เป้าหมาย/แนวทางการพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติด ปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖


เป้าหมาย/แนวทางการพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติด ปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖

˜   เป้าหมาย/แนวทางการพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติด ปี ๒๕๕๔ ๒๕๕๖

                   มิติการบริหารงานวิจัย วิชาการ

๑.  การพัฒนางานวิชาการที่มีคุณภาพ (สอดคล้องต่อการนำผลงานไปใช้ประโยชน์)

                                การพัฒนาวิชาการด้านยาเสพติดต้อง คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ระดับสูงสุด ในประเด็น  Efficacy (ประสิทธิผล) Effectiveness (ประสิทธิภาพ) Efficiency (ความคุ้มค่า) Equity (ความเป็นธรรม) ทุกเรื่องจะต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับสูงสุดนี้เสมอ

 

แนวทางการพัฒนาวิชาการด้านยาเสพติดที่มีคุณภาพประกอบด้วยมาตรการการดำเนินการลักษณะต่างๆ ดังนี้

๑.๑  การจัดทำแผนที่งานวิจัย (research mapping) [๑]           

*สำนักงาน ป.ป.ส. ควรกำหนดกรอบเป้าหมายของการศึกษาวิจัยให้ชัดเจน และ

กำหนดความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย โดยเฉพาะเมื่อมีงบประมาณจำกัด

*การให้ความสำคัญกับการสร้างยุทธศาสตร์หรือแผนที่วิจัยของ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเรื่องสำคัญและควรได้รับการเน้นหนักอย่างเต็มที่ทั้งในแง่ของกระบวนการและวิธีการได้มา ตลอดจนการใช้เป็นกรอบและกลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาวิชาการของ สำนักงาน ป.ป.ส.  ทั้งนี้ แผนที่วิจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดปัญหาวิจัยที่ตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ ช่วยในการจัดลำดับความสำคัญ การจัดสรรทรัพยากร การสร้างเครือข่ายทางวิชาการฯ

                   *ในยุทธศาสตร์หรือแผนที่วิจัยควรคำนึงถึงการพัฒนานักวิจัยหรือเครือข่ายการวิจัยซึ่งไม่เพียงแต่เชิงปริมาณแต่ควรเน้นเชิงคุณภาพด้วย เพื่อการศึกษาวิจัยโดยทีมที่เป็นสหวิทยาการ  เพิ่มความหลากหลายในการคิดโจทย์และออกแบบวิธีการวิจัยใหม่ๆ ขึ้น รวมทั้งการก้าวไปสู่บทบาทเชิงรุกด้วยการริเริ่มผลักดันให้มีการพัฒนางานวิจัยและนักวิจัยด้านยาเสพติดร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการ แหล่งทุน สภาวิจัยแห่งชาติ ส่งเสริมให้มีการใช้แนวคิด ทฤษฎี และวิธีวิทยาใหม่ๆ ในการวิจัยปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง

*งานวิจัยด้านยาเสพติดมีความหลากหลายของพื้นที่ ขนาดโครงการ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างการวิจัย ประเด็นคำถามเฉพาะของการวิจัย การออกแบบการวิจัย และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ฯลฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ควรได้มีการนำมาสังเคราะห์และมองในภาพกว้างว่างานวิจัยทั้งหมดมีทิศทางไปในทางใด มีเนื้อหาที่หนักแน่น เป็นระบบ ต่อเนื่องกัน และมีพลังในการตอบโจทย์ระดับยุทธศาสตร์เพียงใด

                   *การผลักดันให้มียุทธศาสตร์หรือแผนที่วิจัยจะมีคุณูปการต่อการจัดลำดับความสำคัญ การจัดสรรทุนวิจัย โดย สำนักงาน ป.ป.ส. อาจพิจารณาเคลื่อนบทบาทเชิงรับไปสู่บทบาทเชิงรุกด้วยการเป็นกลไกประสานการระดมทุนเพื่อการวิจัย จากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปี และ สำนักงาน ป.ป.ส. ควรทำงานร่วมกับภาคอื่นๆ เช่น สสส. สื่อมวลชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถาบันต่างๆ ในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน เป็นต้น            

ลักษณะประเด็นที่ควรมีการศึกษาวิจัย

*ควรสนับสนุน ชุดโครงการวิจัยโดยกำหนดปัญหาที่สำคัญที่ต้องการแก้ไข ซึ่งเป็นโครงการที่

มีคำถามการวิจัยหลายข้อเพื่อมุ่งเน้นให้คำตอบในเรื่องเดียวกัน รวมทั้งโครงการศึกษาวิจัยที่มีการบูรณาการจากหลายระบบ เน้นโครงการใหญ่ที่มีการศึกษาย่อยๆ ที่แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันและนำผลของแต่ละส่วนมาบูรณาการเพื่อให้ได้ภาพรวมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ โดยกลุ่มนักวิชาการจากสหสาขาวิชา 

*การศึกษาวิจัยเพื่อหาทางลด Demand น่าจะให้ประโยชน์ในการกำหนด

นโยบายการปฏิบัติมากกว่าการศึกษาเพื่อลด Supply โดยการสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนน่าจะเป็นแนวทางที่  ได้ประโยชน์สูงสุดและเห็นผลชัดเจนในขณะนี้

*ควรสนับสนุนโครงการวิจัยลักษณะเชิงรุก มากกว่าการศึกษาสำรวจย้อนหลังเช่น

การทดสอบทางจิตวิทยา การทดสอบความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น   และเป็นโครงการระยะยาวโดยเฉพาะในประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเพื่อช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน       

                   *ปัจจัยต่างๆ ที่ศึกษาควรครอบคลุมปัจจัยทางตรงและทางอ้อม เช่น แรงผลักดันให้มีการเสพ/จำหน่ายยาเสพติด          ไม่ใช่เฉพาะเพียงปัจจัยส่วนบุคคล สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ยังอาจรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น การขู่เข็ญ การทำร้ายผู้ใกล้ชิด เป็นต้น                    

๑.๒  การพัฒนากรอบการวิจัยและโจทย์ ประเด็นการวิจัยที่มีศักยภาพในการพัฒนางาน 

วิชาการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ 

                   ประเด็นที่ควรพิจารณาประกอบด้วย

๏มุมมองด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ของผู้บริหาร 

                    มุมมองของ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. (นายพิทยา จินาวัฒน์) [๒]

ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

          ๑. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้เข้าสู่วงจรยาเสพติดที่ยังไม่ลดลง ทั้งด้านการเสพ และการค้าโดยเฉพาะผู้เสพและผู้ค้ารายใหม่ โดยการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สำคัญ  และควรกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางในทิศทางใดที่สามารถสกัดกั้น ลดจำนวนผู้เข้าสู่วงจรยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิผล

          ๒. ปัญหากลุ่ม “เยาวชน” ที่ยังคงเข้าสู่วงจรยาเสพติด ทั้งในด้านการเสพ การติด และการค้าอย่างต่อเนื่อง ควรมีการศึกษาสาเหตุที่ส่งผลให้การดำเนินงานป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนไม่มีประสิทธิผล เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข

          ๓. ศึกษาแนวคิด ทางเลือกนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งประสบการณ์/บทเรียนของประเทศต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ  โดยควรศึกษาและนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

          ๔. ศึกษาผลสำเร็จของการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในลักษณะที่มุ่งต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และแนวทางการพัฒนาหรือปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดผู้เสพรายใหม่ ทั้งในเรื่อง

          - การจำแนกกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเสี่ยง 

          - การจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation Targeting Positioning: STP)

    - การใช้มาตรการ (Means) ที่เหมาะสมกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย เช่น มาตรการ
การให้ข้อมูลข่าวสาร (Information) การศึกษา (Education) การจัดบริการทางเลือก (Alternatives)
การแทรกแซง (Intervention) เพื่อป้องกันทั้งในลักษณะปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

     ๕. ศึกษาการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยการลดปัจจัยลบ และเพิ่มปัจจัยบวก  รวมทั้งศึกษาจุดอ่อน ปัญหา/อุปสรรค ที่เกิดจากแนวคิดหรือเนื้อหาของยุทธศาสตร์/มาตรการ และกลไก หรือกระบวนการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และเสนอวิธีการปรับปรุงการกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

     ๖. ศึกษาและพัฒนาการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การปรับเปลี่ยนทัศนคติของชุมชน/สังคม ให้ยอมรับผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด  โดยการศึกษาเปรียบเทียบ การรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จ เช่น การรณรงค์งด/ลดการสูบบุหรี่ การประหยัดพลังงาน การออกกำลังกาย เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เงื่อนไข/ปัจจัยสภาพแวดล้อม หรือตัวแบบการรณรงค์ที่เป็นตัวแบบที่เหมาะสมกับงาน ยาเสพติด

     ๗. การศึกษาเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบของนโยบาย/ยุทธศาสตร์ด้านยาเสพติดในสถานศึกษา โครงสร้างองค์กรกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ระบบงานยาเสพติด กลไกการบริหารจัดการ ระบบการจัดการศึกษา/การเรียนการสอน หลักสูตร องค์ประกอบเรื่องข้อมูล องค์ความรู้ และบุคลากร ฯลฯ

     ๘. การพัฒนารูปแบบการบูรณาการงานด้านการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระดับพื้นที่ (จังหวัด/ตำบล/ชุมชน)  

     ๙. การพัฒนายุทธศาสตร์/ยุทธวิธีการจัดสรรทรัพยากร (Reallocate) ในระดับตำบล เช่น อบต. ที่มีขนาดและความรุนแรงของปัญหายาเสพติด แต่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เช่น งบประมาณ กำลังคน องค์ความรู้ เป็นต้น

     ๑๐. พัฒนากิจกรรมทางเลือก เพื่อรองรับเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกระบบการศึกษา/กลุ่มว่างงาน แรงงานไร้ฝีมือ กลุ่มที่มีปัญหาด้านค่าครองชีพ/กลุ่มเร่ร่อน เจ้าภาพการดำเนินงาน แนวทางการ  บูรณาการการทำงาน รวมทั้งกระบวนการรองรับเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมในสถานฝึกและอบรมเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

     ๑๑. การพัฒนาระบบข้อมูลระดับจังหวัด/อปท. รวมทั้งรูปแบบ/กลไก/กระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับงานด้านการป้องกันยาเสพติด เช่น ระบบข้อมูลเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ และการส่งต่อข้อมูล กรณีเกิดการกระทำความผิดของเยาวชนข้ามพื้นที่ เพื่อการติดตามดูแล ช่วยเหลือ  

 

 

          ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดรักษา

          ๑. ศึกษาความเหมาะสมของนโยบาย/ยุทธศาสตร์ ระบบงานด้านการบำบัดทั้ง ๓ ระบบ รวมทั้งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ 

          ๒. ศึกษาเพื่อการบูรณาการการดำเนินงานบำบัดรักษา  

          ๓. การศึกษาและการพัฒนาเพื่อนำแนวคิดเรื่อง Harm Reduction, Harm Minimization มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย            

          ๔. การทบทวนแนวคิด นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกฎหมายด้านบำบัดรักษา โดยเฉพาะพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕

     ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการปราบปรามยาเสพติด

                   ๑.  ศึกษาประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดของไทย เพื่อเสนอแนวทางปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงาน

                   ๒. ศึกษาสัดส่วนการลงโทษที่เหมาะสมทางคดียาเสพติด และประสิทธิผลการยับยั้งการกระทำผิด

                   ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

                   การศึกษาผลงาน (Output) ผลลัพธ์ (Outcomes) ของความร่วมมือด้านยาเสพติดกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เพื่อการปรับปรุงนโยบาย ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านต่างๆ และเพื่อพัฒนามาตรการสกัดกั้นมีประสิทธิผล

          ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านภาคประชาสังคม

     ๑. ศึกษาเพื่อพัฒนานโยบาย และทิศทางการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของภาคประชาสังคม/ประชาชน   

     ๒. ศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง/ยุทธศาสตร์ ในการสนับสนุนองค์กรผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneur) เพื่อการเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  

     ๓.  ศึกษาเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในการสนับสนุนให้อาสาสมัครหรือกองทัพภาคประชาชน

ในการควบคุมและลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

๏มุมมองจากนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากประสบการณ์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด[๓]

                   • ปัญหาเรื่องวิธีคิดและวิธีการจัดการปัญหายาเสพติด

          -การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ควรให้น้ำหนักกับมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งสังคมเพื่อยับยั้งไม่ให้คนเข้าไปสู่วงจรของยาเสพติดมากกว่ามาตรการอื่นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “prevention  better than cure”

-ปรับเปลี่ยนกรอบทรรศนะ วิธีคิด และวิธีการทำความเข้าใจกับปัญหาใหม่ ซึ่งควรคิดใน

เชิงการควบคุมพื้นที่และการกระจายทรัพยากรทั้งหลายเพื่อให้ไปรักษาพื้นที่ไว้ เช่น การมีเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เป็นต้น

 

-ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องมาตรการบำบัดรักษาจากการตั้งรับรอผู้เสพเข้าสู่สถานพยาบาล

ที่ปลายทางของปัญหา เป็นมาตรการเชิงรุกในพื้นที่และให้ความรู้ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

• นโยบายประกาศสงครามยาเสพติดของประเทศไทยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในเวทีโลก

                -ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรการประกาศสงครามยาเสพติดกับมาตรการทางเลือกในด้านความเหมาะสมและผลกระทบต่อสังคมไทย

-ควรศึกษาความเป็นไปได้และการตอบรับจากผู้มีส่วนได้เสียในสังคมในการนำมาตรการลด

อันตรายจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction) มาใช้ จากนั้นจึงทบทวนและหาแนวทางที่เหมาะสมในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับสังคมไทย

• การแก้ปัญหายาเสพติดขาดการบริหารจัดการเชิงระบบและขาดความต่อเนื่อง

-ควรพัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยบูรณาการกลไกเชิงหน้าที่กับกลไกเชิงพื้นที่ให้ทำงาน

เชื่อมโยงร่วมกันอย่างสมบูรณ์ คือเอาแนวคิดของกลไกเชิงหน้าที่ไปร่วมประสานและพัฒนาการจัดการส่วนกลไกเชิงพื้นที่ เช่น มาตรการปราบปรามต้องใช้กลไกเชิงหน้าที่ลงไปจัดการไปเสริม ส่วนการควบคุมใช้ชุมชนได้ เพราะชาวบ้านรู้ว่ามียาเสพติด ใครขาย ใครเสพ แต่ ถ้าพบนักค้าสำคัญๆ หรือพบ hardcore พื้นที่ก็ไม่สามารถจัดการเองได้ ต้องใช้กลไกเชิงหน้าที่ลงไปจัดการเสริมกัน

-ควรกำหนดให้งานยาเสพติดเป็นภารกิจหลักภารกิจหนึ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุ

ไว้ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ อันจะทำให้เกิดช่องทางสนับสนุนงบในการพัฒนางานด้านยาเสพติดอย่างยั่งยืน

-ควรพัฒนาตัวแบบ (model) การควบคุมปัญหายาเสพติดในลักษณะ “หนึ่งตำบล” หรือ

“หนึ่งหมู่บ้าน” ขึ้น อาจรวมถึง “หนึ่งอำเภอ” หรือ “หนึ่งจังหวัด” ในระดับที่สูงขึ้น

-พัฒนาระบบการจัดการเชิงบูรณาการที่จะทำให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมเมื่อลงสู่พื้นที่แล้ว

แก้ปัญหาทั้งชุดครบวงจรของปัญหา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ฯลฯ ไปพร้อมๆ กัน

• ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “ตัวยา”

-ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมเจตนาที่จะใช้ยา/สารเสพติดของ

ผู้กระทำความผิด และเพื่อสะดวกต่อการบังคับใช้กฎหมาย

-เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ให้ความรู้ ความเข้าใจให้เกิดความตระหนักในเรื่องโทษและ

พิษภัยของยาเสพติด ด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เกิดทักษะในการหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด

-ส่งเสริมกิจกรรมทางเลือกที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และใช้เวลาว่างให้เป็น

ประโยชน์โดยปราศจากการใช้ยาเสพติด

•  การปราบปรามยาเสพติดขาดยุทธวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

-พัฒนามาตรการและเทคนิควิธีการด้านการปราบปรามให้ทันต่อรูปแบบการค้ายาเสพติด

ที่เปลี่ยนแปลงไป

-พัฒนากฎหมายให้สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นรายสำคัญและมีพฤติการณ์ร้ายแรง

และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วยการใช้บทลงโทษสูงสุด และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างจริงจัง

 

-ปรับเจตคติของประชาชนให้มีความกล้าเปิดเผยข้อมูลผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และสร้าง

ความมั่นใจผู้ที่เป็นแหล่งข่าวว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการให้ข้อมูล

-สร้างความสมดุลระหว่างการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดระบบ

สวัสดิการและให้รางวัลกับผู้ที่ปฏิบัติงานปราบปรามที่มีผลงานดี

-การปราบปรามยาเสพติดบริเวณชายแดนควรใช้พลเรือน ชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่นกับ

ตำรวจตระเวนชายแดนหรือทหารในการทำงาน

-ระบบการหมุนเวียนกำลังพลมาใช้แทนการสับเปลี่ยนทั้งชุด เพื่อสืบทอดองค์ความรู้ และ

รักษาข้อมูลเครือข่ายในชุมชนให้คงอยู่

•  การป้องกันยาเสพติดขาดผู้รับผิดชอบหลักในการบูรณาการมาตรการ

-ควรกำหนดให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบในการตอบโจทย์สังคมเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตของ

ประชาชนทุกเพศทุกวัยที่เหมาะสมกับขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมอันดีงามของสังคม ที่มีความสมดุลแห่งชีวิตท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์  อันจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ และช่วยลดปัญหาสังคมทั้งระบบ รวมทั้งปัญหายาเสพติด

-สนับสนุนด้านงบประมาณ และการจัดการให้เยาวชนมีกิจกรรมทางเลือกตามความสนใจ

ของเด็กและเยาวชน อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับรากฐาน จนถึงภาพรวมของประเทศ

•  ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการบำบัดรักษา

-ปรับเจตคติสังคมชุมชนให้ยอมรับว่าผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย เป็นโรคเรื้อรังที่ใช้

ระยะเวลาในการรักษานาน และอาจเป็นซ้ำได้หากผู้ป่วยมิได้ดูแลตนเอง ครอบครัวต้องเข้าใจ และรู้วิธีที่จะจัดการกับปัญหา สังคมก็ต้องให้กำลังใจและให้โอกาส

-ควรมีหน่วยงานกลางบูรณาการงานแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติด และบริหารจัดการให้เป็น

หน่วยงานชำนาญเฉพาะทางอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยดำเนินการผลักดันแนวคิดการจัดตั้งกรมบำบัดให้เป็นรูปธรรม

-ขยายเครือข่ายการให้คำปรึกษา และบริการด้านสุขภาพเชิงบูรณาการที่หลากหลายแบบ

จุดเดียวจบ (one stop service) ในมิติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น ยาเสพติด เอดส์ ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ และแบบสายด่วนให้คำปรึกษา (hotline) ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการบำบัดรักษา และกลุ่มที่ต้องการคำแนะนำในช่วงเวลาเปราะบาง

-ควรส่งเสริมให้มีการนำทุนทางสังคมมาใช้ในชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืน

เช่น เครือข่ายครอบครัว องค์กรศาสนา องค์กรภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาชน นอกเหนือจากการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะแนวคิดบ้านกึ่งวิถี (half way house) มาจัดทำภายใต้การสนับสนุนของรัฐและ สสส. เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มเสี่ยงแทนการกลับบ้านที่อาจมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม

-ควรพัฒนาแหล่งองค์ความรู้ในภาพรวมและองค์ความรู้เฉพาะโรคยาเสพติดมาใช้เตือนภัย

กรณีที่มีประเด็นข้อมูลใหม่ หรือยาประเภทใหม่ อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับการรณรงค์ในเรื่องของสุรา และบุหรี่

 

-ควรมีการวิจัยเพื่อเตรียมการรองรับกฎหมายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และวิจัยเพื่อพัฒนาเรื่องอื่นๆ

ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาตรการ harm reduction ที่เหมาะสมมาใช้ในประเทศไทย การวิจัยกลุ่ม extreme ต่างๆ เช่น กลุ่มที่กระทำผิดซ้ำซาก ๒-๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการทำวิจัยแบบ action research ที่เป็นการวิจัยแบบประยุกต์และพัฒนามาตรการและผู้ปฏิบัติงานยาเสพติดไปพร้อมๆ กัน

                   ๑.๓  การกำกับคุณภาพผลงานวิจัยและกำกับทิศทางการวิจัย

                   แนวทางดำเนินการกำกับคุณภาพผลงานวิชาการวิจัยประกอบด้วย

                   -ความถูกต้องของผลการวิจัย ซึ่งต้องใช้ความรู้ด้านระเบียบวิธีวิจัยแบบต่างๆ

                   -ความถูกต้องเมื่อนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยทักษะการวิเคราะห์งานวิจัย

                   -การปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ระบุไว้ในระเบียบวิธีวิจัย

                   -จริยธรรมการวิจัย

                   -คุณภาพของการเก็บข้อมูล

                   -คุณภาพขั้นตอนการดำเนินการ

                   -ระดับการรายงานตามความเป็นจริง

                   -การบิดเบือนข้อมูลวิจัยและการสร้างข้อมูลการวิจัย

                   ฯลฯ

                   รูปแบบการควบคุมและกำกับทิศทางดำเนินการได้โดย

                   ๑) การควบคุมกำกับโดยผู้จัดการงานวิจัย โดยใช้การสื่อสารและการติดตามงวดงาน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนั้นๆ

                   ๒) การควบคุมกำกับโดยคณะกรรมการกำกับทิศทาง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยในประเด็นของแผนงาน ซึ่งได้ติดตามและมีส่วนร่วมในการพัฒนากรอบแนวคิดในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย (จากภายนอก)

                   ๓) การใช้คณะผู้ประเมินจากภายนอก ที่เป็นทีมวิเคราะห์ทางวิชาการ เน้นตรวจสอบการทำงานเพื่อให้การวิจัยบรรลุเป้าหมาย

                   ๒.  มีการนำผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ (ตรงตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนา                  องค์ความรู้)

                    แนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัย วิชาการไปใช้ประโยชน์ ได้แก่

๑.  การพัฒนาให้มีหน่วยเฝ้าระวังและวิเคราะห์ความรู้ หรือ Knowledge Clearing

House[๔] เพราะหัวใจสำคัญคือความรู้ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา จะมีองค์กรเหล่านี้เพื่อทำหน้าที่ค้นหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ต่างๆจนได้เป็นแนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติหรือผู้กำหนดนโยบาย

              ๒.  การสังเคราะห์งานวิจัยโดยการบูรณาการผลลัพธ์ของการศึกษาวิจัยแต่ละโครงการ และบูรณาการข้อมูลข้ามยุทธศาสตร์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่น การศึกษาปัจจัยและรูปแบบการดำเนินงานป้องกันปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถบูรณาการผลงานวิจัยร่วมกับการวิจัยทางด้านการควบคุมตัวยาและการบริหารจัดการ ในประเด็นพฤติกรรมการเข้าสู่วงจรยาเสพติด (เสพ/ค้า) ของเด็กและเยาวชน และการศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน การศึกษาสถานการณ์ปัญหาการใช้สารเสพติดในสถานบันเทิง เพื่อวิเคราะห์เส้นทาง รูปแบบการเข้าสู่วงจรยาเสพติดของเด็กและเยาวชน เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหาและการขยายตัวของปัญหาไปยังพื้นที่หรือกลุ่มประชากรอื่น ซึ่งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบูรณาการผลงานวิจัยวิชาการข้ามยุทธศาสตร์นี้เป็นหนทางแก้ไขข้อจำกัดของการกำหนดกรอบการศึกษาวิจัยตามรายยุทธศาสตร์ที่ได้ดำเนินการมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕

                   ๓.  การพัฒนาคลังข้อมูลวิชาการด้านยาเสพติด ในลักษณะคลังข้อมูลรวม/กลาง และคลังข้อมูลระดับภาค/พื้นที่ และการเชื่อมต่อระบบข้อมูลที่เป็นเอกภาพเพื่อความสะดวกในการนำเข้าข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

                   จากการประมวลสถานะองค์ความรู้ทั้งมิติด้านการพัฒนาวิชาการฯ และการบริหารงานวิชาการตามที่กล่าวมาแล้ว การจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาวิชาการในปี พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๖ ยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ถึงองค์ความรู้ในระดับภูมิภาค/พื้นที่เพิ่มเติม เพื่อการจัดกรอบทิศางที่สอดคล้องกับสถานะองค์ความรู้ในปัจจุบัน และความต้องการงานวิชาการในระดับพื้นที่ต่อไปอีกด้วย

 
   

 


[๑] จากข้อเสนอเพื่อพัฒนาแนวทางและกระบวนการพัฒนาวิชาการด้านยาเสพติดในภาพรวม และ สำนักงาน ป.ป.ส. โดย           ที่ปรึกษาด้านวิชาการของคณะกรรมการพัฒนาวิชาการ วิจัย องค์ความรู้ และการประเมินผลด้านยาเสพติด ของ สำนักงาน ป.ป.ส. ประกอบด้วย  รศ.ดร.ธงธวัช อนุคระหานนท์  รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง  รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และ นายแพทย์อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง,กันยายน ๒๕๕๒

[๒] ข้อมูลจากสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและบูรณาการงานวิชาการด้านยาเสพติด ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖

วันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยปรับให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในภาพรวม

 

[๓] เพิ่งอ้าง

[๔] ปาฐกถาเรื่อง จากวิจัยไปสู่นโยบาย โดย ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล งานประชุมวิชาการโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ประจำปี ๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 407967เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท