ดิจิทัลทีวี (Digital Television)


ดิจิทัลทีวี (Digital Television)

 1 - ดิจิทัลทีวี (Digital Television)

 
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ
[email protected]
ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่
กรรมการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)





               ดิจิทัลทีวี (Digital Television) จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประกอบธุรกิจสื่อทีวีและวิทยุทุกราย คุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล คือ ความสามารถในการบีบอัดสัญญาณ เพื่อให้คลื่นความถี่สามารถนำไปงานได้มากขึ้น (มีจำนวนช่องสัญญาณมากขึ้น) ดังในกรณีของคลื่นวิทยุการแบ่งช่องความถี่วิทยุบนหน้าปัดเดิมจะแบ่งกันให้มีช่องห่างระหว่างสถานี 0.5 MHz แต่ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีที่มีช่องห่างระหว่างสถานี 0.25 MHz มาใช้ในระบบ FM จะเห็นได้จากสถานีวิทยุชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งในบางประเทศก็ได้มีการนำมาใช้งานแล้ว นั่นหมายความว่า คลื่นความถี่วิทยุระบบ FM ในเมืองไทยที่เคยมีอยู่ 527 คลื่นความถี่ จะมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถบีบอัดสัญญาณจะส่งผลให้สถานีโทรทัศน์มีช่องรายการเพิ่มขึ้นมากมายจากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนกับเคเบิ้ลทีวีในเวลานี้ที่มีช่องรายการมากกว่า 30 ช่อง 
                                      
               ตัวอย่าง ภาคส่งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้รับการพัฒนาไปเป็นระบบดิจิทัลแล้ว โดยการยิงสัญญาณดาวเทียม 1 ทรานสปอนเดอร์ จะทำให้สามารถส่งได้ถึง 4 ช่อง เมื่อเครื่องรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล หรือใช้วิธีติดตั้งอุปกรณ์ Set top box ที่มีความสามารถในการแยกสัญญาณ ดังนั้นคาดว่า ภายในเวลา 5 ปี ดิจิทัลทีวีจะเข้าสู่ประเทศไทย เครื่องรับ High definition TV ที่รองรับเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่เครื่องรับโทรทัศน์ตามบ้านในปัจจุบัน ช่องสัญญาณของสถานีโทรทัศน์หลักที่ปัจจุบันออกอากาศได้เพียง 1 ช่องต่อ 1 สถานี จะถูกแตกเป็นหลายช่องสัญญาณเป็นฟรีทีวีที่สถานีโทรทัศน์สามารถหาโฆษณาได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยี Digital convergence จะทำลายพรหมแดนในเรื่องของความแตกต่างของเทคโนโลยีให้หมดไปสิ้น

ประโยชน์การส่งโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
               1. ทำให้ใช้ประโยชน์จากช่องสัญญาณได้มากขึ้น เช่น เดิม 1 ช่องใช้ได้ 1 รายการ เมื่อหันมาใช้ระบบดิจิทัล มีการบีบอัดสัญญาณ (Digital Compression) ก็จะสามารถส่งได้ถึง 4-6 รายการทางภาคพื้นดิน และ 8-10 รายการทางดาวเทียม
               2. ให้บริการเสริมได้ (หากกฎหมายอนุญาต) 
               3. สามารถรับชมขณะอยู่ในพาหนะเคลื่อนที่ได้ เช่น รับโทรทัศน์บนรถยนต์ได้ชัดเจนในบางความถี่
               4. สามารถให้บริการฟรี (Free to Air) หรือบริการเก็บค่าสมาชิกได้
               5. ค่าใช้จ่ายในการออกอากาศต่อ 1 รายการลดลง เพราะเครื่องส่ง 1 เครื่อง สามารถส่งได้หลายรายการ
               6. พัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ เพื่อรับกับวิวัฒนาการของการส่งและรับโทรทัศน์ในอนาคต เช่น โทรทัศน์จอกว้าง (WIDE SCREEN) โทรทัศน์ความคมชัดสูง (HDTV)  
               7. ประหยัดพลังงานในการส่งโทรทัศน์ เนื่องจากเครื่องส่งใช้กำลังออกอากาศลดลง
               8. คุณภาพในการรับชมดีขึ้น ไม่มีเงา การรบกวนน้อย เพราะถ้าจะรับได้ชัดก็ชัดเลยแต่ถ้าอยู่ในที่รับไม่ชัดก็จะรับไม่ได้ ดังนั้นหากต้องการรับชมก็ต้องขวนขวายหาวิธีรับจากทางอื่น เช่น จากเคเบิ้ลทีวี หรือจากดาวเทียม ซึ่งถ้ารับได้ก็จะได้ชัดเจนไม่มีเงาและสิ่งรบกวน หรือถ้ามีการรบกวนก็จะมีในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก

การส่งโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล 
               การส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television Broadcasting: DTTB) ใช้วิธีการบีบอัดและเข้ารหัสข้อมูลด้วยมาตรฐาน MPEG-2 เช่นเดียวกับมาตรฐาน DVB-S และ DVB-C ระบบ DTTB ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแทนที่ระบบโทรทัศน์อนาล็อก โดยระบบใหม่นี้มี ข้อดี คือ มีจำนวนช่องรายการมากกว่าและมีคุณภาพของภาพและเสียงที่ดีกว่าโทรทัศน์อนาล็อก สำหรับการรับสัญญาณสามารถกระทำได้โดยใช้สายอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์แบบธรรมดาที่ใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งจะประหยัดกว่าการใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมหรือการสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี ปัจจุบันระบบ DTTB มีอยู่ 4 มาตรฐาน ได้แก่

               1) American Advance Television Systems Committee (ATSC) เป็นระบบที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2541
               2) Digital Video Broadcasting (DVB) เป็นระบบที่ใช้ในยุโรป ติดตั้งและใช้งานในปี พ.ศ.2541
               3)Integrated Services Digital Broadcasting (ISDB) เป็นระบบที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2541
               4) Digital Terrestrial Multimedia Broadcast (DTMB) เป็นระบบที่ประเทศจีนพัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้งานเอง ในปี พ.ศ.2549

               โดยในอีกหลายๆ ประเทศก็ได้เริ่มทดลองใช้งานหรือศึกษาว่าจะใช้ระบบใด เช่น ไต้หวัน ใช้ระบบอเมริกัน (ATSC) กลุ่มประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ใช้ระบบ ดีวีบี ( DVB ) สำหรับสิงคโปร์ติดตั้งและทดลองใช้ทั้ง 2 ระบบ คือทั้งอเมริกัน ( ATSC ) และยุโรป (DVB ) ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะค้าขาย 2 ระบบนี้ ผ่านประเทศของตนเองสำหรับลูกค้าในภูมิภาคนี้ เพราะเล็งเห็นว่าลูกค้าสามารถจะไปดูตัวอย่างสถานีที่สิงคโปร์ได้ง่ายเพราะใกล้กว่าค่าใช้จ่ายถูกกว่า และสิงคโปร์ก็สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้อย่างสบาย และเนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีความประสงค์จะแข่งขันกับญี่ปุ่นจึงไม่นำระบบของญี่ปุ่นมาติดตั้ง ส่วนประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน

               แต่ประเทศที่มีความพัฒนาและมีความพร้อมในการเปลี่ยนระบบโทรทัศน์เป็นดิจิทัลมากที่สุดประเทศหนึ่งนั่น คือ ประเทศไต้หวัน  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในไต้หวันมีการพัฒนาและการแข่งขันกันสูง มีการทำวิจัยศึกษาสถานีโทรทัศน์เพื่อศึกษาขั้นตอนการประยุกต์และการทำให้การแพร่ข่าวโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ

               เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปสู่โทรทัศน์ยุคดิจิทัลจึงคาดหวังกันว่าน่าจะมีมาตรฐานโทรทัศน์ ดิจิทัลเพียงมาตรฐานเดียว อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติประเทศหรือกลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีต่างก็พัฒนามาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิทัลที่เป็นของตนเองขึ้นมาใช้งาน แต่กระนั้น มีข้อพึงสังเกตว่าโดยพื้นฐานแล้วมาตรฐานของแต่ละระบบต่างก็ใช้สัญญาณภาพที่เป็นดิจิทัลและใช้การบีบอัดแบบ MPEG-2 เหมือนกัน

               มาตรฐาน ATSC, DVB และ ISDB ถูกกำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) การที่ ITU ต้องกำหนดมาตรฐานควบคู่กันเนื่องจาก ไม่สามารถรวมมาตรฐานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นมาตรฐานเดียวได้ เพราะมาตรฐานเหล่านี้มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ มาตรฐานแต่ละมาตรฐานมีจุดดีและจุดด้อยที่แตกต่างกัน เช่น มาตรฐาน ISDB ของญี่ปุ่นมีจุดเด่น คือ ความสามารถในการทนต่อสัญญาณรบกวน และสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์รับสัญญาณเคลื่อนที่ ในขณะที่มาตรฐานATSC จะไม่สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์รับสัญญาณแบบเคลื่อนที่ได้นอกจากจะต้องใช้คลื่นความถี่เพิ่ม

               ปัจจุบัน โทรทัศน์ดิจิทัลหรือ DTV จะมีมาตรฐานความคมชัดของระบบกำหนดไว้ (สูงสุด) ที่ 1,080 เส้น แทนที่จะเป็นเพียง 480 เส้นในระบบอนาล็อกของยุคปัจจุบัน อีกทั้งสัดส่วนของภาพยังเป็นแบบ Widescreen หรือ 16:9 มิใช่ 4:3 ซึ่งเทียบเท่ากับระดับ HDV แต่ในทางปฏิบัติเรามีความจำเป็นที่จะต้องออกอากาศสัญญาณดิจิทัลให้เครื่องรับในระบบ 4:3 ที่มีอยู่แต่เดิมนั้นสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้การรับชม DTV ในประเทศไทย ปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

               1) ใช้อุปกรณ์แบบ SET-TOP BOX เพื่อรับข้อมูลสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลจากทาง Cable หรือ Satellite แล้วแปลงกลับมาเป็นสัญญาณภาพอนาล็อก โดยมีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีในลักษณะบอกรับเป็นสมาชิก อย่าง True Visions และรับชมผ่านทางเครื่องรับโทรทัศน์ธรรมดา หรือเครื่องรับที่เป็นดิจิทัลซึ่งผู้ชมสามารถเลือกรับชมรายการและภาพยนตร์ต่างๆตามเวลาที่เราต้องการได้ (Video on Demand) ผ่านทางระบบบีบอัดข้อมูล MPEG 2 (เช่นเดียวกับ DVD) ซึ่งจะให้คุณภาพเสียงเต็มพิกัดในระบบ Dolby Digital Surround Sound.หรือ 
               2) ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi-speed Broadband) และเครื่องคอมพิวเตอร์ จากผู้ให้บริการในลักษณะ Steaming และการ Download ซึ่งผู้ชมสามารถเลือกรับฟังและชมรายการต่างๆได้ด้วยคุณภาพที่แตกต่างกันตามปริมาณการส่งถ่ายข้อมูลของเครือข่ายผู้ให้บริการ
                                   
การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ดิจิทัลในต่างประเทศ
               สำหรับการกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ดิจิทัลในต่างประเทศ สมาคม ATSC (Advanced Television System Committee) เป็นองค์กรสากลที่ไม่แสวงผลกำไรใดๆ โดยทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดวางมาตรฐานสำหรับระบบ โทรทัศน์ดิจิทัล (Digital Television -DTV) โดยเฉพาะ ซึ่งในระยะแรกนั้นก่อกำเนิดขึ้นในประเทศอเมริกา โดย สมาพันธ์ FCC (Federal Communications Commission) ต้องการขยายขอบเขตระบบการส่งโทรทัศน์ให้มีความคมชัดที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่า HDTV (High- Definition Television) โดยได้มีการศึกษาถึงระบบการส่งสัญญาณภาพและเสียง โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ DTV เพื่อให้ระบบสามารถพัฒนาได้ต่อไปในอนาคต ATSC ซึ่งต้องทำงานภายใต้ข้อกำหนด ของ FCC จึงพุ่งเป้าพัฒนาไปในแนวทางของ DTV ,Interactive System และ Broadband Multi-media Communications ต่อมา สมาคม ATSC ได้รวบรวมกลุ่มสมาชิก JCIC ,EIA ,IEEE ,NAB ,NCTA และ SMPTE เข้าด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมในทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านBroadcasting ,Broadcast Equipment ,Motion Picture ,Consumer Electronics ,Computer ,Cable ,Satellite และ Semiconductor industries ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจากแขนงต่างๆดังกล่าวทำงานร่วมกันอยู่ราว 140 คน ความเป็นรูปเป็นร่างของ ระบบ DTV เริ่มขึ้นเมื่อ FCC ได้พิจารณา”ข้อกำหนด”ของระบบ DTV ที่ ATSC ได้เสนอขึ้นมา และในเดือน ธันวาคม 1996 ทาง FCC ก็ได้ทำการกำหนด “บรรทัดฐาน” ความเป็น DTV นี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตามข้อกำหนดของ ATSC ที่เสนอขึ้นมา ซึ่งบรรทัดฐานนี้ได้รับการยอมรับเข้าสู่ Task Group 11/3 ของ ITU-R รวมถึง System A ใน ITU Recommendations BT.1300 BT.1306

               ในสหรัฐอเมริกา โทรทัศน์ดิจิทัลนั่นได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ ไฮ เดฟฟินิชั่น ( HDTV ) อย่างเต็มตัว ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนเครื่องรับมากกว่า 40 ล้านเครื่อง โดยคณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติของสหรัฐฯ (FCC) ได้อนุมัติเทคโนโลยี ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเสียบปลั๊กสายเคเบิลเข้ากับโทรทัศน์ดิจิทัลได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเครื่อง SET-TOP BOX ให้ยุ่งยากอีกต่อไป ซึ่งโทรทัศน์ดิจิทัลที่พร้อมจะเสียบต่อกับเคเบิลได้ทันทีเครื่องแรก กำลังจะเปิดตัวภายในปีนี้ FCC ยังเตรียมจะอนุมัติการคุ้มครองลิขสิทธิ์รายการของช่อง HDTV อีกด้วย ดิจิทัลทีวี ที่อเมริกาไปไกลถึงขนาดหากผู้ชมเปิดเครื่องดูไม่ทัน ได้ดูแค่กลางเรื่องก็สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นดูใหม่ตั้งแต่ต้นเรื่องได้ในช่วงเวลาออกอากาศ ในอนาคตอันใกล้กำลังมีการกำหนดให้ผู้ชมสามารถบันทึกรายการไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของเนตเวิร์กเพื่อรับชมรายการโปรดของตนเองเมื่อไหร่ก็ได้ แม้แต่กระทั่ง TIME Worners เอง ก็กำลังริเริ่ม " Hit channel " ที่บันทึกรายการยอดนิยมๆ ทั้งหลายไว้ใน Network เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้ามาเลือกรับชมได้ตามเวลาที่ต้องการ หรือการส่งสัญญาณในระบบเคเบิลทีวี อย่าง Cable Vision เพิ่งเปิดตัวบริการรายการ HD โดยเฉพาะเรียกว่า Voom ซึ่งมีช่อง HD 25 ช่อง ส่วนช่อง HD อีกมากมายอย่าง HBO, Showtime และ Discovery

               เกาหลีใต้ ได้เลือกมาตรฐานของโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินมาตั้งแต่ปี 1997 เริ่มทดลองแพร่ภาพมาตั้งแต่ปี 1999 และเริ่มถ่ายทอดโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2001 ติดตามมาด้วยการแพร่ภาพโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในระบบดิจิทัลตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2002 นอกจากเป้าหมายทางนโยบายด้านสังคมแล้ว เกาหลีใต้มองโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลในด้านนโยบายอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยถือว่าโทรทัศน์ดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ได้ต่อจากอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ในทศวรรษ 1980 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบCDMA ในทศวรรษ 1990 การปรับเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ดิจิทัลจะช่วยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ของเกาหลีใต้สามารถก้าวกระโดด จากที่เคยล้าหลังกว่าของประเทศพัฒนาอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐประมาณ 10 ปี เกาหลีใต้ยังเชื่อว่า การหลอมรวมของสื่อ (media convergence) จะทำให้โทรทัศน์ดิจิทัลก้าวพ้นจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเกาหลีใต้มีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้วไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ  เช่น อุตสาหกรรมผลิตกล่องแปลงสัญญาณ (set top box) และระบบควบคุมการรับชม (conditional access system) อุตสาหกรรมรายการ

               ซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม และบริการเสริมต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างงานที่มีรายได้ดีจำนวนมหาศาลให้แก่ชาวเกาหลีใต้ เกาหลีใต้เชื่อว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วจะสามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ผู้ประกอบการของตน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะในการชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องรับโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลที่จะเข้ามาแทนที่เครื่องรับในระบบอนาล็อกที่มีอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันกว่า 120-150 ล้านเครื่อง ในปี 2010-2015นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเชื่อด้วยว่า โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลจะเป็นองค์ประกอบชิ้นสุดท้ายของโครงสร้างพื้นฐานของสังคมสารสนเทศ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมสมัยใหม่ และโทรทัศน์ในระบบอื่นๆ ในประเทศที่ได้ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลแล้วการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งกำลังสูญเสียฐานผู้ชมไปอย่างรวดเร็วจากการแข่งขันกับโทรทัศน์เคเบิ้ล และโทรทัศน์ในระบบผ่านดาวเทียม ดังจะเห็นได้จากส่วนแบ่งผู้ชมของโทรทัศน์ภาคพื้นดินได้ลดลงจากร้อยละ 95.8 ในปี 1995 เหลือเพียงร้อยละ 60.8 ในปี 2002 การแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลในเกาหลีใต้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงกลางปี 2002 ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup) ร่วมกับญี่ปุ่น โดยชาวเกาหลีใต้จำนวนมากได้ซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ๆ ที่รับภาพในระบบ ดิจิทัลเพื่อชมการถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าวในระบบความคมชัดสูง โดยเฉพาะเครื่องโทรทัศน์ที่สามารถรับภาพในระบบดิจิทัลได้โดยตรงโดยไม่ต้องติดตั้งกล่องรับสัญญาณ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังสามารถส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลไปยังต่างประเทศได้เกินกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2002 โดยมีตลาดสำคัญคือ ตลาดในทวีปอเมริกาเหนือสหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจเลือกใช้มาตรฐานของโทรทัศน์ดิจิทัลในระบบ ATSC ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะสมจากการแปลงมาจากระบบ NTSC ที่เกาหลีใต้ใช้ในการแพร่ภาพโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก หลังจากทดสอบมาตรฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งนี้ การแพร่ภาพจะทำในระบบโทรทัศน์ความคมชัดสูง เนื่องจากความแพร่หลายของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และโทรทัศน์ในระบบเคเบิ้ล ทำให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนสามารถรับชมโทรทัศน์ที่มีจำนวนช่องมากได้อยู่แล้วถึง60-70 ช่อง โดยกำหนดให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องจะต้องถ่ายทอดรายการในระบบความคมชัดสูงสัปดาห์ละอย่างน้อย 13 ชั่วโมง ในช่วงแรกบริการจะจำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงโซล และเมืองใหญ่บางเมืองก่อนจะขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยสถานีโทรทัศน์จะต้องแพร่ภาพในระบบดิจิทัลและอนาล็อกควบคู่กันไป จนถึงปี 2005 ในช่วงดังกล่าว การถ่ายทอดโทรทัศน์ความคมชัดสูงจะไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา เนื่องจากความจำกัดของคลื่นความถี่ ในปัจจุบัน รัฐบาลของเกาหลีใต้ตั้งเป้าให้การปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลเสร็จสิ้นในปี 2010 แต่ยังไม่ได้ประกาศระยะเวลาที่ชัดเจนในการยุติการแพร่ภาพในระบบอนาล็อก โดยจะพิจารณาถึงความแพร่หลายของโทรทัศน์ดิจิทัลก่อน ปัญหาที่โทรทัศน์ดิจิทัลยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรก็เหมือนกับปัญหาในประเทศอื่น นั่นก็คือ ราคาของเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลแบบที่ไม่มีขีดความสามารถพิเศษยังอยู่ในระดับที่สูงคือประมาณเครื่องละ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 93,000 บาท)

               เกาหลีใต้ได้แก้ไขกฎหมาย Broadcasting Act เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 1994 เนื่องจากเห็นว่า กฎหมาย Broadcasting Act ปี 1987 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้นไม่เหมาะสมกับยุคสมัย กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงโทรทัศน์ในระบบเคเบิ้ลและระบบดาวเทียมเข้าไว้เป็นครั้งแรก เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2000อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับใหม่ก็ยังล้าสมัย เนื่องจาก คำจำกัดความของการแพร่ภาพไม่ได้รวมถึงบริการแบบโต้ตอบ (interactive service) ไว้ด้วย

               ญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อต้องการก้าวนำในด้านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ โดยใช้ดิจิทัล(Information Society Gateway) เพราะโทรทัศน์ คือ อุปกรณ์สื่อสารที่แพร่หลายในญี่ปุ่น นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังพยายามใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปกระตุ้นอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ ของตนเองอีกด้วย โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาล เพื่อมาสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง ที่น่าสนใจเพราะค่อนข้างรัดกุม อาทิแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า มีหน่วยงานคอยบริการ ให้ความช่วยเหลือ และให้เวลาในการปรับเปลี่ยนมากพอสมควร จนในปัจจุบัน ญี่ปุ่น สามารถพัฒนาการบริการกับผู้ชม หรือผู้รับชมรายการโทรทัศน์ในภูมิภาคต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ครอบคลุมหลายพื้นที่ สามารถชมรายการได้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เป็นต้น นอกจากนั้น การนำย่านความถี่ในระบบอนาล็อก ที่เหลือหลังการแปลงเป็นระบบดิจิทัลแล้วยังนำย่านความถี่นี้ไปแปลงเป็นย่านความถี่ใหม่ (Analog –Analog Conversion ) ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาระบบการส่งข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย

ที่มา www.vcharkarn.com

 

คำสำคัญ (Tags): #ดิจิทัลทีวี
หมายเลขบันทึก: 406092เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท