ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

๗ ขั้นตอน ไฟฟ้าถ่านหิน ความรู้หรือโฆษณาชวนเชื่อ ผิดตั้งแต่ตั้งคำถาม ผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรก


ประเด็นสังคมตอนนี้ มีการพูดถึงและวิพากษ์ วิจารณ์ การเข้ามาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่จะมุ่งสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งสำนักงานในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันที่สำคัญมีการขึ้นป้ายในพื้นที่เป้าหมาย ขั้นตอนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ๗ ขั้นตอน และระบุว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ ๒ “ให้ความรู้ชุมชน”

เรื่อง : สายธารธรรม ภาพ : เงาศิลป์  คงแก้ว

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๙

        ประเด็นสังคมตอนนี้  มีการพูดถึงและวิพากษ์ วิจารณ์  การเข้ามาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่จะมุ่งสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน”  ที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งสำนักงานในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว  ปัจจุบันที่สำคัญมีการขึ้นป้ายในพื้นที่เป้าหมาย  ขั้นตอนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ๗ ขั้นตอน และระบุว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ ๒  “ให้ความรู้ชุมชน”

        ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า “ผมรับรู้มาตลอดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในโลก แต่ผมฟังเขามาบอก จนบางทีผมก็เคลิ้มและคล้อยตามไปด้วย (หัวเราะ) เขาบอกว่า

“ไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างสะอาด นำเข้าจากต่างประเทศ  ไม่เหมือนแม่เมาะเพราะเป็นถ่านหินลิกไนต์ในประเทศไทย”

“ไฟฟ้าไม่พอ  ต้องสร้างเพิ่มและต้องใช้ไฟฟ้าถ่านหิน เพราะโรงไฟฟ้าจากก๊าซอีกไม่กี่ปีก็หมดไป หากวันหน้าไม่มีไฟฟ้าใช้จะทำอย่างไร  หากผ่าตัดฉุกเฉินอยู่ ไฟฟ้าดับจะเกิดอะไรขึ้น”

แต่ที่ผมรู้ ภาคใต้บ้านเราใช้ไฟฟ้าไม่ถึง ๘ เปอร์เซ็นของประเทศ  ถ่านหินก็คือถ่านหิน ยังไงก็สกปรก”    

        จากข้อมูลบางส่วนที่ฟังชาวบ้านเล่า การให้ข้อมูลขั้นที่ ๒ ของไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นการให้ข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่ขาดความรับผิดชอบยิ่ง เพราะว่าถ่านหินนำเข้า คือ ซับบิทูมินัส (sub-bituminous)  และจากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเองระบุว่า ถ่านหินชนิดนำเข้านี้ คุณสมบัติใกล้เคียงลิกไนต์มากๆ

ตาราง  เปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆ ของถ่านหินแต่ละชนิด

 

ถ่านหิน

ปริมาณความร้อน

ปริมาณความชื้น

ปริมาณขี้เถ้า

ปริมาณกำมะถัน

1. แอนทราไซต์

สูง

ต่ำ

ต่ำ

ต่ำ

2. บิทูมินัส

สูง

ต่ำ

ต่ำ

ต่ำ

3. ซับบิทูมินัส

ปานกลาง-สูง

ปานกลาง

ปานกลาง

ปานกลาง

4. ลิกไนต์

ต่ำ-ปานกลาง

สูง

สูง

ต่ำ-สูง

        ส่วนไฟฟ้าจะดับไม่ดับไม่ใช่ประเด็น เพราะไฟฟ้าสำรองขณะนี้มากพอ ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าไม่จำเป็นต้องเร่งสร้างในตอนนี้  หรือหากจะทำเพื่อขายหรือไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนไฟฟ้าจะดับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

        ดังนั้น ขั้นตอนที่ ๒ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทีให้ความรู้ชุมชน  จึงเป็นการสร้างกระแสการยอมรับ  ลดการคัดค้าน  เพราะมุ่งแต่ให้เห็นประโยชน์ของการมีไฟฟ้า  แต่ไม่พูดถึงโครงสร้างอย่างอื่นเลย เช่น หากมีโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องมีท่าเรือขนส่งถ่านหิน กองถ่านหินบด เขม่าโรงงาน ขี้เถ้าถ่านหิน  สายส่งแรงสูง  การใช้น้ำ

        วันนี้หากถามว่า ต้องใช้ไฟฟ้าไหม ตรงไปตรงมา คือ ต้องใช้ แต่ถ้าถามว่า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มไหม ตอบได้ชัดเจนเหมือนกันว่า ไม่จำเป็นเอามากๆ

        เพราะมันต่างที่คำถาม  วิธีการอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด  เพราะมีการตั้งธงไว้แล้ว ว่าต้องสร้าง ดังนั้นวิธีการจึงไม่เกี่ยง ไม่เช่นนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต คงไม่ถูกต่อต้านไปทั้งประเทศเหมือนในขณะนี้ และไฟฟ้าถ่านหินคงไม่ได้รับการคัดค้านจากทั่วโลก จนเป็นจำเลยเบอร์หนึ่งในการก่อโลกร้อน จนเกิดภิบัติภัยทุกหย่อมหญ้า

        แม้กฎหมายในปัจจุบัน ต้องเปิดเผยและมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ถามว่า ตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๑ คัดเลือกภูมิประเทศ ถามคนอำเภอหัวไทร คนอำเภอท่าศาลาหรือยัง รายงานที่มาแอบศึกษาอยู่ไหน ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูล  ผิดตั้งแต่ใส่กระดุมเม็ดแรก เม็ดหลังจึงเพี้ยนยิ่งกว่า เพราะตั้งใจใส่ให้ผิดไปตลอด

        นอกจากผลกระทบจากองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วนั้น  ในขั้นตอนที่ ๔ มีความหมายอย่างยิ่ง คือ การประกาศซื้อที่ดิน ทีมงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาเผยในสื่อฉบับหนึ่งว่า ตอนนี้มีการจัดหาที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย  โดยจะมัดจำ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ดิน หากไม่สามารถก่อสร้างได้ในเวลา ๑ ปี จะคืนค่ามัดจำ

        คำถามแรก เงินที่มามัดจำ มาจากไหน ก็มาจากภาษีประชาชน  แล้วทำไมต้องมัดจำละ  นี่แหละ คือ ประเด็นครับ  เพราะว่าการจัดหาที่ดินไว้ก่อน เป็นข้ออ้างในอนาคตว่า ดำเนินการในที่ดินของตัวเอง อย่างชอบธรรม  ไม่ได้เวนคืน ไม่ได้ไล่ที่ชาวบ้านแต่อย่างใด  นอกจากนี้การให้นายหน้าจัดหาที่ดินไว้ก่อน ย่อมมีวิธีการในการกว้านซื้อที่ดิน  รวบรวมที่ดิน  และจะมาเป็นกำลังในการจัดการมวลชนในอนาคต เพราะที่ดินเกือบพันไร่ ปล่อยออกไปไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คนที่มีกำลังซื้อต้องมีเป้าหมายในการใช้ที่ดิน และนายทุนเองคงไม่โง่พอ  ที่จะตุนที่ดินไว้มากมาย  ดังนั้นนายทุนกลุ่มนี้แหละจะช่วยกดดันชาวบ้าน กลยุทธ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในครั้งนี้ จึงยิงปืนทีเดียวได้นกเป็นพวง

        เมื่อดำเนินการในขั้นตอนที่ ๑ – ๔ ประสบความสำเร็จ  ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นเชิงเทคนิค  ที่ผ่านมาอีไอเอ กับสังคมไทยเป็นการทำการบ้านส่งครูของบริษัทรับจ้าง  ยังไงก็ต้องผ่าน

        ดังนั้น คำตอบสุดท้าย คือ ประชาชนที่ต้องกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะหากปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกำหนด คำตอบย่อมชัดเจนในตัวของมันเอง

        แล้วพี่น้องท่าศาลา หัวไทรละ คิดเหมือนกันหรือเปล่า

หมายเลขบันทึก: 407852เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท