กระทรวงการคลังแถลงข่าว เชื่อมระบบ GFMIS จ่ายตรงเงิน Vat ให้ อปท.


กระทรวงการคลังแถลงข่าว เชื่อมระบบ GFMIS จ่ายตรงเงิน Vat ให้ อปท.

กรมบัญชีกลาง จัดประชุมชี้แจง วิธีปฏิบัติในการโอนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ ให้องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นโดยตรง ผ่านระบบ GFMIS  ลดขั้นตอนการทำงาน  ดำเนินการได้ทันทีทำให้ อปท. ได้รับเงินเร็วขึ้น  

ดร. มั่น  พัธโนทัย  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการจัดสรรเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม  ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552  ในระบบ GFMIS ว่า การประชุมชี้แจงในวันนี้ ได้รับความร่วมมือระหว่าง กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร  และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดฝึกอบรมให้แก่ผู้อำนวยการกองคลัง เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรับเงิน   การนำส่งเงิน และการเบิกจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ อปท. โดยผ่านระบบ GFMIS   ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554   จะเริ่มนำร่องก่อน 3 จังหวัด   ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (รวมเมืองพัทยา)  จังหวัดนนทบุรี   และจังหวัดสมุทรสงคราม  โดยมี อปท.  รวมจำนวน 170  แห่ง  จะได้รับเงินจัดสรรจากรัฐที่ได้จากการจัดเก็บเงินรายได้ที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

ดร. มั่น  พัธโนทัย  กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนวิธีการจัดสรรแบบใหม่นี้ เพื่อให้ อปท. ได้รับการจัดสรรเงินรวดเร็ว ตรงเวลา  เนื่องจากที่ผ่านมากำหนดจ่ายเป็นรายงวด จำนวน 6 งวด   ตามระบบใหม่จะจ่ายทุกเดือน
โดยกรมสรรพากรเบิกเงินรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากระบบ GFMIS  และจ่ายต่อให้ อปท.ได้โดยตรง โดยไม่ต้อง
ขออนุมัติถอนคืนเงินรายได้จากเงินคงคลัง   สำหรับสัดส่วนการจัดสรรเงินรายได้ให้แก่ อปท.  ตามกฎหมายฯ กำหนดไว้ร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาล  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553  ที่ผ่านมามีการจัดสรรเงินให้ อปท.
เป็นเงิน  65,736 ล้านบาท   และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554  ประมาณการไว้ที่ จำนวน  70,500 ล้านบาท

“เบื้องต้นเริ่มนำร่อง อปท. ใน 3 จังหวัดก่อน  และจะขยายให้ครบ อปท.ทุกแห่งภายในสิ้นปีงบประมาณ
 พ.ศ. 2554 นี้  การดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ท้องถิ่นได้เร็วขึ้น  และทำให้มีการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้การเบิกจ่ายเงินจากคลังได้โดยตรง เป็นการสนับสนุนภารกิจด้านการเงินการคลังทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น  รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญ
ที่สนับสนุนการกำหนดนโยบายสำคัญด้านการเงินการคลังให้กับรัฐบาลได้อีกด้วย” ดร. มั่น  พัธโนทัย กล่าว

หมายเลขบันทึก: 405763เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สัญชัย สิริพงศ์พิศุทธิ์

ผมมีเรื่องที่จะสอบถามเกี่ยวการหักบัญชี ณ ที่จ่าย(เพราะสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับโรงเรียน/ระดับจังหวัดทุกคนให้คำตอบไม่ได้) ด้วยที่โรงเรียนธารทองพิทยาคม เป็นหน่วยเบิกตรง(ระบบGFMIS) สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของผม มีข้าราชการครูที่โรงเรียนหลายคนได้เปลี่ยนระดับ และได้รับเงินตกเบิก จำนวหนึ่ง รวมทั้งตัวผมด้วย ซึ่งมีรายได้ดังนี้

1. เงินเืดือน 40,590 บาท

2. เงินวิทยฐานะ 11,200 บาท

3. เงินตกเบิก (ธ.ค 2551 - 30 พย.2553) 178,126.68 บาท

รวมรายได้ทั้งหมดเป็นเงิน 231,226.68

ชำระภาษี ซึ่งหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 52,577.00 บาท

อนึ่งช่วงต้นปี 2553 - 30 ตค.2553 ภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อเดือนๆ ละ 2,018 บาท

ผมจึงขอเรียนถามดังนี้

1. ผมสอบถามเจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียนธารทองพิทยาคมแล้วว่าได้คีย์ข้อมูลลงไปตามปกติ แล้วโปรแกรมจัดการให้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่จึงตอบเพียงเท่านี้ มันเกิดการผิดพลาดจากเจ้าหน้าที่หรือโปรแกรม นอกจากสอบถามที่โรงเรียนแล้ว ผมได้สอบถามไปที่คลังจังหวัด สรรพากรจังหวัดก็ให้คำตอบไม่ได้เช่นเดียวกัน

2. การคิดภาษีดังกล่าว ใช้ฐานข้อมูลอะไรเป็นฐานในการคิดภาษี

3. การคิดภาษีคิดรวมยอดรายได้ของผู้ที่ได้รับเงินตกเบิกทั้งโรงเรียนหรือ คิดเป็นรายบุคคล

สุดท้ายหากเป็นไปได้ขอความกรุณา ตอบทาง อีเมล์ หรือตามเบอร์นี้ครับ 08-1264-8786 สัญชัย

ขอขอบคุณล่วงหน้าที่ให้คำตอบเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจให้กับเพื่อนๆ ครูที่มีความรู้ด้านนี้น้อย ขอบคุณครับ

สัญชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท