แลหลังการนิเทศการศึกษา บนเส้นทางสายนิเทศของศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ (ตอน2)


   สรุปความจากบันทึก "บนเส้นทางสายนิเทศ" ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ต่อจากตอนแรก ได้ว่า
    ในสำนักงานหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษาตอนนั้น (พ.ศ.2498) มีศึกษานิเทศก์ไม่เกิน 10 คน จำแนกเป็นสายวิชาละ 1-2 คน  เช่น ศึกษานิเทศก์สายสังคมศึกษา มีคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ และ อาจารย์สุมนา  คำทอง  สายวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์ประชุมสุข  อาชวะบำรุง  สายคณิตศาสตร์ มีอาจารย์เศวต  จึงเจริญ  สายภาษาอังกฤษมีอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ  กุญชร  อาจารย์วรรณะ  คัมภิรานนท์ และอาจารย์สมร  คุณะดิลก  ส่วศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์ ก็ไดรับมอบหมายให้เป็นศึกษานิเทศก์ภาษาไทย
    
         หน่วยศึกษานิเทศก์ตอนนั้นจะมีศึกษานิเทศก์ที่จบปริญญาโทกันแทบทั้งนั้น  แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ แม้แต่กระดาษสำหรับพิมพ์เอกสารก็ต้องไปขอที่กองวิชาการ  แต่ก็ทำงานกันได้  เพราะมีหัวหน้าหน่วยคืออาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ ที่เราเรียกกันว่า
ห.ศน.
ที่มีความเป็นผู้นำ ถึงพร้อมด้วยเมตตาธรรม  ขันติธรรม  และสมรรถภาพทางวิชาการ 
     ท่าน ห.ศน.เคยไปเรียนวิชา Supervision ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2489 ท่านบอกว่าในต่างประเทศก์จะเรียกศึกษานิเทศก์ว่า Inspector บ้าง Supervisor บ้าง  มีคนถามท่านว่า ของไทยจะเรียกว่าอะไร  ท่านก็บอกว่าเรียก "ศึกษานิเทศก์" ซึ่งแปลว่า "ผู้ชี้แจงทางการศึกษา" เราจึงใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน
    ท่าน ห.ศน.จะสอนงานการเป็นศึกษานิเทศก์ให้ทุกคน ท่านทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นประชาธิปไตย มีปัญหาอะไรก็มาประชุมปรึกษาหารือกัน และช่วยกันแก้  เรียนรู้วิชานิเทศการศึกษาด้วยการลงมือปฏิบัติจริง  โดยท่านจะเป็นผู้แนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม  คอยให้กำลังใจ  ให้กล้าพูดกล้าแสดงความเห็น และกล้าเขียนเอกสารการนิเทศ  ทั้งๆที่ศึกษานิเทศก์ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน  ห.ศน.ก็แนะนำให้อ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  รวมทั้งมอบงานแปลบางชิ้นให้ทำ หรือมิฉะนั้นก็ให้เรียบเรียงเรื่องที่ค้นคว้าได้ เพื่อทำเป็นเอกสารการนิเทศแต่ละวิชา  เมื่อห.ศน.อ่านแล้วเห็นว่าใช้ได้ก็ให้ผลิตเอกสารนั้นส่งไปยังโรงเรียน เพื่อให้ครูแต่ละสายวิชาอ่าน เป็นการเพิ่มพูนความรู้  เอกสารบางเรื่องก็ต้องให้เพื่อนศึกษานิเทศก์อ่านและวิจารณ์  หากพบข้อบกพร่อง  ห.ศน.จะช่วยตรวจแก้ให้
     
       ท่าน ห.ศน.ได้รับสมญาว่าเป็น "แม่พิมพ์ของศึกษานิเทศก์" อย่างแท้จริง  เพราะท่านอุทิศตนเพื่องานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  ใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา  ท่านวางหลักปฏิบัติว่า  ศึกษานิเทศก์เลือกในทางไม่มีอำนาจ ก็ต้องทำตามหลักนั้นอย่างเคร่งครัด  ไม่ช้าครูก็เริ่มเข้าใจว่า  ศึกษานิเทศก์ไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือครู  ไม่ใช่ไปเพื่อจับผิด  ที่ใดมีปัญหาก็เข้าไปช่วยแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี  เพื่อส่งเสริมคุณภาพของการเรียนการสอน เมื่อทำงานร่วมกับครูไปได้ระยะหนึ่ง ก็ได้รับความไว้วางใจและไมตรีจิตจากครู
      ท่าน ห.ศน.หม่อมหลวงบุญเหลือ ได้บันทึกเกี่ยวกับการนิเทศในต่างจังหวัดไว้ในหนังสือ "ความสำเร็จและความล้มเหลว" ไว้ตอนหนึ่งว่า
      "...เมื่อศึกษานิเทศก์ไปถึงจังหวัดใด  ก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี  คงมีหลายสาเหตุด้วยกัน  อาจเป็นเพราะเป็นของใหม่ หรืออาจเป็นเพราะน้ำใจดีของคนไทยในต่างจังหวัดด้วยก็ได้...ครูโดยมากวางตนเป็นฝ่ายเดียวกับศึกษานิเทศก์  มักจะเล่าเหตุการณ์ทุกประเภทให้ศึกษานิเทศก์ฟัง...แต่ศึกษานิเทศก์ก็ถือเป็นหลักมั่นคงว่า เรื่องที่ครูเล่าให้ฟังนั้น จะไม่กลายเป็นรายงานขึ้นมาเลย  รายงานของศึกษานิเทศก์จะเป็นไปตามหลักวิชาโดยสุจริต..."
     ติดตามตอนที่ 3 ต่อไปครับ...

หมายเลขบันทึก: 406561เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ 

  • ติดตามงานศึกษานิเทศก์แบบย้อนยุคค่ะ
  • อยากอ่านหนังสือ "กาพย์ช่วยจำ" จังเลยค่ะ(ติดค้างอยู่ในใจเมื่ออ่านตอนที่1ค่ะ) มีความรู้สึกว่ามันคือ Tacit  knowleage ของท่านศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ค่ะ
  • ท่านอาจารย์อ่านแล้ว  กรุณาสรุปเรื่องราวแบ่งปันสมาชิก  G2K  ด้วยนะคะ

ยังไม่ได้รับหนังสือนี้เลยครับ

สีลาภรณ์ (นาครทรรพ) บัวสาย

เรียนอาจารย์ธเนศ ที่เคารพ

ดิฉันเข้ามาเห็นข้อเขียนของอาจารย์ที่คัดมาจากหนังสืองานศพของคุณแม่ค่ะโดยบังเอิญ ขอบพระตุณที่กรุณานำมาเผยแพร่ พอดีดิฉันยังมีหนังสืองานศพทั้งชุดเหลืออยู่ เพราะลูกๆตั้งใจว่าจะเอาไว้แจกครู/โรงเรียน โดยเฉพาะครูภาษาไทยที่สนใจจริงๆ หากผู้ใดสนใจกรุณาแจ้งชื่อที่อยู่ให้ดิฉันได้ที่ email : [email protected] ค่ะ

สีลาภรณ์

เรียน คุณสีลาภรณ์ ที่นับถือ

ผมต้องขออภัยที่นำเรื่องมาเขียนโดยไม่ขออนุญาตก่อน เพราะเห็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ให้น้องๆศึกษานิเทศก์รุ่นหลังๆ ได้เห็นแบบอย่างของศึกษานิเทศก์รุ่นก่อนๆว่าท่านมีความเก่ง ความดี อย่างไร และศึกษานิเทศก์รุ่นก่อนๆทำไมได้รับการยอมรับ นับถือ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีอย่างมาก

ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา คนสุดท้าย เมื่อกระทรวงปรับโครงสร้างการบริหาร ทำให้หน่วย ศน. ที่ท่านอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือและท่านอาจารย์ฐะปะนีย์ได้ก่อตั้งขึ้นมาต้องถูกยุบลง ถือเป็นความคับแค้นใจในสถานภาพของพวกเราอย่างยิ่ง

ผมจำได้ว่าผมได้จัดงานทำบุญหน่วยศึกษานิเทศก์ในปีหนึ่ง ได้ไปกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ฐะปะนีย์มาพบและให้โอวาทแก่พวกเรา โดยผมได้เดินทางไปรับท่านที่บ้าน ตอนนั้นท่านเริ่มเดินเหินไม่สะดวกแล้ว แต่ท่านก็ให้ความกรุณากับพวกเรา แสดงว่าท่านรักในวิชาชีพศึกษานิเทศก์มาก สมองและความจำของท่านยังเฉียบคม ท่านให้โอวาทแก่พวกเราได้อย่างประทับใจยิ่ง ผมยังจำวันนั้นไม่มีวันลืม

หนังสือในงานพระราชทานเพลิงศพมีคุณค่ายิ่งกว่าหนังสือใดใด หากได้เผยแพร่แก่ครูภาษาไทยก็จะเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ก็ขอขอบคุณมาอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท