บทวิเคราะห์สถานะองค์ความรู้ด้านยาเสพติด


บทวิเคราะห์สถานะองค์ความรู้ด้านยาเสพติด

˜ บทวิเคราะห์สถานะองค์ความรู้ด้านยาเสพติดและการพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติด ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ 

 

                   นับตั้งแต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จนถึงรัฐบาลปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ อันมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายและยุทธศาสตร์ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง โดยเริ่มต้นจากยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติด ที่มียุทธศาสตร์การดำเนินการ ๔ ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การควบคุมตัวยาและผู้ค้ายาเสพติด (Supply)  การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปใช้ยาเสพติด (Potential Demand)  การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand) และการบริหารจัดการ (Management) แม้ว่าต่อมายุทธศาสตร์การดำเนินงานในแต่ละห้วงเวลามีการกำหนดชื่อที่หลากหลายตามแผนปฏิบัติการแต่ละครั้ง เช่น  “ปฏิบัติการรวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน” “ยุทธศาสตร์ ๓ ลด ๓ เพิ่ม ๓ เน้น”  จนปัจจุบันได้มีการกำหนด “ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกัน”  โดยระยะที่ ๑ ดำเนินการระหว่าง ๑ เมษายน - ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ และ “ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกันระยะ ที่ ๒” ซึ่งดำเนินการระหว่าง พฤศจิกายน ๒๕๕๒ - กันยายน ๒๕๕๓ องค์ประกอบหลักของยุทธศาสตร์แต่ละห้วงเวลาไม่ได้เปลี่ยนไป รัฐบาลยังคงเน้นภารกิจงานในมิติต่างๆ อันประกอบด้วย การควบคุมการแพร่ระบาดของตัวยาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการค้า/ขนยาเสพติด การควบคุมกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การลดปริมาณยาเสพติดในประเทศที่เกิดจากความต้องการใช้ยาเสพติดของผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการดูแล/บำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อให้การขับเคลื่อนงานใน ๒ ด้านแรกเป็นไปโดยเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์  ซึ่งโดยแท้จริงแล้วการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านยาเสพติดมิได้ก้าวพ้นจากกรอบคิดเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕

                    จากการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านยาเสพติดดังกล่าว ส่งผลให้กรอบคิดในการพัฒนางานวิชาการ วิจัย องค์ความรู้ และการประเมินผลด้านยาเสพติด ได้ถูกกำหนดเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในแต่ยุทธศาสตร์ โดยการพัฒนาผลงานวิชาการดำเนินการโดยหลายหน่วยงานในกระบวนการขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติด อย่างไรก็ตามกระแสการขับเคลื่อนงานด้านพัฒนาวิชาการด้านยาเสพติดยังไม่กว้างขวางและเกิดพลังในการขับเคลื่อนงานอย่างแท้จริง โดยวิเคราะห์จากมิติต่างๆ ได้เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ที่จะอภิปรายให้เห็นในรายประเด็น ดังนี้

 

                   มิติผลงานวิชาการ วิจัย และองค์ความรู้ด้านยาเสพติด

๑.     แต่ละหน่วยงานพัฒนาวิชาการ วิจัย เพื่อมุ่งตอบสนองต่อการพัฒนากระบวนการทำงาน

ของหน่วยงานของตน ขาดการประสาน เชื่อมโยงการพัฒนางานวิชาการที่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ผลงานวิชาการด้านยาเสพติดจึงดำเนินการในลักษณะโครงการย่อย ไม่มีความเชื่อมโยงของผลงานแต่ละชิ้น 

                   ๒.  การพัฒนาวิชาการแต่ละครั้งขาดการการทบทวนผลงานที่ดำเนินการผ่านมาแล้วโดยหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องอื่น ส่งผลให้มีผลงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน  ทั้งการซ้ำซ้อนของโจทย์/ประเด็นการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และจากการขาดการทบทวนผลงานที่ผ่านมาส่งผลให้ขาดการกำหนดระเบียบวิธีวิจัยและกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบที่มีความถูกต้อง แม่นยำในการนำ        องค์ความรู้ไปแก้ไขปัญหา

                   ๓.  งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการประเมินผลหรือศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เป็นโครงการย่อยของแต่ละหน่วยงานเพื่อตอบคำถามประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานตามโครงการนั้นๆ แต่ขาดความเชื่อมโยงที่จะสามารถตอบได้ว่าการดำเนินของโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการตามภารกิจงานอย่างเดียวกันประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคเช่นเดียวกันหรือต่างกันระหว่างหน่วยงาน

๔.  การกำหนดโจทย์/ประเด็นการวิจัยตามกรอบยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้วส่งผลให้งาน

วิชาการถูกแบ่งเป็น “ท่อน”  ตามขั้นตอน และกระบวนการในแต่ยุทธศาสตร์โดยขาดการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ และผลกระทบของแต่ละยุทธศาสตร์ล้วนเชื่อมโยง และเกิดผลกระทบซึ่งกัน และกัน ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการปราบปรามยาเสพติดจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีเสพและครอบครอง (กระบวนการในมาตรการการควบคุมตัวยา) และผู้ถูกจับกุมดังกล่าวได้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษายาเสพติด (กระบวนการในมาตรการบำบัดรักษา) แต่ผู้กระทำผิดนั้นได้มีพฤติกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายนักค้าและผู้เสพที่อยู่ในกระบวนการบำบัดรักษานั้น กรณีนี้จะเห็นว่าปัญหาในระบบการควบคุมตัวยาได้มีผลกระทบไปถึงกระบวนการในการลดอุปสงค์

                   ในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ปัญหายาเสพติดยากจะถกเถียงว่า “ความต้องการเสพยาเสพติดก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของตัวยา” หรือ “การแพร่ระบาดของตัวยาก่อให้เกิดความต้องการในหมู่ผู้เสพ/ติดยาเสพติด) ดังนั้น การกำหนดโจทย์/ประเด็นการศึกษาวิจัยตามกรอบยุทธศาสตร์จึงก่อให้เกิดการหาคำตอบทางวิชาการที่ไม่ครบวงจร ไม่รอบด้าน และขาดการเชื่อมโยง ขาดอำนาจในการทำนายอนาคต และทิศทางการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ โจทย์วิจัยส่วนใหญ่ค่อนข้างไปในคำถามแบบตั้งรับหรือการตอบปัญหาปัจจุบัน

มากกว่าการค้นหาความรู้เพื่อเตรียมการในอนาคต เช่น การกำหนดโจทย์วิจัยที่โยงกับปัญหาใหม่ๆ หรือโยงกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การถดถอยทางเศรษฐกิจ  การค้าโลก อาชญากรรมรูปแบบใหม่  เทคโนโลยี การเดินทางเคลื่อนย้ายของประชากร เทคโนโลยีการผลิตสารเสพติดใหม่ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การท่องเที่ยว การเปิดเสรีทางการค้า การกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ท้องถิ่น การเปลี่ยนผ่านของสถาบันครอบครัวและชุมชน ฯลฯ

                   ๕.  งานวิจัยด้านยาเสพติดส่วนมากเป็นการศึกษาทางสังคมศาสตร์ โดยแนวทางการศึกษาค่อนข้างซ้ำซ้อนแตกต่างกันเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น และเป็นการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมาย   มีระยะเวลาดำเนินการจำกัด  ผลการศึกษาจึงไม่รวมถึงผลกระทบจากฤดูกาล และเป็นโครงการที่สามารถ  คาดเดาผลลัพธ์ของโครงการได้จากชื่อและวิธีการศึกษา

                   ๖. งานวิจัยหลายงานมีวิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์จำนวนมากค่อนข้างเป็นรูปแบบเดิม กรอบความคิดที่ใช้ยังเน้นเชิงจิตวิทยา บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมศาสตร์ เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับปัจเจกชนหรือสังคมวิทยาที่มองเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบน อิทธิพลของการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization or peer influence) มองความผิดความถูกเป็นความจริงสมบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของปรากฏการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน

                   ๗. การวิจัยด้านยาเสพติดมีลักษณะเป็นงานวิจัยเดี่ยว กระจัดกระจาย ไม่มุ่งตอบโจทย์ในการทำงานที่แน่ชัด โดยการที่จะให้ผลงานวิจัยมีพลังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนากระบวนการทำงานจำเป็นต้องมีการพัฒนางานวิจัยที่เป็นชุดโครงการ เพื่อให้แต่ละโครงการย่อยสร้างพลังให้ชี้ชัดในการบรรลุวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่สามารถตอบโจทย์ในลักษณะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มากกว่าการขับเคลื่อนในระดับกิจกรรมหรือโครงการ นอกจากนี้ ในหน่วยปฏิบัติ (นอกจากสายงานของกระทรวงสาธารณสุข) หรือหน่วยงานระดับนโยบายเช่น สำนักงาน ป.ป.ส. ยังมุ่งเน้นการจัดจ้างนักวิชาการภายนอกองค์กรเป็นผู้ดำเนินการศึกษา วิจัย ซึ่งส่งผลให้งานวิจัยแต่ละการศึกษาใช้ระยะเวลานาน ไม่ตรงเป้าหมายที่หน่วยงานต้องการ เนื่องจากนักวิชาการจากภายนอกอาจขาดความเข้าใจในกระบวนการทำงานหรือเข้าถึงข้อมูลยาก

แนวทางหนึ่งที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ริเริ่มดำเนินการมาแล้วและประสบผลสำเร็จใน

การนำองค์ความรู้มาพัฒนากระบวนการทำงาน นั่นคือ การพัฒนางานวิชาการจากงานประจำ (Routine to Research-R2R) และกระบวนการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กร  ทั้งนี้อุปสรรคที่หน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยปฏิบัติยังไม่สามารถพัฒนากระบวนการพัฒนาวิชาการในแบบพัฒนางานวิชาการจากงานประจำได้นั้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านทัศนคติของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนางานวิชาการจากงานประจำ มองว่าเป็นงานยาก และการทำงานวิชาการจะส่งผลกระทบต่อภารกิจหลัก

                   ๘.  คลังหรือฐานข้อมูลวิชาการด้านยาเสพติดมีลักษณะกระจัดกระจายตามที่ตั้งของหน่วยงานในกระบวนการทำงานด้านยาเสพติด โดยขาดความเชื่อมโยง และขาดการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

                   ๙.  งานวิชาการด้านยาเสพติดเป็นเอกเทศ ขาดความเชื่อมโยงกับงานวิชาการในมิติอื่นๆ และหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับปัญหายาเสพติด  เช่น

-สำนักงาน ป.ป.ส. ศึกษาวิจัยในประเด็นการป้องกันปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน ในขณะที่

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พัฒนาวิชาการเรื่องการเสริมสร้างทักษะชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน และรูปแบบกิจกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มเด็กและเยาวชน

-สำนักงาน ป.ป.ส. พัฒนาวิชาการเรื่องการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด

ในขณะที่กรมการพัฒนาชุมชนสรุปบทเรียนการดำเนินงานเรื่องการเสริมสร้างชุมชนเข้มเข็ง ซึ่งงานยาเสพติดอาจปรากฏหรือไม่ปรากฏในกระบวนการสรุปบทเรียนนั้นๆ

สำนักงาน ป.ป.ส. ศึกษาเรื่องอาชญากรรมทางคดียาเสพติดและกฎหมายยาเสพติด ในขณะ

ที่หน่วยงานอื่นในกระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมทางเลือก และกระบวนการทางกฎหมายอาญา

จากตัวอย่างที่ยกให้เห็นโดยสังเขปนี้จะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีภารกิจ การดำเนินงาน และ

การพัฒนาวิชาการที่คาบเกี่ยวกัน แต่ไม่ซ้อนทับกันทั้งหมด หากสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาวิชาการในส่วนที่ซ้อนทับกัน จะสามารถประหยัดงบประมาณ และมีการพัฒนาวิชาการที่ครอบคลุมกว่าที่แต่ละหน่วยงาน/องค์กรดำเนินการเองโดยขาดการบูรณาการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างสิ้นเชิง

                  

มิติผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการพัฒนาวิชาการ

                   ๑.  ผู้ผลิตผลงานวิชาการ

                             ๑.๑  นักวิชาการ นักวิจัยมีความถนัดในการพัฒนาวิชาการที่แตกต่างกัน การตีความโจทย์วิจัยเดียวกันอาจมีระเบียบวิธี และกระบวนการออกแบบการศึกษาวิจัยที่แตกต่างกัน มีเทคนิคในการบริหารงานที่แตกต่างกัน การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันยังมีน้อย ดังนั้น ผู้ต้องการผลงานวิชาการและผู้สนับสนุนทุนวิจัยต้องแสวงหา และเข้าถึงผู้ผลิตผลงานวิชาการตามศักยภาพ และความรู้ของหน่วยงาน     ซึ่งหมายความว่าผู้สนับสนุนทุนวิจัยหรือผู้ต้องการผลงานวิจัยไม่สามารถประกันได้ว่าเมื่อดำเนินการวิจัยแล้ว ผลงานวิจัยที่ได้รับจะตรงกับความต้องการของตน ยกเว้นเฉพาะกรณีที่มีการรู้จักหรือมีประสบการณ์การดำเนินร่วมกันมาแล้วเท่านั้น ผู้สนับสนุนทุนวิจัยหรือผู้ใช้ประโยชน์จึงจะมีความมั่นใจในผลผลิตงานวิจัย วิชาการที่ได้

                             ๑.๒  ผู้ผลิตผลงานวิชาการ วิจัยในหน่วยงานทั้งระดับนโยบาย และหน่วยปฏิบัติยังมีจำนวนจำกัด รวมถึงนักวิชาการในหน่วยงานระดับ จังหวัด อำเภอ หรือระดับท้องถิ่น นอกจากนี้หน่วยงาน/นักวิชาการในระดับประเทศยังขาดศักยภาพในการสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาวิชาการ และส่งเสริมการนำผลงานวิชาการ วิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนนักวิชาการนักวิจัย ภารกิจที่มากเกินไปของนักวิชาการนักวิจัยด้านยาเสพติดที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน  และความสนใจและความสามารถในการศึกษาวิจัยด้านยาเสพติดของนักวิชาการ นักวิจัยทั่วไป และนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

                             ๑.๓  ผู้ผลิตผลงานวิชาการในส่วนของภาคประชาสังคม ปัจจุบันกลไกหนึ่งที่มีศักยภาพในการดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดคือภาคประชาสังคม โดยการเชื่อมโยง ขยายบทบาท และยกระดับองค์กรชุมชนไปสู่ภาคประชาสังคมอันประกอบด้วยสมาชิกชุมชนหลากหลายสาขาอาชีพ/บทบาท นักวิชาการในระดับจังหวัด/อำเภอ หรือท้องถิ่น  ปราชญ์ชาวบ้าน สื่อมวลชนในท้องถิ่น ฯลฯ ภาคประชาสังคมนี้จึงเป็นหน่วยหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาวิชาการ เช่น ด้านการสรุปบทเรียนการดำเนินงาน ประเมินผลการดำเนินงาน ทดลองดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดรูปแบบต่างๆ   เป็นต้น โดยในขั้นต้นผลงานวิชาการที่พัฒนาขึ้นในขั้นต้นเป็นการมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนางานของภาคประชาสังคมเองก่อนที่จะใช้ขยายผลเป็นตัวอย่างการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ในระยะถัดไป

                   ผู้ผลิตผลงานวิชาการด้านยาเสพติดในระยะที่ผ่านมา

                   ที่ผ่านมาผู้ผลิตผลงานวิชาการ วิจัยด้านยาเสพติด ประกอบด้วย

                   ๑. หน่วยงานภาครัฐ

                   -หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ สำนักงานกิจการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสูด โรงพยาบาลตุลาการเฉลิม       พระเกียรติ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น

                   -หน่วยงานอื่นๆ เช่น หน่วยงานในระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสถาบันธัญญารักษ์  ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน สงขลา และปัตตานี กรมการแพทย์ โรงพยาบาลจังหวัด/โรงพยาบาลศูนย์ ทั้งที่เป็นผลงานวิจัย และ งานวิจัยจากงานประจำ (R2R) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

                   ๒. หน่วยงานภาคเอกชน เช่น สมาคมองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ASPACNGO) สภากาชาดไทย สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย เป็นต้น

                   ๓. หน่วยงาน/สถาบัน/องค์กร/เครือข่ายวิชาการ เช่น เครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด อันเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของสถาบันวิชาการต่าง ๆ ประกอบด้วยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิจัยสังคม และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเครือข่ายวิชาการสารเสพติดในภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

                   ๔.  นักวิชาการ/นักวิจัยอิสระ เช่น นักวิชาการด้านชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

                   ๕  นักวิชาการ นักวิจัยรุ่นใหม่ ที่เป็นนิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก      ที่สนใจศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นยาเสพติด           

                   ๒.  ผู้สนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาวิชาการ

                             ๒.๑ ผู้สนับสนุนทุนวิจัยส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในกระบวนการทำงานด้านยาเสพติดทั้งหน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยปฏิบัติ เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. สสส. กระทรวงมหาดไทย กรมคุมประพฤติ เป็นต้น ซึ่งกำหนดโจทย์/ประเด็นวิจัย เพื่อต้องการองค์ความรู้ในการพัฒนาการทำงานของแต่ละหน่วยงานโดยขาดการเชื่อมโยงทั้งการพัฒนาโจทย์วิจัยหรือการหารือถึงความต้องการผลงานวิจัย วิชาการร่วมกัน

                             ๒.๒  ผู้สนับสนุนทุนวิจัยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ในแต่ละปีสามารถสนับสนุนงานวิจัยได้จำนวนจำกัด และหากขาดกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยที่มีคุณภาพแล้ว จะส่งผลให้ผลงานที่จำนวนจำกัดนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการขับเคลื่อนงาน

                             ๒.๓  ระบบงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้า และเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนงานของผู้สนับสนุนทุนวิจัยเอง และนักวิชาการผู้ดำเนินการพัฒนาวิชาการ

                             ๒.๔  หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณด้านยาเสพติดในระหว่างประเทศหรือทุนช่วยเหลือทางวิชาการจากต่างประเทศจะมีกรอบในการสนับสนุนงานวิชาการ วิจัยของตนเอง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติดของประเทศไทย ดังนั้น จากข้อจำกัดด้านงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ อาจไม่สามารถแสวงหาแหล่งงบประมาณอื่นสนับสนุนการดำเนินงานได้ หากความต้องการของหน่วยงานนั้นไม่สอดคล้องกับนโยบาย และกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานระหว่างประเทศ                   

                             ตัวอย่างหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย[1]

                             ● สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  

                             ● สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

                             ● สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

                             ●สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

                             ● United Nation Children’s Fund (UNICEF)

                                    ● Asia Foundation

                        ● Institute of Southeast Asian Studies

                                    ● International Development Research Center

๓.  ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิชาการ

๓.๑  หน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยปฏิบัติผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากผลงาน

วิชาการ (ซึ่งกรณีประเทศไทยแล้วส่วนใหญ่แล้วเป็นหน่วยงาน/องค์กรเดียวกับหน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย) ขาดข้อมูลเกี่ยวกับนักวิชาการ นักวิจัยที่มีความชำนาญในการศึกษาด้านยาเสพติด  ส่งผลให้นักวิชาการ นักวิจัยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติดอยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้กระบวนการศึกษาและระเบียบวิธีการศึกษาเป็นไปตามความถนัดและความสนใจของนักวิชาการมากกว่าเป็นความสนใจ และความต้องการของหน่วยงานผู้ต้องการใช้ผลงานวิจัย วิชาการ ซึ่งในทางที่เหมาะสมแล้วการพัฒนาวิชาการด้านยาเสพติดควรเกิดจากความสมดุลระหว่างความต้องการของหน่วยงาน ความต้องการของนักวิชาการ และความถนัดของนักวิชาการ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการองค์ความรู้ และความต้องการนำไปใช้ประโยชน์

                             ๓.๒  ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิชาการ วิจัย ขาดการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ เพื่อการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วไปใช้ประโยชน์และขาดการวิเคราะห์ช่องว่างของ    องค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อนำไปกำหนดโจทย์วิจัย วิชาการในระยะต่อไป การกำหนดโจทย์วิจัยเป็นไปโดยเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือความต้องการคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น  ฝ่ายการเมือง ผู้บริหาร เป็นต้น ในระยะกระชั้นชิด โดยขาดการวางแผนและการเชื่อมโยงการพัฒนาวิชาการที่เป็นระบบ (การกำหนดแผนระยะสั้นและระยะยาวตามความต้องการเร่งด่วน)

 

 

 


[1]  เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ 

หมายเลขบันทึก: 407965เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ

แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการทำงานภาคประชาสังคมเองที่ทำงานในระดับพื้นที่เองที่มีปประสบการณ์จัดการปัญหาได้ ก็ยังขาดการจัดการความรู้ระดับชุมชน ขาดคลังความรู้ และเอกสารหลักฐานแสดงความสำเร็จ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ยังมีกระบวนการผลิตซ้ำความเชื่อว่า ชาวบ้านจะทำไม่ได้ และชาวบ้านเองก็ยังติดนิสัยการพึ่งพาภาครัฐอยู่ ทั้งด้านงบประมาณและการขยายฐานความรู้ ข้อเสนอแนะคือการสนับสนุนกระบวนการวิธีการทำงานควบคู่ไปกับการสนับสนุนงบประมาณ ทางออกหนึ่งนั้นก็คือ การใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท