกว่าด้านศาสนศาสตร์ที่มองชีวิตเป็นแค่สสาร ไม่ให้ความสำคัญแก่จิตใจเหมือนด้านศาสนศาสตร์

ปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดกับเยาวชนหรือวัยผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องลดความเชื่อด้านวิทยาศาสตร์ลงแล้วสร้างเสริมความเชื่อด้านศาสนศาสตร์ให้มากขึ้นทั้งสิ้น เยาวชนที่ขาดความเชื่อด้านศาสนศาสตร์ดังกล่าวจึงมีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น แต่กลับมีวิถีชีวิตที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและสังคม)

การที่จะทำให้เยาวชนเข้าใจด้านศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะเข้าใจพุทธศาสตร์ กล่าวคือมีความเห็นถูกต้อง ความคิดถูกต้อง การพูดถูกต้อง การประกอบการงานถูกต้อง เลี้ยงชีพถูกต้อง มีความเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง และมีสมาธิถูกต้องได้นั้น ต้องอาศัยระยะเวลาเรียนรู้ชีวิตและสังคม กล่าวคือเรียนรู้โทษ ภัย ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ด้วยตนเองให้มากเสียก่อน แล้วประสบการณ์จะสอนให้เขาเข้าใจชีวิตจนแยกแยะออกได้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรอย่างไร การได้รับคำบอกหรือการรับการเผยแผ่ด้านศีลธรรมจากผู้สอน ก็เป็นแต่เพียงสร้างโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อย่นระยะเวลาการเรียนรู้ของเขาเท่านั้น

ฉะนั้น การตอบปัญหาว่า ควรเผยแผ่ศีลธรรมอย่างไรกับเยาวชน ก็น่าจะมีข้อสรุปว่า ควรทำให้เยาวชนได้เกิดประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ปริบทชีวิตและสิ่งรอบตัว สภาพปัญหาต่างๆ เช่น

๑.      ชีวิตคืออะไร

๒.     ชีวิตเป็นอย่างไร

๓.     ชีวิตเป็นไปอย่างไร

๔.     ชีวิตควรเป็นอย่างไร

๕.     ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ? เป็นต้น

เป็นการแนะแนวชีวิตให้กับผู้ฟังเพื่อให้เขาได้ข้อมูลมากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของเขามากกว่าการที่จะไปบังคับให้เขาเห็นด้วย หรือเชื่ออย่างที่เราเชื่อ มีวิถีชีวิตอย่างที่เราเป็นอยู่

 

จำเป็นหรือไม่ที่พระวิทยากรต้องสร้างเครือข่ายในการอบรม

          การแนะแนวชีวิตให้กับผู้สมควรได้รับการแนะแนว แนะนำ มีความจำเป็นเสมอ แต่เมื่อผู้แนะแนวได้ทำหน้าที่ และผู้รับการแนะแนวได้รับการแนะแนวแล้วเขาจะปฏิบัติต่อชีวิตของเขาอย่างไรนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

การแนะแนว สำคัญอยู่ที่ผู้แนะแนวว่า มีความเข้าใจสิ่งที่จะแนะแนวคนอื่นมากน้อยอย่างไร และนอกจากนั้น บุคคลที่สมควรแนะแนวย่อมมีอยู่มากโดยเฉพาะเยาวชนที่ไม่พึงประสงค์ของบิดามารดา กล่าวคือผู้ที่อยู่ในเครือข่ายในการเสริมสร้างความเชื่อด้านศาสนศาสตร์นั้นมีอยู่มาก ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายของผู้แนะแนวไม่ว่าจะด้วยการจัดตั้งหรือด้วยวิธีใดก็ตามที่จะให้มีผู้แนะแนวที่มีความรู้ ความสามารถ มีจำนวนปริมาณที่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่บุคคลผู้สมควรรับการแนะแนวอยู่อาศัย จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

จำเป็นหรือไม่ที่พระวิทยากรต้องใช้สื่อ/เทคโนโลยีในการอบรม

การอธิบายหรือการแนะแนววิถีชีวิต หรือการพูดเรื่องเหตุเรื่องผล เป็นเรื่องหนีไม่พ้นที่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องของนามธรรม โดยเฉพาะความเชื่อด้านศาสนศาสตร์เป็นเรื่องเหตุเรื่องผลส่วนใหญ่เป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น

การพูดถึงเรื่องนามธรรม ถ้าหากเราสามารถยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ผู้ฟังตรองตามเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ เป็นเรื่องสมควรทำอย่างยิ่ง สื่ออุปกรณ์ในยุคสมัยที่เข้ากับสถานการณ์ จึงมีความจำเป็นต้องนำมาเป็นตัวอย่างของการอธิบายเพื่อผู้ฟังจะได้เข้าใจชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้พูดได้อย่างสะดวก เพราะการอธิบายด้วยภาพประกอบทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจน แจ่มแจ้งมากกว่าการฟังตัวอย่างผ่านประโยคคำพูด เท่านั้น

พระพุทธองค์ยังทรงใช้สื่ออธิบายทุกเรื่อง เพื่อให้สื่อที่เป็นตัวอย่างนั้นเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ธรรมะของพระพุทธองค์

 

ความแตกต่างระหว่างค่ายพุทธธรรมแต่ละหลักสูตร

๑. หลักสูตร ๑ ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือค่ายยาเสพติด เป็นหลักสูตรที่บังคับให้ทุกคนต้องเข้ารับการอบรมตามกระบวนการของหลักสูตร ๑ นี้ มีข้อจำกัดครั้งและเวลา คือทุกคนจะเข้าซ้ำหลักสูตรนี้ไม่ได้ เพราะถ้าเคยผ่านหลักสูตร ๑ มาแล้ว เมื่อเข้าซ้ำอีกทีหนึ่งจะทำให้เบื่อต่อกระบวนการของการอบรม

             รูปแบบเป็นค่ายคัดกรองสภาพของผู้เข้ารับการอบรม ว่าเมื่อถูกประเมินโดยกระบวนการของค่ายแล้ว สภาพของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละคนเป็นอย่างไร หรือโดยสถานะ ความประพฤติ จิตใจ นิสัย รสนิยม คุณธรรม คุณภาพชีวิต ฯลฯ ของเขาอยู่ในสภาพใด ระดับใด เป็นเรื่องของสังคมเท่านั้น

             กิจกรรมจะเน้นเรื่องศีล เช่น เรื่องความสามัคคี ความมีวินัย ใฝ่กตัญญู รู้คุณธรรม นำพัฒนาและกล้าแสดงออก หรือเรื่องศีลบุคคล และศีลของสังคม ทุกคนมีส่วนรับผิด รับชอบในความเป็นไปของสังคมหรือชุมชนนั้นๆ ร่วมรับผิดชอบด้วยกัน

๒.  หลักสูตร ๒ ค่ายพัฒนาผู้นำเยาวชนในสถานศึกษา หรือค่ายแกนนำนักเรียนฯ ซึ่งเฉพาะบุคคลที่มีบุคลิกภาพผู้นำและเคยผ่านหลักสูตร ๑ มาแล้วเท่านั้นที่สมควรได้รับโอกาสในการมาพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติม มีข้อจำกัดครั้งและเวลา คือหากยังไม่ถึง ๑ ปี ก็ยังไม่สมควรเข้าซ้ำเป็นครั้งที่ ๒

             รูปแบบเป็นค่ายคัดออก กรองบุคคลที่มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์มากที่สุด มีสติปัญญา ไหวพริบปฏิภาณฯลฯ มากที่สุดเท่านั้นไว้ เป็นเรื่องบุคคลและสังคม โดยมีน้ำหนักความสำคัญเท่ากัน

             กิจกรรมจะเน้นเรื่องธรรมะ ประเมินปรัชญาค่ายเรื่อง รู้คุณธรรม นำพัฒนา และกล้าแสดงออก โดยเป็นการฝึกให้เยาวชนมีความสามารถที่จะเป็นผู้นำจิตวิญญาณตนเองและสังคมไปสู่ความดีงามอันเป็นเป้าหมายของชีวิตและสังคมในที่สุด

๓.  หลักสูตร ๓ ค่ายพัฒนาจิตใจ หรือค่ายปฏิบัติธรรม ทุกคนที่ผ่านหลักสูตร ๑ มาแล้วจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้ารับรับการพัฒนาจิตใจ ไม่จำกัดครั้งและระยะเวลา เข้าได้บ่อยเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นเรื่องของเฉพาะบุคคลใครทำคนนั้นก็ได้

             รูปแบบเป็นค่ายที่ทุกคนจะต้องสมาทานศีล ๘ (อาจจะสมาทานแค่ศีล ๕ ก็ได้) ทานน้อย นอนน้อย คุยน้อย จะใส่เนื้อหาวิชาการทางด้านธรรมะของพุทธศาสนา โดยเฉพาะแนวทางในการปฏิบัติและหลักของพระพุทธศาสนา โดยลงในรายละเอียดเท่าที่ผู้ปฏิบัติสามารถจะทำความเข้าใจได้

             กิจกรรมจะเน้นเรื่องภาวนา และสอบทานอารมณ์ของการปฏิบัติ การกำหนดลมหายใจ การกำหนดระยะการเดินจงกรม เพื่อฝึกสติ

๔. หลักสูตร ๔ ค่ายบูรณาการ หรือค่ายประยุกต์ สภาพของผู้รับการอบรมมีทั้งประเภทที่ผ่านค่าย ๑ ค่าย ๒ ค่าย ๓ มาแล้วบ้าง คละเคล้ากัน จึงเหมือนเป็นการทบทวนตั้งแต่หลักสูตร ๑ เช่น เรื่องความสามัคคี มีวินัย หลักสูตร ๒ เช่น เรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความกล้านำพัฒนา และกล้าแสดงออก และหลักสูตร ๓ เช่น ความเป็นผู้สงบนิ่ง การยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น รู้จักสังเกต ใช้สติสัมปชัญญะเรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิตในแต่ละวัน จะคิด พูด ทำ เห็น จำ คิด รู้แสดงออกอะไรเมื่อไหร่ เป็นเรื่องของเหตุผล ความเหมาะสมไม่เหมาะสม เป็นต้น

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

นี่ท่าน ท่านพระมหาแล และคุณสมบัติ ฆ้อนทอง กลับไปซุ่มและพอกลับมาก็มีเรื่องราวดีๆเป็นทีเด็ดมาบันทึกแบ่งปันกันเยอะแยะเลยนะครับ

เป็นการพัฒนาแนวคิดและวิธีทำงานเดินเข้าหาสังคมที่น่าประทับใจมากนะครับ นี่ถ้าหากมีวงจรถอดบทเรียน เอาประสบการณ์มาพิจารณาใคร่ครวญและวางแผนพัฒนาหลักสูตรหรือโครงการกิจกรรมใหม่ๆพร้อมไปกับสร้างเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงให้สะท้อนกลับออกไปสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตของผู้คน กลับไปกลับมามากยิ่งๆขึ้น ก็จะเป็นเครือข่ายจัดการความรู้เพื่อปฏิบัติการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปจิตสำนึก และเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณของสังคมในบริบทที่ซับซ้อนกว่าเดิมมากของสังคมโลก ก็จะทำให้สังคมและชุมชนระดับต่างๆมีกำลังความแยบคายและกำลังความลุ่มลึกของชีวิต เป็นเครื่องชี้นำการพึ่งตนเองในการพัฒนาต่างๆได้เป็นอย่างดีมากยิ่งๆขึ้นไปอีกนะครับ

ลองขยับและเชื่อมโยงการบันทึกวิธีทำไปทีละเล็กละน้อยโดยอาศัยบล๊อกนี้ไปพลางๆ ก็ไม่เลวเลยนะครับ

สวัสดีค่ะ

มีเรื่องของพระที่น่าศรัทธามาฝากค่ะ

http://gotoknow.org/blog/krukimgtk/411880

ขอบพระคุณพี่ครูคิมครับ ผมลองแวะไปอ่านเองด้วยแล้วละครับ เป็นเรื่องราวที่น่าอ่านและน่าเรียนรู้วิธีคิดสำหรับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานมากๆเลยครับ

 

ต้องนำเอาศิลห้ามาใช้ในกฏหมายคับถึงจะได้มีสังคมที่ดีได้ เอาศาสนานำการเมืองอย่าให้ตะวันตกมาทำลายหลักศาสนา ประเทศเทศไทยมีศาสนาหลายศาสนาแต่หลักการศาสนาคล้ายๆกันจึงไม่น่าจะมีปัญหา

อย่าให้วัฒนธรรมพิดๆเข้ามาครอบงำวัฒนธรรมดีๆของเราได้นะครับ

หากทำได้นี่ต้องเรียบร้อยดีมากเลยนะครับ   

 เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  •  บทบาทพระสงฆ์เพื่อสังคม/การเผยแพร่ ที่อาตมานำมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในเวทีนี้ ได้จากการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แต่ยังขาดองค์ความรู้และการจัดการความรู้
  • อาตมาเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่งเท่านั้น ในการขับเคลื่อนบทบาทพระสงฆ์เพื่อสังคม/การเผยแพร่
  • ก็ต้องอาศัยพุทธบริษัทิสี่ / ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน
  • เวทีคนหนองบัว/พระมหาแล อาสโย/ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ "อยู่ในใจเสมอ" 
  • กราบขอบพระคุณพ่อ ผู้ให้ความรู้และจิตวิญญาญการเรียนรู้

เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขออนุญาตเพิ่มเติม : ป้ายปรัชญาในขณะการเรียนรู้นี้เขียนและติดตั้งอยู่หน้าศาลาประชาคม ณ ศูนย์พัฒนาคุณธรรมประจำจังหวัดพิษณุโลก วัดสวนร่มบารมี ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยพระอธิการสุรทิน  ญาณสุโภ (พระครูโฆษิตธรรมสุนทร) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547  วัดต้นสังกัดของอาตมาครับ... เจริญพร

 

กราบนมัสการพระอธิการโชคชัยครับ
ขอกราบอนุโมทนาครับ ขอชื่นชม รวมทั้งอยากเสริมกำลังจ กำลังความมุ่งมั่นพากเพียรให้อีกด้วยนะครับ การได้มีความสำเร็จตามประสบการณ์และความทุ่มเทของเรา ทำให้เกิดบทเรียนที่บางมิติจะมีความหมายมากกว่าความรู้ เพราะเป็นบทเรียนและการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกดีงาม ไม่เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความอหังการ์ และไม่ใช่ความรู้ที่นำไปสู่การเติบโตของตัวกู แต่กลับเป็นความรู้ที่ทำให้ถ่อมตนเองลง ชำระตัวกูของกูให้เบาบางลงแต่ปราถนาให้ความงอกงามไปบังเกิดแก่ผู้อื่น จิตชนิดนี้และประสบการณ์อย่างนี้ต้อหมายรู้เอาไว้เจริญสติภาวนา ให้งอกงามและสะท้อนไปสู่กิจกรรมและการงานในชีวิตอยู่เสมอๆครับ

ขอกราบถวายข้อแลกเปลี่ยนในนามของโยมรุ่นพี่และทำหน้าที่คนสอนหนังสือก็แล้วกันนะครับ ขอร่วมดีใจและขออนุโมทนาด้วยอีกรอบครับ เรียนรู้ต่อยอดไปตามประสบการณ์ของเรานี่แหละครับ จะได้มีแนวทางเฉพาะตนและพึ่งตนเองในการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นในชุมชนต่างๆเพื่อแก้ปัญหาได้มากยิ่งๆขึ้นครับ

เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

การบันทึกและสร้างการเรียนรู้สังคมจากการลงมือทำอย่างบูรณาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาบทบาทการอบรมเผยแพร่และทำงานชุมชนกับชาวบ้านในมิติใหม่ๆ

ณ. ทัณฑสถานหญิงจังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 3 ก.ย.- 19 พ.ย. 2553   

โดย : พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ (เอี่ยมยัง) ได้รับการประสานงานจาก

พระมหาแล อาสโย (ขำสุข) และ นายธีรยุทธ ด่านขุนทด เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาเรือนจำ

  • การส่งเสริมและเป็นสื่อสานพลังความเป็นชุมชน:บทบาทอันสำคัญของพระสงฆ์ในการเป็นสื่อและเป็นเสียงของชุมชน

      

              สอบธรรมศึกษาชั้นตรี-ชั้นเอก เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมาครับ 

  •  กิจกรรมนี้ในความเห็นของกระผม คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่จะทำอย่างไรจึงจะเกิดความต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอนโยบายหรืองบประมาณ
  • เราจะมีวิธีบูรณาการเครือข่ายอย่างไรดีครับ

 

 

การให้การศึกษาอบรม ทำให้ผู้คนได้มีเวลาคิดและเพิ่มพูนทักษะต่างๆเพื่อนำไปใช้ในชีวิตการงานเมื่อมีโอกาสนั้น ถึงแม้การรวมกลุ่มหรือเรียนรู้ที่ริเริ่มทำกันเองดังที่ต้องการ ไปตามสภาพความพร้อมและข้อจำกัด จะไม่พรักพร้อมมากนัก แต่อย่างไรก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ค่อยมีโอกาส ก็กลับยิ่งขาดการได้รับความสนใจที่จะมีคนไปทำกิจกรรมพัฒนาชีวิตดีๆให้นะครับ อีกทั้งก็ควรให้ความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่ามุ่งสร้างสมทางวัตถุที่เกินความจำเป็น เลยขออนุโมทนานะครับ

หากให้ร่วมคิดนะครับ ผมว่า ตามสภาพแวดล้อมของสังคมในปัจจุบันนี้นั้น ภารกิจต่อสังคมอย่างนี้ของพระสงฆ์ วัด รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่ดำเนินการโดยวงการสงฆ์ น่าจะยกระดับกิจกรรมการพัฒนาและกิจกรรมการให้การศึกษาอบรมแก่กลุ่มคนต่างๆ จากที่มักทำเป็นโครงการเฉพาะกิจ ให้เป็นหน่วยวิจัยพัฒนาและปฏิบัติการเป็นเครือข่าย และในอนาคตก็น่าจะเป็นสถาบันวิจัยพัฒนาได้นะครับ เน้นการพัฒนาความเป็นอาสาสมัครเพื่อใช้แรงงานและความอาสาสมัครทำบุญกุศล ทำทาน การระดมทรัพยากรทางสังคมที่อยู่ในความรู้ความสามารถคน ให้มีโอกาสทำความดี ทำบุญด้วยสติปัญญาและการอุทิศตน โดยเอาการแก้ปัญหาสังคมและการสร้างเสริมสุขภาวะของสังคมด้านที่เน้นคุณค่าทางจิตใจ และการพัฒนาสติปัญญา แต่ไม่เน้นการเผยแผ่โน้มน้าวให้คนเชื่อและศรัทธาสิ่งต่างๆที่ไม่กอปรด้วยปัญญา

การถอดบทเรียน ดึงเอาประสบการณ์ของเครือข่ายเท่าที่มีมาทบทวนและออกแบบการบริหารจัดการผ่านกิจกรรมปฏิบัติการต่างๆไปด้วยอยู่เสมอๆน่าจะเป็นวิธียกระดับการพัฒนาบทบาทการดำเนินงานผ่านการสร้างความรู้ รวบรวมบทเรียน และสร้างคนให้มีทักษะที่ต้องการไปด้วย ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งนะครับ

เป็นการดำเนินไปช้าๆเพื่อยืนบนขาตนเอง พึ่งตนเองได้ดี อีกทั้งไม่ควรส่งเสริมการทำเพื่อความเด่นดัง ทำเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ ทำเพื่อเป็นการตลาดที่ไม่ค่อยดี คือ เป็นการตลาดชนิดมุ่งลงทุนแต่น้อยแต่ต้องการกำไรมากอย่างไม่สมเหตุสมผล เพราะจะทำให้มีความคาดหวังเกิดขึ้นอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเกิดขึ้น เป็นการทำร้ายสังคมของตนเอง และทำร้ายตนเองให้เสียโอกาสทำสิ่งดีๆอย่างที่ตั้งใจด้วยครับ ผมเห็นหลายท่านในบล๊อก GotoKnow นี้ที่อาจจะช่วยท่านได้นะครับ รวมทั้งผมหากมีโอกาสก็อยากจะขอร่วมทำด้วยนะครับ อย่างที่พระคุณเจ้าเคยกล่าวถึงว่า หากเรามีโอกาสได้จัดเวทีด้วยกัน ก็ขอให้ส่วนหนึ่งเป็นเวทีถอดบทเรียนนั้น ก็น่าทำนะครับ

   กราบนมัสการครับ อุตส่าห์ไปเยี่ยมชมให้กำลังใจผมที่ "ประวัติบ้านผักกาดหญ้า"แล้วบอกว่าไม่มีบันทึก ที่จริงมีอยู่ แต่ทำร่วมกันเป็นคณะ ดีแล้วครับผม เป็นการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน  เป็นการทำงานร่วมกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ขออนุโมทนาครับผม.

   เจริญพร คูณโยม อาจารย์ ดร.วิรัตน์ ขออนุโมทนา กับกิจกรรมที่กำลังทำ เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนามาก.

กราบนมัสการท่านพระมหาวินัย ภูริปัญโญ ทิวาพัฒน์ครับ
กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่กรุณาแวะมาเยือนเวทีคนหนองบัวด้วยครับ
อันที่จริงท่านพระอาจารย์มหาแลท่านมีบล๊อกของท่านเองแล้ว
ท่านสามารถเขียนบันทึกและสะสมข้อมูลต่างๆของท่านไปด้วยได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับหนองบัว โดยเฉพาะเวทีคนหนองบัวนั้น
นึกๆไปก็ให้นึกขันทั้งท่านและผมเอง เนื่องจากตอนเริ่มต้นนั้น
ท่านเข้ามาเขียนในบล๊อกของผม และเพื่อให้ท่านได้รู้สึกคลายความกังวลใจในการเขียน
อีกทั้งหากผมช่วยเป็นที่ฝึกมือให้ท่านค่อยๆได้เรียนรู้ตนเองในการใช้บล๊อกเขียนสิ่งต่างๆ
ได้เอง ดังที่ก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมาอีกกว่าหนึ่งปี ก็จะเป็นการได้เอื้อเฟื้อแก่พระศาสนาและสังคมไปด้วยในทางอ้อม ก็เลยร่วมเขียนและคุยกับทุกคนในเวทีคนหนองบัวคู่ไปกับท่าน กระทั่ง หากท่านแยกไปเขียนเรื่องอื่นก็คงจะเขียนเป็นบล๊อกแยกออกไปต่างหากได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องหนองบัวแล้ว ไม่ว่าผมหรือท่านพระอาจารย์มหาแล หากไปคุยแยกในบล๊อกอื่น ก็จะรู้สึกได้เลยว่ามันขาดหายความเป็นเวทีคนหนองบัวไปเลย จำเพาะเวทีคนหนองบัวนั้น เลยกลายเป็นเวทีกลางและกลายเป็นสื่อของคนหนองบัวไปแล้วละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท