ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

นักวิชาการ สี่คน สี่มหาวิทยาลัย สี่มุมมอง วิชาการ บนทางสองแพร่ง ของความขัดแย้ง ปัญหา บทบาท และท่าทีที่ควรจะเป็น?


“ในเทศกาลงานเดือนสิบ บนเวทีกลาง ป้ายโลโก้ เชฟรอน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปรากฏขึ้นมาทั้งที่ประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านี้ ตกทอดมานับร้อยปี ด้วยความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ และจิตวิญญาณรุ่นต่อรุ่น มาวันนี้องค์กรภายนอก เชฟรอนที่จะมาสร้างท่าเรือที่ ต.กลาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่จะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา มาเป็นผู้สนับสนุน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยแม้จะคิด อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่เพราะผลประโยชน์ และเป้าหมาย จึงต้องรุกคืบเข้ามา โดยใช้ทรัพยากร คือ เงินมาบังหน้า หมกเหม็ดข้อเท็จจริงที่ควรจะรู้”

โดย  ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๙

        “ในเทศกาลงานเดือนสิบ  บนเวทีกลาง ป้ายโลโก้ เชฟรอน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปรากฏขึ้นมาทั้งที่ประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านี้ ตกทอดมานับร้อยปี ด้วยความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ และจิตวิญญาณรุ่นต่อรุ่น มาวันนี้องค์กรภายนอก เชฟรอนที่จะมาสร้างท่าเรือที่ ต.กลาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่จะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา มาเป็นผู้สนับสนุน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยแม้จะคิด  อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้  แต่เพราะผลประโยชน์ และเป้าหมาย จึงต้องรุกคืบเข้ามา โดยใช้ทรัพยากร คือ เงินมาบังหน้า หมกเหม็ดข้อเท็จจริงที่ควรจะรู้”

        ท่ามกลางสถานการณ์ เช่นนี้  สังคมไทยที่ยังอยู่ในระบบอุปถัมป์ การพึ่งพิง จะถามถึงความเห็นความเห็นนักวิชาการ ผู้รู้ เพื่อชี้นำสังคม แต่บางครั้ง เสียงนักวิชาการมักเงียบเพื่อรอดูท่าทีและกระแส ส่วนหนึ่งกระโดดไปกับโครงการ และส่วนหนึ่งออกมาพิสูจน์และหาทางออก ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง ก็ไปอย่างไร้ทิศทาง

        นักวิชาการท่านคนหนึ่ง ปรารภให้ฟังอย่างน่าสนใจ กับปรากฏการที่เกิดขึ้น และยังเสริมมาอีกว่า “วันนี้ในมหาวิทยาลัย มีการให้ทุนการศึกษาวิจัยต่างๆมากมาย เพียงเพื่อไม่ต้องการให้นักวิชาการออกมาพูด ออกมาให้ข้อมูลชาวบ้าน หน้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัย กิจกรรมสำคัญต่างๆ กลุ่มทุนเหล่านี้เข้ามาสนับสนุน โดยที่ไม่มีการตั้งคำถามใดๆ กับการเข้ามาอย่างผิดสังเกต  แต่หากมีนักวิชาการเข้าไปให้ข้อมูลชาวบ้าน ข้อเท็จจริง ถึงผลกระทบของโครงการ จะได้รับการโจมตีทันที”

        วันนี้ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน คงต้องพูดถึงเรื่องนี้ ในบทบาทนักวิชาการกับการเข้ามาของโครงการต่างๆ  จึงได้พูดคุยถึงความคิดความเห็นของนักวิชาการหลายๆท่าน ทั้งในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ  มหาวิทยาลัยราชมงคล ศรีวิชัย (ทุ่งใหญ่) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และ อดีตนักวิชาการในพื้นที่ภาคใต้ เช่น มอ.สงขลานครินทร์

        ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เผยกับเราว่า “ผมเองกก็ถูกต่อว่าที่เข้าไปแสดงความคิดความเห็นให้ชาวบ้านรับรู้ ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นความเห็นทางวิชาการ จับต้องได้และเป็นข้อเท็จจริง  การไปแต่ละครั้ง ผมได้รับการเชิญจากชาวบ้าน ค่ารถผมจัดการเอง ค่าวิทยากรไม่เคยมี  วันนี้นักวิชาการทางบริษัทมีจำนวนมากแล้ว แต่นักวิชาการที่อยู่ข้างชาวบ้านแทบไม่มี  หากไม่มีชาวบ้านริมเริ่ม หรือปักหลักผมก็อยู่เฉยๆ ทำงานวิชาการของผม แต่หากชาวบ้านเดือดร้อน มีปัญหา นักวิชาการต้องเข้าไป เพราะชาวบ้านคนเล็กคนน้อยจะไปสู้รบตบมือกับทีมงานขนาดใหญ่ได้อย่างไร เพราะเขามีทั้งเงิน ทั้งทีมนักวิชาการ และทีมงานพื้นที่จำนวนมาก

มีทีมงานบริษัทต่างๆ เข้ามาหาผม บอกว่าช่วยชาวบ้านไม่ได้อะไร สู้ทำงานให้โครงการดีกว่า ผมอยากเรียกร้องว่า ผมยืนหยัดของผมอย่างนี้  ผมมีเงินเดือนประจำไม่ลำบาก ไม่ต้องมาหาผมอีก ส่วนนักวิชาการคนอื่นๆ เป็นสิทธิ เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล หากจะร่วมกับทางบริษัท”

ผศ.สุจารี  แก้วคง ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช และเป็นประธานสถาบันพัฒนาการเมือง นครศรีธรรมราช เผยความคิดความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “วันนี้โครงการต่างๆ เข้ามามากมาย สิ่งที่อยากถามก็คือ โครงการต่างๆเหล่านี้ถามความต้องการของชาวบ้านหรือยัง การพัฒนาต้องมาจากแผนชุมชน แผนท้องถิ่น แผนจังหวัด   ต้องมีกระบวนการใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน  การพัฒนาที่แท้จริงจะใช้ความรู้สึกไม่ได้

ในเวลานี้ มีบางโครงการทยอยเข้ามาแล้ว เฉพาะหน้า ต้องมีกลไกขึ้นมาในเมืองนคร เปิดเวทีโดยการยอมรับของทุกฝ่าย  เปิดใจรับอย่างเป็นกลาง แล้วเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องมาอภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผล ที่สำคัญต้องมีข้อมูล

ในส่วนของนักวิชาการที่สามารถทำได้เลย คือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านตื่นรู้ในสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ในส่วนของนักวิชาการเองส่วนมากก็ยังไม่รับรู้ข้อมูลมากนัก ดังนั้นเลยไม่รู้ว่าจะเริ่มวางบทบาทตัวเองอย่างไร นักวิชาการก็ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง

ในส่วนของนักวิชาการบางคน ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ในการทำการวิจัยยังน้อยมาก และไม่เข้าใจวิธีการของแหล่งทุนนั้น  นักวิชาการบางคนก็เจตนาดี ที่อยากสร้างการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล จึงรับงานมาศึกษาเสียเอง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องมีกลไกตรวจสอบ กลไกเฝ้าระวังนักวิชาการอีกทางหนึ่งด้วย”

ดร.สมหมาย คชนูด มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย (ทุ่งใหญ่)

        นักวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสะท้อนมุมมองการพัฒนาสังคม ให้มีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบทบาทที่นักวิชาการช่วยเหลือสังคมและชุมชนได้ก็คือ การเกาะติดสถานการณ์ เพื่อให้ การให้ข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาที่ถูกต้องและเป็นกลาง แก่ประชาชน

 แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วหลักการเหล่านี้อาจทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น หากดูในรายละเอียดหลายโครงการพบว่าที่ปรึกษาโครงการเหล่านั้นก็เป็นนักวิชาการในหลายมหาวิทยาลัย ที่มีตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์  รองศาสตราจารย์เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า นักวิชาการเหล่านี้ทำงานทำงานใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคมหรือ ใช้ความรู้เพื่อแสวงหาประโยชน์ตนเองและช่วย"หาทางออก" ให้กับผู้ว่าจ้าง ใช่หรือไม่อย่างไร  ซึ่งสังคมต้องจำแนกความเป็นนักวิชาการให้ชัดชัดเจน หากไม่มีความชัดเจนจะทำให้สังคมหลงประเด็น  อีกประการหนึ่งคือนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็ไม่ประสงค์จะออกมามีบทบาทเพราะอาจจะ " เปลืองตัว" ก็ได้

        ปัจจุบันนักวิชาการเข้ามามีบทบาทน้อยมากหากเทียบกับจำนวนนักวิชาการ และสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลายโอกาสมักเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในลักษณะปัจเจกแทนที่จะเป็นในลักษณะความเป็นองค์กร

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนต้อง (1) เรียกร้องบทภาควิชาการออกมาแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจนก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิชาการที่ " หลับอยู่" ออกแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นได้ (2) กรณีการเป็นที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบว่าการทำหน้าที่ของนักวิชาการเหล่านั้นได้ใช้เวลา งบประมาณ ทรัพยากรจากภาครัฐอย่างเหมาะสมหรือถูกต้องหรือไม่ และประการสำคัญ ถ้าหน่วยงานหน่วยงานต้นสังกัดได้อนุญาตให้นักวิชาการเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา หน่วยงานต้นสังกัดจะมีส่วนรับผิดชอบต่อกับสังคมอย่างไร หากโครงการเหล่านั้นก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม ทั้งปัจจุบันและอนาคต

ผศ.ประสาท มีแต้ม  (อดีตอาจารย์)มหาวิทยาลัยวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นนักวิชาการที่มีผลงาน ทั้งทางด้านพลังงานและทิศทางการพัฒนาประเทศอยู่ค่อนข้างมาก เปิดอกคุยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และให้แง่คิดที่น่าสนใจมากมาย  

 “ท่าทีของนักวิชาการต่อการเข้ามาของโครงการต่างๆ ผมคิดว่านักวิชาการอ่านออก (รู้วัตถุประสงค์ดี) ถ้าอ่านไม่ออกก็ไม่ใช่นักวิชาการแล้ว 

 แต่ถ้าไม่เท่าทันให้คิด ปรึกษาหารือกับพรรคพวก  สถานการณ์ เช่นนี้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ต้องระมัดระวัง ได้ข้อสรุปความเห็นแล้วจึงลงมือทำ

ที่จริงพวกเรา มีเงินเดือน(มากพออยู่แล้ว) พูดง่ายๆ  ก็ภาษีประชาชนนั่นแหละ  ซึ่งน่าจะพอแล้ว

 ส่วนที่เข้าไปร่วมขบวนเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน สำหรับผม  (ผมจำคำพูดของนักวิชาการจาก MIT)  ซึ่งเป็นชาวรัสเซียที่ไปทำงานที่ อเมริกาชื่อ  

 Noam Chomsky   พูดว่า “หน้าที่ของปัญญาชนมีเพียงสองอย่างเท่านั้น  คือ ต้องพูดความจริงและชี้ให้เห็นการโกหก” 

หากจะให้ชัดในรูปธรรมก็ คือ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่า ถ่านหินสะอาด นักวิชาการทั้งทางสังคมและวิทยาศาสตร์บอกได้ทันทีว่า เขาโกหก เพราะถ่านหินเป็นพลังงานที่สกปรก 

แต่หากถามว่า พลังงานตอนนี้พอไหม การผลิตไฟฟ้าไปใช้เพื่อใคร ตรงนี้ค่อยค้นคว้ากันอีกที

ในการสื่อสาร ปัจจุบันทำได้ไม่ยาก  ไม่เหมือนสิบห้าปีที่แล้ว วันนี้มีทั้งทีวี  วิทยุ อินเทอร์เน็ต ช่องทางการสื่อสารมากมาย ประเด็น คือ กล้าพอหรือเปล่า

ปัญหาที่นักวิชาการเจอ เมื่อออกมาแสดงความเห็น คือ มีการวิจารณ์  แต่ก็มีคำชม แต่ส่วนใหญ่จะด่ามากกว่าชม

Ward Williams กล่าวไว้ว่า “ก่อนที่จะพูดให้ฟังก่อน  ก่อนที่จะเขียน ให้คิด  ก่อนจะวิจารณ์ให้รอ ก่อนที่ลงทุน ให้ตรวจสอบ  ก่อนที่จะเลิกให้พยายาม   ก่อนที่จะเกษียณ ให้ประหยัด  ก่อนจะตาย ให้บริจาค”  ดังนั้นหลักของเรื่องนี้ คือ ก่อนจะวิจารณ์คนอื่นต้องรอพร้อมกับค้นหาความเป็นจริงให้ถ่องแท้ 

ถ้าแน่ใจแล้วก็ทำต่อไป ปัจจุบันสังคมเหลวไหล ชอบวิพากษ์วิจารณ์ก่อน แต่สิ่งที่ผมออกมาพูดเป็นเรื่องจริง

วันนี้เห็นชัดกรณีพี่น้องจะนะ ที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

ส่วนสำหรับนักวิชาการก่อนที่จะกระโดดลงไปเล่นกับโครงการที่เข้าผ่านการศึกษาวิจัยต่างๆ 

 ถามว่างานที่สร้างสรรค์ตั้งเยอะทำไมไม่ทำ ก่อนจะทำ  โจทย์วิจัย คืออะไร เป็นประโยชน์กับใคร  ต้องตั้งสติให้ดีไม่ใช่โครงการใดเข้ามารับหมด”

นักวิชาการ สี่คน สี่มหาวิทยาลัย สี่มุมมอง สะท้อนความหมายของกระบวนการพัฒนา ทั้งสี่ท่านคงชี้ให้เห็นเงื่อนงำบางอย่าง  ทั้งในเชิงปัจเจกและสถาบัน  อย่างไรก็ตอบคำตอบชัดเจนที่ชี้ตรงกัน นั่น คือ คำตอบอยู่ที่ชุมชนนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 407849เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อนักวิชาการ สวนทางความคิดกับชาวบ้าน

โชคดี บ้านเรายังมีนักวิชาการที่เข้าใจชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท