ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ... Shopping KM สไตล์ สบาย สบาย (7)


คำพูดประโยคเดียวที่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปในทางที่ดีมากๆ เลย คือ เธอบอกว่า ปิดตำราเถอะพี่ แล้วลุยเลย

 

รอบนี้ก็เป็นรอบของคุณชูศรี ผลเพิ่ม CKO ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ ... ดินแดนถิ่นเก่าของดิฉัน กับคุณศรีค่ะ เราเคยทำงานที่นี่กันมาก่อน เมื่อสมัยยังเอ๊าะๆ (... ก็ไม่เอ๊าะสักเท่าไรหรอกค่ะ แต่เอ๊าะกว่านี้น่ะ)

ดิฉันได้รับมอบหมายให้มาเล่าประสบการณ์ของการทำหน้าที่ CKO ของศูนย์ 1 ตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเล่าอะไร เพราะตัวเองมารับงานในตำแหน่งของประธานคณะกรรมการจัดการความรู้ของศูนย์ฯ ไม่ถึงปี ก็มานั่งลำดับใจความตั้งแต่ตอนแรก ที่คุณศรีวิภาบอกว่า ให้เล่าจากความรู้สึก ก็เลยขอเล่าจากความรู้สึกนะคะ ตั้งแต่รับงาน

คุณชูศรี ผลเพิ่ม ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯจริงๆ แล้ว การทำงานในเรื่องของการจัดการความรู้ของศูนย์ 1 ได้ทำมาในช่วงระยะเวลาที่ตัวดิฉันไม่ได้เริ่มต้น มีคณะกรรมการชุดแรก ซึ่งได้ทำหน้าที่นี้มาแล้ว และก็จากการทำงานของคณะกรรมการชุดแรก เรามีผลงานที่ดี สามารถจะนำไปแสดง หรือให้คนอื่นดูได้ว่า เราได้ทำแล้วเกิดอะไรขึ้น ตรงนั้นเป็นที่งานที่ดีมาก เมื่อดิฉันได้ทำหน้าที่เข้ามาประสานงานต่อจากท่านประธานท่านเดิม ตัวเองก็เริ่มหนักใจที่ประเด็นที่ว่า ... งานนี้เขาทำมาเดิม ทำอยู่แล้ว เราทำยังไงที่จะต้องรักษาตรงนี้ให้มันดีเหมือนเดิม หนักใจที่ว่า เราต้องพัฒนาในฐานะที่เรารับช่วงต่อ เราต้องขยายลงไปในทุกกลุ่มงาน ให้รู้ว่ามันจะต้องทำอะไร คือ ต้องมีการบริหารจัดการความรู้ เพื่อใช้ให้เกิดการพัฒนางานในหน่วยงาน และทุกๆ กลุ่มงานของศูนย์ฯ ให้ได้ และเท่าที่มันสาหัสสากรรจ์ในความรู้สึกตัวเองมากที่สุดในตอนนั้นก็คือว่า ผอ.ศูนย์ฯ ได้เซ็นสัญญากับท่านอธิบดีไว้ว่า เรื่อง การจัดการความรู้ จะเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งเลย

ความกดดันสูง + กดดันจากหลายๆ สาเหตุนะคะว่า

  • ตัวเองได้รับความไว้วางใจ และคิดว่าตัวเองได้รับความเอื้อจากคนอื่น ก็จะทำงานตรงนี้ต่อได้
  • ในขณะที่ตัวเองรู้ตนเองว่า เรามีความรู้ตรงนี้ไม่ชัดเจนนัก ยอมรับในสภาพว่า จากที่เราให้ความสนใจมาแต่เดิมนี้ไม่มากเท่าที่ควร เรารู้มันไม่แจ่มแจ็งก็เกิดความรู้สึกกังวล

แต่โชคดีอย่างหนึ่งว่า ในความกดดัน และความเป็นกังวลของตัวนั้น มันมีความอบอุ่นในใจอยู่ว่า ทีมงาน คณะกรรมการ KM ของศูนย์ เมื่อหันไปมองใครที่อยู่ในกรรมการนี้ ทุกคนยิ้มให้ ทุกคนก็บอกว่า เอาเถอะพี่ ลุยเถอะ เรามีกรรมการที่มาจากทุกกลุ่ม และเชื่อว่า ทุกคนพร้อมที่จะลงลุย นี่คือทำให้ตัวเองคิดว่า เอาเถอะ เอาก็เอาละนะ ในความคิดตอนนั้น สิ่งแรกที่ตัวเองทำก็คือ อ่านหนังสือมันทุกเล่มที่เกี่ยวกับเรื่อง KM ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งสับสน ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งยุ่งสมอง ถามคนทุกคนที่เขาเข้ารับการอบรม เขาให้คำตอบไม่เหมือนกันสักคน เราก็เลยวุ่นวาย และความขัดแย้งทางความคิดในกลุ่มของเราเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็ไม่มีปัญหานะคะ เราขัดแย้งเพราะว่าเราอยากจะรู้ว่า เราควรจะทำยังไงกัน

สิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นที่ทำให้ตัวเองอุ่นใจมากๆ อีกอันหนึ่ง ก็คือว่า กรรมการชุดเดิม + ท่านประธานคนเดิม ท่านได้ร่างโครงร่างของการพัฒนา การบริหารจัดการของศูนย์ฯ เอาไว้ดีแล้ว เพียงแต่เราจะต้องทำยังไง ที่จะ work ตรงนี้ไปให้ได้ดี ตามที่มันควรจะเป็น ให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ณ วันนั้น คิดอยู่แค่นั้น ทีนี้ความสับสนจากการที่พยายามจะทำให้มันถูกต้อง ให้มันเป็นไปตามขั้นตอนที่มันควรจะเป็น บางคนบอกว่า เหมือนคนบ้าหลักการ เราก็มีความบ้าอย่างหนึ่งของความเป็นนักวิชาการ ก็ยอมรับข้อนี้นะคะ

จนวันหนึ่ง เมื่อทีมของคณะกรรมการจัดการความรู้จากส่วนกลาง คือ กรมอนามัยได้ไปเยี่ยม และเราได้มีโอกาสระบายความอึดอัดนี้ คำพูดประโยคเดียวที่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปในทางที่ดีมากๆ เลย คือ เธอบอกว่า ปิดตำราเถอะพี่ แล้วลุยเลย เราลุยเลยค่ะ เราปิดจริงๆ ทุกอย่างมันอยู่ในสมอง มันอาจไม่ลำดับตามขั้นตอน แต่มันอยู่ในใจเราอยู่แล้ว เราก็ปิด และลุย และทุกอย่าง คือหนึ่งเดียว เรามีหัวปลาตัวเดียวของศูนย์ แล้วทุกคนก็รู้ว่าเราจะเดินไปในทางไหน เราได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน มีความรู้เกิดขึ้นในทุกชุมชนของกลุ่มงาน จนกระทั่งถึงวันนี้ จะให้คิดว่า มันเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ ก็คงตอบไม่เต็มปากนะคะ เพราะเรายังไม่เห็นว่า มันจะสำเร็จในหัวปลาของศูนย์หรือเปล่า สิ่งที่พวกเรา คณะกรรมการ และชาวศูนย์ฯ ทั้งหมดได้ทำแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้พวกเรามีความรู้สึกที่ดี และเริ่มมีความรู้สึกที่ว่า มันไม่ยากที่จะเอากระบวนการจัดการความรู้มาใช้ ก็ผนวกเข้าไปในกิจกรรมที่เป็นภารกิจของเรา ในความรับผิดชอบในหน้าที่ของเรา มันไม่ยาก ถ้าเราไม่ไปคิดแต่ว่า มันต้องมี step 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 ...  และมันต้องถูกต้อง ถูกหลักการ เราทำไปโดยยึดเป้าหมายว่า เราทำเพื่ออะไร มันก็เกิดได้เอง นี่เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่ง

และ ณ วันนี้ ความทุกข์ กับความกดดันนั้นนี้ มันหายไปเกือบหมดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเป็นความรู้สึกดี ที่จะทำเรื่องนี้ในองค์กรของเรา อันนี้คือ ประสบการณ์น้อยๆ จากการเป็นคุณเอื้อ

และอีกเรื่องหนึ่งที่จะนำมาเล่า เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ เรื่อง บทบาทที่เราเอากระบวนการจัดการความรู้ไปใช้ในงานวิจัย เราพยายามเอา KM มาใช้เป็นเครื่องมือ และผนวกเอาไปในงานของเราได้เลย

มันมีความหลังมาเล็กน้อยว่า ... เมื่อปลายปี 2548 ดิฉันอยู่ในกลุ่มพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพ ในกลุ่มของเรา เมื่อปลายปี เราต้องมาคิดว่างานที่เราต้องทำสำหรับในปีงบประมาณต่อไป เราจะทำอะไร เราตกลงที่จะทำกันอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับคนในวัยทำงาน กับพัฒนาการเด็ก เรามองปัญหาของ 2 เรื่องนี้ สำหรับเรื่องของปัญหาความรู้ ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของวัยทำงานนี้ เราได้ทางออกแล้ว ว่าเราจะทำการศึกษาเชิงลึก แล้วเราก็เก็บข้อมูลในลักษณะของ Secondary data มันก็ไม่มีปัญหาอย่างอื่น นอกจากเรื่อง Methodology

ส่วนอีกเรื่อง เรามามองในเรื่องของการพัฒนาการในเด็กปฐมวัย ซึ่งขณะนั้น จากสถานการณ์วันนั้น กับสถานการณ์ที่เราออกไปทำงาน เราพบหลายสิ่งหลายอย่างว่า มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแรง เมื่อเราลงลึกไปแล้วนี้ ในโครงการถุงรับขวัญเด็กแรกเกิดที่กำลังเป็นกระแส ณ วันนั้น มันจะเป็นตัวที่ทำให้เราต้อง run ต่อ แต่ว่าโครงการจะจบลงใน มิย. นี้ ในเรื่องของการแจก โครงการถุงรับขวัญนี้เป็นเพียงโครงการสร้างกระแสนะคะ ให้คนตระหนักถึงการกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัย ที่เขาให้พ่อแม่เอาไปใช้ แต่เนื่องจากมันจะเลิกแจก วันนั้นที่เขาเลิกแจก งานอนามัยแม่และเด็กยังเริ่มไม่ได้ กระแสที่สร้างไว้ต้องต่อยอด เรากำลังคิดว่า เราจะต้องทำยังไง คำถามเราเกิดขึ้นทันทีเลยว่า เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

  • ในตอนแรก เราคิดกันว่า งานนี้ต้องเป็นงานเชิงลึกแน่นอน งานเชิงลึกก็คือ เราต้องลงไปทำกับพื้นที่ ลงไปทำกับชุมชนแน่ๆ
  • อีกอันหนึ่งก็คือ กระแสถูกสร้างไปแล้ว มันต้องต่อยอดกับของเรื่องนี้ ให้จบลงให้ได้ การกระตุ้นการไปพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด ยังไงก็ต้องเกิดต่อ
  • และอีกอันหนึ่งก็คือ ในเมื่อทั้ง 2 เรื่อง มันจะต้องเกิด แต่เราไม่มีปัญญาที่จะไปสร้างถุงรับขวัญแบบเก่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ ต้องหาวัสดุ หรือภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ละ เอามาใช้ให้เกิด

ประโยชน์ตรงนั้น เมื่อเกิดคำถามตรงนี้ คำถามต่อมาคือ เราต้องรู้ให้ได้ว่า มันมีอะไรที่มันอยู่ในตรงนั้น ที่เราจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตรงนี้ให้ได้ กับเราจะต้องทำอย่างไร ที่จะทำให้พ่อแม่ หรือครอบครัว เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของเรื่องนี้ และเอาไปทำ เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เราต้องการคำตอบจากคำถามนี้นะคะ กระบวนการในการบริหารจัดการความรู้ การมีส่วนร่วมในชุมชน ถูกนำเอามาใช้ในขั้นตอน เพื่อที่จะหาคำตอบที่จะตอบคำถามให้กับเราตรงนี้

ในการดำเนินการของเรา เราจึงต้องหากลุ่มเป้าหมายว่า มันควรจะเกี่ยวข้องกับใคร เราได้กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาร่วมกระบวนการกับเราอยู่ 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มแม่ที่ได้รับถุงรับขวัญ
  2. อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มแม่ที่เก่งและเลี้ยงลูกที่ดี เพราะว่าเราต้องการความรู้จากเขา
  3. อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เรามุ่งไปในเรื่องของการสร้าง ของเล่น ของใช้จากพื้นบ้าน

เราต้องหาภูมิปัญญาตรงนั้น มาพูดคุยกับเรา เพราะฉะนั้น เราได้คน 3 กลุ่มนี้ เราต้องเอาคนทั้ง 3 กลุ่ม มาเข้ากระบวนการ มานั่งเล่า พูดคุยว่า ประสบการณ์ ความสำเร็จในการเลี้ยงลูก ... คน 3 กลุ่มนี้จะมาพูดในเรื่องที่ต่างกันเล็กน้อย แต่มีเป้าหมายอันเดียวกัน ... คือ

  • แม่ที่ได้รับถุงรับขวัญนี้ เราต้องการหาของที่จะมาทดแทนถุงรับขวัญ เพราะฉะนั้น แม่จะคุยให้เราฟังในลักษณะว่า ของที่มีอยู่ในถุงรับขวัญนั้น เขาใช้อะไรแล้ว work ที่สุด และเขาพอใจ ว่า work ยังไง เขาใช้เมื่อเวลาไหน เขาใช้แล้วเด็กมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร มันดียังไงในของสิ่งนั้น และเขาชอบมันยังไง
  • สำหรับแม่ที่เก่ง และเลี้ยงลูกได้ดี เขาจะต่อให้เราต่อได้ว่า ในสมัยเขา เขาเลี้ยงลูกที่มีพัฒนาการในลักษณะเดียวกันนี้ เขาเลี้ยงด้วยอะไร เราจะได้จากตรงนั้น เราเลี้ยงด้วยอะไรมา เขาเลี้ยงยังไง และเขาได้อะไร เขารู้ด้วยอะไร และสังเกตเห็นการพัฒนาของเด็กยังไง
  • ในขณะที่ภูมิปัญญา ก็จะเล่าในเรื่องของของเล่น ในกลุ่มเดียวกัน เขาจะแลกกัน ของเล่น คือ อะไรที่ใช้แล้วเป็นพัฒนาการ เทียบได้เหมือนกัน เขาใช้อะไร

เราได้ความรู้จากการเล่าตรงนั้นมาก ซึ่งบางเรื่องเราไม่เคยคิดมาก่อนว่า มันจะเกิดขึ้นได้มากมายอย่างนั้น เรามีกลุ่ม 2 ครั้ง กลุ่มครั้งที่ 2 เขาจะเข้ามาใหม่ และคุยกันถึงเรื่องกลุ่มที่เขาคุยกันมารอบที่แล้ว เขาจะคิดกันเองว่า เขาจะกลับไปทำอะไรได้บ้าง โดยเขาใช้สิ่งที่หาง่าย ไม่ต้องซื้อ และอยู่ในบ้าน ในครัวเรือนของเขาเอง อันนี้เราต้องการความยั่งยืน ถ้าเขาต้องจ่าย และไม่อยู่ในวิถีชีวิตเขาก็จะทำยาก จะให้เขาไปทำต่อๆ ไป

หลังจากนั้นอีก 3 เดือน เราตามไปเยี่ยมเขาถึงบ้าน ในแม่ที่เคยรับถุงรับขวัญ และมาเข้ากลุ่มกับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาเอาความรู้จากที่เขาฟัง เขาคุยกันเอง กลับไปทำของเล่นให้กับลูกของเขา จากวัสดุในครัวเรือน เป็นวัสดุที่สร้างขึ้นจากของในบ้าน ซึ่งน่าแปลกว่า คนที่อยู่ในเมืองก็สร้างจากวัสดุอีกอย่างหนึ่ง คนที่ข่ายวัสดุก่อสร้าง เขาก็เอาวัสดุก่อสร้างมาสร้างของเล่นให้ลูกเขา ซึ่งเขานั่งอธิบายให้เราฟัง จนเล่าทึ่ง คนที่นั่งอยู่ริมคลอง ในสวน ก็เอาวัสดุจากตรงนั้นมาทำให้ และมันดูดีมาก และมันลอยน้ำได้ด้วย เหมือนหนังสือลอยน้ำในถุงรับขวัญ ซึ่งเด็กชอบมาก เขาให้เรามานี่ เขาต้องแอบไม่ให้ลูกเห็น เพราะลูกเขาเล่นมาก อะไรทำนองนี้

สิ่งที่เราได้จากการที่เราเอา เรื่องของการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ความรู้ไปใช้ตรงนั้น เราได้ 2 ต่อ

ต่อที่ 1 คือ สิ่งที่พวกเราไปทำ ได้ คือ

  1. เราได้ข้อมูลโดยไม่ต้องจ้างใครทั้งนั้น เราไม่ต้องไปทำ Indepth interview เราได้จากขุมความรู้ที่เรานั่งจดบันทึกตรงนั้น เราได้ข้อมูลที่ดี จริง เยอะมาก นอกจากเราจะได้ข้อมูล
  2. เรายังได้รูปแบบของกระบวนการที่เราจะเอาไปใช้ในการพัฒนางานอื่นๆ ว่า กลุ่มเป้าหมายอาจไม่ต้องใช้กลุ่มเดียว ถ้าจะพัฒนางาน เราอาจจะใช้วิธีนี้ได้

คุณชูศรี ผลเพิ่ม และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์และรูปแบบนี้เมื่อเรากลับมาทำในชุมชนที่เราจะแลกเปลี่ยนกันอยู่ประจำอยู่แล้ว เรามาเล่าสู่กันฟัง ในเรื่องกิจกรรมที่เราไปทำ ในทีมงานของเราก็บอกว่า เราจะเอาไปขยาย และทำกันต่อไป แต่สำหรับคนที่ร่วมกลุ่มกับเรานั้น แน่นอนว่า เขาเกิดความรู้ เขาได้ประสบการณ์ เขาได้เกิดการแลกเปลี่ยน ได้มีการลอกเลียน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจน ว่า เขามีความสุขมาก ก็คือว่า เขาเกิดจิตสำนึกว่า เขามีคุณค่า เขาเป็นคนของชุมชนที่มีประโยชน์ มีศักดิ์ศรี เขารู้สึกตัวของเขาเองเลย กลุ่มอาสาสมัคร หรือกลุ่มแกนนำที่มาอยู่กับเรานี่ เขาช่วยเลย เขาจะเอาอันนี้ไปขยายต่อให้กับคนอื่น ซึ่งเขาเห็นค่าของตนเอง ว่า เขามีศักดิ์ศรี ในความเป็นคนของชุมชน ซึ่งอันนี้ก็จะอยู่ที่ตัวเราด้วยว่า เราทำงานแล้วมีความสุข ในงานของราที่เราทำ

งานของเรายังไม่จบ เรายังต้องทำต่อ และสิ่งนี้เป็นงานที่เราทำแล้ว เราเกิดความรู้ดีดี จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนค่ะ


ข้อความนี้คุณหมอนันทา สรุปไว้ต่อนะคะว่า ... คนฟังก็รู้สึกยินดีด้วยนะคะ ก็รู้สึกว่า พอเอากระบวนการ KM ไปใช้แล้ว มันก็ไม่ได้เพียงแต่พัฒนาในส่วนผู้ปฏิบัติงาน คือ พวกเราเท่านั้น แต่ว่าได้ไปพัฒนาความรู้ความสามารถ ความเห็นคุณค่าในตัวเองของกลุ่มที่เราไปหามากมาย ซึ่งคิดว่า บางส่วนทางครูนง ก็หยิบมาเล่าให้เราฟังด้วย ก็คิดว่า มันเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งเกิดประโยชน์ที่ประชาชนไม่ต้องมาพึ่งพิงภาครัฐ แต่เขาก็ได้มีความภาคภูมิใจในตัวของเขาเอง

... จะเห็นด้วยนะคะว่า ประเด็นสำคัญของการจัดการความรู้นั้น ไม่ได้มีเพียงแต่การบันทึก คือ เมื่อก่อนนี้เรามีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และหายไป คือ ไม่มีคนบันทึก แต่การบันทึกไม่สำคัญ เท่ากับการเอาความรู้อันนั้นไปใช้ให้มันเกิด และนี่ก็เป็นตัวอย่าง และมีการพัฒนาต่อยอด

แอ่น แอน แอ๊น อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ เรื่องหน้า คุณหมอนันทา จะมาพาเรายืดเหยียดกันค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 40803เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2006 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ่านแล้ว ขอก็อปไปฝากเพื่อนฝูง ที่บ้าตำราทำKMนะครับ ขอบคุณหมอมากที่ลิขิตออกมาได้ทุกคำพูดเลย ผมนั่งฟังบนเวทีจดไม่ได้เลย อยากได้เรื่องเล่าของคุณชูศรี ผลเพิ่ม ศูนย์อนามัยที่1 กรุงเทพฯอยู่พอดี เพราะชอบมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท